ผ่าพอร์ต Jitta Ranking เวียดนาม ของผู้บริหาร Pantip โต 101%

10 มิถุนายน 2564Jitta RankingJitta Wealth

“ผมมองว่า การเติบโตเวียดนามก็จะเป็นแบบไทยในสมัยก่อน ผมเห็นถึงศักยภาพการเติบโตและรู้สึกว่า เวียดนามเป็นประเทศที่สนใจและเข้าไปลงทุนได้ระยะยาว” 

นี่คือ ความเชื่อมั่นใน ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ของคุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ หรือคุณบอย ผู้บริหารเว็บไซต์ Pantip.com ที่มีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking เวียดนาม ลงทุนมานานกว่า 3 ปี

คุณบอยเข้าลงทุนในเดือนมิถุนายน 2561 ช่วงเวลาที่ดัชนี VNI ของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ กระดานหลักของเวียดนาม อยู่ในช่วงปรับฐาน หลังจากทำนิวไฮวันที่ 9 เมษายน 2561 ที่ 1,204.33 จุด จังหวะที่เริ่มลงทุน ดัชนี VNI เคลื่อนไหวอยู่ช่วง 900-1,000 จุด

“ตอนที่เปิดพอร์ตกับ Jitta Wealth ผลตอบแทนพอร์ตผมอยู่ในโซนสีแดงมาเป็นปี ก่อนที่จะพลิกมาอยู่ในโซนสีเขียว ในช่วง 1-2 ปีให้หลัง พอ Covid-19 รอบแรกเข้ามา ผลตอบแทนก็พุ่งกระฉุดเลย”

Jitta Wealth

GDP ดัน ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’

คุณบอย ให้มุมมองว่า เขาเห็นเทรนด์การเติบโตของหุ้นเวียดนามนานถึง 10 ปี เขาเลือกที่จะศึกษาหาข้อมูลจากเว็บบอร์ดสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ ThaiVI และเห็นความน่าสนใจของการลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม 

นอกจากนี้ได้อ่านบทความของนักลงทุนชื่อดังอย่าง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็มีการพูดถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอยู่บ่อยๆ จึงคิดว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม

“ตลาดหุ้นเวียดนามเหมือนตลาดหุ้นไทยสมัยก่อน เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ปัจจุบันอาจจะตามหลังไทย แต่สปีดการเติบโตสูงมาก”

คุณบอย บอกว่า เวียดนามเติบโตได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน หรือเราพูดกันติดปากว่า Fundamental อันแข็งแกร่งของประเทศ ได้แก่

  • เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว 

เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วทุกมุมโลก กระแสเงินลงทุนต่างหลั่งไหลเข้าไปลงทุนเปิดบริษัทและสร้างฐานการผลิตในเวียดนาม ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

คุณบอย เล่าว่า เขามีมุมมองเชิงบวกกับเวียดนามมากขึ้น หลังจากที่เริ่มเข้าลงทุนไปแล้ว คือ ภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ต่างออกมาตรการกีดกันทางการค้าและตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน โดยเฉพาะช่วง 4 ปีที่ Donald Trump เป็นประธานาธิบดี พอ Joe Biden ประธานาธิบดีคนล่าสุดเข้ามาบริหารต่อ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า สงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจนี้จะไปในทิศทางไหน

เมื่อมี Trade War มันก็เกิดเทรนด์ คือหลายๆ บริษัทหาฐานการผลิตมากกว่า 1 ฐานในเอเชีย นอกเหนือจากจีน เวียดนามจึงเป็นตัวเลือกที่หลายๆ บริษัทสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยง Trade War และยังส่งสินค้าไปที่สหรัฐฯ ได้ ไม่เจอกำแพงภาษี” 

“เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมนึกถึงไทยในสมัยก่อน เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ที่ยุคญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจ G5 มีการเซ็น Plaza Accord [1] หลังจากนั้น บริษัทญี่ปุ่นจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศตัวเอง และมาเลือกไทยในช่วงนั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยในอดีตโตสูงมาก ผมเลยเห็นภาพเดียวกันกับเวียดนามในตอนนี้

[1] Plaza Accord เป็นข้อตกลงที่กลุ่มประเทศ G5 ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น เซ็นร่วมกันวันที่ 22 กันยายน 2528 เป็นการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโลก ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเกือบ 70% ภายใน 10 เดือน คนญี่ปุ่นจึงกลายเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา เอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ แต่ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกลับทรุดหนักหลังจากนั้น เพราะค่าเงินแข็ง ทำให้สินค้าผลิตจากญี่ปุ่น มีราคาแพงขึ้นในประเทศปลายทาง บริษัทญี่ปุ่นมีรายได้กำไรลดลง จึงผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่มาในโซนอาเซียน ประจวบเหมาะกับที่ไทยมีนโยบายดึงดูดเม็ดเงินลงทุนผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program – ESB) พอดี

  • โครงสร้างประชากรอยู่ในวัยทำงาน 

คุณบอย มองว่า อีกปัจจัยที่ทำให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของบริษัททั่วโลก คือ โครงสร้างประชากรยังอยู่ในวัยทำงาน เป็นคนหนุ่มสาว เมื่อเทียบกับไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมคนสูงอายุในอีกไม่ช้า จึงมองว่า โครงสร้างประชากรแบบนี้ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตอีกในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า 

และอีกปัจจัยคือ ค่าแรงเวียดนามยังไม่แพง เมื่อเทียบกับไทยหรือจีน ที่มีปรับขึ้นค่าแรงไปมากแล้ว ส่งผลให้ก็หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ ตัดสินใจไปลงทุนในเวียดนามได้ง่ายขึ้น จากต้นทุนแรงงานที่ถูก

  • การเมืองนิ่ง ขับเคลื่อนนโยบายได้ต่อเนื่อง

คุณบอย บอกว่า ถึงเวียดนามไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ไม่มีสัญญาณว่า การเมืองจะมีปัญหา หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนในประเทศรู้สึกว่า ไม่มีอนาคต เวียดนามจึงมีความมั่นคงในแง่การเมือง ไม่มีการประท้วง ที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจหรือปิดกิจการออกไป

Jitta Ranking พอร์ตลงทุนเกษียณสุข

คุณบอย บอกว่า เงินก้อนที่ลงทุนใน Jitta Ranking เวียดนามเป็นเงินเย็น ถ้าชีวิตไม่ได้เกิดวิกฤตแรงๆ ที่ต้องรีบใช้เงิน ตั้งใจว่าจะลงทุนยาวไปจนเกษียณอายุ และปล่อยให้เงินทำงานงอกเงยไปเรื่อยๆ 

“ผมเป็นนักลงทุนแนว Passive ไม่ได้มีเวลามานั่งเฝ้าดัชนีตลาด หรือศึกษาข้อมูลหุ้นรายตัว ดังนั้นการลงทุนผ่าน Jitta Wealth ก็ตอบโจทย์ คือ เราก็ใส่เงินเข้าไป แล้วให้ AI ของ Jitta ไปจัดการต่อในการเลือกหุ้นและปรับพอร์ตลงทุน” 

คุณบอย เล่าว่า ตอนตัดสินใจเลือกระหว่างหุ้นสหรัฐฯ หรือหุ้นเวียดนาม ยังสองจิตสองใจ เพราะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีเสถียรภาพ บริษัทยักษ์ใหญ่มีชื่อดังระดับโลก มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงมาก รู้สึกว่า สหรัฐฯ มีความมั่นคงสูง แต่ไม่แน่ใจว่า จะเติบโตได้ดีแค่ไหน เพราะฐานตลาดทุนใหญ่มาก 

ขณะที่เวียดนาม เสถียรภาพและความมั่นคงไม่เท่าสหรัฐฯ แต่มีโอกาสในการเติบโตสูง แน่นอนว่าความเสี่ยงสูงตามมาด้วย 

“ผมจึงอยากจะลองเสี่ยงดู เพราะอยู่ในจุดที่ว่า มีเงินลงทุนได้ยาวๆ ไม่ได้ร้อนเงิน เลยเอามาทดลองกับเวียดนาม และดูว่า ระยะยาวจะเป็นยังไง”

เวียดนามมีโอกาสโตได้อีกเป็น 10 ปี เพราะเราเห็นประวัติศาสตร์มาแล้ว ว่าไทยโตมายังไง เชื่อว่า เวียดนามก็โตแบบนั้น จึงไม่มีเหตุผลว่า ต้องถอนเงินออกจากตลาดหุ้นเวียดนาม ถ้าไม่เกิดวิกฤตที่หนักมาก”

นิวไฮรอบนี้ หุ้นเวียดนามไม่แพง

อย่างที่หลายๆ คนเห็นความเคลื่อนไหวของดัชนี VNI มาแล้ว แม้ว่าช่วงต้นปี 2564 ดัชนีจะปรับฐานหลุด 1,100 จุด แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ดัชนี VNI กลับมาทะลุ 1,200 จุดอีกครั้งในเดือนเมษายน และยืนมาได้ 55 วัน ไต่ระดับจนมาทะลุ 1,300 จุดช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เรียกได้ว่า ทดสอบนิวไฮใหม่ตลอดเวลา

คุณบอย บอกว่า เขาเป็นคนที่อ่านกราฟเทคนิคไม่เป็นเลย แต่คำถามว่า หุ้นแพงไปไหม มักจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เวลาที่ดัชนีตลาดปรับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

“ปกตินักลงทุนสาย VI (Value Investing) ก็จะใช้วิธีเหมือนกับแพลตฟอร์ม Jitta คือ ดูพื้นฐาน ดูงบการเงิน ดูกระแสเงินสด ดูราคาว่าต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นไหม ซึ่งเรื่องพื้นฐานหุ้นก็มีวิธีการคำนวณของอยู่แล้ว”

“แต่การมองเป็นประเทศ อาจจะต้องเปลี่ยนแนวคิด ถ้าพื้นฐานเวียดนามยังโตต่อได้ คำถามคือ ราคาหุ้นเหมาะสมไหม ดัชนีตอนนี้ ทำให้ราคามันสูงไปไหม ถ้าจะวัดด้วย P/E Ratio (Price-to-Earnings Ratio) ที่ผมลองติดตามดู P/E Ratio ตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ที่ 18 เท่า ก็อยู่ในระดับกลางๆ หากเรามองว่า เวียดนามจะเติบโตได้ยาวๆ ผมว่า 18 เท่าก็ยังเป็นโอกาสเข้าลงทุนได้อยู่ แต่แน่นอนว่า อนาคตเราไม่รู้หรอก

คุณบอย บอกว่า พอร์ตลงทุน Jitta Ranking เวียดนามช่วงเวลา 3 ปีก็มีผลตอบแทนที่ดี มีการปรับพอร์ตลงทุนทุก 3 เดือน เงินปันผลที่ได้ก็นำไปลงทุนต่อ เพียงเข้าไปดูพอร์ตเดือนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น หลังจากนี้ก็ให้เงินที่ลงทุนทำงานสร้างผลตอบแทนต่อไป

“มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มทุนในหุ้นเวียดนาม เพราะยังมีความน่าสนใจ โอกาสเติบโตสูง ขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ ที่อยากจะลงทุน ยังไม่มีความน่าสนใจเท่าหุ้นเวียดนาม ณ เวลาที่ผมมีเงินอยู่”

“ผมมีความสนใจในตลาดหุ้นจีน เป็นอีกตลาดหนึ่งที่เราลุ้นให้เขาแข่งกับสหรัฐฯ ให้ได้ และอีกโซนที่น่าสนใจ คือ แอฟริกา ไม่แน่ใจว่า มีตลาดหุ้นหรือยัง แต่เป็นโซนที่บริษัทจีนเข้าไปลงทุนเยอะ แสดงว่า เขาเห็นอะไรบางอย่าง ผมเชื่อว่า อนาคตมีแววเป็นเติบโตได้”

มุมมองของคุณอภิศิลป์ ที่เป็นนักลงทุนสาย VI สะท้อนภาพอย่างหนึ่งว่า เขายังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเวียดนามที่จะมีส่วนขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นโตต่อไปได้ และดัชนีขาขึ้นรอบนี้ มองว่า จะเป็นแรงส่งให้ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ มีอนาคตได้อีกระยะยาว 

หากคุณมีมุมมองเหมือนกับเขา และอยากลองลงทุนในตลาดหุ้นดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างเวียดนาม ลองเข้ามาศึกษาแนวทางการคัดเลือก ‘หุ้นดี ราคาถูก’ ของ Jitta Wealth ได้ที่ https://jittawealth.com/jitta-ranking/vietnam 


อ่านบทความเกี่ยวกับ Jitta Ranking เวียดนาม

Jitta Ranking ตอนที่ 1 – นานาเหตุผลที่ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ น่าลงทุน

Jitta Ranking ตอนที่ 2 – ลงทุน ‘หุ้นดี ราคาถูก’ ที่ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ดีอย่างไร

อ่านมุมมองลูกค้า Jitta Ranking พอร์ตลงทุนอื่นๆ

สนใจลงทุนเวียดนาม โพสต์นี้ต้องอ่าน!


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด