Jitta Wealth Journal ปีที่ 2 ฉบับที่ 62 ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ทีมงานได้รวบรวมข่าวสารและสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกมาให้คุณแล้ว ดังนี้
ไปติดตามกันได้เลย
ถ้าคุณต้องการตัดสินใจลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ไม่หวั่นไหวไปตามกระแส อยากสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าคนหมู่มากในตลาด ที่มักทำผิดพลาดคล้ายๆ กัน และต้องการลงทุนอย่างมีความสุข สบายใจมากขึ้น
ห้ามพลาด Live นี้ โดย Jitta Wealth เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการลงทุน มาให้ความรู้และเทคนิครับมือกับความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น ประกอบด้วย
คุณศรุติ โชติเสรีวิทย์ ผู้เขียนหนังสือ Investor Mindset รู้ทันอารมณ์ สร้างกำไรด้วยเหตุผล และเจ้าของเพจ Stock Vitamins
คุณพิริยะ พาณิชย์ชะวงศ์ ผู้แปลหนังสือจิตวิทยาการลงทุน The Psychology of Investing
และคุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
เวลา 19:00 น.
กด ‘Going’ เพื่อรับการแจ้งเตือน
Seeking Alpha ชุมชนออนไลน์ของนักลงทุนทั่วโลก นำเสนอ 5 กลยุทธ์การลงทุน รับมือความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น โดยยกแนวคิดของนักลงทุนระดับโลกชื่อดัง Peter Lynch ว่า เคล็ดลับช่วงตลาดหุ้นขาลง คือ คุณควรฝึกวินัยตัวเองให้ไม่สนใจความผันผวน
ขยายความได้ว่า ภาวะแบบนี้ คุณควรลดความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณตัวเอง เพราะทุกครั้งที่ตลาดหุ้นผันผวนมักจะสร้างความกังวลและหวั่นกลัวให้กับคุณ ยิ่งคุณเข้าไปดูพอร์ตลงทุนบ่อยๆ มูลค่าที่ลดลงจะสร้างแรงกดดันให้คุณตัดสินใจขายสินทรัพย์ เพื่อหยุดการขาดทุนนั่นเอง
นั่นหมายความว่า คุณใช้สัญชาตญาณตัวเองในช่วงที่คุณเกิดความหวาดหวั่น มันคือการใช้อารมณ์มาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ทั้งๆ ที่พื้นฐานของสินทรัพย์ไม่ได้แย่ลงเลย แต่คุณกลับยอมรับผลขาดทุนในช่วงเวลาสั้นๆ ด้วยการขายสินทรัพย์ไป และไม่รอให้ตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
และ 5 เคล็ดไม่ลับที่ Seeking Alpha ย่อยมาให้ โดยรวบรวมจากมุมมองจาก Lynch รวมไปถึง Warren Buffett ได้แก่
Lynch บอกว่า จงยืนอยู่ข้างหุ้นที่พื้นฐานของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้น จะยอมรับได้กับโอกาสขาดทุนเป็นระยะๆ การปรับฐานชั่วคราว และเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
Buffett บอกว่า ลงทุนบริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาเหมาะสม ย่อมดีกว่าบริษัทที่เหมาะสมในราคาที่ยอดเยี่ยม
คุณจะเห็นว่า ทั้ง 5 วิธีการและมุมมองจากนักลงทุนชั้นเซียนทั้ง 2 คน สอดคล้องกับหลักการลงทุนระยะยาวของ Jitta Wealth เราเชื่อมั่นในคุณภาพสินทรัพย์ที่เฟ้นหามาเป็นทางเลือกการลงทุน ทั้งหุ้นและ ETF
ส่วนวินัยการลงทุนและการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา…อยู่ที่ตัวคุณ
ใครๆ ก็พูดถึงการลงทุนในธีม หรือที่เรียกกันว่า Thematic Investment มาทำความเข้าใจเทรนด์การลงทุนนี้ พร้อมสร้างความมั่งคั่งให้คุณในระยะยาวได้อย่างไร และไอเดียการจัดพอร์ตลงทุนในธีมที่น่าสนใจ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมจบมาตรการ QE ในเดือนมีนาคม พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุลลง ถึงแม้ว่าจะยังไม่เป็นทางการ แต่ท่าทีของ Fed ได้สร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป้าหมายของนโยบายการเงิน คือ กระตุ้นให้ภาคแรงงานกลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมไปถึงการรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า โดย Fed มีมุมมองว่า ใกล้ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐฯ
สำหรับการปรับลดขนาดงบดุลนั้น จะเกิดขึ้นหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว อย่างไรก็ตาม Fed มีความจำเป็นในการคงสินทรัพย์ส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองและรักษาสภาพคล่อง ซึ่งทาง Fed จะหารือกันอีกครั้งก่อนดำเนินนโยบาย เพื่อประเมินสถานการณ์และจังหวะที่เหมาะสม
การประชุมในเดือนมกราคมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่คาดการณ์เอาไว้แล้ว และเมื่อนโยบายสิ้นสุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง นักวิเคราะห์มองว่า หุ้นสหรัฐฯ มีราคาที่ถูกน่าเข้าลงทุน
จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และการปรับฐานอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ราคาหุ้นอยู่ในช่วงราคาที่ถูก แต่พื้นฐานของกิจการไม่ได้เปลี่ยนแปลง หากเข้าลงทุนหรือเพิ่มทุนในช่วงเวลานี้ จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับคุณในระยะยาว
หากคุณมีความสนใจจะคว้าโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถเลือกแผน Jitta Ranking สหรัฐอเมริกา หรือเทคโนโลยีสหรัฐฯ ลงทุนหุ้นรายตัวตั้งแต่ 5-30 หุ้น วิเคราะห์และคัดสรรจากแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta
หรือเลือกแผน Thematic DIY ลงทุนใน Passive ETF เลือกธีมตลาดหุ้นสหรัฐฯ จัดพอร์ตร่วมกับธีมอื่นๆ ได้สูงสุด 5 ธีม เพื่อคว้าโอกาสตอนช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลดลง และรอโอกาสกลับมาเป็นขาขึ้น สร้างผลตอบแทนทบต้นในระยะยาว
Aswath Damodaran ศาสตราจารย์ของ NYU Stern School of Business ได้คำนวณมูลค่าที่แท้จริงดัชนี S&P500 ปี 2564 ด้วยโมเดล Discounted Cash Flow ผลออกมาที่ดัชนี S&P500 ปี 2564 ปิดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงเพียง +10.32%
การคำนวณในครั้งนี้ใช้สมมติฐาน กระแสเงินสดคิดจากเงินปันผลและมูลค่าการซื้อหุ้นคืน คาดการณ์อัตราเติบโตที่ +6.47% ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งผลลัพธ์ได้ออกมาสวนทางคำสัมภาษณ์ของ Jeremy Grantham นักลงทุนระดับโลกที่คาดว่าจะมีวิกฤตฟองสบู่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
จากมุมมองของ Grantham ได้ระบุว่า หุ้นหลายบริษัทได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร้เหตุผล และคาดว่าดัชนี S&P500 จะดิ่งลงไปกว่า 2,500 จุด สวนทางกับมุมมองของศาสตราจารย์ Damodaran ใช้โมเดลทางการเงิน ประกอบกับสมมติฐานต่างๆ ที่มีข้อมูลรองรับในการคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของดัชนี S&P500
อย่างไรก็ตามมุมมองจากทั้งศาสตราจารย์ Damodaran และ Grantham มีสิ่งที่สอดคล้องกัน คือ ดัชนี S&P500 ปรับตัวสูงเกินกว่าพื้นฐาน แต่ไม่ได้สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงถึง +40% ตามที่ Grantham ให้ข้อมูลไว้ ตามการคำนวณในครั้งนี้ ข้อมูลของศาสตราจารย์ Damodaran มีน้ำหนักกว่าค่อนข้างมากเลยทีเดียว
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยตัวเลขลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในปี 2564 สูงถึง 2.78 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่า +14.2% คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 2.44% ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของจีนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก
จากเงินทุนก้อนนี้แบ่งออกเป็นงบที่ใช้ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ 160,000 ล้านหยวน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น +15.6% คิดเป็น 6.1% ของทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมด ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นเป้าหมายที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ของจีน
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลตั้งเป้าทุนวิจัยพัฒนาเพิ่มอย่างน้อย +7% ต่อปี ซึ่งสัดส่วนต่อทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับโครงการที่จีนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ประกอบด้วยอวกาศ นิวเคลียร์ ฟิสิกส์ ควอนตัม และวิศวกรรมชีวเวช
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมากกว่า 2.1 ล้านล้านหยวน ภายในปี 2565 ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน
สาเหตุที่ธนาคารกลางจีนใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ที่โตเพียง +4% สร้างความกังวลถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2565 ที่มีเป้าหมายที่ +5-6% จึงต้องเร่งใช้นโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
สะท้อนว่า จีนต้องการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันและการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความโดดเด่นในเทคโนโลยี รวมไปถึงวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้จีนแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างเต็มที่และสร้างการเติบโตระยะยาวให้กับประเทศอย่างชัดเจน
จีนมีแผนการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ตลอด นโยบายต่างๆ ของจีนเริ่มมีความชัดเจนและทำให้ผู้บริโภคออกมาออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สำหรับเป้าหมาย +5-6% เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของจีน ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
เทรนด์ Technological Breakthrough มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมนุษย์ พร้อมผลักดันให้หุ้นเทคโนโลยีจีนเติบโตสูง แต่ยังมีราคาที่น่าเข้าลงทุน ชี้เป้า 10 หุ้นเทคโนโลยีจีน พร้อมท้าดวลผู้นำโลก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกสำหรับปี 2565 ลงเหลือเพียง +4.4% จากเดิม +4.9% โดยให้มุมมองว่า ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการระบาดของ Covid-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และภาวะเงินเฟ้อสูง
นอกจากนี้ IMF ได้ประมาณการณ์ GDP สหรัฐฯ โต +4% ในปี 2565 ตัวเลขจะต่ำกว่าปี 2564 เนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของ Fed ที่จะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับการคาดการณ์เติบโต GDP ของจีน IMF ปรับลดลงเช่นเดียวกันอยู่ที่ +4.8% เนื่องจากความกังวลการใช้นโยบาย Covid Zero ที่รัฐบาลจีนประกาศใช้อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP จะถูกปรับลดลง แต่ IMF ยังมองว่า เศรษฐกิจแต่ละประเทศจะเติบโต และเริ่มฟื้นตัวจาก Covid-19 ได้ในปี 2565 สำหรับจีน จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เมื่อทั่วโลกสามารถควบคุมสถานการณ์นี้เอาไว้ได้ เศรษฐกิจโลกจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
เพจ Than Money Trick อัปเดตพอร์ตลงทุน Thematic Optimize รอบ 3 เดือน พร้อมเพิ่มทุนอีก 100,000 บาท ตลาดหุ้นปรับฐาน เป็นโอกาสที่จะเฉลี่ยต้นทุนในพอร์ตกับธีมที่น่าลงทุนที่สุด
ช่วงเวลาของการรายงานผลประกอบการ Apple ทุบสถิติรายได้สูงสุดตลอดกาล โดยยอดขายรวมไตรมาส 4 โตกว่า +11% อยู่ที่ 123,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านกำไรพุ่งสูงสุดถึง +25% ส่งผลให้กำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 2.10 ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่า Apple ต้องเผชิญปัญหาด้านสินค้าขาดตลาดจากห่วงโซ่การผลิต และโรคระบาด Covid-19 แต่ยอดขายสินค้าเติบโตสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ โดยสินค้าที่มียอดขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ iPhone Mac และ iPad
อย่างไรก็ตาม Tim Cook CEO บอกว่า Apple กำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งเขาคิดว่าทุกบริษัทต่างเผชิญแรงกดดันนี้ แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
Google ประกาศลงทุนในบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของอินเดียอย่าง Bharti Airtel ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเข้าถือหุ้น 1.28% มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านสัญญาทางการค้า
โดยการร่วมมือระหว่าง Google และ Bharti Airtel ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ Bharti Airtel ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่งเสริมสังคมดิจิทัลของอินเดีย และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีโทรคมนาคมได้มากขึ้น
กว่า 2 ปีหลังจากการประกาศเข้าสู่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งแรก สกุลเงินดิจิทัล Diem (เดิมชื่อ Libra) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Facebook (Meta Platforms) ดูเหมือนจะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว จากแรงกดดันอย่างหนักจาก Fed
Bloomberg รายงานว่า Diem Association หน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีของ Diem กำลังเตรียมขายทรัพย์สินทอดตลาด เพื่อหาเงินมาคืนให้กับนักลงทุน
การตัดสินครั้งสุดท้ายชี้ชะตา Diem คือ Silvergate Capital พาร์ตเนอร์ฝั่งการเงินที่พยายามเข้าเจรจากับ Fed แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะ Fed บอกว่ายังไม่อนุญาตให้ Silvergate ออกเงิน Diem USD และ David Marcus ผู้สร้าง Libra ก็ประกาศลาออกจาก Meta Platforms ช่วงปลายปีที่แล้ว
ยังไม่แน่ชัดว่า มูลค่าทรัพย์สินของ Diem จะเป็นเท่าไร เพราะการเตรียมขายทรัพย์สินนี้ยังอยู่ในช่วงพูดคุยขั้นต้นเท่านั้น แต่ดูท่าทีแล้วอนาคตของ Diem ค่อนข้างมืดมนเต็มที และอาจจะไม่ได้เห็นสกุลเงินดิจิทัลนี้ในอนาคต
คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์รูปแบบใหม่ในโลกดิจิทัล อยู่ในช่วงเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (Learning Curve) ที่ยังมีความไม่แน่นอน อาจจะใช้ได้ในโลกออนไลน์ แต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ 100% ในโลกการซื้อขายแลกเปลี่ยนจริงๆ
ดังนั้นแนวโน้มของคริปโทเคอร์เรนซียังต้องดูกันยาวๆ หากในอนาคตสามารถเป็นเมกะเทรนด์อนาคตไกลได้จริงๆ Jitta Wealth จะพิจารณาให้เป็นทางเลือกการลงทุน โดยใช้ประโยชน์จาก AI ของเรา
Jitta Wealth เปิดศาสตร์การลงทุนด้วย Quant VI กับการคัดหุ้นดีราคาถูก ตามแบบฉบับของ Warren Buffett หนุนให้แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta สร้างผลตอบแทนทบต้นชนะตลาดได้ในระยะยาว
กำไรปี 2564 ของ Tesla จบที่ 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 53,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไตรมาสที่ 4 กำไรจบที่ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Tesla มี EPS อยู่ที่ 2.52 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนรายได้ในช่วงไตรมาสเดียวกันอยู่ที่ 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต +65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบริษัทยังเผชิญปัญหาชิปขาดแคลนก็ตาม
Elon Musk CEO คาดการณ์ว่า Tesla จะเผชิญปัญหาชิปขาดแคลนต่อไป ซึ่งจะทำให้ไม่มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รุ่นใหม่ตามที่บริษัทวางแผนไว้
ในขณะที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกยังไม่ฟื้นมากนัก ตลาด EV กลับคึกคักเป็นพิเศษ ยอดขาย EV เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 29% ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดคือ Tesla Model 3
ด้วยข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ตลาด EV ในยุโรปที่เติบโตมากที่สุด ได้แก่ ไอซ์แลนด์ (+36%) และนอร์เวย์ (+25%) โดยทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนการใช้ EV สูงที่สุดในยุโรป เนื่องจากรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ในการซื้อ EV กับประชาชน
EV เป็นอีกแขนงของพลังงานสะอาด ในอนาคต EV จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมัน เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำมัน ซึ่งมีความผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก
อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการระบาด Covid-19 คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เติบโตไปแล้วกว่า 24 เท่าภายใน 6 ปี
ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีการเติบโตโดดเด่น คาดการณ์ว่าจะแตะระดับ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 จากผลสำรวจประชาชนกว่า 58% ยืนยันว่าจะซื้อสินค้าออนไลน์ต่อเนื่อง เพราะความสะดวกสบาย
กว่า 53% บอกว่า การซื้อของออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว มูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามเติบโต +16% แตะระดับ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 1 ใน 3 ของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่และโตเร็วที่สุดในอาเซียน
นี่คือ 10 ข่าวสารความเคลื่อนไหวจากทั่วโลกจาก Jitta Wealth Journal ประจำสัปดาห์นี้
ผ่านไปแล้วเดือนแรกของปี 2565 กับความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนีปรับฐาน มูลค่าหุ้นลดลง เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เปิดศักราช 2565 ปรากฎการณ์ January Effect ที่ดัชนีตลาดหุ้นลงส่งท้ายปี ขึ้นรับเดือนแรกของปีไม่เกิดขึ้น จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุกๆ ปีและใช้ได้กับทุกๆ ตลาดหุ้นทั่วโลก
ตลาดหุ้นขึ้นๆ ลงๆ มีปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง เศรษฐกิจ นโยบายการเงิน ข่าวสารเฉพาะบริษัทที่ส่งผลด้านราคา รวมไปถึงอารมณ์ร่วมของนักลงทุนทั่วโลก หวังว่า เดือนกุมภาพันธ์นี้คงมีกระแสข่าวดีๆ กันบ้าง
แล้วพบกันสัปดาห์หน้า
Jitta Wealth Journal – ถ้าดัชนี S&P500 ดิ่งลง จะเกิดอะไรขึ้น?
Jitta Wealth Journal – 3 หุ้นสหรัฐฯ แข็งแกร่งสวนกระแสเงินเฟ้อ