16 ธีมจาก Thematic ปี 2564 ใครกำไร ใครขาดทุน 

13 มกราคม 2565DIYJitta WealthOptimizeThematic

ไฮไลต์

  • ใน 16 ธีมจาก Thematic มี 7 ธีมที่ยังทำกำไรอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 และอีก 9 ธีมที่ขาดทุน แต่เติบโตสูงมากในปี 2563 
  • มี 1 ธีมที่ผลตอบแทนติดลบต่อเนื่องกัน 2 ปี คือ ธีมกัญชา 
  • ตลาดหุ้นที่ทำผลตอบแทนเป็นลบ คือ จีนและฮ่องกง จากมาตรการกำกับดูแลของรัฐบาลจีน
  • ธีมที่ขาดทุน ไม่ได้แปลว่า เป็น ETF ไม่ดี และธีมที่มีกำไรก็มีโอกาสติดลบได้เหมือนกัน 
  • ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีไม่ได้เป็นตัวชี้วัด หากเป้าหมายของคุณคือการลงทุนระยะยาว แต่สามารถเป็นกระจกมองหลัง เพื่อจัดพอร์ตรับมือในปี 2565 ได้ 
  • ธีมที่ทำผลตอบแทนปี 2564 สูงสุด 3 อันดับแรกเป็นธีมตลาดหุ้น ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นไปตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก
  • ธีมรายอุตสาหกรรมที่ทำผลตอบแทนปี 2564 สูงสุด ได้แก่ บริการสุขภาพ และเทคโนโลยี 
  • ธีมรายธุรกิจที่ทำผลตอบแทนปี 2564 สูงสุด ได้แก่ หุ่นยนต์และ AI และพลังงานสะอาดจีน 

ปี 2564 นับเป็นปีที่กองทุนส่วนบุคคล Thematic ของ Jitta Wealth ให้บริการคุณเต็มปี 

เราเริ่มต้นในฐานะ Trendsetter กับการเปิดตัว Thematic ในเดือนตุลาคม 2563 จัดพอร์ตลงทุนใน Passive ETF ที่ขนธีมการลงทุนที่น่าสนใจ 10 ธีม และทยอยเพิ่มธีมใน Thematic ปี 2564 อีก 6 ธีม

และในเดือนตุลาคม 2564 เราได้เปิดแผนการลงทุน Thematic Optimize ที่พัฒนา AI มาวิเคราะห์ที่น่าลงทุนที่สุด และจัดพอร์ต 4 ธีม โดยที่คุณไม่ต้องจัดพอร์ตเปลี่ยนธีมเองทุกไตรมาส 

แต่ Jitta Wealth ยังเก็บสไตล์จัดพอร์ตเลือกธีมเองไว้ ผ่านแผน Thematic DIY 

ปี 2564 ยังเป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้ดี ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเกือบทุกประเทศ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ทุกธีมที่ Jitta Wealth คัดสรรมา จะทำกำไรได้ดีในปีที่ผ่านมา

เพราะนอกจากข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายวัน ยังมีปัจจัยบวกและลบเฉพาะแต่ละธีมที่ส่งผลกระทบโดยตรงให้ราคา ETF นั้นขึ้นๆ ลงๆ มูลค่าพอร์ตของคุณจึงผันผวนตลอดเวลา

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อตลาดหุ้นและราคาหุ้นขึ้นสูงมาก ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2563 จนถึงปลายปี 2564 แรงเทขายทำกำไรในหุ้นเติบโตอย่างบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ ตามอารมณ์ของนักลงทุนทั่วโลก

ดังนั้นผลตอบแทน 16 ธีมของ Thematic ปี 2564 จึงมีทั้งกำไรและขาดทุนผสมปนเปกันไป มาดูกันว่า ธีมที่อยู่ในพอร์ตของคุณ ไม่ว่าจะเป็นแผน Thematic DIY และ Thematic Optimize เป็นอย่างไรในปีที่ผ่านมา

หากเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนปีเดียวเป็นเวลาที่สั้นมาก ดังนั้นให้เงินทำงานเป็นระยะเวลานานกว่านี้ แล้วคุณจะค้นพบว่า ผลตอบแทนทบต้นระยะยาวมีจริงๆ ขอเพียงความเข้าใจในหลักการและวินัยการลงทุน

16 Thematic
16 thematic

9 ธีมขาดทุนจาก Thematic ปี 2564 

ทีมงาน Jitta Wealth จัดอันดับ 9 จาก 16 ธีมที่ทำผลตอบแทนติดลบในกองทุนส่วนบุคคล Thematic ปี 2564 โดยเรียงจากธีมที่ขาดทุนมากที่สุด ไปจนถึงธีมที่ขาดทุนน้อยที่สุดในปีที่ผ่านมา

และธีมที่ติดลบมากที่สุดในปี 2564 ได้แก่…

16 Thematic

อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ลงทุนผ่าน ProShares Online Retail ETF หรือ ONLN ที่ลงทุนในบริษัทค้าปลีกทั่วโลกที่มีรายได้หลักจากการค้าขายออนไลน์ รวมไปถึงบริการอีมาร์เก็ตเพลส 

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -25.22%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +111.82% 

บริษัทที่ลงทุน 10 อันดับแรก ได้แก่ Amazon (23.75%) Alibaba (11.58%) eBay (5.47%) Sea (3.35%) JD.com (3.31%) DoorDash (3.00%) Etsy (2.49%) Chewy (2.39%) WayFair (2.31%) และ Flowers.com (2.13%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (73.81%) จีน (17.36%) และไต้หวัน (3.39%) 

เทคโนโลยีจีน (China Tech) ลงทุนผ่าน Invesco China Technology ETF หรือ CQQQ ที่ลงทุนหุ้นบริษัทสัญชาติจีนชั้นนำกลุ่ม IT ในดัชนี A-share H-share และ US-ADR 

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -24.54%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +57.33%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Tencent (10.44%) Baidu (8.95%) Meituan (8.29%) Sunny Optical Technology (7.38%) และ Kuaishou Technology (5.23%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่ม IT (49.22%) บริการการสื่อสาร (37.93%) และสินค้าฟุ่มเฟือย (9.92%) 

ตลาดหุ้นจีน (China) ลงทุนผ่าน iShares MSCI China ETF หรือ MCHI ที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีน เป็นหุ้นกลุ่ม A-Share B-Share H-Share Red-Chip P-Chip และ US-ADR ซึ่งเป็นหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -21.74%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +27.78% 

บริษัทที่ลงทุน 6 อันดับแรก ได้แก่ Tencent (13.24%) Alibaba (9.08%) Meituan (4.65%) China Construction Bank (2.60%) JD.com (2.39%) และ Ping An Insurance (1.78%) 

สัดส่วนการลงทุน 5 อันดับแรกอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือย (29.24%) การสื่อสาร (18.28%) การเงิน (15.07%) IT (6.92%) และสุขภาพ (6.66%) 

กัญชา (Cannabis) ลงทุนผ่าน ETFMG Alternative Harrest ETF หรือ MJ ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเพาะปลูกและแปรรูปกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และประเทศที่รับรองกัญชาเพื่อสันทนาการทางกฎหมาย 

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -21.67%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 -11.57%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Aurora Cannabis (7.93%) Canopy Growth (6.42%) Tilray (6.23%) Arena Pharmaceuticals (5.98%) และ Cronos Group (5.50%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (54.11%) แคนาดา (35.91%) และสหราชอาณาจักร (6.67%)

เทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ลงทุนผ่าน Global X Fintech ETF หรือ FINX ที่ลงทุนในบริษัทผู้นำทางเทคโนโลยีการเงินทั่วโลก 

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -9.65%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +53.76%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Intuit (7.9%) Adyen (6.87%) Fiserv (6.49%) Fidelity (5.15%) และ Coinbase (5.08%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (65.4%) เนเธอร์แลนด์ (6.9%) และออสเตรเลีย (4.2%) 

เกมและอีสปอร์ต (Games & E-sports) ลงทุนผ่าน Global X Video Games & E-sports ETF หรือ HERO ลงทุนในบริษัทเกมและผู้จัด E-sports รวมไปถึงบริษัทพัฒนาและจัดทำเกม บริษัทที่มีส่วนในการสตรีมมิงการแข่งขัน

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -8.37%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +91.03%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Nvidia (10.87%) Electronic Arts (6.35%) NetEase (6.07%) Nintendo (5.66%) และ Take-Two Interactive (5.07%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (30.8%) ญี่ปุ่น (24.9%) และเกาหลีใต้ (16.1%) 

เทคโนโลยีท่องเที่ยว (Travel Tech) ลงทุนผ่าน ETFMG Travel Tech หรือ AWAY ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีการท่องเที่ยวที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ทั่วโลก 

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -5.91%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +4.41% 

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Booking.com (4.92%) Uber Technologies (4.85%) Expedia (4.94%) eDreams Odigeo (4.54%) และ Sabre (4.35%)

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (40.64%) ฮ่องกง (12.84%) และออสเตรเลีย (9.15%) 

จีโนมิกส์ (Genomics) ลงทุนผ่าน iShares Genomics Immunology and Healthcare ETF หรือ IDNA ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมจีโนมิกส์ ภูมิคุ้มกันวิทยา และพันธุวิศวกรรมทั่วโลก 

  • ผลตอบแทน ปี 2564 -3.98%
  • ผลตอบแทน ปี 2563 +54.30%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Intellia Therapeutics (4.63%) Blueprint Medicines (4.50%) Exelixis (4.37%) Ono Pharmaceutical (4.30%) และ Genmab (4.28%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (62.95%) ญี่ปุ่น (8.92%) และเยอรมนี (8.44%) 

คลาวด์ (Cloud Computing) ลงทุนผ่าน WisdomTree Cloud Computing Fund หรือ WCLD ลงทุนในบริษัทพัฒนาและให้บริการคลาวด์ ครอบคลุมทั้งธุรกิจ SaaS PaaS และ IaaS 

  • ผลตอบแทนปี 2564  -3.21% 
  • ผลตอบแทนปี 2563  +109.71% 

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ New Relic (2.92%) Mimecast (2.83%) Tenable (2.58%) Qualys (2.43%) และ Snowflake (2.37%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (92.20%) อิสราเอล (3.16%) และออสเตรเลีย (1.87%) 

ข้อค้นพบจากผลตอบแทนติดลบของ Thematic ปี 2564

  • ผลตอบแทนของธีมที่ติดลบ ปี 2564 หากมองย้อนกลับไปในปี 2563 จะพบว่า หลายๆ ธีม เช่น อีคอมเมิร์ซ เกมและอีสปอร์ต และคลาวด์ สามารถทำผลตอบแทนได้ดีมากๆ เพิ่มขึ้นสูงเท่าตัว ก่อนจะขาดทุน 
  • หากคุณลงทุนในธีมอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผลตอบแทนในปีนั้น +111.82% แสดงว่าคุณได้กำไรไปแล้วกว่าเท่าตัว แต่มาปี 2564 ธีมอีคอมเมิร์ซติดลบไปกว่า -25.22% ซึ่งเป็นธรรมชาติของหุ้น รวมไปถึง ETF ที่ลงทุนในหุ้นบริษัท ปีที่มีการเติบโตสูงมาก ปีต่อมา รายได้บริษัทอาจจะไม่ได้เติบโตสูงเท่ากับในอดีต ส่งผลให้ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงขาลงได้เช่นเดียวกัน
  • ในทางกลับกัน ถ้าคุณลงทุนธีมอีคอมเมิร์ซ ช่วงปี 2563 ถือยาวมาจนถึง 2564 ผลตอบแทนคุณยังเป็นบวกอยู่ในช่วง 2 ปีที่ลงทุน เพียงแต่ลดลงมา จากการขาดทุนช่วงปี 2564 ดังนั้นกำไรในพอร์ตของคุณ ยังไม่ได้หายไปไหน 
  • เมื่อคำนวณผลตอบแทนบวกสูงมากในปี 2563 ในหลายๆ ธีม เช่น เทคโนโลยีจีน ฟินเทค หรือจีโนมิกส์ หักลบกับผลขาดทุนปี 2564 กำไรปีก่อนหน้ายังสามารถชดเชยกันได้
  • ธีมที่ขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน คือ ธีมกัญชา ซึ่งเป็นธุรกิจเกิดใหม่ อยู่ในวัฏจักรเริ่มต้น และมีความไม่แน่นอนในรายได้ของบริษัทและการปลดล็อกกฎหมายการใช้กัญชาทั่วโลก ในเมื่อเทรนด์อุตสาหกรรมกัญชายังต้องเกิดขึ้นทั่วโลก โอกาสการเติบโตในอนาคตยังมีอยู่
  • ธีมตลาดหุ้นจีนที่ผลตอบแทนลดลงในปี 2564 เกิดจากแรงกดดันจากรัฐบาลจีนในการควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยี รวมไปถึงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงไม่ดีเท่าที่ควร
  • ธีมที่ขาดทุนในปี 2564 ไม่ได้บ่งบอกว่า เป็น ETF ที่ไม่มีศักยภาพเติบโต เพราะหากเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ คนยังต้องการใช้สินค้าและบริการ โอกาสที่ผลตอบแทนกลับมาเป็นบวกในปีต่อๆ ไปยังมีอยู่
  • หากคุณมั่นใจใน ETF ที่ลงทุนว่าเป็นธีมมีคุณภาพและมีโอกาสเติบโตในระยะยาว ผลตอบแทนย้อนหลังเพียงปีเดียว ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หากเป้าหมายการลงทุนของคุณคือ การลงทุนระยะยาว และเชื่อมั่นในผลตอบแทนทบต้น บทพิสูจน์ยังอีกยาวไกล

7 ธีมกำไรจาก Thematic ปี 2564

ทีมงาน Jitta Wealth จัดอันดับ 7 จาก 16 ธีมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในกองทุนส่วนบุคคล Thematic ปี 2564 โดยเรียงจากธีมที่มีผลตอบแทนสูงสุด ไปจนถึงธีมมีกำไรน้อยที่สุดในปีที่ผ่านมา

และธีมที่ได้กำไรมากที่สุดในปี 2564 ได้แก่…

16 Thematic

🥇ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (United States) ลงทุนผ่าน Schwab U.S. Large-Cap ETF หรือ SCHX ที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาทั้งตลาด

  • ผลตอบแทนปี 2564 +26.81% 
  • ผลตอบแทนปี 2563 +20.81%

บริษัทที่ลงทุน 6 อันดับแรก ได้แก่ Apple (6.19%) Microsoft (5.44%) Amazon (3.29%) Tesla (2%) Alphabet (Google) (1.91%) และ Meta Platforms (เดิม Facebook) (1.82%)

สัดส่วนการลงทุน 5 อันดับแรกอยู่ใน IT (28.26%) บริการสุขภาพ (13.05%) สินค้าฟุ่มเฟือย (12.22%) การเงิน (11.39%) และบริการการสื่อสาร (10.96%)

🥈ตลาดหุ้นอินเดีย (India) ลงทุนผ่าน WisdomTree India Earnings Fund ETF หรือ EPI ที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดีย 

  • ผลตอบแทนปี 2564 +26.41% 
  • ผลตอบแทนปี 2563 +18.55%

บริษัทที่ลงทุน 6 อันดับแรก ได้แก่ Reliance (7.71%) Infosys (5.55%) Housing Development Finance (4.89%) ICIC Bank (3.92%) และ Tata Consultancy Services  (3.05%) 

สัดส่วนการลงทุน 5 อันดับแรกอยู่ใน การเงิน (23.59%) พลังงาน (17.33%) วัตถุดิบ (15.33%) IT (14.17%) และสาธารณูปโภค (7.86%) 

🥉ตลาดหุ้นเวียดนาม (Vietnam) ลงทุนผ่าน VanEck Vectors Vietnam ETF หรือ VNM ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม รวมไปถึงบริษัทต่างชาติที่มีรายได้หลักมาจากเวียดนาม

  • ผลตอบแทนปี 2564 +22.05% 
  • ผลตอบแทนปี 2563 +9.84%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Vinhomes (7.86%) Masan Group (7.69%) Vingroup (6.97%) Vietnam Dairy Products (6.34%) และ No Va Land Investment Group (5.59%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ (26.3%) สินค้าจำเป็น (18%) และอุตสาหกรรม (12.40%) 

บริการสุขภาพ (Healthcare) ลงทุนผ่าน iShares Global Healthcare ETF หรือ IXJ ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก 

  • ผลตอบแทนปี 2564 +19.60% 
  • ผลตอบแทนปี 2563  +12.74%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ UnitedHealth Group (6.24%) Johnson & Johnson (5.94%) Pfizer (4.36%) Roche (3.85%) และ Thermo Fisher Scientific (3.46%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (70.72%) สวิสเซอร์แลนด์ (9.11%) และญี่ปุ่น (4.83%) 

เทคโนโลยี (Technology) ลงทุนผ่าน iShares Exponential Technologies ETF หรือ XT ลงทุนในบริษัทที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วโลก บริษัทมากกว่าครึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา

  • ผลตอบแทนปี 2564 +16.43% 
  • ผลตอบแทนปี 2563 +35.10%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Broadcom (0.60%) CF Industries (0.59%) Citrix System (0.58%) Arista Networks (0.58%) และ Wipro (0.57%)  

สัดส่วนการลงทุน 5 อันดับแรกอยู่ใน IT (53.53%) บริการสุขภาพ (22.30%) อุตสาหกรรม (6.20%) สินค้าฟุ่มเฟือย (4.72%) และ การสื่อสาร (4.08%) 

หุ่นยนต์ และ AI (AI & Robotics) ลงทุนผ่าน iShares Robotics and Artificial Intelligence Multisector ETF หรือ IRBO ที่ลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ เติบโตจากนวัตกรรมหุ่นยนต์และ AI ทั้งในตลาดประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ 

  • ผลตอบแทนปี 2564 +6.32% 
  • ผลตอบแทนปี 2563 +48.85%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ GoDaddy (1.15%) Vivendi (1.09%) Altair Engineering (1.07%) ATS Automation (1.03%) และ Aveva (1.03%)

สัดส่วนการลงทุน 3 ประเทศแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา (52.19%) จีน (12.52%) และญี่ปุ่น (10.54%) 

พลังงานสะอาดจีน (China Clean Energy) ลงทุนผ่าน KraneShares MSCI China Clean Technology Index ETF หรือ KGRN ลงทุนในบริษัทจีนที่พัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม รถยนต์ไฟฟ้า อาคารประหยัดพลังงาน และบริการกำจัดน้ำเสีย

  • ผลตอบแทนปี 2564 +5.91% 
  • ผลตอบแทนปี 2563 +138.49%

บริษัทที่ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Xpeng (9.89%) Li Auto (9.74%) Nio (7.85%) บริษัท BYD (7.27%) และ บริษัท Conch Venture (5.14%) 

สัดส่วนการลงทุน 3 อันดับแรกอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือย (21.95%) อุตสาหกรรม (19.02%) และพลังงาน (14.24%)

ข้อค้นพบจากผลตอบแทนเป็นบวกของ Thematic ปี 2564

  • ธีมที่มีผลตอบแทนสูงที่สุดในปี 2564 ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งมีเหตุผลรองรับ คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวจากวิกฤต Covid-19 ปี 2563 ส่วนการระบาดปี 2564 ทุกประเทศสามารถรับมือได้ ตลาดหุ้นจึงไม่ได้ผันผวนหนัก 
  • สะท้อนว่า ธีมตลาดหุ้นทำผลตอบแทนได้ดี เพราะลงทุนในหุ้นบริษัททุกกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ มีการกระจายความเสี่ยงได้มากกว่าธีมรายอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั่นเอง
  • ธีมที่มีผลตอบแทนดีขึ้นต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นอินเดีย ตลาดหุ้นเวียดนาม และบริการสุขภาพ เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2563 ส่วนธีมบริการสุขภาพ เกิดจากความต้องการทั่วโลกในระบบสาธารณสุข ยารักษา และวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะในช่วง Covid-19
  • ธีมรายอุตสาหกรรมที่ทำผลตอบแทนปี 2564 สูงสุด ได้แก่ บริการสุขภาพ และเทคโนโลยี ซึ่งไม่ผิดคาดจากสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเทคโนโลยีปริมาณการใช้งานก็ไม่ได้ลดลง
  • ธีมรายธุรกิจที่ทำผลตอบแทนปี 2564 สูงสุด ได้แก่ หุ่นยนต์และ AI และพลังงานสะอาดจีน โดยเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ทั้ง 2 ธีมอยู่ในเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรง
  • ถึงแม้ว่า ปี 2564 หลายๆ ธีมเติบโตไม่มาก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนในปี 2563 หากคุณลงทุนก่อนหน้านั้น จะได้ราคา ETF ที่ต่ำ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและธีมเป็นขาขึ้น จึงสร้างผลกำไรในพอร์ตได้มาก 
  • อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ธีมที่ทำกำไร 2 ปีที่ผ่านมา สามารถติดลบได้ในอนาคตได้เช่นเดียวกัน เป็นธรรมชาติของหุ้น หากคุณลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและมีโอกาสเติบโตในอนาคต คุณจะมั่นใจและไม่หวั่นไหวต่อผลตอบแทนปีใดปีหนึ่งและความผันผวนระยะสั้น โดยมองว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มทุนอีกด้วย 

นี่คือ สรุปภาพรวมของ 16 ธีมจากกองทุนส่วนบุคคล Thematic ปี 2564 ไม่ว่าคุณจะมีพอร์ต Thematic DIY หรือ Thematic Optimize คุณจะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมหลายๆ ธีมปี 2564 ถึงขาดทุน เกิดจากอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า ETF คุณที่ลงทุนอยู่จะไม่เติบโตต่อ

ผลตอบแทนในปี 2563 และ 2564 เปรียบเหมือนกระจกมองหลัง เพื่อให้คุณสามารถประเมินได้ว่า คุณจะรับมือจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรในปี 2565 หากคุณต้องการดูผลตอบแทนย้อนหลังนานขึ้น สามารถกดเข้าไปในเว็บไซต์ของ ETF ต้นทางได้เลย

  • Thematic DIY หากคุณเชื่อมั่นว่า ธีมที่ลงทุนอยู่ ถึงแม้จะขาดทุน แต่มองว่า โอกาสเติบโตยังมีอยู่ จะถือต่อและเพิ่มทุนสามารถทำได้ ถ้าหากคุณมองว่า ถึงเวลาเปลี่ยนธีมที่มีความน่าสนใจมากกว่า ก็ทำได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนธีมได้ไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • Thematic Optimize เนื่องจากใช้ AI มาวิเคราะห์และเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดให้ 4 ธีม และจะปรับพอร์ตทุกไตรมาส หากคุณมั่นใจการลงทุนธีมเมกะเทรนด์ ช่วงที่มูลค่าพอร์ตลดลง เป็นโอกาสที่คุณจะเพิ่มทุนเข้ามา เพื่อเฉลี่ยต้นทุนในพอร์ต และระบบลงทุนอัตโนมัติของ Jitta Wealth จะกระจายเงินลงทุน เพื่อรักษาสัดส่วนให้สมดุลกันในพอร์ต ขณะเดียวกันเมื่อถึงรอบการปรับพอร์ตและเปลี่ยนธีม ระบบของเราจะรีวิวและคัดเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุด 4 ธีมเข้ามาในพอร์ต หากธีมเดิมที่คุณลงทุนอยู่ มีการเติบโตน้อยลง ระบบจะเปลี่ยนธีมให้เอง

ในปี 2565 ทีมงาน Jitta Wealth จะเพิ่มธีมเมกะเทรนด์ใหม่ๆ อีกหลายธีม จะเป็นธีมที่คุณรอคอยอยู่หรือไม่ รอติดตามกันได้ หากคุณลงทุนแผน Thematic DIY ชื่นชอบและเชื่อมั่นในธีมใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาให้เลือก สามารถเปลี่ยนธีมหรือเพิ่มธีมได้อีกเช่นกัน 

กองทุนส่วนบุคคล Thematic ทีมงาน Jitta Wealth ได้คัดสรรธีมเมกะเทรนด์โลก รวมไปถึงธีมตลาดหุ้นอนาคตไกล เหมาะสำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 3-5 ปีขึ้นไป หรือนานกว่านั้น ด้วยความเชื่อในหลักการผลตอบแทนทบต้น 

อย่างไรก็ตามการลงทุนใน ETF หุ้นต่างประเทศมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยข่าวสารต่างๆ และความผันผวนที่คาดไม่ถึง ข้อแนะนำสำหรับแผนการลงทุน Thematic DIY และ Thematic Optimize คือ การเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) เข้าไปในพอร์ต เพื่อเฉลี่ยต้นทุน กระจายสัดส่วนในแต่ละธีม และเร่งให้มูลค่าในพอร์ตของคุณเติบโต 

คุณสามารถมีทั้งพอร์ต Thematic DIY และ Thematic Optimize ควบคู่กันได้ หากต้องการวัดว่า ผลตอบแทนของแผนไหนดีกว่ากัน เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 100,000 บาท สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามกับเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ที่ Line ID: @JittaWealth   


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ่านบทความกองทุนส่วนบุคคล Thematic ที่เกี่ยวข้อง

‘AI ของ Jitta Wealth’ เลือกให้ ทำไมพอร์ตยังติดลบ

เช็กลิสต์ 5 คุณสมบัติที่นักลงทุน Thematic DIY ควรมี

ผ่าไส้ใน AI ของ Thematic Optimize คิดจากอะไร แม่นยำแค่ไหน

AI ของ Thematic Optimize จัดพอร์ตอย่างไร ทำผลตอบแทนได้ 25% ต่อปี

Thematic DIY กับ Thematic Optimize แบบไหนที่ใช่คุณ


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด