จัดพอร์ตลงทุน Global ETF เอาชนะ ‘เงินเฟ้อ’ ด้วย Modern Portfolio Theory

4 มิถุนายน 2564Global ETFJitta Wealth

แค่เก็บเงินในบัญชีเงินฝาก…มันไม่พอแล้ว หากจะเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ

เพราะดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 1% ต่อปี ช่างน้อยนิด ส่วนฝากประจำ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาสักหน่อย แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องถูกคำนวณภาษีเงินรายได้ 15% ด้วย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) กลับเพิ่มขึ้นทุกปี ว่ากันว่า…เศรษฐกิจที่สุขภาพดี ควรมีเงินเฟ้ออย่างอ่อน (Mild Inflation) ประมาณ 2%

นั่นหมายความว่า รายได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากยุคปัจจุบัน…ไม่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้แล้ว 

เทรนด์ที่เห็นได้ชัด คือ ธนาคารกลางแต่ละประเทศแทบจะใช้ดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ บางประเทศใกล้ 0% บางประเทศติดลบด้วยซ้ำ

ส่วนของไทย…ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติเพียง 0.5% ต่อปี พอๆ กับประเทศอื่นๆ เลย

ยิ่งช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ละประเทศมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เจ็บตัวจากวิกฤต Covid-19 การใช้มาตรการดอกเบี้ยต่ำ…จึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

คำถาม คือ ในเมื่อเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก ไม่สามารถงอกเงยได้ทันตามภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แล้วการลงทุนแบบไหน…จะสามารถตอบโจทย์ได้ บทความนี้มีคำตอบ

‘เงินเฟ้อ’ สำคัญอย่างไร

คำอธิบายง่ายๆ ของเงินเฟ้อ คือ ของแพงขึ้นอยู่ตลอดเวลา หรือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ปรับขึ้นทุกๆ ปีนั่นเอง

จะลองทบทวนช่วงเวลาในอดีตของคุณก็ได้ ของกินที่คุณชอบ เครื่องดื่มที่คุณคุ้นเคย มีราคาแพงขึ้น จากที่เคยจ่าย 10 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ราคาขายอยู่ที่ 20 หรือ 30 บาทไปแล้ว 

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เราเคยเรียนๆ มากัน คือ เงินเฟ้ออ่อนๆ เป็นเรื่องที่ดี เพื่อสะท้อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

เพราะประชาชนควรมีรายได้เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจก็ควรขายของมีกำไรดีขึ้น แต่เงินเฟ้อสูงๆ ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน 

นั่นหมายความว่า…ภาวะเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

รัฐบาลทุกประเทศ จะมีรายงานตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือน เพื่ออัปเดตสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ที่ส่งผลต่อทิศทางราคาและต้นทุนผู้ผลิตในภาพรวม

ดัชนีที่ใช้ คือ Consumer Price Index (CPI) หรือ ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ นั่นเอง 

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ควรรู้ เช่น

  • เงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ซึ่งก็คือ ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ เป็นการคำนวณรวมราคาสินค้าทุกอย่าง รวมไปถึงราคาน้ำมัน
  • เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ เพราะจะคำนวณโดยแยกราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน ซึ่งมีความผันผวนสูง และอิงกับราคาตลาดโลก

การคำนวณอัตราเงินเฟ้อจะคิดจากปีฐาน แล้วแต่หน่วยงานกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนด โดยแสดงค่าเป็นเปอร์เซนต์ ค่าบวกก็หมายถึงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่าลบหมายถึงเงินเฟ้อหดตัว

สำหรับไทย ปีฐานที่ใช้ในการคำนวณ เปลี่ยนจากปี 2558 เป็น 2562 เพื่อให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยจะใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา 

ประเด็นเงินเฟ้อ เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น เพราะหลายประเทศทั่วโลกมีอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวในเดือน เม.ย. รวมทั้งไทยด้วย เป็นผลมาจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เพราะปีที่แล้วราคาดิ่งฮวบฮาบทั่วโลก จากการแพร่ระบาด Covid-19

ประเด็นที่พูดถึงต่อมา คือ ความกังวลต่อภาวะ Stagflation หมายถึง เศรษฐกิจไม่โต ว่างงานสูง เงินเฟ้อพุ่งโดยเฉพาะไทย คาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะกำลังเผชิญกับ Covid-19 รอบที่ 3 เศรษฐกิจยังทรุดต่อ และเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ได้

สิ่งที่ต้องจับตา คือ อัตราเงินเฟ้อเดือนต่อเดือน จะเร่งตัวขึ้นตามที่นักวิเคราะห์กังวลหรือไม่ 

การลงทุนที่ตอบโจทย์ภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อภาวะเงินเฟ้อเร่งตัว ดอกเบี้ยก็ไม่พอที่จะทำให้เงินฝากงอกเงยเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลาย แล้วอะไรที่จะมาตอบโจทย์การสะสมความมั่งคั่งได้

คุณคงกำลังมองหาการลงทุนแบบอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือหุ้นบริษัท ซึ่งก็คือสินทรัพย์ทางการเงิน แต่ละประเภทมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน เรียกรวมๆ ว่า ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่รัฐบาลหรือบริษัทนำออกมาขายให้แก่นักลงทุนเพื่อระดมทุน โดยที่นักลงทุนในสถานะ ‘เจ้าหนี้’ จะได้ผลตอบแทนเป็น ‘ดอกเบี้ย’ ตามที่รัฐบาลหรือบริษัทในฐานะ ‘ลูกหนี้’ ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน รวมทั้งจุดประสงค์ในการระดมทุนด้วย

‘ดอกเบี้ย’ จากตราสารหนี้ จะมีอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ขึ้นอยู่กับอายุของตราสารหนี้นั้นๆ ความเสี่ยงสำคัญ คือ คุณภาพของรัฐบาลและบริษัทในการชำระหนี้ หรือจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นให้นักลงทุนนั่นเอง

หุ้นบริษัทหรือหุ้นสามัญ เรียกกันว่า ตราสารทุน เป็นสินทรัพย์ที่ออกโดยบริษัท นำออกมาขายให้นักลงทุนถือครองในฐานะ ‘เจ้าของบริษัท’ หรือ ‘ผู้ถือหุ้น’ ในสัดส่วนตามที่ลงทุนไว้ ผลตอบแทนที่จะได้รับอยู่ในรูปของ ‘เงินปันผล’ เมื่อบริษัทมีกำไร กับ ส่วนต่างราคาหุ้น (Capital Gain) จะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นในราคาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และทำการขายหุ้นนั้นออก ส่วนต่างที่เกิดขึ้นคือ Capital Gain

การลงทุนในหุ้นบริษัท หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘หุ้น’ จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าลงทุนในตราสารหนี้ เพราะได้ทั้งเงินปันผลและ Capital Gain ยิ่งลงทุนในบริษัทที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง ผลตอบแทนที่ได้รับจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

แน่นอนว่า ‘หุ้น’ ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ เพราะราคามีความผันผวน จากข่าวสาร ผลประกอบการ และภาวะเศรษฐกิจ ถ้าบริษัทขาดทุน ก็จะไม่จ่ายเงินปันผล หรือกำไรน้อยลง เงินปันผลก็น้อยลง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง ‘ตราสารหนี้’ และ ‘หุ้น’ เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ มีมูลค่าในตัว มีพื้นฐานชัดเจน และนักลงทุนสามารถประเมินมูลค่าและผลตอบแทนจากปัจจัยแวดล้อมได้

จัดพอร์ตอย่างไร ให้เกษียณสุข…เอาชนะเงินเฟ้อ

ถ้ารับความผันผวนได้ไม่มาก ลงทุนใน ‘ตราสารหนี้’ เพียงพอไหม หรือถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ รับความเสี่ยงได้ ลงทุนใน ‘หุ้น’ อย่างเดียวได้ไหม 

หรือถ้าอยากลงทุนทั้ง 2 สินทรัพย์ จะจัดพอร์ตลงทุนอย่างไร ที่ยังสามารถจัดการความเสี่ยงและคาดหวังผลตอบแทนได้

เหมือนเป็นคำถามที่อยู่ในใจนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้ง Harry Markowitz นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน วัย 93 ปี ก็ได้พยายามแสวงหาวิธีการจัดพอร์ตลงทุนจากสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก จนกลั่นมาเป็นหลักการ หลักการ Modern Portfolio Theory (MPT) 

Markowitz เขียนหลักการ MPT ลงบทความในปี 2495 และต่อมาจึงได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ 

หลักการ MPT จะช่วยสร้างพอร์ตลงทุน จาก 2 โจทย์หลัก คือ ผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่รับได้ ผ่านการคัดเลือกสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความแตกต่างกันและกำหนดสัดส่วนการลงทุนตามโจทย์ที่ตั้งไว้

จึงเป็นที่มาของ 2 ตัวแปรการจัดพอร์ตลงทุน ได้แก่ การกระจายความเสี่ยง (Diversification) และการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) นั่นเอง

หากลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียว ผลตอบแทนรวมอาจจะไล่ตามเงินเฟ้อเท่านั้น หรือถ้าลงทุนหุ้นอย่างเดียว ปีไหนก่อนวิกฤตหุ้นทั่วโลกดิ่งแรงๆ พอร์ตลงทุนก็ติดลบหนักๆ ได้

แต่ถ้าจัดพอร์ตลงทุนผสมกันระหว่าง 2 สินทรัพย์ จะสามารถกำหนดโจทย์ตามหลักการ MPT นั่นคือ ‘ผลตอบแทนที่คาดหวัง’ และ ‘ความเสี่ยงที่รับได้’ เพราะ ‘ตราสารหนี้’ หรือ ‘หุ้น’ มีจะการตอบสนองต่อตลาดการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้นความเคลื่อนไหวจะราคาสวนทางกัน

เพราะ ‘หัวใจ’ การจัดพอร์ตลงทุนตามหลักการ MPT คือ Maximize (เพิ่ม) ผลตอบแทนรวม และ Minimize (ลด) ความเสี่ยงจากการจัดพอร์ตลงทุนจากตัวแปร Asset Allocation และ Diversification

เมื่อหลักการ MPT จะตอบคำถามในใจของนักลงทุนธรรมดาอย่างเราๆ ได้ว่า พอร์ตลงทุนแบบนี้จะจัดการความเสี่ยงในแต่ละสินทรัพย์และมีผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ 

Jitta Wealth จึงประยุกต์หลักการของ Markowitz มาเป็นกองทุนส่วนบุคคล Global ETF ที่จะจัดสรรการลงทุนผ่าน ‘ตราสารหนี้’ คุณภาพดีในสหรัฐฯ และ ‘หุ้น’ จากตลาดหุ้นทั่วโลก

โดยเลือก ETF (Exchange Traded Fund) มาเป็นตัวแทนของการกระจายความเสี่ยงอีก 1 ขั้น เพราะลงทุนพันธบัตรรัฐบาล 1 ตัว หรือหุ้นบริษัท 1 ตัว คงไม่ดีเท่าลงทุนผ่าน ETF กองทุนที่เอาเงินไปลงทุนตราสารหนี้หลายพันรายการ หรือหุ้นหลายร้อยตัว

ทั้ง 5 ​ETF ที่เลือกมานั้น เป็นการบริหารภายใต้ผู้ออกกองทุนเบอร์ 1 และ 2 ของโลกอย่าง iShares และ Vanguard ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หุ้นกู้บริษัทสหรัฐฯ หุ้นสหรัฐฯ หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว และหุ้นตลาดเกิดใหม่

นำมาแบ่งสรรปันส่วนออกมาเป็น 3 ‘สูตรสำเร็จ’ จัดพอร์ตลงทุน Global ETF ได้แก่

  • พอเพียง รับความเสี่ยงได้น้อย ผลตอบแทน 4% ต่อปี ลงทุนพันธบัตรกับหุ้นกู้ 80% หุ้นสามัญ 20%
  • สมดุล รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ผลตอบแทน 6% ต่อปี ลงทุนพันธบัตรกับหุ้นกู้ 50% หุ้นสามัญ 50%
  • เติบโต รับความเสี่ยงได้สูง ผลตอบแทน 8% ต่อปี ลงทุนพันธบัตรกับหุ้นกู้ 20% หุ้นสามัญ 80%

ทั้ง 3 แผนของ Global ETF จะตอบ ‘หัวใจ’ ของหลักการ MPT คือ Maximize ผลตอบแทนให้มากที่สุด และ Minimize ความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ผ่านการลงทุนใน ‘ตราสารหนี้’ คุณภาพดี และ ‘หุ้น’ ทั่วโลก 

เงินลงทุนของคุณจะงอกเงยได้ในระยะยาว จากผลตอบแทนทบต้นรายปี เพื่อเอาชนะภาวะเงินเฟ้อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

อยากรู้ว่า พอร์ตลงทุนตามหลักการ MPT ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างไรได้บ้าง ลองอ่านบทความ ส่องผลตอบแทน Global ETF ครึ่งปี สูงสุด 17% และลงทุน Global ETF อย่างไรให้เงินงอกเงย 127% ใน 10 ปี 

หาสูตรสำเร็จจัดพอร์ตลงทุน Global ETF เพื่อวางแผนทางการเงินได้ที่ https://jittawealth.com/global-etf 


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


อ่านบทความ Global ETF ย้อนหลัง

ส่องผลตอบแทน Global ETF ครึ่งปี สูงสุด 17%

Global ETF ทางเลือก ‘ดีต่อใจ’ รับมือ ‘ความผันผวน’

ลงทุน Global ETF ให้เงินงอกเงยได้ 127% ใน 10 ปี

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด