Jitta Wealth Journal ปีที่ 3 ฉบับที่ 141 ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2566
Fitch Ratings ลดอันดับเครดิตสหรัฐฯ ทำตลาดผันผวน จีนเพิ่มมาตรการแร่สำคัญในการผลิตชิป ตอบโต้สหรัฐฯ หนุ่มสาวจีนว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ คนญี่ปุ่นยิ้ม กองทุนบำเหน็จบำนาญทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไทยขึ้นดอกเบี้ย แตะ 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี Subaru เตรียมรุกตลาด EV ลงทุน 1.5 ล้านล้านเยน
รับข้อมูลข่าวสารและเกร็ดความรู้การลงทุนดีๆ จากเราได้ที่ Line ID: @jittawealth
S&P 500 -2.27% DJIA -1.11% NASDAQ -2.85%
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ติดลบจากการปรับลดอันดับเครดิตโดย Fitch Ratings นักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัท Apple ทำหุ้นร่วงลงกว่า 4% หลังยอดขายรายไตรมาสลดลงรอบสัปดาห์นี้
CSI 300 +0.70% TOPIX -0.70% VNI +1.52% SET -0.83%
ตลาดหุ้นจีนได้หุ้นอสังหาริมทรัพย์ดันบวกต่อเนื่อง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ตลาดหุ้นเวียดนามยังทำผลงานได้ดี เศรษฐกิจฟื้นตัว ได้รับการประเมินในเชิงบวก ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง นักลงทุนรอดูท่าทีพรรคเพื่อไทยเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ข้อมูลจาก S&P Capital IQ ณ 6 สิงหาคม 2566
Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ลดเครดิตสากลตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ AA+ จาก AAA จากสถานะทางการคลังของสหรัฐฯ ที่ Fitch มองว่าจะลดลงเรื่อยๆ ภายใน 3 ปีข้างหน้า
Fitch คาดว่าการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ นั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ของ GDP ในปี 2566 โดยปี 2567 และ 2568 เข้าสู่ระดับ 6.6% และ 6.9% ตามลำดับ จากที่อยู่ในระดับ 3.7% ในปี 2565 และรัฐบาลระดับรัฐและท้องถิ่นคาดว่าจะขาดดุลโดยรวม 0.6% ของ GDP ในปีนี้ หลังจากที่เกินดุลเล็กน้อย 0.2% ของ GDP ในปี 2565
ส่วนการที่รัฐบาลปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านกลาโหมที่คิดเป็น 15% ของการใช้จ่ายโดยรวมของรัฐบาลกลาง ตามกฎหมาย ‘Fiscal Responsibility Act’ ช่วยให้แนวโน้มการคลังในระยะกลางดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
Fitch กล่าวว่ายังไม่เห็นแนวโน้มของการคลังสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2567
แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างหลายประการ รวมถึงสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง บริษัทต่างๆ มีขนาดใหญ่และกระจายไปหลากหลายอุตสาหกรรม จนสถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐยังถือว่าเป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญที่สุดของโลก ทำให้สหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นทางการเงินสูงอยู่
ความจริงแล้วการถูกปรับระดับจาก AAA เป็น AA+ เป็นเหมือนการปรับระดับจาก ‘ดีมากมากมาก’ มาเป็น ‘ดีมากมาก’ ซึ่งสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพียงเล็กน้อย และอาจเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น และถ้ามองในภาพที่ใหญ่ขึ้นในการจัดอันดับทั้งหมด สหรัฐฯ ก็ยังน่าลงทุนอยู่ หลังจากนี้สิ่งที่ต้องติดตามคือ นโยบายต่างๆ ที่จะออกมาว่าจะช่วยแก้ปัญหา หรือผลักดันเศรษฐกิจไปทางไหน
ข่าวดัง! สหรัฐฯ ยืนยัน UFO มีอยู่จริง! ตลาดหุ้นจะถูกปั่นป่วนหรือไม่ เบื้องหลังความพยายามของมนุษยชาติจะเป็นอย่างไร เอเลียนมีดีลอะไรกับเราหรือไม่ มาเปิดแผนลงทุนลับ ก่อนใครในจักรวาลได้ที่นี่
จีนเพิ่มข้อกำหนดการส่งออกแกลเลียม (Gallium) และเจอร์เมเนียม (Germanium) ตอบสนองสหรัฐฯ ที่เพิ่มข้อกำหนดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์จีน มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศไม่ให้สหรัฐฯ มีอำนาจด้านเทคโนโลยีมากเกินไป
การควบคุมนี้อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิปของญี่ปุ่น และการประกาศมาตรการดังกล่าว ผลักดันให้ราคาแกลเลียมพุ่งขึ้นเกือบ 20% ในสหรัฐฯ และยุโรป
จีนเป็นผู้ผลิตแกลเลียมรายใหญ่ของโลกซึ่งคิดเป็นกว่า 98% ของการผลิตทั้งหมด ทำให้การประกาศมาตราการนี้เป็นที่น่าจับตามอง และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จีนมีต่อวัตถุดิบสำหรับการผลิตชิปทั่วโลกที่อาจะส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเช่นกัน
เรียกได้ว่าเป็นโอกาสของจีน ในการถือแต้มต่อในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ต้องติดตามต่อไปว่า การตอบโต้ของจีนในครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับใครบ้าง และแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตจะเป็นอย่างไร
อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในจีนที่มีอายุระหว่าง 16 – 24 ปี เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ระดับ 21.3% การว่างงานของคนหนุ่มสาวยังคงสูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมของคนในประเทศยังคงต่ำกว่าที่ระดับ 5%
สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนความต้องการแรงงานจากภาคธุรกิจ โดยหลายๆ ธุรกิจกังวลเกี่ยวกับอนาคต นำไปสู่ความลังเล และลดอัตราการจ้างงานลง
โดยรัฐบาลจีนได้จัดการปัญหาการว่างงานของคนหนุ่มสาว อย่างการมอบเงินอุดหนุนสำหรับบริษัทที่จ้างผู้สำเร็จการศึกษาใหม่
คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวจะลดลงในช่วงปลายปี ในระยะยาวผลกระทบจากวิกฤตการณ์การว่างงานครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อแรงผลักดันที่จีนต้องการในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งต้องติดตามมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลต่อไป
บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ไม่ได้มีแค่ในสหรัฐฯ เปิดโพยทำความรู้จักกับ 8 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน
ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18.98 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนหุ้นในประเทศ และพันธบัตรต่างประเทศ
มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน GPIF นี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9.5% ในระหว่างไตรมาส ถึงระดับ 219.17 ล้านล้านเยน หุ้นในประเทศเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 14.4% เนื่องจากสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อเริ่มทรงตัว ขณะที่นักลงทุนระดับตำนานอย่าง Warren Buffett ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นญี่ปุ่น ในขณะที่พันธบัตรต่างประเทศให้ผลตอบแทน 8.1% และตราสารหนี้ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.4%
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงต่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นและความผันผวนของเงินเยนเนื่องจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้มีโอกาสที่ตราสารหนี้จะได้รับผลกระทบในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ Fitch Ratings ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ที่ญี่ปุ่นด้วย
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดัชนีหุ้นทั่วโลกของ MSCI เพิ่มขึ้น 5.6% ในขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 8.3% และดัชนีหุ้นญี่ปุ่น TOPIX เพิ่มขึ้น 14% ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.37% และพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.075% ค่าเงินเยนยังคงลดลงเป็นอัตราใกล้เคียง 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
เรื่องเด่นประเด็นฮิตของชาว Jitta Wealth Official
🤗 สิ่งที่อยากบอกต่อกับคนที่ยังไม่เริ่มลงทุน
🎞️ ชวนดูสารคดี ‘กว่าจะเป็น Warren Buffett’มาร่วมพูดคุยกับเรา
(อย่าลืมกดยอมรับเงื่อนไข เพื่อเข้าร่วมกลุ่ม 🤗)
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี นับว่าเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 หรือในรอบกว่า 9 ปี
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าอาจยังหดตัวชั่วคราว แต่คาดว่าจะปรับขึ้นในอนาคต
อัตราเงินเฟ้อมีการปรับลดลง ดังนั้นการกู้ยืมภาคเอกชนกลุ่มธุรกิจอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงิน ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐมีการเคลื่อนไหวตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่มีความสำคัญในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรมีการดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายเพื่อเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
นโยบายการเงินควรถูกปรับเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและเป้าหมายของเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวและการรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจด้วย
กฎแรงดึงดูดคืออะไร แล้วเราสามารถเอามาใช้กับการลงทุนได้หรือไม่
ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น Subaru ประกาศผลประกอบการทั่วโลกไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 ยอดการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 243,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.3% แม้จะประสบปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็ตาม
พร้อมประกาศเป้าหมายสำคัญเตรียมรุกตลาดกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบเต็มกำลัง โดยมีแผนนำรถยนต์ EV 8 รุ่น ภายในปี 2571 วางเป้ายอดขาย 600,000 คันหรือกว่า 50% ของยอดขาย Subaru ทั้งหมดในปี 2566 ลงทุนสูงถึง 1.5 ล้านล้านเยน หรือกว่า 361,000 ล้านบาท
Subaru Solterra รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกอันเป็นผลผลิตร่วมกันของ Toyota bZ4X จำหน่ายในสหรัฐฯ ไปแล้วกว่า 3,730 คัน คิดเป็นสัดส่วน 1% ของยอดขายทั้งหมด และ Subaru ก็ลุยต่อในสนาม EV อย่างไม่ลดละ เตรียมแผนพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเจเนอเรชันใหม่ โดยได้ Panasonic มาร่วมพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 และมีแผนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV ที่ญี่ปุ่นด้วย
เป็นอีกบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีชื่อเสี่ยงที่ก้าวเข้ามาอย่างเต็มสูบในสนามรถ EV การตั้งเป้า 50% ของยอดขายในแบรนด์ทั้งหมดเป็น EV เป็นความท้าทายในสนามการแข่งขันที่ดุเดือด รอดูกันต่อไปว่า จะมีค่ายไหนเข้ามาในสนามนี้ต่อ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างคงหนีไม่พ้น การที่ Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐฯ ซึ่งหากประเมินภาพรวมแล้ว ในบรรดาประเทศที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน หรือสูงกว่านั้น สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่ดี
และการลงทุนจะต้องวิเคราะห์ในรายละเอียดของหุ้นแต่ละตัว หรือแต่ละบริษัทอีกทีอยู่ดี สถานการณ์นี้จึงเป็นเพียงความผันผวนในระยะสั้น ที่ต้องกลับมามองกันอย่างละเอียด ว่ากระทบพอร์ตการลงทุนของคุณหรือไม่ และกระทบอย่างไรบ้าง
เพราะไม่ว่ายังไงเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ก็ยังคงถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้า แม้ในบางอุตสาหกรรมจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ในหลายๆ อุตสาหกรรมก็ยังทำผลงานได้ดี เม็ดเงินยังคงไหลเวียนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเสมอ
สิ่งสำคัญคือจะต้องลงทุนอย่างมีสติ วิเคราะห์สถานการณ์ให้รอบด้าน กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม มองให้เห็นโอกาสในทุกช่วงเวลา
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Jitta Wealth Journal – ข่าวดีใช่ไหม? เศรษฐกิจสหรัฐฯ เตรียมลงจอด?