3 เซียนหุ้น แนะวิธีจัดพอร์ต ต้านทาน ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งสูง

2 กุมภาพันธ์ 2565DIYGlobal ETFJitta RankingJitta WealthOptimizeThematic

ไฮไลต์

  • ‘เงินเฟ้อ’ เป็นภาวะที่คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเกิดขึ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวได้ดี อุปสงค์และอุปทานด้านสินค้าและบริการย่อมเพิ่มขึ้น และเป็นตัวกำหนดกลไกราคา แต่บางครั้งภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงเกินกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านๆ อื่น จะสร้างปัญหาและความผันผวนในตลาดหุ้นได้
  • Warren Buffet แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มี 2 คุณสมบัติ ประกอบด้วย (1) บริษัทที่มีความสามารถในการขึ้นราคาสินค้าได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า ส่วนแบ่งการตลาดจะหายไป (2) บริษัทที่มีความสามารถในการขยายธุรกิจ ด้วยการลงทุนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย
  • Peter Lynch บอกว่า ไม่พยายามจับจังหวะตลาดเพราะเสียเวลา แต่คุณควรมั่นใจในคุณภาพสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ โดยธุรกิจที่สามารถผ่านทนต่อวิกฤตต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คือ หุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) เพราะมีกลุ่มลูกค้าซื้อซ้ำเรื่อยๆ และมีความแข็งแกร่งในตัวเอง จนสามารถผ่านวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
  • Ray Dalio เน้นกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้พอร์ตลงทุนสามารถรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ เน้นที่การลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่มีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ไม่มาก เพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด เพราะเมื่อราคาหุ้นในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความผันผวนขาลง ราคาหุ้นกลุ่มอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะไม่ลดลงตามกัน 
  • กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Global ETF นโยบาย Thematic และนโยบาย Jitta Ranking ล้วนตอบโจทย์หลักการลงทุนของ 3 เซียนหุ้นระดับโลกทั้งนั้น เพราะเราเลือกสินทรัพย์ที่มีความแข็งแกร่ง ต้านทานภาวะเงินเฟ้อได้ดี และสร้างผลตอบแทนทบต้นในระยะยาว รวมทั้งใช้เทคโนโลยี AI และระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติมาช่วยรักษาวินัยการลงทุน

เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ เงินเฟ้อ โดยวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI) ประกาศตัวเลขเป็นรายเดือน

ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องปกติตามวัฏจักร แต่จะไม่ปกติเมื่อตัวเลขพุ่งสูงเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การว่างงาน การบริโภคภาคประชาชน

สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งแรง โดยสำนักงานสถิติแรงงาน สรุปตัวเลข CPI ของปี 2564 อยู่ที่ 7.0% รวมดัชนีราคาอาหารและพลังงาน เป็นตัวเลขรายปีสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2525

จะไม่ให้กังวลได้อย่างไร ในเมื่อตัวเลขเงินเฟ้อที่สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีจะอยู่ประมาณ 2% หรือเรียกกันว่า เงินเฟ้ออ่อนๆ

ผลที่ตามมา คือ ต้นทุนการผลิตและการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการอาจจะผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภค ซึ่งหมายถึง ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ประชาชนยังเท่าเดิม

เมื่อเงินเฟ้อพุ่งแรง ถึงเวลาที่ธนาคารกลางต้องออกโรง ใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (Restrictive Monetary Policy) และ 1 ในมาตรการเหล่านั้น คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาความร้อนแรง (Overheated) ในระบบเศรษฐกิจนั่นเอง

โดยปกติแล้วธนาคารกลางของทุกประเทศ จะใช้นโยบายการเงินหลายๆ รูปแบบเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจโดยรวม และควบคุมเสถียรภาพของราคาให้สมดุล ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ 

ในทางกลับกัน หากอยู่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา (Recession) ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว สำหรับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายๆ ครั้งในปี 2565 จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นตอบสนองทันที มีความผันผวนขาลงจากความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก

ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญกับ ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งแรง ประเทศอื่นๆ ในยุโรป เอเชีย รวมทั้งไทยด้วย โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) บอกว่า ภาวะเงินเฟ้อของไทยที่กำลังไต่ระดับ ได้รับผลกระทบมาจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงของหลายๆ ประเทศ

เมื่อไม่มีใครหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อได้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่ความแน่นอน และอ่อนไหวต่อข่าวสารต่างๆ คุณเกิดคำถามขึ้นว่า จัดพอร์ตลงทุนอย่างไรในภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง สินทรัพย์ที่แข็งแกร่งพอที่จะต้านทานเงินเฟ้อมีอะไรบ้าง

ทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมแนวคิดและวิธีการรับมือกับ ‘เงินเฟ้อ’ จาก 3 นักลงทุนชื่อดังระดับโลก พร้อมทั้งไฮไลต์แผนการลงทุนของ Jitta Wealth ที่สอดคล้องกับมุมมองของพวกเขา

Buffett – กิจการที่ขึ้นราคาตาม ‘เงินเฟ้อ’ ได้ 

นักวิเคราะห์จากหลายๆ สำนักแนะนำให้คุณเลือกลงทุนในตลาดหุ้นช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบกับคุณโดยตรง หากคุณเก็บเงินสดไว้ในบัญชีธนาคาร และไม่ทำอะไรกับมัน มูลค่าเงินจะถูกอัตราเงินเฟ้อกัดกินไปเรื่อยๆ จนทำให้มูลค่าในอนาคตลดลง การนำเงินไปลงทุนในหุ้น เพื่อบรรเทามูลค่าเงินในอนาคตที่จะลดลง จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากที่สุด

แต่คำถามคือ คุณควรลงทุนในบริษัทประเภทใด นักลงทุนชั้นเซียนอย่าง Warren Buffett ให้คำแนะนำการลงทุนในช่วงเงินเฟ้อพุ่งสูง ซึ่งเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายๆ ทศวรรษ ทีมงาน Jitta Wealth จะพาคุณย้อนเวลากลับไปทำความเข้าใจคำแนะนำของเขา ซึ่งยังใช้ได้ในภาวะเงินเฟ้อ ปี 2565 

ในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2558 ของ Berkshire Hathaway โดยมี Buffett ประธานและ CEO ให้คำแนะนำกับผู้ถือหุ้นว่า ธุรกิจที่น่าลงทุนที่สุดในภาวะเงินเฟ้อควรเป็นธุรกิจที่คุณลงทุนเพียงครั้งเดียว และคุณไม่จำเป็นต้องคอยเติมเงินเข้าไปอีก ซึ่ง Buffett ได้ยกตัวอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงเงินเฟ้อ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับธุรกิจที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ คือ ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงในการดำเนินธุรกิจ โดย Buffett ได้ยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคม ไม่ใช่ธุรกิจที่ควรลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ

ย้อนกลับไปในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2552 Buffett เคยพูดถึงการปกป้องเงินของคุณจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเขาแบ่งออกมาเป็น 2 วิธีที่ดีที่สุด ดังนี้

  • วิธีที่ 1 คือ ลงทุนในตัวเองและทักษะของคุณ โดยให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า หากคุณเป็นครูที่ดีที่สุด ศัลยแพทย์ที่ดีที่สุด ทนายความที่ดีที่สุด คุณจะได้รับส่วนแบ่งจากเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลถึงมูลค่าของสกุลเงินใดๆ ก็ตาม
  • วิธีที่ 2 คือ ลงทุนในธุรกิจที่ยอดเยี่ยม หมายถึง ธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูง และสามารถขึ้นราคาสินค้าโดยที่ผู้บริโภคยังเลือกใช้สินค้าของธุรกิจนั้น

คำแนะนำที่ชัดเจนที่สุดของ Buffett มาจากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในปี 2524 ที่ Buffett ได้พูดถึงคุณสมบัติธุรกิจที่สามารถทนต่อภาวะเงินเฟ้อ และได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งมีอยู่ 2 ข้อ ประกอบด้วย

  1. บริษัทที่มีความสามารถในการขึ้นราคาสินค้าได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า ส่วนแบ่งการตลาดจะหายไป เพราะบริษัทนั้นมีอำนาจต่อรองในตลาดสูงนั่นเอง
  2. บริษัทที่มีความสามารถในการขยายธุรกิจ ด้วยการลงทุนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย แต่สามารถสร้างรายได้กลับมามหาศาล

จากคำแนะนำของ Buffett สามารถสรุปได้ว่า เขาเน้นที่คุณภาพกิจการที่สามารถสร้างรายได้เติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งก็คือ หุ้นคุณค่า (Value Stock) เพราะกิจการเหล่านี้จะสามารถครองใจผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะขึ้นราคาสินค้าตามเงินเฟ้อ ผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการซื้อสินค้าอยู่ดี 

เมื่อกิจการเหล่านั้นขึ้นราคาสินค้าได้ ก็จะมีรายได้และกำไรที่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่ง Buffett มองว่า การลงทุนในหุ้นคุณค่า สุดท้ายแล้ว หากบริษัทแข็งแกร่งจริงๆ จะสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไปได้ และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับคุณในระยะยาว

Lynch – ฝ่าวิกฤต ‘เงินเฟ้อ’ ด้วยสินทรัพย์ที่เชื่อมั่น

Peter Lynch ตำนานผู้จัดการ Magellan Fund กองทุนในสังกัดของ Fidelity Investments และผู้เขียนหนังสือการลงทุนชื่อดังระดับโลกมากมายอย่าง One Up On Wall Street และ Beating the Street ที่มียอดขายอันดับ 1 ทั่วโลก 

Lynch เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ PBS โดยได้อภิปรายหัวข้อต่างๆ มากมาย รวมถึงกลยุทธ์การลงทุน ความสำเร็จของ Magellan Fund และความคิดของเขาเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ไปกับการคาดการณ์หรือจับจังหวะเศรษฐกิจ ซึ่ง Lynch ได้เล่าย้อนกลับไปในปี 2525 ที่ตัวเขาบอกว่า เป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวของสหรัฐฯ

สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงปี 2525 มีภาวะถดถอยถึง 9 ครั้ง รุนแรงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น 14% ตอนนั้นผู้คนต่างกังวลว่า นี่อาจจะเป็นจุดจบของสหรัฐฯ ก็ได้ 

ในช่วงเวลานั้นเอง Lynch ต้องคอยบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า เขาเชื่อในหุ้นที่เลือก เขาเชื่อในธุรกิจที่ลงทุน และเขาเชื่อว่าสหรัฐฯ สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ 

Lynch บอกว่า อัตราเงินเฟ้อสองหลักเป็นสิ่งหายากและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเล่าว่า แม้แต่ผู้ถือหุ้นของกองทุนเคยเขียนจดหมายมาถึงเขาในช่วงเวลานั้น บอกด้วยความกังวลว่า มากกว่า 50% ของหุ้นในพอร์ต กำลังสูญเสียเงินอยู่ตอนนี้

อย่างไรก็ตาม Lynch ไม่หวั่นไหว เขามีความเชื่อที่แข็งแกร่งว่า บริษัทเหล่านี้จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และไม่มีเหตุผลที่สหรัฐฯ จะล้มเพราะวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งสุดท้ายความเชื่อของ Lynch ถูกต้อง สหรัฐฯ สามารถผ่านปัญหาทุกอย่างได้ ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

คำแนะนำของ Lynch ที่บอกอยู่เสมอ คือ ไม่พยายามจับจังหวะตลาด และ Quote ที่โด่งดังของเขาคือ หากคุณใช้เวลาคาดคะเนเศรษฐกิจไป 13 นาทีต่อปี นั่นหมายความว่าคุณเสียไปแล้ว 10 นาทีโดยไม่มีประโยชน์ สิ่งที่คุณควรเข้าใจและให้ความสำคัญ คือ คุณภาพสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่ 

หุ้นที่ Lynch เลือกลงทุนและทนถือจนผ่านช่วงเงินเฟ้อพุ่งสูง 14% มาได้ เป็นธุรกิจที่เขาเข้าใจและสำรวจมาอย่างละเอียด ทำให้เขามั่นใจว่าธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้อย่างแน่นอน โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปจับจังหวะตลาดหุ้น หรือแนวโน้มเศรษฐกิจให้เสียเวลา

Lynch บอกว่า ธุรกิจที่สามารถผ่านทนต่อวิกฤตต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คือ หุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) โดยลักษณะเด่นของหุ้นกลุ่มนี้ คือ มีกลุ่มลูกค้าซื้อซ้ำเรื่อยๆ และมีความแข็งแกร่งในตัวเอง จนสามารถผ่านวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง โดยลักษณะจะคล้ายกับหุ้นคุณค่าที่  Buffett แนะนำ 

Dalio – ถือเงินสดไม่ปลอดภัย

Ray Dalio ผู้จัดการกองทุน Bridgewater Associates ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขามีมุมมองมากมายเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมไปถึงคำแนะนำจัดพอร์ตลงทุนในช่วงเงินเฟ้อพุ่งสูง 

Dalio มีจุดยืนว่า การถือเงินสดไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนในตลาดหุ้น ที่เกิดจากการระบาด Covid-19 สายพันธุ์โอไมครอนในช่วงเวลานั้นก็ตาม แต่ Dalio บอกว่า ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง จะกัดกินมูลค่าเงินสดที่คุณถืออยู่ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายภาคส่วน และทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Dalio มีมุมมองว่า ในช่วงเวลาที่วุ่นวายแบบนี้ การจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและปลอดภัย สร้างความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เคล็ดลับการบริหารพอร์ตของ Dalio คือ การกระจายความเสี่ยงเพื่อให้พอร์ตลงทุนสามารถรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ สำหรับภาวะเงินเฟ้อ Dalio แนะนำให้ กระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงสินทรัพย์อื่นๆ ในต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้น

Dalio ได้พัฒนาสไตล์การลงทุนของตนเองขึ้นมา โดยมีเคล็ดลับคือ การลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ซึ่งเขาเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตร ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และ คริปโทเคอร์เรนซี โดยทีมงานขอเน้นไปที่สินทรัพย์การเงินอย่างหุ้น เพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้น

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นของ Dalio คือการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่มีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ไม่มาก เพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเลือกลงทุนในตลาดหุ้น พอร์ตลงทุนควรมีหุ้นพลังงาน หุ้นเทคโนโลยี หุ้นอีคอมเมิร์ซ และหุ้นโรงแรมอยู่ด้วยกัน ด้วยค่าสหสัมพันธ์ที่ต่ำ เมื่อราคาหุ้นในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความผันผวนขาลง ราคาหุ้นกลุ่มอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะไม่ลดลงตามกัน นี่คือการจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กลยุทธ์ของ Dalio ทำให้พอร์ตลงทุนสามารถเอาชนะทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ และด้วยการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม จะทำให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจมากขึ้น โดยที่ไม่มีความกังวลกับความผันผวนระยะสั้นที่เกิดขึ้น 

แนวทางการลงทุน Dalio จะมีความต่างจาก Buffett และ Lynch อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม Dalio ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การจับจังหวะตลาด เป็นการตัดสินใจที่โง่เขลา ซึ่งคำแนะนำสอดคล้องกับ Lynch เช่นเดียวกัน

เงินเฟ้อ

แผนการลงทุนของ Jitta Wealth รับมือ ‘เงินเฟ้อ’

จากคำแนะนำของนักลงทุนระดับโลกทั้ง 3 คน แสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพอร์ตลงทุนในช่วงภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามทั้ง 3 เซียนหุ้นแต่ละคนมีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน 

สำหรับแผนการลงทุน Jitta Wealth ถูกออกแบบมา เพื่อตอบโจทย์หลักการลงทุนระยะยาวและสร้างผลตอบแทนทบต้น ดังนั้นเรามีจุดยืนในการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำ 

หุ้นคุณค่าและหุ้นแข็งแกร่งกับ Jitta Ranking

นโยบาย Jitta Ranking ลงทุน ‘หุ้นดีราคาถูก’ และ ‘หุ้นดีมีโอกาสเติบโต’ ออกแบบมาภายใต้แนวคิดของ Buffett คือ ‘Buy a wonderful company at a fair price’ (ลงทุนในธุรกิจที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม) และยึดมั่นในสไตล์การลงทุนแบบ VI (Value Investing)

เราพัฒนาเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาช่วยสแกนงบการเงินย้อนหลัง 10 ปี วิเคราะห์และประเมินโอกาสเติบโตของหุ้นนั้นๆ นำมาจัดอันดับหุ้นที่น่าลงทุนที่สุด พร้อมระบบลงทุนอัตโนมัติ (Automated Investing) คอยรีวิวและปรับพอร์ตทุกไตรมาสตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

ปัจจัยหลัก 3 ข้อในของการจัดพอร์ตลงทุนของ Jitta Ranking คือ คุณภาพของธุรกิจ มูลค่าที่เหมาะสม และโอกาสเติบโตสร้างกำไรของธุรกิจ ดังนั้น 3 ปัจจัยเหล่านี้ เป็นการวิเคราะห์หุ้นพื้นฐานดี เพื่อเลือกหุ้นคุณค่า (Value Stock) และ หุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) ในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ของ Buffett และ Lynch นั่นเอง

นโยบาย Jitta Ranking คุณจะได้ลงทุนในธุรกิจที่ดี จากการวิเคราะห์ของ AI โดยปราศจากอารมณ์และอคติ เพราะสุดท้ายแล้ว ธุรกิจที่ดีและมีงบการเงินแข็งแกร่งจะสามารถผ่านพ้นความผันผวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น และปรับตัวสู่มูลค่าที่แท้จริงในระยะยาวได้เอง โดยที่คุณไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น

กระจายความเสี่ยงด้วย Global ETF และ Thematic

นโยบาย Global ETF และ Thematic คือ การลงทุนใน ETF (Exchange Traded Fund) แต่มีความแตกต่างกัน คือ Global ETF เลือกลงทุนใน Passive ETF ในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้และหุ้นทั่วโลก เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวน ส่วน Thematic เลือกจัดพอร์ตลงทุนใน Passive ETF ธีมธุรกิจและตลาดหุ้นที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์และมีอนาคตไกล เป็นการลงทุนในหุ้นเฉพาะกลุ่มที่มีความผันผวนสูง แต่ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงเช่นเดียวกัน

คำแนะนำของ Dalio เน้นกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนให้มูลค่าโดยรวมมีความผันผวนน้อยที่สุด และรักษาความสมดุลในพอร์ต ดังนั้น Global ETF และ Thematic จึงตอบโจทย์ตามคำแนะนำนี้

  • Global ETF ออกแบบให้เป็นสูตรสำเร็จพอร์ตลงทุน กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ค่า Correlation แตกต่างกัน ระหว่างตราสารหนี้และหุ้น จัดพอร์ตตามทฤษฎีรางวัลโนเบล Modern Portfolio Theory (MPT) ลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด เพิ่มผลตอบแทนให้สูงที่สุด คุณสามารถเลือกได้ 3 แผนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น พอเพียง สมดุล และเติบโต
  • Thematic เป็นการลงทุนในหุ้นผ่าน ETF ธีมธุรกิจและตลาดหุ้น พอร์ตลงทุนที่กระจายความเสี่ยงได้ดี คือ 4 ธีม เพื่อให้ระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติของ Jitta Wealth ทำงานได้เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตามค่า Correlation หลายๆ ธีมที่จะมีความใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะธีมด้านเทคโนโลยี คุณสามารถเลือกได้ 2 แผน คือ Thematic DIY เลือกธีมจัดพอร์ตเองได้สูงสุด 5 ธีม กับ Thematic Optimize ที่ใช้ AI มาวิเคราะห์เลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดให้ 4 ธีม

ทั้งนี้ความแตกต่างของระหว่าง Thematic DIY กับ Thematic Optimize คือ การทำงานของระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ โดย Thematic DIY เกิดจากการเลือกธีมและเปลี่ยนธีมจากตัวคุณเอง ดังนั้นระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติจะทำงานก็ต่อเมื่อธีมใดธีมหนึ่งในพอร์ตมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5% ระบบจะปรับสัดส่วนจากการขายและซื้อธีมในพอร์ตให้กลับมาเท่าๆ กัน

ส่วน Thematic Optimize เกิดจากการทำงานร่วมกันของ AI ของ Jitta Wealth และระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ ดังนั้นเมื่อถึงรอบการปรับพอร์ตทุกไตรมาส เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำงานแทนคุณเอง

คุณจะเห็นได้ว่า หากจัดพอร์ตลงทุนกระจายความเสี่ยงตามกลยุทธ์ของ Dalio จะลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ขอเพียงเชื่อมั่นในสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุน และไม่หวั่นไหวกับมูลค่าพอร์ตที่ลดลงในระยะเวลาสั้นๆ มีจุดยืนสำคัญ คือ สร้างความมั่งคั่งระยะยาว ที่จะไม่ถูก ‘เงินเฟ้อ’ กัดกินมูลค่าเงินลงทุนนั่นเอง

อย่างไรก็ตามภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคุณมีความเข้าใจหลักการลงทุนระยะยาว คุณจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นกับการสร้างความมั่งคั่ง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของภาวะเงินเฟ้อ และก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตลาดหุ้นสามารถผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้เช่นเดียวกัน คุณจะเห็นว่า ดัชนีตลาดหุ้นยังกลับมาเติบโตได้มากกว่าเดิม 

สุดท้ายแล้วคนที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจจากพอร์ตลงทุน คือ ผู้ที่เข้าใจ มั่นใจ และอดทนต่อความผันผวนระยะสั้นๆ ไม่ใจร้อนรีบขายสินทรัพย์ตามอารมณ์ของตลาดหุ้น ลงทุนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายได้อย่างมั่นคง ทีมงาน Jitta Wealth หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้คุณมีความสบายใจมากขึ้นจากการลงทุนสร้างความมั่งคั่งกับเรา 

หากคุณเชื่อมั่นในหลักการลงทุนระยะยาว และสนใจจะสร้างพอร์ตลงทุนตามคำแนะนำของเซียนหุ้นระดับโลกทั้ง 3 คน สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ที่ Line ID: @JittaWealth


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ้างอิง

  1. Consumer Price Index Summary 2021 https://www.bls.gov/news.release/cpi.nr0.htm 
  2. เงินเฟ้อที่สหรัฐจะเป็นเรื่องหลักในปี 2022 | ศุภวุฒิ สายเชื้อ https://www.bangkokbiznews.com/columnist/981625
  3. ‘ตลาดหุ้น’ กับ ‘เงินเฟ้อ’ https://www.bangkokbiznews.com/business/928139
  4. เงินเฟ้อ: 7 เหตุผลที่ทำให้ค่าครองชีพกำลังสูงขึ้นทั่วโลก https://www.bbc.com/thai/international-60102850
  5. เมื่อ “Fed ขึ้นดอกเบี้ย” ควรปรับพอร์ตลงทุนยังไงดี? https://www.moneybuffalo.in.th/financial-planning/the-fed-raises-interest-rate
  6. เงินเฟ้อสหรัฐแตะ 7% พุ่งสุงสุดรอบ 40 ปี https://www.prachachat.net/world-news/news-840945
  7. แบงก์ชาติ แจง 5 สาเหตุ เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพคนไทย สูงขึ้น https://www.prachachat.net/finance/news-842927
  8. จัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกอย่างไร เมื่อ ‘เงินเฟ้อ’ เริ่มมาแรง https://thestandard.co/how-to-do-global-asset-allocation-during-inflation/
  9. These are the types of companies Warren Buffett says you should invest in during times of inflation https://www.marketwatch.com/picks/these-are-the-types-of-companies-warren-buffett-says-you-should-invest-in-during-times-of-inflation-01633548517
  10. Interview with Peter Lynch | Betting On The Market https://www.pbs.org/wgbh/pages/frontline/shows/betting/pros/lynch.html
  11. Ray Dalio says cash is not a safe place right now despite heightened market volatility https://www.cnbc.com/2021/11/30/ray-dalio-says-cash-is-not-a-safe-place-right-now-despite-heightened-market-volatility-.html
  12. THE HOLY GRAIL สูตรการลงทุนให้ชนะทุกสภาวะตลาด สไตล์ Ray Dalio เจ้าของกองทุนป้องกันความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลก https://www.blueoclock.com/ray-dalio-the-holy-grail/

อ่านบทความ Jitta Wealth ที่เกี่ยวข้อง

16 ธีมจาก Thematic ปี 2564 ใครกำไร ใครขาดทุน 

ลงทุน Jitta Ranking ตอนที่ 1 เลือกจัดพอร์ตหุ้นประเทศไหนดี

จัดพอร์ตลงทุน Global ETF เอาชนะ ‘เงินเฟ้อ’ ด้วย Modern Portfolio Theory

วิธีลงทุน Thematic ให้ผันผวนน้อยลง (ตอนที่ 3)

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด