ทำไม Jitta Wealth เลือกใช้ Time-weighted Return

17 มิถุนายน 2565Jitta Wealth

ไฮไลต์

  • หลักการคำนวณทำได้ 3 รูปแบบ คือ วิธี Simple Return วิธี Money-weighted Return (MWR) และวิธี Time-weighted Return (TWR)
  • วิธีการคำนวณผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น กองทุนรวม ETF หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือเครื่องเพชร มีการวัดผลตอบแทนที่แตกต่างกัน
  • Jitta Wealth ใช้วิธี TWR เนื่องจากสามารถวัดผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการบริหารกองทุนส่วนบุคคลได้อย่างแม่นยำ คำนวณตามช่วงเวลาที่ต้องการดูผลตอบแทน ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดผลตอบแทนที่ใช้ในบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลก

ใน 2 คำถามนี้ คุณเห็นอะไรที่เหมือนกันบ้าง ระหว่าง กองทุนนี้ ผลตอบแทน 1 ปีเท่าไร และ ETF กองนี้ ทำผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิงหรือไม่

คำตอบ คือ ผลตอบแทนนั่นเอง…

เพราะการคำนวณผลตอบแทนเป็นเรื่องสำคัญในโลกการลงทุน ทำให้คุณสามารถติดตามผลการดำเนินงานที่สินทรัพย์นั้นทำได้ และเอาไปเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตามการคำนวณผลตอบแทนมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ คุณคงเกิดความสงสัยว่า ควรจะใช้วิธีการคำนวณผลตอบแทนแบบใด ถึงจะเหมาะสมกับสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ และใกล้เคียงกับภาวะการลงทุนมากที่สุด

หากใช้วิธีการคำนวณผลตอบแทนคนละรูปแบบ ตัวเลขที่ออกมามีโอกาสสูงมากที่จะไม่เท่ากัน โดยวิธีการคำนวณผลตอบแทนยอดนิยมมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

  1. Simple Return 
  2. Money-weighted Return (MWR)
  3. Time-weighted Return (TWR)

สำหรับผลตอบแทนที่ Jitta Wealth ใช้ส่งรายงานประจำเดือนให้คุณ รวมไปถึงผลตอบแทนที่ขึ้นอยู่ในแอปพลิเคชัน จะใช้รูปแบบ Time-weighted Return (TWR) ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการวัดผลตอบแทนที่คุณยังไม่คุ้นชิน

ทีมงาน Jitta Wealth จะมาอธิบายวิธีคำนวณผลตอบแทนแต่ละรูปแบบ รวมไปถึงข้อดีและข้อเสีย ของการวัดผลตอบแทนแต่ละวิธี เพื่อให้คุณเข้าใจถึงวิธีการคำนวณต่างๆ ผ่านบทความนี้

Time-weighted Return คำนวณอย่างไร

การคำนวณผลตอบแทนที่ Jitta Wealth ใช้เป็นหลัก คือ Time-weighted Return (TWR) 

TWR เป็นวิธีการวัดผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งช่วงเวลาจากเงินลงทุนปลายงวดกับเงินลงทุนต้นงวดทุกครั้งเมื่อมีกระแสเงินสดไหลเข้าหรือออกจากพอร์ต จากนั้นนำผลตอบแทนที่หาได้ในแต่ละช่วงที่มาคูณทบต้นกันเพื่อให้ได้ผลตอบแทนรวมในช่วงเวลาที่ต้องการทราบ เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณในลักษณะนี้ กระแสเงินสดที่ไหลเข้าหรือออกจากพอร์ตลงทุนระหว่างช่วงที่วัดผลตอบแทนจะไม่บิดเบือนผลตอบแทนที่สินทรัพย์นั้นทำได้จริง

หลักการคิดแบบ TWR เป็นวิธีคำนวณผลตอบแทนที่เป็นมาตรฐานของบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลก เพราะเป็นการวัดความสามารถของผู้จัดการกองทุน โดยที่กระแสเงินสดที่ไหลเข้าหรือออกจากพอร์ตที่คุณเป็นคนบริหารจัดการจะไม่มีผลต่อการคำนวณ ทำให้คุณในฐานะนักลงทุนจะรู้ผลตอบแทนได้อย่างแม่นยำ

อีกชื่อของ TWR คือ ผลตอบแทนเฉลี่ยเรขาคณิต หรือ Geometric Average Return

นี่คือตัวอย่างการคำนวณผลตอบแทนแบบ TWR โดยมีโจทย์ว่า นายจิตตะ มั่งคั่ง เริ่มต้นลงทุนตอนต้นปี 2565 ด้วยเงิน 100,000 บาท ระหว่างปีนายจิตตะเพิ่มเงินลงทุน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท สิ้นปี 2565 นายจิตตะพบว่า มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 บาท

Time-weighted Return

จากโจทย์ เราจะแบ่งงวดคำนวณผลตอบแทน โดยตัดจากรอบที่มีการเพิ่มทุนหรือถอนทุน ดังนี้

  1. งวดแรก คือ เงินลงทุนต้นปี 2565 จนถึงเงินเพิ่มทุน 50,000 บาท
  2. งวดที่ 2 คือ เงินลงทุนทั้งหมดจากงวดแรก จนถึงเงินเพิ่มทุน 50,000 บาท
  3. งวดที่ 3 คือ เงินลงทุนทั้งหมดจากงวดที่ 2 จนถึงเงินลงทุนรวมสิ้นปี 2565

หากคุณดูที่วิธีการคำนวณแต่ละงวด จะเห็นว่า 

  • งวดแรก เงินลงทุนต้นงวดเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาทเป็นเงินลงทุนปลายงวด 110,000 บาท แล้วคำนวณผลตอบแทน ซึ่งก็คือ 0.10 ก่อนจะรวมกับเงินเพิ่มทุน 50,000 บาท รวมเป็น 160,000 บาท
  • งวดที่ 2 เงินลงทุนต้นงวด 160,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นเงินลงทุนปลายงวด 168,000 บาท แล้วคำนวณผลตอบแทน ซึ่งก็คือ 0.05 ก่อนจะรวมกับเงินเพิ่มทุน 50,000 บาท 
  • งวดที่ 3 เงินลงทุนต้นงวด 218,000 บาท และเงินลงทุนปลายงวด 250,000 บาท แล้วคำนวณผลตอบแทน ซึ่งก็คือ 0.15 

จากนั้น เราจะนำผลตอบแทนที่ทำได้แต่ละงวดมาคูณทบต้นกัน เพื่อหาผลตอบแทนของทั้งปี 2565 (ผลตอบแทน 1 ปี) ตามสมการนี้ โดยให้ R คือ ผลตอบแทน Time-weighted Return

R = [(1+0.10) x (1+0.05) x (1+0.15)] – 1 

R = 0.3245 x 100

R = 32.45% 

ดังนั้น ผลตอบแทนจากการคำนวณ Time-weighted Return ในโจทย์นี้ คือ +32.45% นั่นเอง

คุณจะเห็นได้ว่า การคำนวณผลตอบแทนแบบ TWR จะไม่ถูกกระทบจากการเพิ่มหรือถอนเงินจากพอร์ตลงทุน เพราะมีการตัดรอบคำนวณผลตอบแทน ก่อนรวมเงินลงทุนเพิ่มหรือลดทุกครั้ง ทำให้ผลตอบแทนที่คุณเห็นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการลงทุนจริงที่สินทรัพย์นั้นทำได้ หรือผู้จัดการกองทุนทำได้ และสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนอื่นๆ ได้เช่นกัน

สำหรับข้อดีและข้อเสียของวิธีการคำนวณผลตอบแทนแบบ Time-weighted Return คือ

ข้อดี

  • เป็นวิธีคำนวณผลตอบแทนมาตรฐานของบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลก จึงนำไปเปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิงหรือกองทุนอื่นๆ ได้ทั่วโลก
  • ตัดกระแสเงินสดจากการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุน วัดผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ก่อนรวมหรือหักกระแสเงินสดก้อนใหม่ 

ข้อเสีย

  • หากมีการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุนหลายครั้งระหว่างปี จะทำให้การคำนวณซับซ้อนมากขึ้น
  • ปริมาณเงินและผลตอบแทนในแต่ละงวด อาจสร้างความสับสนได้

ด้วยหลักการและวิธีการคำนวณนี้ Jitta Wealth จึงเลือกผลตอบแทนแบบ TWR เพื่อคุณจะได้เห็นความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกนั่นเอง 

วิธีการคำนวณผลตอบแทนอื่นๆ

คุณได้ทำความรู้จักกับ Time-weighted Return ที่ Jitta Wealth ใช้ในการคำนวณผลตอบแทนไปแล้ว เราจะขอยกตัวอย่างวิธีการคำนวณผลตอบแทนแบบอื่นๆ ให้คุณได้ทำความเข้าใจ และรู้ว่า วิธีคำนวณอะไรเหมาะสมกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนบ้าง

มีอีก 2 รูปแบบการคำนวณผลตอบแทน ได้แก่ Simple Return และ Money-weighted Return

Simple Return

วิธีนี้คำนวณโดยการนำเงินลงทุน ณ วันที่ต้องการคำนวณผลตอบแทน มาหักออกด้วยต้นทุนรวม ตัวเลขที่ได้ คือ ส่วนต่างราคา (Capital Gain) เพื่อหาผลกำไรหรือขาดทุน จากนั้นหารด้วยต้นทุนรวม 

การคำนวณผลตอบแทนรูปแบบนี้ คุณจะคุ้นเคยมากที่สุด นิยมใช้ในการคำนวณผลตอบแทนในรูปส่วนต่างราคาของ กองทุนรวม หุ้น และตราสารอนุพันธ์ รวมไปถึงส่วนต่างราคาของสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อย่าง อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และเครื่องเพชร ก็มักใช้วิธีนี้ในการหาผลตอบแทนเช่นกัน

โดยเราทำโจทย์ง่ายๆ Simple Return กรณีไม่มีการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุน คือ นายจิตตะ มั่งคั่ง เริ่มต้นลงทุนต้นปี 2565 ด้วยเงิน 100,000 บาท สิ้นปี 2565 นายจิตตะพบว่า มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาท โดยที่นายจิตตะไม่มีการเพิ่มหรือถอนเงินเข้าพอร์ตลงทุนระหว่างปี

Simple Return

คำนวณแล้ว ผลตอบแทนที่ออกมา คือ 20% นั่นเอง 

อีกโจทย์ คือ นายจิตตะ มั่งคั่ง เริ่มต้นลงทุนต้นปี 2565 ด้วยเงิน 100,000 บาท ระหว่างปีนายจิตตะเพิ่มเงินลงทุน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท สิ้นปี 2565 นายจิตตะพบว่า มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 บาท

Simple Return

ถึงจะมีการเพิ่มทุนระหว่างปี แต่ Simple Return จะคำนวณเงินลงทุนทุกมูลค่ารวมเป็นก้อนเดียว เหมือนเป็นการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งๆ ที่เงินลงทุนแต่ละก้อนมีระยะเวลาการลงทุนที่ไม่เท่ากัน

ดังนั้นผลตอบแทนที่ออกมา คือ 25% นั่นเอง

อย่างไรก็ตามการคำนวณ Simple Return มีข้อดีและข้อเสีย คือ

ข้อดี 

  • คำนวณผลตอบแทนได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
  • นักลงทุนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับวิธีนี้

ข้อเสีย

  • คำนวณผลตอบแทนได้ไม่เที่ยงตรง
  • หากมีการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ผลตอบแทนที่คำนวณได้อาจจะน้อยกว่า เพราะเป็นการคำนวณเงินลงทุนเป็นก้อนเดียวกันทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ วิธี Simple Return จึงไม่เหมาะที่จะใช้เป็นมาตรฐานในการคำนวณหาผลตอบแทนในสินทรัพย์อย่างกองทุน แต่จะใช้ในการคำนวณหาผลตอบแทนอย่างง่ายๆ มากกว่า เพราะมีโอกาสที่ผลตอบแทนจะผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หากมีการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุนระหว่างปี

Money-weighted Return (MWR)

วิธีคำนวณในรูปแบบ Money-weighted Return (MWR) จะช่วยลบจุดอ่อนของการคำนวณผลตอบแทนด้วยวิธี Simple Return ที่เหมารวมต้นทุนได้ โดยใช้วิธีคำนวณเงินลงทุนที่ถูกเพิ่มหรือถอนแยกก้อนกัน ซึ่งสามารถคำนวณได้ตามนี้

  • กระแสเงินสดที่ไหลเข้าหรือออกจากพอร์ตลงทุน นับเป็นครั้ง 1, 2, 3, 4, 5 ไปจนถึง n
    • หากเพิ่มเงินลงทุนให้ใส่ค่าเป็นลบ (-)
    • หากถอนเงินลงทุน รายรับจากการลงทุน เงินลงทุนปลายงวด หรือมูลค่าเงินลงทุน ณ​ วันที่ต้องการผลตอบแทนให้ใส่ค่าเป็นบวก (+)
  • R คือ ผลตอบแทน Money-weighted Return

MWR จะเหมือนกับการคำนวณหา Internal Rate of Return (IRR) ที่องค์กรต่างๆ นิยมใช้ในการประเมินผลตอบแทน และความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการต่างๆ

Money-weighted Return

เรายังใช้โจทย์เดิม คือ นายจิตตะ มั่งคั่ง เริ่มต้นลงทุนต้นปี 2565 ด้วยเงิน 100,000 บาท ระหว่างปีนายจิตตะเพิ่มเงินลงทุน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท สิ้นปี 2565 นายจิตตะพบว่า มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 บาท

สมมติให้เงินลงทุนเพิ่มทั้ง 2 ครั้งมีระยะห่างของช่วงเวลาเท่าๆ กัน เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณผลตอบแทน โดย 1+R และมีเลขยกกำลังกำกับ คือ ครั้งที่เกิดกระแสเงินสดเข้าพอร์ต

เมื่อนำมาใส่ในสมการ เงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 บาทและเงินเพิ่มทุน 50,000 บาทจะถูกแทนด้วยค่าลบเนื่องจากเป็นเงินเพิ่มทุน ส่วนเงินลงทุนปลายงวด 250,000 บาทจะถูกแทนด้วยค่าบวก

ผลรวมของกระแสเงินสดตอนที่ไม่มีการลงทุนจะมีค่าเท่ากับ 0 ส่วนผลรวมของมูลค่าคิดลดกระแสเงินสดทั้งหมดในอนาคต มูลค่ากำไรหรือขาดทุนสุทธินั่นเอง

แต่สูตรนี้ต้องใช้เว็บไซต์ ซอฟต์แวร์ หรือเครื่องคิดเลขการเงินมาช่วยคำนวณ เพราะซับซ้อนมาก ดังนั้น ผลตอบแทน Money-weighted Return ที่ได้ คือ +10.27% 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณ MWR จะมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามารบกวน เช่น ช่วงเวลาการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุนไม่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนที่คำนวณได้ ไม่เที่ยงตรงและผิดเพี้ยนไป 

นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้วิธีการคำนวณแบบ MWR ไม่ถูกเลือกใช้เป็นวิธีมาตรฐานในการคำนวณผลตอบแทนของบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลก เพราะไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุน ดัชนีอ้างอิง และกองทุนอื่นๆ ได้

สถานการณ์ที่เหมาะสมสำหรับวิธีการคำนวณแบบ MWR คือ กรณีที่คุณเป็นคนบริหารพอร์ตลงทุนด้วยตัวเอง เพิ่มหรือถอนเงินลงทุน รวมทั้งเลือกสินทรัพย์ลงทุนเอง สรุปแล้ววิธีการคำนวณแบบ MWR จะเหมาะกับการใช้ติดตามแผนลงทุนที่คุณจัดการเอง เทียบกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้

สำหรับข้อดีและข้อเสียของวิธีการคำนวณแบบ Money-Weighted Return คือ

ข้อดี

  • ใช้วัดผลตอบแทน กรณีมีการเพิ่มหรือถอนเงินลงทุนระหว่างปี รวมถึงการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging)
  • เหมาะจะดูผลตอบแทนกรณีที่บริหารพอร์ตด้วยตัวเอง และต้องการเทียบกับเป้าหมาย
  • แม่นยำและใช้ได้วัดผลตอบแทนได้หลากหลายสินทรัพย์ หลายสถานการณ์มากกว่าวิธี Simple Return

ข้อเสีย

  • การคำนวณซับซ้อน ต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น เว็บไซต์ ซอฟต์แวร์ หรือเครื่องคิดเลขการเงิน
  • มูลค่าและช่วงเวลาที่กระแสเงินสดไหลเข้าหรือออกจากพอร์ตลงทุน มีผลต่อการคำนวณผลตอบแทนมาก
    • หากเพิ่มเงินลงทุนก้อนใหญ่ก่อนที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริง
    • หากเพิ่มเงินลงทุนก้อนใหญ่ก่อนที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลง ผลตอบแทนที่ได้จะต่ำกว่าความเป็นจริง
  • ผลตอบแทนไม่สามารถเปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิงหรือกองทุนอื่นๆ ได้ รวมทั้งไม่สามารถวัดผลการดำเนินงานของกองทุน

นี่คือ วิธีการวัดผลตอบแทนทั้ง 3 รูปแบบที่ทีมงาน Jitta Wealth สรุปอย่างง่ายๆ มาให้คุณทำความเข้าใจ และเหตุผลที่เราใช้การรายงานผลตอบแทนแบบ Time-weighted Return เราเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย เพื่อให้คุณเข้าใจความแตกต่างของวิธีคำนวณด้วย

Jitta Wealth

หากคุณยังมีข้อสงสัยในเรื่องอื่นๆ สามารถสอบถามเข้ามาได้ที่ Facebook: Jitta Wealth และ Line ID: @JittaWealth หรือสนใจจะลงทุนนโยบายต่างๆ ของ Jitta Wealth ด้วยวิธีการคำนวณผลตอบแทนตามมาตรฐานโลก สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทย รายแรกที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ่านความรู้การลงทุนจาก Jitta Wealth

บันทึกพอร์ต Jitta Ranking ของหนูไอวี่ อายุ 5 ขวบ

CEO ของ Jitta Wealth เผยเคล็ดลับปรับพอร์ตรับมือภาวะตลาดหมี

ปรับ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ รับมือสงครามยืดเยื้อ

5 ทางเลือก เมื่อ LTF ครบกำหนด ลงทุนอะไรต่อดี

‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ คืออะไร ส่งผลต่อมูลค่าพอร์ตอย่างไร

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด