บันทึกพอร์ต Jitta Ranking ของหนูไอวี่ อายุ 5 ขวบ

13 มิถุนายน 2565Jitta RankingJitta Wealth

ไฮไลต์ 

  • ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET ผลตอบแทนอยู่ที่ +3.59% ปรับตัวขึ้นจาก 1,581.98 เป็น 1,638.75 จุด มีความเคลื่อนไหวเป็น Sideway ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ 3 เรื่อง คือ การกลายพันธุ์ของ Covid-19 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นไทยจึงมีความไม่แน่นอนสูง  
  • พอร์ตลงทุน Jitta Ranking ไทยของน้องไอวี่ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ลดลงเล็กน้อย -0.17% แต่เงินลงทุน ณ ปีที่ 5 อยู่ที่ 1,319,600 บาท จากเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทนรวม +31.96% และผลตอบแทนทบต้น +5.71% ต่อปี
  • ผลตอบแทนรวมของดัชนี SET 5 ปี อยู่ที่ +4.5% และผลตอบแทนทบต้นอยู่ที่ +0.88% ต่อปี เมื่อเทียบกับกองทุนรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยแบบรวมปันผลหรือ SET TRI (Total Return Index) ผลตอบแทนรวม 5 ปีเป็นบวก +11.78% ผลตอบแทนทบต้นอยู่ที่ +2.25% ต่อปี แสดงให้เห็นว่า พอร์ตลงทุนของน้องไอวี่เติบโตสูงกว่าดัชนีตลาดและกองทุนรวมดัชนี 
  • ผลกระทบของสงครามกับตลาดหุ้นมักเป็นช่วงเวลาสั้นๆ มักปรับตัวรวดเร็วในช่วงแรก และค่อยตีกลับขึ้นมา ไม่ว่าจะผ่านสงครามมากี่ครั้ง ตลาดหุ้นก็ยังอยู่และเติบโตมาเรื่อยๆ ข้อมูลจากสถิติพบว่า การลงทุนในวันเริ่มต้นสงคราม มีผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนหลังสงครามจบลง 
  • ภาวะเงินเฟ้อเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของ Covid-19 เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก สินค้าขาดแคลน ราคาสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อเป็นวัฏจักรของเศรษฐกิจ มีขึ้นมีลง มีผลต่อตลาดหุ้นระยะสั้น แต่ในภาพระยะยาว ตลาดหุ้นก็ยังเติบโตได้อยู่ดี 
  • การทยอยลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) คือ วินัยการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนทบต้นที่ดีขึ้น จากการไม่จับจังหวะตลาดหุ้น ลงทุนทุกช่วงเวลา และสร้างการเก็บออมเงินลงทุน เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาว
  • หัวใจของการลงทุนมีอยู่ 3 อย่าง คือ เงินต้น ผลตอบแทนทบต้น และระยะเวลาลงทุน ซึ่งเป็นหลักการลงทุนระยะยาวที่ถูกต้อง เพราะผลตอบแทนที่ดีจากตลาดหุ้นไม่ได้อยู่ที่การซื้อขายบ่อย แต่อยู่ที่ความอดทนต่อการลงทุนในหุ้นที่ดี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว

29 พฤษภาคม 2565

สวัสดีค่ะ หนูชื่อ ด.ญ.จิตตพิชชา หรือ น้องไอวี่ ปีนี้หนูอายุ 5 ขวบแล้วค่ะ ตอนนี้หนูดูแลตัวเองได้ทุกอย่างแล้วค่ะ ตั้งแต่อาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว เก็บห้อง รวมทั้งยังสามารถช่วยคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงน้องมิล่า น้องสาวสุดที่รักของหนูได้ด้วยค่ะ

เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้หนูยังไม่ได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนเลยค่ะ แต่คุณพ่อก็ให้คุณครูมาสอนหนูที่บ้าน หนูชอบมากเลยค่ะ เพราะคุณครูเหมือนเป็นเพื่อนเล่น และ ทำกิจกรรมต่างๆ กับหนูได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งเล่นตุ๊กตากัน แต่เวลาเรียนหนูก็ตั้งใจเรียนนะคะ คุณพ่อบอกว่า สิ่งสำคัญที่หนูควรจะเรียนรู้ตอนนี้คือ เรื่องตัวเลขและภาษา ตอนนี้หนูสามารถนับเลข 0-100 บวกลบเลข 2 หลัก พูดภาษาไทยและอังกฤษได้คล่องมากขึ้นเลยค่ะ หนูดีใจมากเลยค่ะ เพราะคุณพ่อสัญญาว่า ถ้าหนูทำได้ จะพาหนูไปเจอเจ้าหญิงที่ Disneyland ค่ะ

นอกจากนั้น คุณพ่อยังสอนให้หนูทำความดีเพื่อเก็บแต้มไปซื้อของเล่นด้วยค่ะ หนูเลยพยายามช่วยงานต่างๆในบ้านตลอดเลยค่ะ โดยเฉพาะช่วยรับของเวลามีคนมาส่งของที่บ้าน เป็นงานโปรดของหนูเลย เพราะส่วนมากแล้ว คุณแม่จะสั่งเสื้อผ้า หนังสือ ของเล่น มาให้หนูกับมิล่าบ่อยๆ ค่ะ

สำหรับบันทึกการลงทุนนี้ ขอเล่าย้อนไปนิดนึงนะคะ เผื่อใครที่เพิ่งเคยเข้ามาอ่านเป็นครั้งแรก  เมื่อตอนที่หนูเกิดมา คุณพ่อคุณแม่ได้เปิดพอร์ตลงทุน Jitta Wealth ให้หนู โดยลงทุนใน Jitta Ranking ไทย เพื่อไว้เป็นทุนการศึกษาตอนที่หนูอายุ 20 ปีค่ะ ในทุกๆ ปี คุณพ่อจะเอาพอร์ตลงทุนมาให้หนูดู พร้อมกับ บอกเล่าเรื่องราวและหลักการลงทุนต่างๆให้หนูฟัง แรกๆ หนูก็ไม่ค่อยเข้าใจอะไรมาก เห็นพอร์ตของหนูขึ้นๆ ลงๆ แค่นั้น  เวลาผ่านมาหลายๆ ปี หนูก็เริ่มเข้าใจเรื่องของหลักการลงทุน อารมณ์ตลาดหุ้น วิธีการวัดผลตอบแทน และ วัฏจักรต่างๆ ของตลาดหุ้นมากขึ้น ทำให้หนูรู้สึกสนุกและตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันที่จะได้มานั่งรีวิวพอร์ตของหนูกับคุณพ่อตลอดค่ะ 

คุณพ่อบอกหนูว่า พอร์ตของหนูเน้นลงทุนระยะยาว ถ้าคุณลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีด้วยหลักการที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องดูพอร์ตบ่อยๆ ค่ะ เพราะการดูพอร์ตบ่อยๆ ไม่ได้ช่วยให้มูลค่าพอร์ตเติบโตขึ้นค่ะ การถือครองสินทรัพย์ที่ดีไปนานๆ ต่างหากที่จะช่วยให้มูลค่าพอร์ตเติบโตจากผลตอบแทนทบต้น สรุปว่า หนูเลยได้ดูพอร์ตของหนูแค่ปีละครั้งเองค่ะ T_T

ถ้าพี่ๆ คนไหนที่อยากจะเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวของตลาดหุ้นและการลงทุนเหมือนหนู ก็สามารถเข้าไปอ่านบันทึกการลงทุนในปีก่อนๆ ของหนูได้นะคะ

บันทึกปีที่ 1: แนวคิดการเริ่มต้นลงทุน

บันทึกปีที่ 2: การวัดผลตอบแทนการลงทุน

บันทึกปีที่ 3: วัฏจักรของตลาดหุ้น

บันทึกปีที่ 4: การลงทุนหลังวิกฤต

ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ วันที่หนูจะได้ดูพอร์ตของตัวเองอีกครั้ง ปีที่แล้วหนูได้ผลตอบแทนสูงมากตั้ง +39.92%  ปีนี้หนูเลยเตรียมทำใจไว้แล้วว่า พอร์ตอาจจะลดลงเยอะก็ได้ เพราะคุณพ่อสอนหนูทุกปีว่า ตลาดหุ้นเป็นวัฏจักร มีขึ้นมีลงอยู่ตลอด เราจะคาดหวังว่าตลาดหุ้นจะขึ้นทุกปีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เรามั่นใจได้คือ ในระยะยาวแล้วตลาดหุ้นจะมีปีที่หุ้นขึ้นมากกว่าปีที่หุ้นลง ถ้าหากเราลงทุนในหุ้นที่ดี ในราคาที่เหมาะสม อยู่ตลอดเวลา พอร์ตเราก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆเอง

อีกทั้งปีนี้ หนูคอยแอบฟังเวลาคุณพ่อทำ Live เพื่อพูดคุยและตอบคำถามต่างๆ กับนักลงทุน ก็รู้สึกว่า ตลาดหุ้นปีนี้น่าจะมีข่าวร้ายเยอะแยะมากมากเลย ได้ยินทั้งเรื่องสงคราม เรื่องเงินเฟ้อ และเรื่องต่างๆ หนูเลยค่อนข้างมั่นใจว่า ปีนี้ผลตอบแทนพอร์ตหนูน่าจะแย่แน่ๆ เลยค่ะ

แต่แปลกมากเลยนะคะ แม้จะรู้สึกว่าตลาดหุ้นปีนี้และพอร์ตหุ้นของหนูต้องแย่แน่ๆ แต่หนูกลับรู้สึกเฉยๆ มาก ไม่ได้ตกใจ หรือกังวลใจเลย อาจจะเป็นเพราะหนูลงทุนมา 4 ปีแล้ว ผ่านทั้งปีที่พอร์ตลดลงเยอะๆ และปีที่พอร์ตขึ้นเยอะๆ มาครบแล้ว โดยคุณพ่อคอยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ฟังตลอด ทำให้หนูเข้าใจเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้น รู้ว่าถ้าปีนี้ขาดทุน เดี๋ยวอีกสัก 1-2 ปี พอร์ตก็น่าจะกำไรเยอะ และทำให้พอร์ตโดยรวมยังคงเติบโตไปเรื่อยๆ ได้ค่ะ

หลังจากที่หนูรอคุณพ่อมาทั้งวัน เวลาของหนูก็มาถึงแล้วค่ะ พอทานข้าวเย็นเสร็จ คุณพ่อก็หันมาจุ๊บแก้มหนูแล้วบอกว่า “ไอวี่จำได้ไหมคะว่า วันนี้เป็นวันอะไร”

“จำได้ค่ะคุณพ่อ วันครบรอบรีวิวพอร์ตลงทุนของไอวี่ใช่ไหมคะ ไอวี่แทบรอไม่ไหวแล้วค่ะ อยากให้คุณพ่อเปิดพอร์ตให้ดูแล้ว” หนูรีบตอบคุณพ่อเลยค่ะ 

“ได้เลยค่ะ ไอวี่ลูกรัก งั้นเราเข้าไปที่ห้องทำงานของคุณพ่อ แล้วเปิดดูพอร์ตของไอวี่ด้วยกันนะคะ”

“ค่ะ คุณพ่อ งั้นไอวี่ยกจานข้าวไปเก็บในครัว แล้วจะรีบตามไปนะคะ” พูดเสร็จหนูก็รีบจัดการเก็บจานชามช้อนส้อมของหนูให้เรียบร้อย แล้ววิ่งตามคุณพ่อเข้าไปในห้องทำงานเลยค่ะ

เมื่อเข้ามาในห้องแล้ว คุณพ่อก็เริ่มต้นเหมือนเดิม ด้วยการเปิดกราฟดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET ให้หนูดู

“เอาล่ะ อย่างแรกสุด เราก็มาดูดัชนี SET กันก่อนดีกว่านะคะว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ถึง 28 พฤษภาคม 2565 ไอวี่ดูแล้วคิดว่าตลาดหุ้นไทยเป็นยังไงบ้างคะ”

คุณพ่อมาแบบนี้อีกแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้คุณพ่อชอบถามไอวี่ก่อนเสมอ เวลาไอวี่สงสัยอะไร เพื่อดูว่าไอวี่เข้าใจอะไรด้วยตัวเองขนาดไหนแล้ว แต่แน่นอนค่ะว่า หนูรู้แกวอยู่แล้ว เลยเตรียมตัวมาพร้อมค่ะ

“เท่าที่ดูแล้ว เหมือนตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนเลยค่ะ ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดทั้งปี และ สุดท้ายดัชนีกลับมาอยู่ใกล้ๆ ที่เดิมเลยค่ะ แบบนี้เรียกว่า ตลาดหุ้น Sideway ใช่ไหมคะ คุณพ่อ” ไอวี่ถามกลับ 

คุณพ่อยิ้มอย่างปลื้มใจ แสดงว่า หนูตอบได้โดนใจคุณพ่อแน่ๆ “ใช่แล้วค่ะ ตลาดหุ้นแบบ Sideway จะเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มีข่าวดีและข่าวร้าย สลับกันไปมา และนักลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งค่ะ คือ ฝั่งมองโลกในแง่ดีและฝั่งมองโลกในแง่ร้าย ก็เลยผลัดกันซื้อ ผลัดกันขายหุ้น สุดท้ายแล้วตลาดหุ้นก็เลยขึ้นๆ ลงๆ สลับกันไปมา แล้วก็วนกลับมาอยู่ที่เดิมค่ะ”

“แล้วช่วงที่ตลาดหุ้นตกหนักๆ ในครั้งนี้ เกิดจากอะไรเหรอคะคุณพ่อ นักลงทุนกลัวอะไรกันเหรอคะ” หนูถามด้วยความสงสัย เพราะดูแล้วเห็นดัชนีมีการปรับตัวลดลงหนักๆ หลายครั้งเลยค่ะ

“จริงๆแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา นักลงทุนน่าจะกลัวอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกันค่ะ คือ การกลายพันธุ์ของ Covid-19 สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น”

“ในช่วงเดือนกรกฏาคม และธันวาคม จะเห็นว่าดัชนีตกลงมาแรงนั้น หลักๆ ก็เป็นเพราะการระบาดของ Covid-19 ในไทยเพิ่มสูงขึ้น มีตัวเลขคนติดเชื้อมากขึ้นค่ะ แต่หลังจากนั้น เรื่องไวรัสก็เป็นประเด็นรอง เพราะคนไทยฉีดวัคซีนกันไปเยอะมากแล้วค่ะ รวมถึงไวรัสก็กลายพันธุ์ไปมากจนไม่ค่อยมีอันตรายเท่าไร เหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาๆ แล้ว”

“ส่วนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ที่เห็นหุ้นตกอย่างแรงอีกครั้งนั้น เป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่รัสเซียพยายามจะเข้าไปยึดครองยูเครนค่ะ ทำให้นักลงทุนตกใจขายหุ้นออกมาก่อน เพราะไม่รู้ว่าสงครามจะลุกลามใหญ่โตแค่ไหน และจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกแค่ไหนค่ะ”

“ส่วนสุดท้ายที่เห็นตลาดหุ้นเริ่มตกลงมาช่วงเดือนเมษายนจนถึงตอนนี้ สาเหตุหลักๆ ก็น่าจะมาจากเรื่องเงินเฟ้อที่สูงมาก ทำให้ทางธนาคารกลางหลายๆ ประเทศต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ทำให้หุ้นเป็นขาลงค่ะ”

“ก็หมายความว่า ตอนนี้เรื่อง Covid-19 ถูกคลี่คลายให้ดีขึ้น นักลงทุนไม่กลัวแล้วใช่ไหมคะคุณพ่อ แล้วเรื่องสงครามกับเงินเฟ้อที่ยังไม่จบนี่ จะมีผลกับตลาดหุ้นยังไงอีกบ้างคะ” หนูเริ่มตั้งคำถามจากสิ่งที่คุณพ่อเล่าด้วยค่ะ

“ถามเก่งมากค่ะไอวี่ คุณพ่อชอบจังเวลาไอวี่ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เพราะการตั้งคำถามที่ดี ก็จะทำให้เราได้คำตอบที่ดี และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เดี๋ยวคุณพ่อจะกลับมาตอบคำถามนี้ให้นะคะ เพราะน่าจะยาวพอสมควร แต่ก่อนอื่น เรามาดูผลตอบแทนโดยรวมของ SET และพอร์ตของไอวี่ ก่อนดีกว่าค่ะ”

ผลตอบแทน Jitta Ranking ของไอวี่ ปีที่ 5

29 พฤษภาคม 2564 ถึง 28 พฤษภาคม 2565

  • Ivy: -0.17%
  • SET: +3.59%
  • ผลต่าง: 3.76%
Jitta Ranking

คุณพ่อเล่าว่า “มาดูผลตอบแทนของดัชนี SET กันก่อนดีกว่าค่ะ ที่ไอวี่เห็นว่าตลาดหุ้นไทยขึ้นๆ ลงๆ มาทั้งปี 2565 สรุปว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ +3.59% โดยปรับตัวขึ้นจาก 1,581.98 มาเป็น 1,638.75 ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่ได้แย่มากค่ะ”

“ในส่วนของพอร์ตไอวี่เอง ก็ถือว่าติดลบนิดหน่อยค่ะ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พอร์ตของไอวี่ลดลงประมาณ -0.17% ค่ะ เมื่อเทียบกันแล้ว ก็ถือว่า ผลตอบแทนแพ้ดัชนีตลาดไป 3.76% ค่ะ”

“แต่ถ้าเราไปดูกราฟผลตอบแทนพอร์ตไอวี่เทียบกับ SET จะเห็นว่าจริงๆ แล้ว จนถึงต้นปีพอร์ตไอวี่ก็ยังคงมีผลตอบแทนที่ดีและยังชนะ SET อยู่เลยค่ะ AUM (Assets Under Management) เคยไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 14.49 บาทต่อหน่อย คิดเป็นการเติบโต +9.6% ณ วันที่ 13 มกราคม 2565” 

“แต่หลังจากนั้น นักลงทุนก็อาจจะมีการขายหุ้นออกมาเยอะ เพราะกังวลกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องสงครามและเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้ราคาหุ้นที่อยู่ในพอร์ตของไอวี่ตกลงมามากกว่าหุ้นในดัชนี SET เพราะเป็นหุ้นขนาดเล็กกว่า ผลตอบแทนปีที่ 5 จึงแพ้ดัชนีอยู่นิดหน่อยค่ะ”

“แต่ถ้าเรามองยาวๆ เมื่อนักลงทุนกลับมาลงทุน ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง พอร์ตไอวี่ก็น่าจะกลับมาเติบโตได้เร็วกว่าตลาดหุ้นค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพอร์ตลงทุนที่จำนวนหุ้นน้อยกว่าดัชนีค่ะ” คุณพ่อพูดเสร็จก็เงียบไปสักพัก คงจะรอดูว่าหนูจะตกใจหรือจะกรีดร้องอะไรไหมที่เห็นพอร์ตหนูมีมูลค่าลดลง แต่ไม่มีทางหรอก ตอนนี้สภาพจิตใจของไอวี่แข็งแกร่งมากขึ้นแล้วค่ะ

“ไอวี่เข้าใจค่ะคุณพ่อ ไอวี่อยู่ในตลาดหุ้นมา 5 ปีแล้ว เห็นตลาดหุ้นและพอร์ตตัวเองขึ้นลงมาหลายรอบ บางทีก็ขึ้นพร้อมกัน บางทีก็ลงพร้อมกัน หรือ บางทีก็ไปคนละทาง เลยทำให้ตอนนี้ไอวี่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการขึ้นลงของตลาดและการเปรียบเทียบผลตอบแทนในระยะสั้นแล้วค่ะ ไอวี่รู้ดีว่า ถ้าเราลงทุนระยะยาวจริงๆ สิ่งที่เราควรจะสนใจคือ ผลตอบแทนทบต้น ใช่ไหมคะ”

“ใช่แล้วค่ะไอวี่ คุณพ่อดีใจมากเลยนะคะ ที่ได้ลงทุนให้หนูมาตั้งแต่เกิด ทำให้หนูสามารถเห็นความเป็นไปและเข้าใจตลาดหุ้นได้ดีขนาดนี้ตั้งแต่ยังเด็กค่ะ” คุณพ่อพูดอย่างภูมิใจในตัวหนูเลยค่ะ

“เหมือนที่ไอวี่บอกมาค่ะ เวลาที่เราดูผลตอบแทนจากการลงทุน เราต้องดูผลตอบแทนทบต้นเป็นหลัก ซึ่งตั้งแต่ไอวี่เริ่มลงทุนมาจนถึงตอนนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว ผลตอบแทนของไอวี่เป็นดังนี้ค่ะ”

ผลตอบแทน Jitta Ranking ของไอวี่ย้อนหลัง 5 ปี

ปีที่ 1: +20.18%

ปีที่ 2: -9.92%

ปีที่ 3: -12.87%

ปีที่ 4: +39.92%

ปีที่ 5: -0.17%

เงินลงทุนเริ่มต้น: 1,000,000 บาท 

มูลค่าพอร์ต ณ สิ้นปีที่ 5: 1,319,600 บาท

ผลตอบแทนรวม: +31.96%

ผลตอบแทนทบต้น: +5.71% ต่อปี

แม้ว่าผลตอบแทนทบต้นจะดูไม่มาก อยู่ที่ +5.71% ต่อปี แต่เมื่อนำไปเทียบกับผลตอบแทนของ SET และ กองทุน SET TRI แล้ว ไอวี่ก็จะเห็นว่า พอร์ตของไอวี่ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพอสมควรเลยค่ะ

“เห็นคุณพ่อเทียบผลตอบแทนให้ไอวี่ดูทุกปี ไอวี่ก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นเลยค่ะว่า ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง พอร์ตของไอวี่ก็มีขึ้นมีลง อย่าง 5 ปีที่ผ่านมา ขนาดพอร์ตไอวี่ติดลบไป 3 ปี เป็นบวกแค่ 2 ปี โดยรวมแล้วเงินลงทุนของไอวี่ก็ยังเติบโต +5.71% ต่อปี มากกว่าเอาเงินไปฝากธนาคาร หรือลงทุนในกองทุนดัชนีเยอะเลยค่ะ” 

หนูสรุปสิ่งที่คุณพ่อสอนว่า “ไอวี่เข้าใจ ที่คุณปู่ Charlie Munger บอกไว้ว่า เงินกำไรไนในตลาดหุ้นไม่ได้อยู่ที่การซื้อหรือขาย แต่อยู่ที่ความอดทน (ถือหุ้นที่ดีไปนานๆ) แล้วค่ะ ถ้าไอวี่อดทนลงทุนผ่านร้อนผ่านหนาวไปเรื่อยๆ พอไอวี่อายุครบ 20 ปี ก็จะได้เห็นว่าพอร์ตจะเติบโตทบต้นขึ้นแค่ไหน”

“ดีแล้วค่ะที่หนูเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องในการลงทุนแบบนี้ เพราะคุณปู่ Warren Buffett เองก็พูดเสมอว่า ในการลงทุนนั้น EQ สำคัญกว่า IQ คนฉลาดๆ ส่วนมากที่ขาดทุนในตลาดหุ้น เป็นเพราะไม่สามารถเข้าใจตลาดหุ้นและลงทุนระยะยาวได้ค่ะ มัวแต่ไปซื้อๆ ขายๆ ตามอารมณ์กันมากจนเกินไป” คุณพ่อตอบ 

หนูฟังคุณพ่อไป ก็พยักหน้าตามไปด้วยตลอด

“เอาล่ะ จบเรื่องผลตอบแทนแล้ว คุณพ่อขอย้อนกลับมาพูดเรื่อง สงครามและเงินเฟ้อ ให้ไอวี่ฟังนิดนึงนะคะ จะได้มีความรู้ติดตัวเพิ่มไว้”

“ดีเลยค่ะ” หนูนั่งยิ้มรอฟังคุณพ่อเต็มที่ คิดว่าคุณพ่อน่าจะมีแนวคิดและหลักการดีๆ มาเล่าให้หนูฟังอีกแน่นอน

สงครามและเงินเฟ้อ มีผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร

คุณพ่อเริ่มต้นว่า “สำหรับเรื่องผลกระทบของสงครามกับการลงทุนนั้น แน่นอนว่าช่วงสั้นๆ นั้นมีผลกระทบแน่นอน เพราะการเกิดสงครามย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่สงคราม รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ต้องหยุกชะงักลงไป สินค้าบางอย่างที่ส่งออกไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลน ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นด้วย”

“เมื่อเกิดสงครามตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงแรก จากนั้นก็จะค่อยๆ ปรับตัวกลับขึ้นมาค่ะ ถ้าไอวี่ลองดูภาพนี้จะเห็นว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกเราเกิดสงครามมาหลายครั้งมาก ทั้งสงครามใหญ่ๆ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หรือ สงครามย่อยๆ เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามเวียดนาม เป็นต้น แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะผ่านสงครามมากี่ครั้ง ตลาดหุ้นก็ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบันค่ะ” คุณพ่ออธิบาย

“ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นคะคุณพ่อ” ไอวี่สงสัย

“พี่ๆ ที่ Jitta Wealth ทำสถิติความเคลื่อนไหวดัชนี S&P Composite ซึ่งก็คือ ดัชนี S&P500 ในปัจจุบัน เขียนเป็นบทความขึ้นมาค่ะ หัวข้อ ปรับ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ รับมือสงครามยืดเยื้อ ไอวี่ลองเข้าไปอ่านได้นะคะ แต่คุณพ่อจะอธิบายให้หนูเข้าใจง่ายขึ้นค่ะ”

“อย่างแรกนะคะ ต่อให้เกิดสงครามขึ้นจริงๆ คนเราก็ยังคงต้องกินต้องใช้ ต้องซื้อสิ่งของต่างๆ อยู่ดี รวมถึงบางบริษัทก็อาจจะได้ประโยชน์จากการทำสงครามด้วย เช่น บริษัทขายอาวุธ บริษัทขายยา เป็นต้น ทำให้สุดท้ายแล้ว มูลค่าของบริษัทโดยรวมทั้งประเทศก็ยังคงจะเติบโตขึ้นอยู่ดีค่ะ”

“อย่างที่สอง นักลงทุนเข้าใจดีว่า สงครามนั้นเป็น One-time Event คือ สิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีจุดจบสักวันค่ะ ดังนั้นเมื่อสงครามเริ่มเห็นผลแพ้ชนะที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นักลงทุนจำนวนมากก็จะนำเงินกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้งนึง ทำให้ตลาดหุ้นกลับตัวขึ้นมาใหม่ได้ค่ะ”

“และข้อมูลที่น่าตกใจที่สุดคือ อะไรรู้ไหมคะไอวี่” คุณพ่อพูดพลางหันมามองหน้าหนูด้วยสายตาจริงจัง

“อะไรคะคุณพ่อ”

“นักลงทุนส่วนมาก เวลาเกิดสงครามขึ้น มักจะรู้สึกว่าเดี๋ยวหุ้นจะต้องตกหนัก ก็จะขายหุ้นออกมาก่อน แล้วไปรอซื้อหุ้นอีกทีตอนสงครามใกล้จะจบ หรือจบลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเราดูข้อมูลจากสถิติจริงๆ จะพบว่าจากสงครามทุกครั้งที่ผ่านมานั้น การลงทุนในวันเริ่มต้นสงครามนั้น ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่า การลงทุนในวันที่สงครามยุติแล้วค่ะ หรือ อีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า ถ้าเรามีหุ้นอยู่แล้ว การที่เราอยู่เฉยๆ กลับจะให้ผลตอบแทนดีกว่า การขายหุ้นออกไปแล้วไปซื้อใหม่ตอนสงครามจบลงนั่นเองค่ะ

“เป็นเรื่องที่ดูขัดกับความรู้สึกมากเลยค่ะคุณพ่อ แต่หนูจำที่คุณพ่อบอกได้ว่า ในการลงทุนเราต้องไม่ใช้อารมณ์ ไม่คิดไปเอง ให้พยายามดูที่ตัวเลข สถิติ ในระยะยาว เพราะส่วนมากแล้วผลลัพธ์จริงๆ มักจะตรงข้ามกับสิ่งที่เราคิดเสมอ”

คุณพ่อตอบว่า “ใช่แล้วค่ะ ในการลงทุนนั้นเราจำเป็นต้องเข้าใจภาพใหญ่ๆ ให้ถูกต้องก่อนว่า ตลาดหุ้นในระยะยาวเป็นยังไง สถานการณ์แต่ละแบบกระทบกับตลาดหุ้นยังไง และเราจะใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาดหุ้นได้ยังไง จากนั้นค่อยไปดูว่า จะจัดพอร์ตเลือกหุ้นอะไรที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ ให้กับเราค่ะ” 

“หนูเข้าใจแล้วค่ะว่า ทำไมคุณพ่อถึงให้หนูตั้งใจเรียนรู้เรื่องตัวเลข เพราะตัวเลขคือ พื้นฐานของข้อมูล สถิติต่างๆ ที่จำเป็นกับการลงทุนใช่ไหมคะ”

“ใช่แล้วค่ะไอวี่ จริงๆแล้วตัวเลขคือ ตรรกะที่เป็นความจริงให้กับเราค่ะ ถ้าเราเข้าใจตัวเลข เราจะพบคำตอบของหลายๆ เรื่องในชีวิตเรา และเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะการลงทุนค่ะ”

“เข้าใจแล้วค่ะคุณพ่อ เดี๋ยวหนูจะตั้งใจทำแบบฝึกหัดบวกลบตัวเลข 2 หลักให้มากขึ้นนะคะ”

“เอาล่ะ เรื่องสงครามก็จบไปแล้วนะคะ ต่อมาก็เป็นเรื่องของเงินเฟ้อค่ะ” ไอวี่ถามต่อ 

“เงินเฟ้อคืออะไรคะคุณพ่อ ฟังดูแปลกๆ จัง ทำไมเงินถึงเฟ้อได้คะ” หนูถามกลับด้วยความสงสัย

“อธิบายง่ายๆ นะคะ เงินเฟ้อ คือ สภาวะทางเศรษฐกิจที่สินค้าและบริการต่างๆ มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วไปต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น”

“ยกตัวอย่าง สมัยคุณพ่อยังเป็นเด็ก คุณพ่อซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท แต่ตอนนี้คุณพ่อต้องใช้เงินประมาณ 40 บาท เพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามค่ะ”

“โอ้ อย่างนี้ตอนไอวี่โตขึ้น ไอวี่ต้องซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาท หรือเปล่าคะเนี่ย ทำไมเงินเฟ้อมันอันตรายอย่างนี้คะ” หนูไม่อยากซื้อของแพงนี่คะ

“ในทางทฤษฏีแล้ว เงินเฟ้อจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้เติบโตค่ะ แต่ก็ต้องเฟ้อในระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น ปีละ 2-3% แบบนี้ค่ะ แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้คือ เงินเฟ้อ เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจค่ะ ถ้าของไทยตอนนี้ก็ราวๆ 5% ของสหรัฐอเมริกาก็อยู่ที่ 8% ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปีเลยนะคะ”

“แล้วปีนี้เกิดอะไรขึ้นเหรอคะคุณพ่อ เงินถึงได้เฟ้อมากขนาดนี้”

คุณพ่อเล่าว่า “หลักๆ ก็เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการระบาดของ Covid-19 ค่ะ ตามที่ไอวี่ได้เห็นแล้วว่า ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดนั้น เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก คนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน การผลิตสินค้า การขนส่งต่างๆ เป็นอัมพาตไปหมดเลย ทำให้เกิดภาวะ Supply Shortage หรือสินค้าขาดแคลน ในขณะที่ความต้องการสินค้ามีสูงมาก เลยทำให้เกิดการขึ้นราคาสินค้าตามมาค่ะ”

“นอกจากนั้นแล้ว ในช่วง Covid-19 เอง รัฐบาลหลาย ประเทศก็ต้องทำการพิมพ์เงินและอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ไม่ให้เสียหายหนักค่ะ เมื่อมีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น เงินก็จะเฟ้อมากขึ้นค่ะ”

หนูนั่งฟัง พยักหน้าตามไปด้วย แต่ในสมองหนู รู้สึกเบลอไปหมดแล้วค่ะ แต่ปล่อยให้คุณพ่อพูดไปก่อน เดี๋ยวหนูค่อยไปทบทวนต่อวันพรุ่งนี้ก็ได้

“และสุดท้ายที่มาคอมโบกันในปีนี้อีกคือ สงครามค่ะ เหมือนที่คุณพ่อบอกไปแล้วเมื่อกี้ว่า พอเกิดสงครามขึ้น สินค้าบางอย่างอาจจะขาดแคลน ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ค่ะ อย่างในกรณีของรัสเซียที่เป็นประเทศคู่สงครามนั้น มีการส่งออกพลังงานให้กับหลายๆ ประเทศในยุโรป พอเกิดสงครามขึ้น ราคาพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อก็สูงขึ้นตามไปด้วยค่ะ” คุณพ่อยังเสริมต่อ 

“แล้วทำไมนักลงทุนต้องกลัวเงินเฟ้อด้วยล่ะคะ ฟังดูแล้ว ก็ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับตลาดหุ้นเลยนี่คะ” ไอวี่ไม่เข้าใจ

หลังจากนั้นคุณพ่อก็อธิบายให้ไอวี่ฟังยาวๆ ต่อ “ดูเผินๆ ก็อาจจะเป็นแบบนั้นค่ะ แต่ในเรื่องการลงทุน สิ่งต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันเยอะมาก โดยเฉพาะกับสภาวะเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลา เราต้องมองให้ลึกซึ้งมากขึ้น”

“อย่างแรกสุด การที่เงินจะเฟ้อได้ เพราะมีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเยอะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ควบคุมระบบการเงิน อย่างธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติที่ต้องทำก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือง่ายๆ ก็คือ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เพื่อจูงใจให้คนฝากเงินมากขึ้น เงินที่หมุนเวียนในระบบก็จะค่อยๆ ลดลง เงินเฟ้อก็จะค่อยๆ ลดลงค่ะ”

“ทีนี้พอมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น สิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาในมุมมองของนักลงทุนก็คือ

  1. ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะมากขึ้น ทำให้ผลกำไรลดลง
  2. กระแสเงินสดจากการทำธุรกิจในอนาคตจะลดลง ทำให้มูลค่าบริษัทลดลง

ทำให้นักลงทุนจะทำการประเมินมูลค่าของบริษัทต่างๆ ได้น้อยลง นักลงทุนจะทำการขายหุ้นในกลุ่มที่ดูมีมูลค่าสูงเกินไปออกมา พอเริ่มมีการขายออกมาก ราคาหุ้นก็จะลดลง พอราคาหุ้นลดลง คนทั่วไปก็จะเทขายกันเพิ่ม ทำให้ตลาดหุ้นตกลงไปอีก เป็นวงจรแบบติดลบ เหมือนที่คุณพ่อได้เคยอธิบายไปแล้วในเรื่องวงจรตลาดหุ้น ในบันทึกของหนูปีที่ 3 ไงคะ”

คุณพ่อเล่าอีกว่า “อีกเรื่องที่ไอวี่ควรจะรู้ไว้ด้วยก็คือ ในการลงทุนหุ้นนั้น เราจะต้องทำการเปรียบเทียบผลตอบแทนของเรากับ ผลตอบแทนการลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่เสี่ยงด้วย ซึ่งในที่นี้พอมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น ก็เท่ากับว่า ผลตอบแทนการลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่เสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้น การลงทุนในหุ้นก็มีความน่าสนใจลดลง นักลงทุนกลุ่มนึง ก็จะทำการย้ายเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้น ไปอยู่ในเงินฝากและตราสารหนี้มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นลดลง เป็นวงจรติดลบเหมือนกันค่ะ”

“ฟังดูแล้วน่ากลัวกว่าสงครามอีกนะคะเนี่ย เงินเฟ้อเนี่ย แล้วแบบนี้นักลงทุนต้องทำยังไงคะคุณพ่อ”

“เวลาเรามองไปที่ภาพเล็กๆ เราก็จะเห็นหลายๆ อย่างน่ากลัวไปหมดค่ะ แต่ถ้าเราถอยออกมามองภาพใหญ่ เราก็จะเห็นว่า เงินเฟ้อนั้นเป็นวัฏจักรค่ะ ก็คือ เงินเฟ้อนั้นอยู่คู่กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอยู่แล้ว ในอดีตก็มีช่วงเงินเฟ้อมากๆ มากกว่าตอนนี้อีกค่ะ และก็เคยมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเลข 2 หลักมาแล้ว แต่สุดท้ายแล้วเงินก็จะเฟ้อตลอดไปไม่ได้ ก็จะมีจุดที่จะต้องปรับตัวลดลงมา แล้วก็ปรับตัวขึ้นไปใหม่ค่ะ หมุนเวียนเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ อัตราดอกเบี้ยก็เช่นเดียวกัน”

“ซึ่งเมื่อนำวงจรของเงินเฟ้อและการปรับอัตราดอกเบี้ยมาเทียบกับการเติบโตของตลาดหุ้นในระยะยาวแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นนั้นก็ยังคงเติบโตได้เรื่อยๆ ผ่านวงจรเงินเฟ้อสูงและต่ำมาหลายรอบแล้วค่ะ ดังนั้นเงินเฟ้อก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ ถ้าเรามองภาพระยะยาว และเราลงทุนได้อย่างถูกต้องนะคะ” คุณพ่อเสริม 

“จริงค่ะ พอดูภาพนี้แล้ว ไอวี่รู้สึกว่า เงินเฟ้อและดอกเบี้ยมีขึ้นๆ ลงๆ แต่ตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้นเลย ถ้าเราลงทุนระยะยาวจริงๆ เดี๋ยวมูลค่าพอร์ตก็จะเติบโตเอง”

“ไอวี่เข้าใจถูกต้องแล้วค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว เงินเฟ้อจะเร่งทำลายธุรกิจแย่ๆ ให้ตายเร็วขึ้นค่ะ ธุรกิจที่เสียเปรียบในการแข่งขัน มีหนี้สูง พอเจอเงินเฟ้อมากๆ ก็จะขายสินค้าไม่ออก ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้น สักพักก็จะอยู่ไม่ได้ และจะต้องปิดตัวลงไปค่ะ” คุณพ่ออธิบายให้หนูฟังต่อ

“ในทางกลับกัน สำหรับธุรกิจที่ยอดเยี่ยม มีสินค้าหรือบริการที่คนต้องการ ต่อให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ก็จะสามารถขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยได้ ทำให้มีรายได้มากขึ้น พอเงินเฟ้อเริ่มลดลง กำไรก็จะเติบโตได้แบบก้าวกระโดด จาก Economy of Scale และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง รวมถึงส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้น พอบริษัทเหล่านี้เติบโต ตลาดหุ้นก็ยังคงเติบโตขึ้นไปด้วยนั่นเองค่ะ”

“หมายถึง ถ้าเรายังคงลงทุนตามหลักการ ซื้อหุ้นดี ราคาถูก อยู่ตลอดเวลา บางช่วงราคาอาจจะลดลงไปบ้างช่วงเงินเฟ้อ แต่สุดท้ายพอทุกอย่างกลับมาปกติ ราคาหุ้นเราก็จะกลับมาใช่ไหมคะ” ไอวี่ถามเพื่อทบทวนความเข้าใจอีกที

“ใช่แล้วค่ะ โดยเฉพาะพอร์ตไอวี่ ที่ลงทุนตามหลักการ ซื้อหุ้นดี ราคาถูกตาม Jitta Ranking อยู่แล้ว ในระยะยาวไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรจากเงินเฟ้อมากขนาดนั้นค่ะ”

“หนูดีใจจังเลยค่ะ ที่ได้ลงทุนกับ Jitta Wealth เพราะมีระบบจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยแล้ว ขอแค่หนูเข้าใจหลักการ และลงทุนไปยาวๆ หลายๆ ปีได้ พอร์ตหนูก็จะเติบโตไปเรื่อยๆ เอง ดีจังเลยค่ะ เย้!”

“ใช่แล้วค่ะไอวี่ และสิ่งที่นักลงทุนควรจะทำอีกอย่าง เมื่อได้ลงทุนในทรัพย์สินที่ดี ที่มีมูลค่าเติบโตระยะยาว คืออะไร ทราบไหมคะ”

“เหมือนคุณพ่อจะเคยสอนหนูแล้วค่ะ คือ การลงทุนเพิ่มไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอใช่ไหมคะ”

ลงทุนครั้งเดียวกับ DCA ผลตอบแทนต่างกันอย่างไร

คุณพ่อตอบว่า “ใช่แล้วค่ะ  การเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ ในทางการลงทุนเรียกว่าเป็นการทำ Dollar Cost Averaging หรือ DCA ค่ะ เนื่องจากตลาดหุ้นนั้นมีความผันผวนมาก และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า ตลาดจะขึ้นหรือจะลงตอนไหน มากแค่ไหน ถ้าเรามัวแต่จับจังหวะก็อาจจะไม่ได้ลงทุน หรือถ้าหากเรามั่นใจลงทุนไปเต็มที่แต่ผิดจังหวะ เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนแย่กว่าที่คิดไว้ การทำ DCA ก็จะช่วยให้เรามีการกระจายเงินลงทุนออกไปในหลายช่วงเวลา ลงทุนทั้งตอนตลาดหุ้นขาขึ้น และขาลง ก็จะทำให้เราได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีกว่าการพยายามจับจังหวะลงทุนค่ะ”

“ถ้าหากนักลงทุนคนไหนมีวินัยในการลงทุน ทำ DCA อย่างสม่ำเสมอในทรัพย์สินที่สร้างผลตอบแทนได้ดี และ ทำไปในระยะเวลาที่ยาวนานพอ จะได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจมากเลยค่ะ”

“น่าตกใจแค่ไหนคะคุณพ่อ” หนูถามด้วยความตื่นเต้น

“ไอวี่ลองดูตัวอย่างของการลงทุนในดัชนี NASDAQ ซึ่งเป็นดัชนีตัวแทนของหุ้นเทคโนโลยีก็ได้ค่ะ เพราะเหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้พอดี ที่หุ้นเทคโนโลยีมีราคาลดลงมามากค่ะ”

“ดัชนี NASDAQ เคยพุ่งสูงเป็นฟองสบู่มาแล้วช่วง 2540-2543 และฟองสบู่ก็แตกในช่วงราวๆ ปี 2543 ทำให้ราคาหุ้นตกลงมามาก มูลค่าดัชนี NASDAQ ร่วงลงมาราวๆ -70% ถึง -80% เลยค่ะ”

“โอ้โห้ ถ้าใครลงทุนไปตอนนั้นนี่ ร้องไห้ได้เลยนะคะ” ไอวี่ตกใจ 

“ใช่ค่ะ ถ้าสมมติว่าเราเป็นคนโชคร้ายคนนั้นที่ลงทุนในดัชนี NASDAQ ตอนต้นปี 2543 ด้วยเงิน 10,000 บาท เราก็อาจจะต้องทนเห็นหุ้นร่วงระเนระนาด และเงินลงทุนของเราจาก 10,000 บาท ก็จะลดลงเหลือราวๆ 2,900 บาท ในช่วงดัชนี NASDAQ ร่วงลงมาต่ำสุดค่ะ”

“แต่ถ้าหากว่า เราอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ไม่ลงทุนเพิ่ม ถือครองการลงทุนต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2021 เงินลงทุน 10,000 บาทของเรา ก็จะมีมูลค่าเท่ากับ 39,704 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน +6.49% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่ได้แย่เลยนะคะ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าเราโชคร้ายมากๆ ที่เริ่มลงทุนในช่วงที่แย่ที่สุดแล้ว” คุณพ่อเสริมต่อ 

“เหมือนเวลาจะช่วยบรรเทาความโชคร้ายของเราให้ลดน้อยลงเลย ใช่ไหมคะ ยิ่งเราลงทุนเป็นเวลานานเท่าไร เรายิ่งมีโอกาสได้กำไรมากขึ้น” ไอวี่เข้าใจแล้ว 

“ใช่แล้วค่ะไอวี่ ตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่มีความผันผวนมากในระยะสั้น แต่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนในระยะยาวค่ะ ดังนั้นถ้าเราซื้อขายหุ้นด้วยมุมมองระยะสั้น เรามีโอกาสที่จะขาดทุนได้มากกว่ากำไร แต่ถ้าเราลงทุนด้วยมุมมองระยะยาว เรามีโอกาสที่จะได้กำไรมากกว่าขาดทุนค่ะ”

“เข้าใจแล้วค่ะ แต่นี่คือ การลงทุนครั้งเดียวใช่ไหมคะ ขนาดโชคร้ายขนาดนี้ก็ยังได้ผลตอบแทน +6.49% ต่อปีเลยนะคะ แล้วถ้าหากว่าเราทำ DCA ลงทุนเรื่อยๆ ทุกเดือนล่ะคะคุณพ่อ ผลตอบแทนของเราจะเป็นยังไงคะ”

“ถ้าหากว่าเราเป็นนักลงทุนที่มีหลักการ และมีวินัยในการ DCA เราจะไม่ต้องกังวลว่า เราเข้าไปในตลาดหุ้นช่วงไหนค่ะ เพราะสุดท้ายแล้วเงินลงทุนในแต่ละเดือนของเรา จะต้องลงทุนผ่านช่วงตลาดขึ้นและลงสลับไปมาในหลายๆ ปีอยู่แล้วค่ะ และเงินลงทุนก้อนแรกเป็นแค่เงินจำนวนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับเงินเพิ่มทุนทั้งหมดหลายๆ ปีของเรา”

“อย่างในกรณีเดียวกัน ถ้าหากว่าเราเริ่มลงทุนในดัชนี NASDAQ ตอนต้นปี 2543 ด้วยเงิน 10,000 บาทเหมือนกัน แต่เรามีวินัยในการลงทุนเพิ่มเดือนละ 10,000 บาทไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจความผันผวนของตลาดหุ้นเลย ไม่ว่าจะขึ้นลงแค่ไหน เมื่อเราลงทุนไปจนถึงปี 2564 จะพบว่า เราจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ +13.41% ต่อปีค่ะ”

“โอ้โห ผลตอบแทนดีกว่าแบบไม่ DCA ตั้งเป็นเท่าตัวเลยเหรอคะ คุณพ่อ”

“ใช่แล้วค่ะ เพราะนี่คือ ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA ค่ะ ตอนที่ตลาดหุ้นตกหนักๆ แล้วเรายังคงเพิ่มทุนเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม ก็เหมือนเราได้ซื้อของในราคาที่ถูกลง และสุดท้ายเมื่อหุ้นกลับมาขึ้นอีกครั้ง เราจึงได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีขึ้นด้วยค่ะ”

“ผลตอบแทนจากการ DCA ที่ +13.41% ต่อปี ที่มากกว่าแบบไม่ DCA ที่ +6.49% ต่อปีนั้น เหมือนจะสุดยอดแล้วใช่ไหมคะ แต่จริงๆ มีอะไรที่สุดยอดกว่านั้นอีกนะคะไอวี่”

“มีสุดยอดกว่านั้นอีกเหรอคะคุณพ่อ” ไอวี่เริ่มอึ้งกับความมหัศจรรย์ของการ DCA แล้วค่ะ

“ใช่ค่ะ ที่สุดยอดมากๆ ของการ DCA คือ การที่เราลงทุนเพิ่มเงินต้นของเราไปเรื่อยๆ บวกกับ ผลตอบแทนทบต้นที่มากกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้พอถึงปี 2564 เงินลงทุนของเราเดือนละ 10,000 บาท จะสร้างความมั่งคั่งสุทธิให้เราถึง 14,179,755 บาทเลยค่ะ”

“เมื่อเทียบกับการที่เราลงทุน 10,000 บาทครั้งเดียว แล้วเห็นหุ้นตก เลยหยุดลงทุนไปเลย ผ่านมาถึงปี 2564 เราจะมีเงินแค่ 39,704 บาท เท่านั้นค่ะ เห็นไหมคะว่า การทยอยลงทุนแบบ DCA นอกจากจะได้ผลตอบแทนทบต้นที่มากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราเก็บออมเงินลงทุน และ เพิ่มพูนความมั่งคั่งของเราได้ในระยะยาวแบบมหาศาลเลยค่ะ

“คุณพ่อเลยเล่าให้ไอวี่ฟังตอนเล็กๆแล้วใช่ไหมคะว่า หัวใจของการลงทุนนั้นมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ 

  1. เงินต้น
  2. ผลตอบแทนทบต้น
  3. ระยะเวลาในการลงทุน

ซึ่งพอเรามีวินัยการลงทุนแบบ DCA ก็เท่ากับว่า

  1. เรามีเงินต้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเงินลงทุนก้อนแรกเราจะไม่มาก แต่ถ้าหากเราลงทุนเพิ่มอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เป็นเวลาหลายๆ ปี เงินตรงนี้ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. เราได้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นมากกว่า การลงทุนครั้งเดียว หรือการพยายามจับจังหวะตลาด
  3. เราลงทุนไปเรื่อยๆเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

ทำให้เมื่อเราลงทุนแบบ DCA ไปเรื่อยๆ เราจะสร้างผลตอบแทนที่มหาศาลได้แบบไม่ต้องเหนื่อยเลยค่ะ ขอเพียงแค่เรามีวินัยลงทุนไปเรื่อยๆ ทุกเดือนแค่นั้นเองค่ะ” คุณพ่อย้ำหลักการลงทุนที่หนูจำขึ้นใจเลยค่ะ

“จากตัวอย่างจะเห็นว่า เราไม่ได้มีเงินต้นมากเลยใช่ไหมคะ เราเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียงแค่ 10,000 บาท แต่การที่เราลงทุนทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท เท่ากับเราลงทุนปีละ 120,000 บาท ทั้งหมด 22 ปี รวมเป็นเงินลงทุนตั้งต้นของเราที่ 2,640,000 บาท จากนั้นเราลงทุนแบบ DCA ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ +13.41% ต่อปี และลงทุนต่อเนื่องยาวนาน 22 ปี ทำให้สุดท้ายแล้ว ในปี 2564 เราจะมีเงินลงทุนทั้งหมด 14,179,755 บาทเลยค่ะ”

“และนี่เองคือ ความมหัศจรรย์ของการ DCA ค่ะ วิธีการลงทุนง่ายๆ แต่ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมาก” คุณพ่อสรุป 

“สุดยอดเลยค่ะคุณพ่อ นี่ขนาดว่าเราเริ่มต้นลงทุนในปีที่ดัชนี NASDAQ ร่วงหนักเลยใช่ไหมคะ”

“ใช่แล้วค่ะ นี่เป็นตัวอย่างที่เราเริ่มต้นลงทุนในช่วงเวลาที่เหมือนจะแย่ที่สุดของการเริ่มต้นลงทุนในดัชนี  NASDAQ เลย เพราะเป็นช่วงก่อนที่ฟองสบู่จะแตก ทำให้ดัชนีร่วงลงหนักมากถึง -70% นับจากที่เราเริ่มลงทุนครั้งแรก ถ้าหากเราลงทุนในช่วงเวลาอื่น หรือเริ่มลงทุนช่วงหลังจากที่ดัชนี Nasdaq ตกลงมาเยอะๆแล้ว เราน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้อีกมากค่ะ”

“ขอบคุณสำหรับตัวอย่างนี้นะคะคุณพ่อ ไอวี่เห็นภาพได้ชัดเจนเลยค่ะ เข้าใจแล้วว่า การ DCA ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับหนูได้ยังไงค่ะ”

“แต่คุณพ่อต้องขอพูดย้ำอีกทีนะคะ การ DCA ที่จะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องนั้น ต้อง DCA ในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มในระยะยาวด้วยนะคะ เช่น กองทุนดัชนีต่างๆ หรือกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ค่ะ”

“ค่ะ คุณพ่อ หนูจะจำไว้ไม่ลืมเลยค่ะว่า ต้องลงทุนเพิ่มทุกๆ เดือน ในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้นานที่สุดค่ะ”

“ใช่แล้วค่ะ เพียงแค่เราลงทุนตามหลักการนี้ได้ เราก็มีโอกาสจะสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่า คนทั่วไปที่ลงทุนแบบซื้อขายไปมาในตลาดหุ้นแล้วค่ะ จำได้นะคะว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่า เราได้กำไรขาดทุนจากการซื้อขายหุ้นมากแค่ไหน สิ่งสำคัญคือ หลักการลงทุนของเราถูกต้องหรือเปล่า สามารถทำให้พอร์ตลงทุนของเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวได้หรือเปล่าต่างหากค่ะ” หนูเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเลยค่ะ 

“คุณพ่อว่า วันนี้เราพอแค่นี้ดีกว่านะคะ ตอนนี้ดึกมากแล้ว ไอวี่ควรจะเข้านอนได้แล้วค่ะ” เหมือนคุณพ่อจะเห็นหน้าไอวี่ง่วงๆ มึนๆ หลังจากฟังเรื่องหนักๆ ติดต่อกันมานาน เลยคิดว่าพอแค่นี้ดีกว่า

“ได้ค่ะคุณพ่อ” ไอวี่เองก็จะไม่ไหวแล้วค่ะ หัวจะระเบิดแล้ว วันนี้ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากๆ เลยค่ะ เดี๋ยวคืนนี้หนูต้องฝันถึงเรื่อง สงคราม เงินเฟ้อ ความผันผวนของตลาดหุ้น และอื่นๆ อีกเยอะแน่เลยค่ะ

ไอวี่รู้สึกว่า ตัวเองโชคดีมากๆ เลยค่ะ ที่คุณพ่อได้เริ่มลงทุนให้ตั้งแต่ยังเด็ก ได้ดูพอร์ตลงทุนของตัวเองขึ้นๆลงๆ ได้ฟังคุณพ่ออธิบายเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้น ทำให้ตอนนี้รู้สึกเฉยๆ มากขึ้นแล้ว ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นยังไง พอร์ตจะเพิ่มขึ้นลดลงแค่ไหน เพราะถ้าหลักการลงทุนของเราถูกต้อง ต่อให้เราจะมีบางปีที่ขาดทุนบ้าง แต่อีกสักพักพอร์ตก็จะกลับมาเติบโตได้เอง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อย่างปีนี้เห็นพอร์ตติดลบนิดหน่อยไอวี่เฉยๆ มากเลยค่ะ เทียบกับเมื่อก่อน เห็นพอร์ตลดลง -5% ไอวี่แทบจะกรี๊ดแล้วค่ะ

หรือว่าตอนนี้ไอวี่จะโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นบ้างแล้วแน่ๆ เลยค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นนักลงทุนที่ดีได้หรือยังนะคะ

ก่อนที่หนูจะเคลิ้มหลับลง ก็เห็นคุณพ่อก้มลงมาจุ๊บที่หน้าผาก 1 ที พร้อมกับฝากคำพูดสุดท้ายของวันนี้ไว้ให้ว่า

“ตลาดหุ้นในปีนี้อาจจะดูโหดร้ายสำหรับใครหลายๆ คน เพราะราคาหุ้นร่วงหล่นมาเยอะมาก จากปัจจัยร้ายๆ หลายๆ อย่างรุมเร้า แต่ขอให้ไอวี่จำคำของคุณปู่ Warren Buffett ไว้เสมอนะคะว่า Be fearful when others are greedy, be greedy when others are fearful หรือ จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกลัว ถ้าหากเรามีหลักการและทัศนคติที่ถูกต้อง เราจะสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นได้จากความกลัวของคนอื่นๆ ค่ะ”

“Good night นะคะ ฝันดีค่ะไอวี่”

“Good night ค่ะ คุณพ่อ รักคุณพ่อที่สุดเลยนะคะ”


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรกที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ่านบันทึกของน้องไอวี่ลงทุน Jitta Ranking ย้อนหลัง

บันทึกพอร์ตลงทุนของหนูไอวี่ ปี 1

บันทึกพอร์ตลงทุนของหนูไอวี่ 2 ปีแรก

บันทึกพอร์ตลงทุนของหนูไอวี่ 3 ปีแรก

บันทึกพอร์ต Jitta Ranking ของหนูไอวี่อายุ 4 ขวบ


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด