Jitta Wealth Journal - Fed ขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี ตลาดหุ้นส่อแววผันผวน

15 กุมภาพันธ์ 2565Jitta Wealth Journal

จีนเอาไง เมื่อสตาร์ตอัปหนีระดมทุนต่างประเทศ

Jitta Wealth Journal ปีที่ 2 ฉบับที่ 64 ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ทีมงานได้รวบรวมและสรุปสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทั่วโลกมาให้คุณแล้ว ดังนี้

  • เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับ +7.5% ทุบสถิติในรอบ 40 ปี
  • Goldman Sachs คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ปี 2565
  • คนจีนใช้จ่ายช่วงตรุษจีนกระฉูด ภาคการบริโภคยังคงแข็งแกร่ง
  • สตาร์ตอัปจีนหาทุนนอกตลาด หนีกฎเข้มในประเทศ
  • เวียดนามอัดฉีด 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจ
  • บริษัทเวียดนามเตรียมรับมือแรงงานขาดแคลน
  • Apple วางแผนเตรียมใช้ iPhone รับชำระบัตรเครดิต
  • บิ๊กเทคจีน ดัน Metaverse มูลค่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดีลล่ม ผู้นำโลก 3 ชาติ ค้าน Nvidia ซื้อธุรกิจ Arm

ไปติดตามกันได้เลย


เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับ +7.5% ทุบสถิติในรอบ 40 ปี

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานภาวะเงินเฟ้อ เดือนมกราคมปี 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี พุ่ง +7.5% นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ในเดือนมีนาคม 

ปัจจัยหลักดันเงินเฟ้อพุ่งสูง ได้แก่ ราคาอาหาร บ้าน และพลังงาน โดยต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด +27% ส่วนราคาอาหารเพิ่มขึ้นที่ +7% 

นักวิเคราะห์คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอย่างน้อย 7 ครั้ง เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี ที่ปรับขึ้นจากสิ้นปี 0.73% เป็น 1.54%  

จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลไปถึงความต้องการสินเชื่อบ้านในสหรัฐฯ ลดลง -12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจาก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านจาก 3.78% เป็น 3.83% 

อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในปีที่ผ่านมา ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จากเทรนด์ดอกเบี้ยต่ำและมาตรการกระตุ้นการซื้อบ้าน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น ดังนั้น Fed จำเป็นต้องลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย

ภาพรวมเศรษฐกิจจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้ เมื่อ Fed ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนออกมา เวลานั้นตลาดหุ้นมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากคุณมีแผนลงทุนอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว จะช่วยลดความผันผวนในพอร์ตลงทุนได้

Goldman Sachs คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ปี 2565

ธนาคาร Goldman Sachs คาดว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุม FOMC ทุกครั้งของปี 2022 ซึ่งเหลืออีก 7 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม (15-16) พฤษภาคม (3-4) มิถุนายน (14-15) กรกฎาคม (26-27) กันยายน (20-21) พฤศจิกายน (1-2) และธันวาคม (13-14)

ในขณะที่ประธาน Fed สาขาต่างๆ ออกมาบอกว่า Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในเดือนมีนาคม เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อสูงและปรับขึ้นค่าแรง รวมไปถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นที่ยังอยู่ในระดับสูง 

ด้าน Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เตือนนักลงทุนเตรียมรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมของ Fed ตลอดปี 2565 และมีความเป็นได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ด้วย

ขณะที่สถาบันการเงินอย่าง HSBC และ Nomura Holding คาดว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในเดือนมีนาคมและปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในการประชุมที่เหลือของปี

Jitta Weath มองว่า Fed ค่อนข้างตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจช้า ทั้งๆ ที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงลากยาวมาตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่แล้ว แน่นอนว่า ท่าทีของ Fed จะกระทบต่อมูลค่าพอร์ตลงทุนในระยะสั้นๆ เพราะตลาดหุ้นมีแนวโน้มผันผวนอีก

สำหรับการลงทุนระยะยาว มุมมองอีกด้าน คือ การวิเคราะห์ผลกระทบอื่นๆ ต่อพื้นฐานของกิจการ แน่นอนว่า ดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น กำไรอาจจะน้อยลง 

ในกรณีที่บริษัทมีความแข็งแกร่ง หนี้น้อย แบรนด์เป็นที่รู้จัก มีอำนาจต่อรองในตลาดสูง ขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ จะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นไม่มาก ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวลดลง แต่จะปรับขึ้นได้เร็วตามพื้นฐานของกิจการ


เงินเฟ้อ

นักลงทุนรอรับ ‘ดอกเบี้ย’ จุกๆ 

เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแรงทุบสถิติ และ Fed ขึ้นดอกเบี้ยหนักกว่าเดิม จะส่งผลกระทบอะไรกับพอร์ตลงทุน คุณควรรับมืออย่างไร มาทำความเข้าใจกับตลาดพันธบัตร สภาวะตลาดหุ้น เพื่อรับมือกัน 

อ่านต่อ 


เงินเฟ้อ

หุ้นคุณค่ากำลังกลับมาจริงหรือ

จากภาวะตลาดหุ้นผันผวน ทำให้ราคาหุ้นเติบโต (Growth Stock) ขึ้นแรงลงแรง ขณะที่ราคาหุ้นคุณค่า (Value Stock) ไม่เปลี่ยนแปลงมาก เพราะราคาเคลื่อนไหวตามคุณภาพกิจการ มาทำความเข้าใจหุ้น 2 กลุ่มกัน

อ่านต่อ


เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ลงทุนหุ้นกลุ่มไหนดี

ราคาหุ้นเติบโตลดลงแรง ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานครั้งใหญ่ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ภาวะที่ตามมา คือ เงินเฟ้อพุ่งและดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นกลุ่มไหนที่แข็งแกร่งทนทานพอในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

อ่านต่อ


Jitta Wealth

3 เซียนหุ้น แนะวิธีการจัดพอร์ต ต้านทาน ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งสูง 

‘เงินเฟ้อ’ คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และกดดันตลาดหุ้นให้ผันผวน แล้วคุณควรทำอย่างไรเมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ Warren Buffet Peter Lynch และ Ray Dalio แนะวิธีเลือกสินทรัพย์และจัดพอร์ตให้แข็งแกร่ง

อ่านต่อ 


เศรษฐกิจจีน

คนจีนใช้จ่ายช่วงตรุษจีนกระฉูด ภาคการบริโภคยังคงแข็งแกร่ง

ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา การบริโภคภายใต้มาตรการ Zero Covid ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ต่างจากตอนแรกที่นักวิเคราะห์คาดว่า Zero Covid จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน 

การซื้อของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น +16% ในช่วงตรุษจีนผู้บริโภคสั่งซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 749 ล้านชิ้น สินค้าที่ถูกสั่งซื้อมากที่สุดเป็นสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละเมือง โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร

ภาคการบริโภคของจีนยังคงแข็งแกร่ง ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงตรุษจีน แม้อยู่ภายใต้มาตรการบังคับใช้ Zero Covid อย่างเข้มงวด ในปี 2564 ภาคการบริโภคและท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะเดียวกันอีคอมเมิร์ซของจีนมีสัญญาณที่ดีและการเติบโตอย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตามองค์กรควบคุมเงินตราต่างประเทศ (SAFE) ประกาศตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 3.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -0.88% คาดว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของ Fed และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มูลค่าทรัพย์สินทั่วโลกลดลง

เมื่อพูดถึงความแข็งแกร่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ จีนมีปริมาณเงินมากที่สุดในโลก และด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้จีนกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

สำหรับตัวเลขสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จีนเพิ่มขึ้น 3.98 ล้านล้านหยวน สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจระยะยาว โดยธนาคารกลางจีนใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินเข้าระบบ เป็นแรงสนับสนุน

การบริโภคเป็น 1 ในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน หากรัฐบาลมองว่า เครื่องยนต์ตัวใดตัวหนึ่งชะลอตัว อาจจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผนวกกับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยทิศทางของจีนมีแนวโน้มเติบโตที่ดีขึ้น

สตาร์ตอัปจีนหาทุนนอกตลาด หนีกฎเข้มในประเทศ 

ทางการจีนออกมาตรการเข้ม ห้ามบริษัทจีนจดทะเบียนระดมทุนผ่านตลาดหุ้นต่างแดน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับสตาร์ตอัปเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สตาร์ตอัปจีนหันไประดมทุนนอกตลาดหุ้นจากกลุ่มนักลงทุนโดยตรง

JP Morgan ประเมินว่า นับตั้งแต่จีนใช้มาตรการเข้มงวดกับบริษัท ห้ามจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ทำให้สตาร์ตอัปจีนหันมาระดมทุนนอกตลาดหุ้นจากกลุ่มนักลงทุนในเอเชีย ด้วยมูลค่ารวมกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดว่า กฎแบนบริษัทเข้าจดทะเบียนผ่านตลาดหุ้นต่างประเทศของจีน ไม่อาจห้ามได้อย่างถาวร สุดท้ายแล้วสตาร์ตอัปจะปรับตัวและหาทางระดมทุนผ่านช่องทางอื่นๆ ได้เอง ทำให้จีนจำเป็นต้องหานโยบายสนับสนุนก่อนที่สตาร์ตอัปจีนหนีไประดมทุนที่อื่นจนไม่สนใจตลาดทุนในประเทศ

จีนมักจะมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและกลางอยู่เสมอ เราหวังว่า เมื่อรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น จะมีนโยบายสนับสนุนให้สตาร์ตอัปจีนระดมทุนได้อย่างอิสระ เรามองว่า จีนยังมีเส้นทางการเติบโตที่แข็งแกร่งและโอกาสลงทุนยังเปิดให้อยู่เสมอ


M-commerce

รู้จัก M-commerce ธุรกิจมาแรงจากธีมอีคอมเมิร์ซ

ธุรกิจมาแรงในยุค Covid-19 คือ อีคอมเมิร์ซ แม้ว่า ปี 2564 ราคาหุ้นในกลุ่มปรับฐาน แต่มีอีก 1 กลุ่มย่อย คือ M-commerce เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ แล้วจะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน ปี 2565 ธีมอีคอมเมิร์ซมีโอกาสเติบโตหรือไม่

อ่านต่อ 


Jitta Wealth

Jitta Wealth Thematic EP.18 จังหวะนี้ต้องเติมไหม

หากคุณกำลังตั้งคำถามว่า ในสภาวะตลาดหุ้นแบบนี้ คุณควรทำอย่างไรกับพอร์ตลงทุน ใส่เงินเพิ่มหรือไม่ส่องพอร์ต คุณอะตอมจาก Money Diaries มีไอเดียการบริหารพอร์ต Thematic DIY ของเขามาฝาก 

ดูวิดีโอ


เศรษฐกิจเวียดนาม

เวียดนามอัดฉีด 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจ 

หลังจากเผชิญการแพร่ระบาด Covid-19 รอบใหม่ในปี 2564 ที่ทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง เวียดนามเตรียมเม็ดเงินมูลค่ากว่า 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีจุดประสงค์หลักสร้างความแข็งแกร่งด้านสุขภาพ จัดหาวัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 

รัฐมนตรีกระทรวงนโยบายและการลงทุน คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว +6.5-7.0% ต่อปี ในช่วงปี 2564-2568 พร้อมส่งเสริมความมั่นคงของรายได้ หนุนกลุ่มคนรายได้น้อย นอกจากนี้เวียดนามยังทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายๆ ประเทศ เพื่อเน้นการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจประเทศ 

บริษัทเวียดนามเตรียมรับมือแรงงานขาดแคลน

ผลพวงจาก Covid-19 ทำให้แรงงานกลับภูมิลำเนาและไม่กลับมาทำงานเหมือนเดิม บริษัทเวียดนามกำลังประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องเปิดรับสมัครเพื่อดึงดูดแรงงานมากขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตต้องการแรงงานเพิ่มอีก +10%

นอกจากนี้หลายบริษัทยังออกแพ็กเกจ เพื่อรักษาแรงงานให้กลับมาทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วย เงินโบนัสก่อนวันหยุดยาว 5-10 ล้านดงต่อคน รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกด้วยการจัดรถรับส่งถึงภูมิลำเนา 

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้น ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาดได้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานในเวียดนามน่าจะคลี่คลาย เพราะสัดส่วนประชากรวัยทำงานยังเป็นกลุ่มใหญ่ เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ


ฟินเทค 

Apple วางแผนเตรียมใช้ iPhone รับชำระบัตรเครดิต 

ธุรกิจรายเล็ก เตรียมเฮ Apple ประกาศแผนเปลี่ยน iPhone ให้เป็นเครื่องชำระเงิน โครงการนี้ได้รับการพัฒนาโดย Mobeewave บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติแคนาดา โดย Apple ทุ่มเงินซื้อ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

เทคโนโลยีใหม่นี้ จะทำให้สมาร์ตโฟนของ Apple ยอมรับการชำระเงินด้วยการแตะบัตรเครดิต โดยใช้ชิป Near Field Communications (NFC) ของ iPhone ผ่านแพลตฟอร์มของ Apple Pay

เป็นแผนยกระดับช่องทางชำระเงินแบบไร้เงินสด ด้วยบริการ Tap to Pay ผ่าน Apple Pay โดยตั้งเป้าว่า จะมีผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ยอมรับ Apple Pay ถึง 90% ในปลายปีนี้  

ข่าวนี้กระทบต่อความเคลื่อนไหวในวงการฟินเทค ราคาหุ้น Block บริษัทแม่ของ Square ตกลงไปกว่า -3.4% ในขณะที่หุ้นของ Apple เพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินอย่าง Square อาจจะได้รับผลกระทบกับการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินของ Apple 

อย่างไรก็ตาม วงการฟินเทคไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะมีทั้งบริษัทหน้าใหม่และหน้าเก่า โดดเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานมากที่สุด ยิ่งมีการแข่งขันมาก แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้จะไปได้นานและไปได้ไกล


เทคโนโลยี 

บิ๊กเทคจีน ดัน Metaverse มูลค่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทเทคโนโลยีจีนยักษ์ใหญ่เบนเข็มลงทุนในโลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse แม้ว่า ทางการจีนยังมีมาตรการเข้มงวด แต่ไม่อาจเบรกการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

Morgan Stanley บอกว่า บิ๊กเทคจีนอย่าง Tencent Alibaba และ ByteDance กำลังวางแผนลงทุนใน Mataverse รวมกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะกฎระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวด โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี ทำให้ Metaverse ของจีนอาจดูแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ  

บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เช่น Meta Platforms (Facebook เดิม) ทุ่มลงทุนในการพัฒนา Metaverse รวมไปถึงบิ๊กเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เองมีแผนจะซื้อกิจการเกม Activision Blizzard ตามเทรนด์โลกเสมือนจริงแห่งอนาคต 

ดีลล่ม ผู้นำโลก 3 ชาติ ค้าน Nvidia ซื้อธุรกิจ Arm  

Nvidia เตรียมเข้าซื้อธุรกิจออกแบบสถาปัตยกรรมชิป Arm จาก SoftBank แต่ดีลนี้ส่อแววล้ม หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปคัดค้าน ให้เหตุผลว่า จะกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก 

โดยแหล่งข่าววงในระบุว่า ทาง SoftBank จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการยกเลิกข้อเสนอซื้อธุรกิจนี้ และมีแผนเตรียมนำ Arm เข้าสู่กระบวนการ IPO (Initial Public Offering) เป็นครั้งแรกภายในปี 2566 

หากดีลมูลค่ากว่า 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ ไม่ถูกยกเลิก จะกลายเป็นการซื้อขายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้ Nvidia คุมบริษัทผลิตเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องอย่าง Qualcomm และ Microsoft ต่างออกมาคัดค้านดีลนี้ด้วย 

Arm ถือเป็นบริษัทออกแบบชิปชั้นนำให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน รวมถึง Apple ด้วย โดยสำนักงานใหญ่ของ Arm ตั้งอยู่ในเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีของอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด


Exponential Technology

เจาะลึก 8 บริษัท Exponential Technology นวัตกรรมเปลี่ยนโลก 

‘ธีมเทคโนโลยี’ ต่างจาก ‘ธีมตลาดหุ้นสหรัฐฯ’ อย่างไร เมื่อไส้ในก็มีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเหมือนกัน มาทำความเข้าใจกับคำว่า Exponential Technology นวัตกรรมเปลี่ยนโลก ที่เป็นมากกว่าเทคโนโลยี 

อ่านต่อ 


นี่คือ 9 ข่าวสารความเคลื่อนไหวจากทุกมุมโลกที่เรารวบรวมมาให้คุณได้ติดตามไปพร้อมๆ กันผ่าน Jitta Wealth Journal 

จริงๆ แล้ว ประเด็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นไปตามวัฏจักรของเศรษฐกิจฟื้นตัว มันพอประเมินได้ว่าจะต้องเกิดขึ้น เพียงแต่คุณคาดการณ์ไม่ได้ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร กี่เปอร์เซนต์

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้นักลงทุนทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะตลาดหุ้นผันผวน ราคาหุ้นเติบโตขึ้นลงแรงๆ ขณะที่หุ้นคุณค่าที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง ราคาไม่ผันผวนมากเท่า นี่คือ โอกาสลงทุน และกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking ตอบโจทย์ตรงนี้

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า กับแผนการลงทุนใหม่ของเรา


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง 

Jitta Wealth Journal – หุ้น Facebook ร่วง หุ้นเทคไปยังไงต่อ?

Jitta Wealth Journal – 5 กลยุทธ์ รับมือตลาดหุ้นผันผวน 

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด