Jitta Wealth Journal - รับแรงกระแทกถ้วนหน้า Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ย

21 ธันวาคม 2564Jitta WealthJitta Wealth Journal

ภาษีขายหุ้นไทย 0.1% กดดันผลตอบแทน

Jitta Wealth Journal ฉบับที่ 56 ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทีมงานได้สรุปข่าวสารและสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกส่งตรงถึงคุณแล้ว ดังนี้

  • Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ปี 2565
  • ECB สวนกระแสคงดอกเบี้ย
  • รายใหญ่แห่ตุนเงินสด ดัน January Effect
  • Biden ขยายเพดานหนี้ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • คลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% ในปี 2565
  • เศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2576
  • จีนคุม Hidden Debt ป้องกันเสี่ยงภาคการเงิน
  • Lazada ตั้งเป้ายอดขาย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Amazon ลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอินโดนีเซีย
  • บิ๊กเทคเกาหลีใต้ลุยลงทุนเวียดนาม

ไปติดตามกันได้เลย 

โปรหยวนๆ รับส่วนลดสูงสุด 100,000 บาท

ฉวยจังหวะซื้อหุ้นจีน A-share คุณภาพดีราคาถูกจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น กับ Jitta Ranking จีน เพียงเปิดพอร์ตและเริ่มต้นลงทุน ภายใน 20-24 ธันวาคม 2564 รับเครดิตค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 10,000 บาท สูงสุด 100,000 บาท

อ่านรายละเอียดกิจกรรม


Jitta Wealth

Exclusive Q&A with CEO จาก Jitta Wealth เดือนธันวาคม 2564

จบกันไปแล้วกับ Webinar ที่คุณจะได้ถามในสิ่งที่ยังกังวล ต้องการฟังมุมมองจากคุณเผ่า ตราวุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการลงทุนปี 2565 หลังเทรนด์ดอกเบี้ยทั่วโลกขาขึ้น ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัว และธีมที่น่าสนใจ หากใครที่พลาดสามารถชมย้อนหลังหรืออ่านสรุปได้

ดูวิดีโอย้อนหลัง

อ่านสรุป Q&A


ดอกเบี้ยขาขึ้น

Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ปี 2565

ตามคาด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศลดวงเงิน QE เข้าซื้อพันธบัตรเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นสุดมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมปี 2565 

ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2565 เป็นต้นไป Fed จะใช้วงเงินเข้าซื้อพันธบัตร 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ลดลงไปครึ่งหนึ่งของวงเงินเดิมที่ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และที่นักลงทุนทั่วโลกติดตามกันคือ Fed มีแผนจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 อีก 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567 จากอัตราเดิมที่ 0.00-0.25% เพื่อรับภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวในสหรัฐฯ กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น 

ในปี 2564 Fed ประเมินว่า เงินเฟ้อทั่วไป (รวมอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 5.3% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 4.4% ส่วนปี 2565 คาดว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ แต่ละประเภทจะอยู่ที่ 2.6% และ 2.7% ตามลำดับ

Jerome Powell ประธาน Fed บอกหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายการเงินจะต้องปรับให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย และ Fed จะใช้นโยบายการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น และเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้การจ้างงานของสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง พร้อมกับอัตราว่างงานที่ลดลงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ Fed ปรับลดมุมมองอัตราว่างงานในปี 2564 ลงเหลือ 4.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.8%

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 ถูกปรับลดลงไปจากเดิม 5.9% เหลือ 5.5%  

ส่วนการตอบรับของตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นในเชิงบวก ดัชนีปรับขึ้นทั่วโลก แต่นักวิเคราะห์คาดว่า หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งตามแผน จะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงในปี 2565

สำหรับการประชุม FOMC ของ Fed จะมี 8 ครั้งต่อปี ในเดือนมกราคม มีนาคม เมษายน มิถุนายน กรกฎาคม กันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม

แนวโน้มที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์ให้ความสนใจตลาดหุ้นจีน ที่มีโอกาสที่จะกลับมาเติบโตโดดเด่นจากพื้นฐานเศรษฐกิจ แม้ว่าในปี 2564 ดัชนีตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ไม่ฟื้นตัวเท่ากับตลาดหุ้นอื่นๆ จากการจัดระเบียบของรัฐบาลจีน แต่ปี 2565 คาดว่า ปัญหาคลี่คลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนมีโอกาสเติบโต และเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกครั้ง

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ คงจะต้องรอดูแนวโน้มในปี 2565 แต่ไม่ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย หรือภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวแค่ไหน ล้วนมีผลน้อยมากกับหลักการลงทุนระยะยาวและผลตอบแทนทบต้น

ถ้าพอร์ตของคุณ ยังมีสินทรัพย์ดีๆ ที่มีรายได้เติบโต ขึ้นราคาตามภาวะเงินเฟ้อได้ ก็ไม่ต้องกังวลว่า มูลค่ากิจการจะลดลง ขณะเดียวกันเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีนเติบโตได้ดี จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นเดียวกัน 

ECB สวนกระแสคงดอกเบี้ย 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้วงเงินซื้อพันธบัตรในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยจะใช้วงเงิน 40,000 ล้านยูโรต่อเดือน ภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) และจะลดวงเงินสู่ระดับ 20,000 ล้านยูโรตั้งแต่ตุลาคมปี 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ จะลดวงเงินซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Programme (PEPP) และยุติโครงการในเดือนมีนาคม ปี 2565 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ Fed จะยุติมาตรการ QE พอดี 

แต่ที่ผิดคาด คือ ECB ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 25 ปี ในเดือนพฤศจิกายนที่ 4.9% สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ทาง ECB กำหนด

Christine Lagarde ประธาน ECB บอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารกลางมีความยืนหยุ่น และทางเลือกต่อการตอบสนองมาตรการต่างๆ ในกรณีที่เกิดปัญหาคุกคามเศรษฐกิจยุโรปอีกระลอก


ความเคลื่อนไหวจากสหรัฐอเมริกา

รายใหญ่แห่ตุนเงินสด ดัน January Effect

ธนาคาร Goldman Sachs รายงานว่า นักลงทุนรายใหญ่สะสมเงินสดนับหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี 2564 อาจนำไปสู่ความเสี่ยงครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2565 

ช่วง 6-10 ธันวาคม มีเม็ดเงินมากกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้ากองทุนตลาดเงินที่เป็นแหล่งพักเงินสด ส่งผลให้มีเม็ดเงินรวมในตลาดเงินสูงถึง 226,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้นมากจากต้นปี แต่การลงทุนในกองทุนตลาดเงินไม่ได้ลดลงเลย โดยมี AUM (Assets Under Management) มีสถานะเทียบเท่าเงินสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

Goldman Sachs คาดว่า เงินสดเหล่านี้จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มหาศาลในช่วงเดือนมกราคม ปี 2565 เนื่องจากเป็นการวางเดิมพันจัดสรรสินทรัพย์ครั้งแรกของปี ดังนั้นในเดือนมกราคมจะมีเงินไหลเข้าในตลาดหุ้น ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีจะเป็นเม็ดเงินไหลออกมากกว่า

เป็นไปตามทฤษฎี January Effect ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 และแน่นอนว่า ตามมาด้วยความผันผวนและความเสี่ยงที่เป็นธรรมชาติของตลาดหุ้น เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นี่เป็นเพียงการประเมินล่วงหน้า อาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ หากนักลงทุนรายใหญ่กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2565 แน่นอนว่า ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

แต่มันคือภาวะอารมณ์ของนักลงทุน อาจจะเป็นความเสี่ยงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และจะมีผลน้อยมากกับพอร์ตลงทุนระยะยาว เมื่อถึงเวลานั้น อาจจะมีข่าวสารหรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่เข้ามาเป็นปัจจัยบวกและลบให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นก็ได้


Biden ขยายเพดานหนี้ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ตามคาด Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามขยายเพดานหนี้สาธารณะอีก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็น 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศ

การลงนามครั้งนี้เป็นการปูทางไปสู่การพิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการกู้ยืมของรัฐบาล 

โดยหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะพุ่งชนเพดาน โดยมีเส้นตาย คือ 15 ธันวาคม หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการปรับเพิ่มเพดานหนี้ จะส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศ

นับว่าเป็นการแก้ไขที่ทันเวลาพอดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือ และจะทำให้สหรัฐฯ มีเพดานการกู้สูงขึ้น เพื่อผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลในอนาคต


Jitta Wealth

‘AI ของ Jitta Wealth’ เลือกให้ ทำไมพอร์ตยังติดลบ 

จะรับมืออย่างไร เมื่อพอร์ต Jitta Ranking และ Thematic Optimize ติดลบ AI ของ Jitta Wealth เลือกให้ พอร์ตควรกำไรใช่หรือไม่ มาหาคำตอบ และทำความเข้าใจ AI ของเรามากขึ้น

อ่านต่อ 


ภาษีขายหุ้น

คลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% ในปี 2565

กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีขายหุ้น อัตรา 0.1% โดยจะมุ่งไปที่มูลค่าขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่า จะเริ่มบังคับใช้ภายในปี 2565

ภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax เป็น 1 ในแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ โดยภาษีตัวนี้ ยกเว้นการจัดเก็บมายาวนานกว่า 30 ปี ภาษีขายหุ้นจัดเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวกฎหมายรัษฎากร

หากคุณลงทุนในหุ้นไทย ภาษีที่คุณจ่ายในปัจจุบันมี 2 ตัว คือ ภาษีเงินได้ปันผลหัก ณ ที่จ่าย 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของค่านายหน้าตอนซื้อหรือขายหุ้น แต่มีอีก 2 ภาษี ที่ได้รับการยกเว้น คือ ภาษีขายหุ้น และภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains Tax)

กระทรวงการคลัง ระบุว่า ในหลายๆ ประเทศมีการจัดเก็บทั้งภาษีขายหุ้นกับภาษีกำไรจากการขายหุ้น ขณะที่บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง และส่วนใหญ่เก็บภาษีขายหุ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่า ไม่ต้องการให้การจัดเก็บภาษีไปกระทบกับนักลงทุนรายย่อย ส่วนการเก็บภาษีขายหุ้น ตอนแรกจะบังคับใช้ในปี 2564 แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้ต้องเลื่อนแผนไปในปี 2565 แทน อย่างไรก็ตามต้องดูจังหวะที่เหมาะสม

Jitta Wealth ยอมรับว่า หากมีการบังคับใช้เก็บภาษีขายหุ้นจริง จะกดดันต่อผลตอบแทนของ Jitta Ranking ไทยในอนาคตแน่นอน แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อดีของ Jitta Wealth คือ หลักการลงทุนระยะยาว จะไม่ขายสินทรัพย์บ่อยครั้ง หาก AI วิเคราะห์แล้วว่า ยังเป็น ‘หุ้นดีราคาถูก’ ที่น่าลงทุนอยู่ ระบบก็จะไม่ขายหุ้นออกมา ยิ่งมูลค่าขายไม่ถึง 1 ล้านต่อเดือน อาจจะไม่ถูกเก็บภาษีส่วนนี้

หากระบบปรับพอร์ต จำเป็นต้องขายหุ้นออกมา เพื่อซื้อ ‘หุ้นดีราคาถูก’ ตัวใหม่ ภาษีอย่างมากที่คุณต้องเสียรวมเป็น 0.4% ต่อปี คิดจากการปรับพอร์ตไตรมาสละ 1 ครั้ง 

เชื่อว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อพอร์ตลงทุนโดยรวม หากคุณลงทุน Jitta Ranking ไทย ปี 2564 มีผลตอบแทน 11 เดือนแรก +38% หากมีการขาย หักภาษีขายหุ้น และ VAT คิดจากค่านายหน้าแล้ว ผลตอบแทนรวมของคุณ ยังเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่

นอกจากนี้ทีมงาน Jitta Wealth มีความมุ่งมั่นจะช่วยคุณให้ได้รับประโยชน์สูงที่สุดจากการลงทุน ทั้งในไทยและต่างประเทศ และจะไม่หยุดพัฒนา AI ให้มีความแม่นยำ เลือกสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดอยู่เสมอ


Jitta Wealth ภาษีต้องรู้

สรุป Live : ภาษีต้องรู้ สำหรับผู้ลงทุนในไทยและต่างประเทศ 

เจาะลึกทุกประเด็นภาษีที่คุณต้องรู้ จากพอร์ตลงทุนสินทรัพย์ในไทยและต่างประเทศ กับ ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยสยาม และ CEO จาก iTAX มีคุณเผ่า ตราวุทธิ์เข้าร่วมตอบคำถามภาษีที่เกี่ยวข้องกับพอร์ต Jitta Wealth ด้วย

ดู Live ย้อนหลัง

อ่านสรุป Live


ความเคลื่อนไหวจากจีน

เศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐ ในปี 2576 

ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (JCER) คาดว่า เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2576 ไม่ใช่ปี 2572 อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ปีก่อนหน้า จากแรงกดดันการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีและหนี้สินก้อนโตของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน

JCER บอกว่า จีนต้องใช้เวลานานขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตจนสามารถแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ และในปี 2564 สหรัฐฯ มีเศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็ว เพราะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จีนคุม Hidden Debt ป้องกันเสี่ยงภาคการเงิน 

ทางการจีนประกาศจุดยืน จะดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและควบคุมหนี้แอบแฝง (Hidden Debt) ในปี 2565 ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระบบการเงิน และหลักประกันด้านเสถียรภาพการลงทุนของจีน 

หนี้แอบแฝง คือ หนี้ที่ไม่มีการบันทึกรายงาน หรือบันทึกต่ำกว่ามูลค่าจริง จีนพยายามจัดการปัญหา Hidden Debt ซึ่งผิดกฎหมาย มุ่งเป้าไปที่ภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่ผ่านมายอดขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง ส่งผลกระทบต่อการขายที่ดินในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลท้องถิ่น จนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น 

นับเป็นสัญญาณที่ดี ในการพยายามควบคุมความเสี่ยงภาคการเงินของรัฐบาลจีน เพราะการลงทุนควรเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ หลังจากนี้จีนจะคัดกรองโครงการก่อสร้างในท้องถิ่นอย่างเข้มงวด


Jitta Ranking

ลงทุน Jitta Ranking ตอนที่ 3 จีน…มังกรพร้อมผงาด

จีน…มังกรใหญ่ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา พลิกจากเส้นความยากจน สู่ประชาชนผู้มีกำลังซื้อสูง ประเทศถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เรายังมีโอกาสลงทุนในมังกรใหญ่ตัวนี้อยู่หรือไม่ 

อ่านต่อ


อีคอมเมิร์ซ

Lazada ตั้งเป้ายอด 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

Alibaba อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของจีน ตั้งเป้ายอดขายสินค้า (Gross Merchandise Volume – GMV) ผ่านแพลตฟอร์ม Lazada ในอาเซียนให้ไปถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทรายงานว่า เดือนกันยายน ปี 2563 จนถึงเดือนเดียวกัน ปี 2564 มูลค่า GMV ของ Lazada อยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลประกอบการยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจาก MercadoLibre และ Shopee (GMV ปี 2563 อยู่ที่ 35,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

Alibaba เข้าซื้อกิจการอีมาร์เก็ตเพลส Lazada เมื่อปี 2559 โดยคาดหวังให้มีผู้ใช้งานในอาเซียนแตะ 300 ล้านคน ซึ่งมากกว่ายอดผู้ใช้งานปัจจุบันถึง 2 เท่า 


คลาวด์

Amazon ลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอินโดนีเซีย 

Amazon Web Services (AWS) ประกาศลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รุกธุรกิจคลาวด์ในอินโดนีเซีย นับเป็นการปักหมุดลงทุนประเทศที่ 2 ในอาเซียน หลังจากลงหลักปักฐานในสิงคโปร์

ความต้องการบริการดิจิทัลและปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 และอินโดนีเซียกลายเป็น 1 ในสนามแข่งขัน ด้านศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ที่รุนแรงที่สุดในอาเซียน 

JLL บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก บอกว่า ปี 2563 อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ทำรายได้จากธุรกิจคลาวด์สูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามหลังสิงคโปร์ คาดว่า รายได้จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2568 


เซมิคอนดักเตอร์

บิ๊กเทคเกาหลีใต้ลุยลงทุนเวียดนาม

Amkor Technology ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่จากเกาหลีใต้ ประกาศลงทุนสร้างฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามรวมมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางตอนเหนือของเมือง Bac Ninh 

การลงทุนแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกมูลค่า 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดเริ่มก่อสร้างไตรมาสแรก ปี 2565 โดยเฟสนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 5 ปี ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะเริ่มลงทุนในปีต่อๆ ไป 

Amkor Technology อยู่ในตลาดหุ้น Nasdaq ในปี 2563 มีรายได้รวม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเมือง Bac Ninh เป็นศูนย์รวมของโรงงานระดับโลก เช่น Samsung Foxconn และ Canon

อ้างอิงตามข้อมูลของกระทรวงแผนนโยบายและการลงทุน ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 0.1% เป็น 26,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564

แม้ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะได้รับผลกระทบจาก Covid-19 แต่เม็ดเงิน FDI ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นฐานการผลิตใหม่ของบริษัทต่างชาติ รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีน ขณะเดียวกันเวียดนามสร้างมูลค่าส่งออกได้มหาศาล ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก FDI นั่นเอง 


นี่คือ สรุปความเคลื่อนไหวจากทั่วโลกใน Jitta Wealth Journal ส่งตรงให้คุณได้ติดตามไปพร้อมๆ กัน

มันเป็นการคาดการณ์ที่ยาก ว่าตลาดหุ้นจะตอบสนองอย่างไร ไม่ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย หรือภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ถ้าพอร์ตของคุณมีสินทรัพย์ที่สามารถเติบโตได้ จากความผันผวนที่เกิดขึ้น มันก็ดีกว่าที่จะมาคาดเดาอนาคตเอง

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือ ธรรมชาติของการลงทุน และ AI ของ Jitta Wealth นำสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มาเรียนรู้ใหม่ และสร้างผลตอบแทนที่ดีในภาวะความผันผวน สุดท้ายแล้ว พอร์ตของคุณจะยังมีสินทรัพย์ที่น่าลงทุนอยู่เสมอ

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – ส่องต้นตอวิกฤต China Evergrande

Jitta Wealth Journal – จัดพอร์ตลงทุนรับมือเงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด