Jitta Wealth Journal - ดัชนีหุ้นเวียดนามลดฮวบ เกิดอะไรขึ้น?

4 พฤษภาคม 2565Jitta Wealth Journal

Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรง หุ้นขึ้นหรือลง ลุ้นกันสัปดาห์นี้

Jitta Wealth Journal ปีที่ 2 ฉบับที่ 75 ประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 มีประเด็นข่าวสารและสถานการณ์การเงินการลงทุนที่น่าสนใจจากทั่วโลก ดังนี้ 

  • เวียดนามวุ่น! ไล่จับกุมทุนใหญ่ปั่นราคาหุ้น
  • Meta Platforms และ Microsoft รายได้ดีเกินคาด
  • Elon Musk ซื้อ Twitter มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Apple และ Samsung กินส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลก
  • จับตา Fed ขยับดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 22 ปี สกัดเงินเฟ้อ
  • Buffett และ Munger ยังเซย์โน Bitcoin
  • Xi เร่งโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นเศรษฐกิจจีน
  • Volvo Cars เตือนแบตเตอรีขาดแคลน ควรเร่งลงทุนเพิ่ม

ไปติดตามกันได้เลย


Jitta Ranking - U.S. Healthcare

ใหม่! Jitta Ranking – U.S. Healthcare ลงทุนได้แล้ววันนี้

โอกาสสร้างความมั่งคั่งกับธุรกิจเมกะเทรนด์ที่ไม่มีวันตายอยู่ในมือคุณแล้ว กับหุ้นสุขภาพชั้นนำจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ พร้อมหลักการลงทุนแบบ VI ตามสไตล์ Warren Buffett 

  • เลือกหุ้นดี มีโอกาสเติบโตด้วย AI 
  • จัดพอร์ต 5-30 บริษัท 
  • ปรับพอร์ตทุก 3 เดือน 
  • เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท 

รายละเอียด Jitta Ranking – U.S. Healthcare

ตัวอย่างหุ้นสุขภาพสหรัฐฯ 30 บริษัท


Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐ

สรุป Live: ปั้นพอร์ตสุขภาพดี ด้วยหุ้นเฮลท์แคร์

ธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานปัจจัยที่ 4 อย่าง ‘หุ้นเฮลท์แคร์’ น่าสนใจแค่ไหน มีสินทรัพย์อะไรบ้าง Jitta Wealth รวบรวมให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพอร์ต Jitta Ranking และ Thematic ล้วนมีโอกาสเติบโตสูง เพราะใครๆ ก็ต้องการระบบสาธารณสุขที่ดี

ดู Live ย้อนหลัง

อ่านสรุป Live


ตลาดหุ้นเวียดนาม

เวียดนามวุ่น! ไล่จับกุมทุนใหญ่ปั่นราคาหุ้น

กลางเดือนเมษายน มีข่าวการจับกุมกลุ่มนักลงทุนและผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ในเวียดนาม ที่ร่วมกันปั่นราคาหุ้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลได้จับกุมไปแล้วหลายกลุ่มด้วยกัน

กลุ่มสุดท้ายที่ถูกจับกุมคือ Tri Viet Securities และกลุ่มทุนใหญ่ Louis Holdings ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในมาตรฐานและเสถียรภาพของตลาดหุ้นเวียดนาม และส่งผลให้ราคาหุ้นและดัชนี VNI ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

แม้ว่า ปัญหาเริ่มคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ผลกระทบในตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีอยู่ เพราะดัชนี VNI หลุดจาก 1,522.90 จุด วันที่ 6 เมษายน ไปอยู่ 1,310.92 จุด วันที่ 25 เมษายน เรียกได้ว่า ร่วงลง 211.98 จุด ในช่วง 20 วัน

ตอนนี้ดัชนี VNI ส่งสัญญาณรีบาวด์ได้แล้ว เพียงแต่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า จะกลับไปอยู่ในกรอบ 1,500 จุดอีกครั้งเมื่อไร สำหรับใครที่มีพอร์ตลงทุน Jitta Ranking เวียดนาม หรือเลือกธีมตลาดหุ้นเวียดนามไว้ในแผน Thematic DIY คงเห็นมูลค่าพอร์ตที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา

Jitta Wealth มองว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น จริงๆ แล้วตลาดหุ้นเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ มาตรการสนับสนุนของรัฐบาล และการลงทุนของบริษัทต่างชาติ เช่น Google Sharp และ Panasonic ที่เข้ามาตั้งโรงงานในเวียดนามกันมากขึ้น

นอกจากนี้ MSCI และ FTSE Russell กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนชั้นตลาดหุ้นเวียดนามจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) เป็น ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) คาดกันว่า จะอยู่ในช่วง 2565-2567 

Lumen Vietnam Fund คาดการณ์ว่า เมื่อตลาดหุ้นเวียดนามยกระดับเป็น Emerging Market จะมีเงินไหลเข้าประเทศสูงถึง 13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่จะช่วยให้ตลาดหุ้นเวียดนามโตต่อได้อีกนาน

โดยรวมแล้ว ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง จุดนี้คุณยังมั่นใจได้ ส่วนปัญหาที่ผ่านมา ถ้าหน่วยงานเกี่ยวข้องมีมาตรการและการตรวจสอบที่ดี โอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก ก็คงยากขึ้น

เวียดนามก็พร้อมที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจโตต่อไปได้อีก ความพยายามอัปเกรดตลาดหุ้น ผ่อนคลายความเข้มงวดต่างๆ  คือ สิ่งที่ทางการต้องเร่งมือทำ ดังนั้นโอกาสลงทุนในหุ้นเวียดนามยังมีช่องว่างอีกมาก ที่รอคุณไปเติมเต็มอยู่


Jitta x Artstory

Jitta ฉลอง 10 ปีด้วยของขวัญคอลเล็กชันพิเศษ Jitta x Artstory 

ความร่วมมือระหว่าง Jitta x Artstory สู่การสร้างสรรค์งานศิลปะลายเส้นของยุวจิตรกรจากมูลนิธิออทิสติกไทย บนของขวัญสุดพิเศษ ฉลอง 10 ปีของสตาร์ตอัปสัญชาติไทย Jitta ที่พร้อมส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ด้านการเงินการลงทุน เพื่อความมั่นคงเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

เข้าร่วมกิจกรรมลงทุนครั้งแรก หรือสะสมเงินลงทุนกับ Jitta Wealth แผนใดก็ได้ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2565 รับของขวัญพิเศษนี้ได้เลย

รายละเอียดเข้าร่วมกิจกรรม


เทคโนโลยีสหรัฐฯ

Meta Platforms และ Microsoft รายได้ดีเกินคาด  

บริษัท Meta Platforms ทำเซอร์ไพรส์นักลงทุน ด้วยผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2565 รายได้เติบโต +7% ที่ 27,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงจากปี 2564 แม้จะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ปี 2565 ราคาหุ้น Meta Platforms ปรับตัวลดลงกว่า -50% หลังนักวิเคราะห์มองภาพการเติบโตของบริษัทไม่พุ่งเหมือนในอดีต ทำให้คาดการณ์ตัวเลขต่างๆ ออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งผลประกอบการล่าสุดได้ย้ำเตือนว่า การคาดการณ์ก็ได้ไม่ถูกต้องเสมอไป

หากแบ่งตามวัฏจักรธุรกิจ Meta Platforms ตอนนี้ผู้ใช้งานเป็นกลุ่มผู้ตามสมัย (Late Majority) แล้ว ซึ่งมีการเติบโตต่ำและใกล้ถึงจุดสูงสุด แต่การตีตลาด Metaverse ที่กลุ่มผู้ใช้งานยังเป็นกลุ่มผู้ล้ำสมัย (Early Adopter) ที่จะสร้างรายได้ก้อนใหญ่ หากตีตลาดได้สำเร็จ

ผลประกอบการล่าสุดของ Meta Platforms ส่งผลดีต่อราคาหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ  ขณะที่บิ๊กเทคอื่นๆ อย่าง Microsoft มีผลประกอบการปี 2565 ที่ดีเกินคาดเช่นกัน ทั้งรายได้และกำไรสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 

รายได้รวมของ Microsoft ไตรมาสที่ผ่านมา เติบโต +18% ซึ่งรายได้ที่ช่วยหนุน Microsoft เติบโตมาจากธุรกิจคลาวด์ Azure ทำรายได้สูงถึง 19,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาหุ้น Microsoft เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่ผลประกอบการของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google กลับทำได้ต่ำกว่าเป้า มีกำไรสุทธิลดลง -8.3% ส่งผลให้ EPS (Earnings Per Share) อยู่ที่ 24.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น 

ราคาหุ้น Alphabet ลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากงบการเงินรายไตรมาสที่ออกมา แต่พื้นฐานธุรกิจของ Alphabet ยังคงแข็งแกร่ง เพราะมีรายได้จากหลายๆ ธุรกิจ ผลักดันให้บริษัทเติบโตได้อีกนาน จากผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมีอยู่ทั่วโลก

อย่าลืมว่า หุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ตลาดผู้ใช้งานมีทั่วโลก ด้วยภาพลักษณ์ของแต่ละบริษัท ไม่ว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มใดๆ ก็ตาม ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานอยู่เสมอ มีอำนาจต่อรองสูง สร้างรายได้จากเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง 

ถึงแม้ว่าผลประกอบการบางบริษัทจะลดลง แต่ยังคงมีกำไรสะสมไว้พัฒนาเทคโนโลยีได้ต่อ ซึ่งราคาลดลงของหุ้นเทคโนโลยีบางบริษัท อาจเป็นโอกาสลงทุนที่ดีสำหรับคุณก็ได้

Elon Musk ซื้อ Twitter มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นับเป็นดีลซื้อกิจการใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ Elon Musk ซื้อแพลตฟอร์ม Twitter ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Twitter ประกาศว่า นักลงทุนจะได้รับเงิน 54.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นอีกด้วย 

Musk เป็นผู้มีอิทธิพลใน Twitter และมีผู้ติดตามมากกว่า 84.2 ล้านบัญชี โดย Musk ได้ทยอยเข้าซื้อหุ้น Twitter โดยจะนำ Twitter ออกจากตลาดหุ้น และทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น 

การเข้าซื้อ Twitter ของ Musk ได้สำเร็จ สร้างความประหลาดใจกับนักลงทุนทั่วโลก เพราะก่อนหน้านี้ผู้บริหารของ Twitter พยายามจะกีดกันการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Musk ผ่านมาตรการ Poison Pill 

หากวิเคราะห์บุคลิกส่วนตัวของ Musk จะพบว่า เขามีความสนใจในด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด เป็นผู้ก่อตั้งฟินเทคยุคแรกๆ อย่าง Paypal รวมไปถึงเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกอีกด้วย

ถึงแม้ว่า Musk จะเป็นมหาเศรษฐีติดท็อปๆ ของโลก แต่การซื้อกิจการด้วยเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ซึ่ง Musk ต้องขายหุ้น Tesla มากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาซื้อ Twitter 

การขายหุ้น Tesla ของ Musk ส่งผลให้ราคาหุ้น Tesla ปรับตัวลดลง -13.5% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อ CEO ของบริษัทขายหุ้นออกไปล็อตใหญ่ ราคาหุ้นมักปรับตัวลดลงเสมอ

หากมองที่ผลประกอบการของ Twitter จะพบว่า บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดทุนสะสมอยู่ ซึ่ง Musk มีแนวโน้มจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อทำให้ Twitter พลิกกลับมาทำกำไรได้ เช่นเดียวกับ Tesla และ SpaceX 

Apple และ Samsung กินส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลก

Canalys ประกาศยอดขายสมาร์ตโฟนทั่วโลกในไตรมาส 1 ปี 2565 เห็นแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากยอดขายลดลง -11% และเป็นไปตามวัฏจักรการขายสมาร์ตโฟน แต่ 2 ค่ายอย่าง Apple และ Samsung กลับมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 

โดย Apple มีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้นเป็น 18% จากเดิม 15% ส่วนของ Samsung มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 24% จากเดิม 19% 

ถึงแม้สภาวะตลาดจะเผชิญกับความผันผวน แต่ความต้องการไม่ได้ลดลง อย่าง iPhone 13 ยังคงมียอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Apple ยังได้ออกสมาร์ตโฟนระดับกลางอย่าง iPhone SE มากระตุ้นยอดขายด้วย

สำหรับ Samsung ได้เพิ่มกำลังการผลิตสมาร์ตโฟน A Series เพื่อเจาะกลุ่มตลาดระดับล่างถึงกลางมากขึ้น ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอื่นๆ จากจีน กำลังประสบปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลนในช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตแข่งกับบริษัทชั้นนำได้

อย่างไรก็ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสมาร์ตโฟน ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่ต้องเร่งการผลิตมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการที่สูงมากในช่วงเวลานี้และในอนาคต

สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์สำคัญมากที่ใครๆ ก็ขาดไม่ได้ ไม่ว่าพอร์ต Thematic ของคุณจะลงทุนในธีมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ธีมเซมิคอนดักเตอร์ ธีมลิเธียมและแบตเตอรี รวมไปถึงธีมเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ล้วนผูกกับการใช้งานสมาร์ตโฟนทั่วโลก


เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา  

จับตา Fed ขยับดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 22 ปี สกัดเงินเฟ้อ

นักลงทุนทั่วโลกจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ คาดการณ์ว่า Fed น่าจะเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% พร้อมคุมเข้มนโยบายการเงิน เพื่อบรรเทาความร้อนแรงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี 

Roger Ferguson อดีตรองประธาน Fed บอกว่า สถานการณ์ปัจจุบันบีบให้ Fed จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ทำให้สหรัฐฯ ยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 และหวังว่า ภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นจะไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงเกินไปนัก 

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 3 มีนาคม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ถือเป็นการปรับมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 

นักวิเคราะห์ยังคาดว่า มีแนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเรื่อยๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมไปถึงการประกาศลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมหาศาลตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป 


หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ

ปั้นพอร์ตเมกะเทรนด์ ‘หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ’ กับ Jitta Ranking

เทรนด์การดูแลสุขภาพ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันหุ้นเฮลท์แคร์ให้เติบโต พอเจอวิกฤต Covid-19 หลายๆ บริษัทรายได้ยิ่งโตกระฉูด ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันทั้งนั้น มาปั้นพอร์ตกับเบอร์ 1 ในตลาดเฮลท์แคร์กับ ‘หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ’

อ่านต่อ


ฟินเทค

Buffett และ Munger ยังเซย์โน Bitcoin

Warren Buffett นักลงทุนระดับโลกและ CEO ของ Berkshire Hathaway รวมไปถึงเพื่อนสนิทอย่าง Charlie Munger ได้ออกมาพูดถึง Bitcoin อีกครั้ง ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน โดยยังคงยืนยันว่า Bitcoin ไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีประสิทธิผล และไม่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ที่จับต้องได้

ทั้งคู่ยืนยันว่า จะยังไม่ซื้อ Bitcoin ถึงแม้ว่าราคาจะตกมาแค่ไหนก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรดี 

การประเมินมูลค่า Bitcoin ตอนนี้ยังไม่มีวิธีที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความสับสน และไม่กล้าลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ที่ปัจจุบันได้รับความสนใจ แต่ใช้ในการเก็งกำไรมากกว่าเอาไปแลกเปลี่ยนจริงๆ 

ทางด้าน Buffett และ Munger ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงลบถึง Bitcoin มาโดยตลอด และยังไม่ไว้วางใจในสินทรัพย์ประเภทนี้ อย่างไรก็ตามยังมีบางกลุ่มที่เชื่อว่า คริปโทเคอร์เรนซีจะใช้แทนเงินสดในอนาคตได้จริง

ยกตัวอย่างเช่น CEO ของ Tesla อย่าง Elon Musk ได้ออกมาตอบโต้ในเชิงเยาะเย้ยบน Twitter เพราะ Buffett มีมุมมองเชิงลบต่อ Bitcoin มาโดยตลอด 

แสดงให้เห็นว่า มุมมองต่อสินทรัพย์ดิจิทัล มีทั้งคนเชื่อมั่นและยังไม่เชื่อมั่นอยู่ ตอนนี้ Jitta Wealth ยังไม่เห็นแนวโน้มของคริปโทเคอร์เรนซีที่ชัดเจน เพราะเพิ่งเป็นกระแส กลุ่มคนที่ซื้อขายยังเป็นผู้ริเริ่ม (Innovator) แต่อนาคตจะเป็นคำตอบเอา ว่ากลุ่มไหนเป็นฝ่ายที่คิดถูก 


Jitta Wealth

ปั้นพอร์ตให้กำไร ตอนบาทอ่อนยวบ

ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงตอนนี้ เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี ใครที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศ คงรู้สึกลังเล ไม่แน่ใจว่า ลงทุนช่วงบาทอ่อนดีไหม จะขาดทุนหรือเปล่า มาทำความเข้าใจกับเทรนด์ค่าเงิน วิธีรับมือไม่ว่าจะบาทแข็งหรืออ่อน 

อ่านต่อ


เศรษฐกิจจีน

Xi เร่งโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นเศรษฐกิจจีน

ประธานาธิบดีจีน Xi Jinping ได้ให้คำมั่นต่อประชาชนว่า จะเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังระบาดหนักและต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

ในการประชุมคณะกรรมการกลางด้านการเงินและเศรษฐกิจของจีน ได้เห็นพ้องว่า โครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ จึงต้องยกระดับและพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจด้วย

จีนได้กลับมาใช้แผนเดิมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุนจากภาครัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการต่างๆ อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Zero Covid ที่ล็อกดาวน์ในขณะนี้ ทำให้บางโครงการไม่สามารถเริ่มดำเนินงานได้เต็มที่

นักวิเคราะห์มองว่า คำมั่นสัญญาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลจีน แต่สถานการณ์ล็อกดาวน์และ Covid-19 ยังเป็นอุปสรรคหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเตินหน้าแผนงานเหล่านี้

จีนยังมีหลายเมืองที่มีระดับความเสี่ยง Covid-19 ต่ำ ทำให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการไปก่อนได้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับมาตรการ Zero Covid มีแนวโน้มว่า อาจจะผ่อนคลายลงในอนาคต

ทั้งนี้ยังต้องดูแนวโน้มกันต่อไป หากรัฐบาลจีนสามารถควบคุม Covid-19 ได้เร็ว เศรษฐกิจจีนในครึ่งปีหลัง 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ จากการคลายล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้เป็นปกติ


Jitta Wealth

รีวิวพอร์ต Thematic Optimize โดย Than Money Trick 

ปรับพอร์ตเป็นรอบที่ 2 ของคุณธัญ AI จาก Jitta Wealth วิเคราะห์และจัดพอร์ตธีม 4 ที่น่าลงทุนที่สุด แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่เป็นใจ ลงทุนแต่ยังขาดทุน มาทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic Risk) ที่คุณเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านต่อ


ลิเธียมและแบตเตอรี 

Volvo Cars เตือนแบตเตอรีขาดแคลน ควรเร่งลงทุนเพิ่ม

Jim Rowan CEO คนใหม่ของ Volvo Cars เตือนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ควรเร่งลงทุนเพิ่มในซัปพลายแบตเตอรี ตอบรับกระแสความนิยม EV ที่เพิ่มขึ้น และแบตเตอรีคือ ชิ้นส่วนหลักที่ขาดไม่ได้

Volvo Cars ได้ลงทุนครั้งใหญ่กับ Northvolt บริษัทแบตเตอรีสัญชาติสวีเดน เพื่อผลดีของการควบคุมปริมาณแบตเตอรีได้เองในอนาคต ตอบรับแผนเป็นบริษัทรถยนต์ EV เต็มรูปแบบในปี 2573 

Rowan มองว่า ซัปพลายแบตเตอรีกำลังขาดแคลนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ค่ายรถยนต์ลงทุนครั้งมหาศาลกับ Northvolt นอกจากจะทำให้ Volvo Cars ควบคุมปริมาณแบตเตอรีได้ ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัทพัฒนาเคมีในแบตเตอรีและมีโรงงานผลิตของตัวเอง

โรงงานผลิตแบตเตอรีของ Volvo Cars และ Northvolt จะสร้างขึ้นในเมืองโกเธนเบิร์กของสวีเดน เริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยตั้งเป้าการผลิตต่อปีที่ระดับสูงถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ประมาณ 500,000 คันต่อปี


นี่คือ 8 ข่าวสารการลงทุนทั่วโลกใน Jitta Wealth Journal ประจำสัปดาห์นี้ ที่ทีมงานรวบรวมมาให้คุณได้ติดตามไปพร้อมๆ กัน

ลุ้นกันว่า Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรงรอบนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแค่ขึ้นกับลงเท่านั้น นี่คือ สิ่งที่คุณควรเตรียมตัวรับมือ หากมีพอร์ตลงทุนกับ Jitta Wealth เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

คุณตราวุทธ และทีมงานเข้าใจความรู้สึกของคุณ เมื่อเห็นมูลค่าพอร์ตติดลบหนักๆ โดยเฉพาะ Thematic DIY และ Thematic Optimize มันเป็นความเสี่ยงที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ

หากคุณลงทุนในสินทรัพย์คล้ายๆ กัน อย่างกองทุนรวมที่ไปลงทุนใน Thematic ETF มูลค่าพอร์ตก็ลดลงเช่นกัน ในเวลานี้ ต้องยอมรับว่า ราคาหุ้น ดัชนีตลาดหุ้นเป็นขาลงจากปัจจัยรอบด้าน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจถดถอย

แต่วัฏจักรรอบนี้อยู่นานหรือไม่ คาดการณ์ได้ยากจริงๆ แต่หลักการลงทุนระยะยาวที่สร้างผลตอบแทนทบต้นผ่านสินทรัพย์อย่างหุ้นและ ETF เป็นสิ่งที่ Jitta Wealth เชื่อมั่นมาตลอด 

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ยแรง กดดันตลาดหุ้นผันผวน

Jitta Wealth Journal – Jitta Ranking พร้อมหรือยัง ภาษีขายหุ้น 0.1%

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด