Jitta Wealth Journal ปีที่ 3 ฉบับที่ 140 ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2566
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เตรียมลงจอดอย่างนุ่มนวล ข่าวดีหรือข่าวร้าย กระแส “Barbenheimer” มาแรงจนประธาน Fed ต้องจับตาดู เรื่องใหญ่ของชาวทวิต เมื่อ Twitter เปลี่ยนเป็น X โดย Elon Musk เตรียมรับมือ หากเศรษฐกิจจีนโตช้า อาจส่งผลกับเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยติดลบ 9 เดือนต่อเนื่อง เกิดจากอะไร ญี่ปุ่นเริ่มกล้า ผ่อนคลายการควบคุมอัตราดอกเบี้ย
รับข้อมูลข่าวสารและเกร็ดความรู้การลงทุนดีๆ จากเราได้ที่ Line ID: @jittawealth
S&P 500 +1.01% DJIA +0.65% NASDAQ +2.02%
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่หวั่นแม้ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มีสัญญาณว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย จากแนวโน้มที่ Fed ให้สัมภาษณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตเร็วกว่าที่คาด ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง เงินเฟ้อเริ่มกลับมาสู่ระดับที่เหมาะสมแล้ว เป็นสัญญาณดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างแท้จริง
CSI 300 +4.47% TOPIX +1.26% VNI +1.84% SET +0.92%
ตลาดหุ้นจีนพุ่งแรงจากคำมั่นสัญญาของรัฐบาลจีนที่จะเพิ่มมาตรการหนุนเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นแข็งแกร่งฟื้นตัวกว่า 60% ก่อนการระบาด Covid-19 ตลาดหุ้นเวียดนามเดินหน้าหาโอกาส ต่างชาติเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากทางตลาดสหรัฐฯ
ข้อมูลจาก S&P Capital IQ ณ 30 กรกฎาคม 2566
แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงนี้ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะ Fed พยายามป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แม้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้ง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง
การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในสัปดาห์นี้ นำไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันเพื่อลดเงินเฟ้อนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจเชิงบวกแสดงให้เห็นว่า ไม่เป็นเหมือนที่หลายคนกังวล จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงจอดอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ด้านดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ลดลงเหลือ 4.1% ในเดือนมิถุนายน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ตัวเลขนี้สนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยไม่ก่อให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มีสัญญาณของการหยุดชะงัก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต +2.4%ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์
แม้ว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% นักวิเคราะห์แนะนำว่าการลงจอดที่ใกล้เคียงกับตัวเลขนี้ โดยไม่เพิ่มอัตราการว่างงาน ก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว และมีโอกาสที่ Fed จะกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในปีนี้ด้วย
ความสำเร็จของ ‘Barbie’ และ ‘Oppenheimer’ ส่งผลบวกดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ Bank of America รายงานว่า ผู้ถือบัตรของธนาคารมีรายจ่ายด้านความบันเทิงเพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในทุกๆ หมวดหมู่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 4.9% อย่างมีนัยสำคัญ
ทางธนาคารได้ทำการวิจัยและรายงานผลว่า การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านความบันเทิงและเสื้อผ้านั้น อาจมีผลมาจากการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง Barbie และ Oppenheimer
เพียงอาทิตย์แรก Barbie ก็สามารถทำเงินเปิดตัวไปได้ถึง 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Oppenheimer สร้างรายได้ไปกว่าอีก 82.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลลัพธ์ของภาพยนตร์ทั้งสองที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายอย่างเต็มที่ในบางด้าน แม้ว่าจะมีการลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ความยืนหยุ่นโดยรวม (Overall resilience) ของเศรษฐกิจประกอบกับอัตราเงินเฟ้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัว ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไป ก็อาจสร้างปัญหาได้ ธนาคารกลางต้องตรวจสอบและติดตามการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างรอบคอบ
ภาพยนต์ Barbie ถือเป็นกระแสที่น่าจับตามองเกินคาด เพราะมันอาจไม่ใช่ภาพยนต์สีชมพูอย่างที่ใครๆ คิด ในแง่การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เพราะจริงๆ แล้วการลงทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Mattel มีแผนลับซ่อนอยู่ นี่จะเป็นโอกาสลงทุนของคุณหรือไม่
หลังจากการเปลี่ยนชื่อของ “Twitter” เป็น “X” โดย Elon Musk เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้งานรายเดือนของแพล็ทฟอร์ม X ก็พุ่งแตะ New High แตะ 540 ล้านคน
ซึ่งโพสต์ของ Musk บนแพล็ทฟอร์ม X กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในองค์กร และมีเป้าหมายการเพิ่มรายได้ แก้ปัญหารายได้การโฆษณาที่ลดลงในเดือนที่ผ่านมา
ตั้งแต่ที่ Musk ขึ้นแท่นผู้บริหารองค์กร บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ทั้งตัวสินค้าและองค์กรเอง รวมไปถึงการเปิดตัวตราสัญลักษณ์สีฟ้าหลังชื่อ ตรวจสอบบุคคลที่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม และเริ่มแบ่งขายพื้นที่โฆษณาให้กับผู้สร้างเนื้อหาที่ถูกเลือกมาบนแพล็ตฟอร์ม
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Musk ได้เสนอชื่อ Linda Yaccarino อดีตหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของ NBCUniversal ขึ้นเป็นผู้บริหารของ X เพื่อเน้นการเพิ่มรายได้จากการโฆษณา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของชาว Twitter แพลตฟอร์มนกสีฟ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต้องรอติดตามต่อว่า Musk จะมีแผนการอย่างไรต่อไป แล้ว X จะสร้างตัวตนในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลมิเดียออกมาในทิศทางไหน
เรื่องเด่นประเด็นฮิตของชาว Jitta Wealth Official
🧐 Thematic VS Global ETF แบบไหนดี จากผู้ลงทุนจริง
😘 รีวิวพอร์ตลงทุนตั้งแต่ต้นปี กำไรเติบโตแค่ไหน
มาร่วมพูดคุยกับเรา
(อย่าลืมกดยอมรับเงื่อนไข เพื่อเข้าร่วมกลุ่มนะ 🤗)
เศรษฐกิจจีนมีโอกาสเผชิญกับการเติบโตที่ลดลงในอนาคต ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หลังจากเติบโตอย่างรวดเร็วติดต่อกันถึง 45 ปี จับตารัฐบาลจีนเตรียมเพิ่มมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ครอบคลุมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (GDP) ขยายตัว +6.3% ด้วยขนาดเศรษฐกิจของจีนถือเป็นอัตราการเติบโตที่น่าประทับใจ แม้จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ +7.3%
จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 5% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าค่าฉลี่ยในอดีตที่ 9% โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศการกำหนดเป้าหมายไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเอกชนและนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับเศรษฐกิจโลก นักลงทุนยังคงต้องพึ่งพาจีนในหลายด้าน ผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือ สินค้าโภคภัณฑ์และวัฏจักรอุตสาหกรรม เนื่องจากจีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการพึ่งพาภาคอสังหาฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสนับสนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั่นเอง
จีนยังคงลงทุนอยู่ แต่จะปรับเปลี่ยนการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และเทคโนโลยี บทบาทของจีนในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน นักลงทุนยังคงต้องมีการติดตามกันอย่างใกล้ชิด
อยากกระจายความเสี่ยงทั่วโลกได้ด้วย Global ETF แต่ยังไม่รู้ว่าแผนไหนที่ใช่คุณ มาทำความเข้าใจว่าทำไม Global ETF ถึงมี 3 แผน ช่วยคุณเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่ใช่ หาคำตอบได้ที่นี่
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 ด้านของการส่งออกหดตัว -6.4% จากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร -8.6% สินค้าอุตสาหกรรมลดลง -4.6% รวมไปถึงการนำเข้าหดตัว -10.3%
ในเดือนมิถุนายน 2566 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกติดลบ มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าซบเซาจากอัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงการผลิตและการบริโภคที่ยังคงตึงตัว
กระทรวงพาณิชย์ ยังประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ยังมีความไม่แน่นอนของประเทศคู่ค้า และความไม่แน่นอนของการเมืองไทยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในตอนนี้
ในอนาคต ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการส่งออกไทยคือ ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงเติบโต การกระจายแหล่งนำเข้าของคู่ค้าเพื่อทดแทนแหล่งซื้อ การเติบโตของเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม และการเติบโตของการท่องเที่ยว ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้การส่งออกของไทยสามารถขยายตัวดียิ่งขึ้น
สุดท้ายต้องรอดูทั้งการจัดตั้งรัฐบาลไทยว่าบทสรุปจะเป็นยังไงต่อไป และใครจะเป็นคนกุมบังเหียนบริหารและแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกในตรงนี้ หากแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจไทยก็สามารถกลับมาครึกครื้นอีกครั้งได้อย่างแน่นอน
DCA เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกพูดถึงเสมอ แต่ก่อนที่คุณจะเริ่ม DCA อย่างจริงจัง มีความจริงข้อไหนบ้างที่คุณควรรู้
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มปรับเปลี่ยนมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่มีมาอย่างยาวนาน โดยปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างอิสระมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
BOJ ปรับนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและคลายการป้องกันอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในระยะยาว ในขณะที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษและเน้นการสนับสนุนเศรษฐกิจ การปรับแผนของ BOJ ต่อแผนการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีเป้าหมายเพื่อให้ตอบสนองต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น แรงกดดันด้านราคาที่สูงขึ้น
ธนาคารยังคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ประมาณ 0%
BOJ กล่าวว่าจะเสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ 1.0% ในอัตราคงที่ แทนที่จะเป็นอัตราเดิมที่ 0.5% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าขณะนี้เพดานการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน 10 ปี ขยายมากถึง 1.0%
ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางการตลาดที่สำคัญ โดยผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และหุ้นธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี
การดำเนินการของ BOJ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกับความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการบิดเบือนของราคาพันธบัตรและให้กลไกตลาดมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายของญี่ปุ่นในครั้งนี้ อาจทำให้คุณเปลี่ยนภาพจำที่เคยคิดว่า ญี่ปุ่นไม่โตหรืออิ่มตัวแล้ว มาเป็นตลาดที่คึกคักและน่าจับตามองก็ได้
Money Daily และคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta และ Jitta Wealth เผยทิศทางลงทุนครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมไหนเด่น สินทรัพย์อะไรที่คุณควรมีในพอร์ต
เศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังคงร้อนแรง นักลงทุนก็มีทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ย หรือ การปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ
ถึงการเปลี่ยนแปลงจะหมายถึงความไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนก็คือความเสี่ยง แต่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจในการพัฒนา และกระตุ้นใ้ห้เศรษฐกิจดียิ่งขึ้น ความเสี่ยงจึงมีแนวโน้มเป็นไปในทางบวก
ตลาดในหลายๆ ประเทศเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจน แต่ในบางประเทศก็ยังคงต้องเอาใจช่วย ให้รัฐบาลออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่เหมาะสมให้ผ่านช่วงติดขัดไปให้ได้
อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปในอดีต ก็เกิดสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน ตลาดหุ้นยังคงเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร
ในการลงทุนระยะยาว เหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดี ก็จะผ่านเข้ามาให้เห็นและเรียนรู้อยู่ตลอด คุณเพียงแค่ต้องเรียนรู้และเติบโต สร้างทัศนคติและวินัยการลงทุนที่ดี หาทางลงทุนให้มีความสุขในทุกช่วงเวลา
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
ทีมงาน Jitta Wealth