บทเรียน 'ตกรถหุ้นดี' เพราะอคติ ของ Warren Buffett

28 มกราคม 2566Jitta RankingJitta Wealth

ไฮไลต์

  • Warren Buffett ย้ำเสมอว่าเขาจะไม่ลงทุนหุ้นที่อยู่นอกเหนือ ‘ขอบเขตความสามารถ’ ของเขา ทำให้เขามักจะลงทุนหุ้นธนาคาร บริษัทประกัน และสินค้าอุปโภคบริโภค และหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีมาตลอดชีวิต
  • ปู่ Buffett พลาดการลงทุนหุ้น Google (ชื่อปัจจุบันคือ Alphabet) ตั้งแต่ตอน IPO ทั้งๆ ที่ได้วิเคราะห์พื้นฐานธุรกิจแล้ว และก็เห็นว่าราคาหุ้นที่เสนอขายนั้นคุ้มค่ากับโอกาสการเติบโตของบริษัท ในปัจจุบันราคาหุ้น Google พุ่งขึ้นจากตอน IPO มาแล้ว 40 เท่า
  • หุ้นอีกตัวที่ปู่ Buffett ไม่ได้ลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นกันคือ Amazon ที่เขาเข้าใจธุรกิจของบริษัทในสมัยนั้น (ขายหนังสืออนไลน์) เป็นอย่างดี แต่เขาไม่เข้าใจว่า Amazon จะขยายธุรกิจได้อย่างไร ในปัจจุบัน ราคาหุ้น Amazon เพิ่มขึ้นจากตอน IPO มาแล้ว 1,300 เท่า

คุณเคย ‘รอจังหวะ’ ไม่ยอมซื้อหุ้นที่คุณวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว เพียงเพราะว่าราคาหุ้นตอนนั้นยังไม่ถูกพอ หรือเพราะกังวลว่าคุณยังไม่เข้าใจธุรกิจนั้นในทุกแง่มุมหรือเปล่า?

การลังเลหรือรอเพื่อ ‘ต่อราคา’ มีอยู่ในทุกวงการ ไม่ว่าคุณจะออกไปเดินจับจ่ายใช้สอยในตลาดนัด ออกไปเดินช็อปปิงตามห้างแล้วรอให้มีโปรโมชัน Sale ลดแลกแจกแถมก่อนถึงค่อยซื้อ

หรือแม้กระทั่งกับการลงทุน ที่หลายๆ คนมักจะรอให้หุ้นหรือสินทรัพย์ที่เล็งไว้มีราคาลดลงมาก่อนสักนิดนึงแล้วค่อยลงทุน เพื่อกดต้นทุนให้ต่ำที่สุด โดยลืมคิดไปว่าโอกาสการเติบโตของหุ้นตัวนั้นอาจทำให้ราคาในวันนี้ถูกแสนถูกก็เป็นได้ เรียกได้ว่าเป็น ‘อคติ’ อย่างหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนต้องฝ่าฟันนั้นเอง 

ในสัปดาห์ที่แล้ว ทีมงาน Jitta Wealth เล่าให้คุณฟังไปแล้วว่าในระยะยาว ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ดังนั้น การ ‘รอ’ จับจังหวะตลาดนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย คือการเสียโอกาสที่เงินของคุณไม่ได้ถูกทำให้งอกเงย

สัปดาห์นี้ ทีมงานได้นำเรื่องราวการ ‘รอ’ และไม่ยอมตัดสินใจลงทุนของ Warren Buffett ซึ่งทำให้เขาพลาดกำไรก้อนโตไปอย่างน่าเสียดายมาเล่าให้คุณฟัง

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย

Buffett พลาดหุ้นเทคยักษ์ใหญ่ใต้จมูก

ปู่ Warren Buffett มีชื่อเสียงในเรื่องการลงทุนเฉพาะหุ้นที่เขาเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ หรือที่ปู่มักพูดว่าเป็นการลงทุนภายใน ‘ขอบเขตความสามารถ’ (Circle of Competence) คุณจึงมักเห็นปู่ลงทุนแต่หุ้นที่เขาเชี่ยวชาญอย่างธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สถาบันการเงิน หรือบริษัทประกันภัยเป็นหลัก และมักจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่เขาไม่เข้าใจ

ซึ่งกลยุทธ์ในการลงทุนนี้ทำให้ปู่ Buffett ‘ตกรถ’ การลงทุนหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ตัวนึงไปอย่างน่าเจ็บใจ และหุ้นตัวนั้นก็คือ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google นั่นเอง

ปู่ Buffett ออกมายอมรับในการประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ในปี 2561 ว่าเขา ‘พลาด’ ที่ไม่ได้ลงทุนหุ้น Alphabet ตั้งแต่ช่วง IPO ในปี 2547

 “เรา (ปู่ Buffett และคู่หู Charlie Munger) ได้วิเคราะห์หุ้น Google กันแล้ว แต่ดันพลาดที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะลงทุนดีไหม ทั้งๆ ที่เราเห็นอยู่แล้วว่าโอกาสการเติบโตของบริษัทนั้นยอดเยี่ยมเมื่อเทียบกับราคาที่เสนอขาย” Warren Buffett ยอมรับตรงๆ ในเวลาต่อมาว่า เขาเองพลาดเพราะ ‘อคติ’ 

ปู่ยังให้บทเรียนกับนักลงทุนด้วยว่า “เรามีโอกาสและวิธีการมากมายที่จะถามคำถามหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติม แต่เรากลับเลือกที่จะเพิกเฉยกับมัน”

ที่น่าเจ็บใจกว่าคือ Berkshire Hathaway ของปู่ Buffett นั้นเป็นลูกค้าของ Google มาตั้งแต่ก่อน IPO แล้ว โดยบริษัทประกันภัย GEICO ได้ใช้บริการ Google Ads อยู่ในตอนนั้น และต้องจ่ายเงินถึง 10-11 ดอลลาร์สหรัฐต่อการคลิกลิงก์จากโฆษณาแต่ละครั้ง ซึ่งเขาก็รับรู้ถึงค่าใช้จ่ายก้อนนี้เป็นอย่างดี และมีส่วนช่วยให้ Google เติบโตได้ด้วยซ้ำ

เรียกได้ว่า ธุรกิจของ Google นั้นอยู่ใต้จมูกของ Warren Buffett และ Charlie Munger แท้ๆ แต่ทั้งคู่กลับเพิกเฉย ไม่ยอมลงทุน

“ผมทำให้ผู้ถือหุ้นของ Berkshire สูญเสียเงินที่ควรจะได้ไปมหาศาล” ปู่ Buffett ทิ้งท้าย

เพราะถ้านับตั้งแต่ที่หุ้น Google หรือ Alphabet ในชื่อปัจจุบัน จดทะเบียน IPO ราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบ 40 เท่า ทำให้ปู่ Buffett พลาดกำไรก้อนโตไปอย่างน่าเสียดาย

และนอกจากหุ้น Google แล้ว ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่ Warren Buffett เห็นอยู่ทนโท่ว่าควรจะซื้อลงทุน แต่ปู่กลับ ‘รอ’ ต่อราคาจนไม่ได้ซื้อ และมาเสียดายในตอนหลัง

Buffett พลาดหุ้น Amazon ซ้ำแผล Google

อีกตัวอย่างคือหุ้น Amazon ที่ปู่ Buffett รู้มานานว่าทำธุรกิจอะไร แถมยังรู้จักและชื่นชม Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งของ Amazon เป็นการส่วนตัวมานานกว่า 20 ปีแล้ว 

แต่เขากลับละเลยที่จะลงทุนเพียงเพราะคิดไม่ถึงว่าธุรกิจของ Amazon จะเติบโตจากการเป็นแค่ร้ายขายหนังสือออนไลน์ จนกลายเป็นแพลตฟอร์ม E-commerce ยักษ์ใหญ่และธุรกิจ Cloud ที่มีรายได้มากที่สุดในโลกในปัจจุบัน

“มันเป็นเรื่องยากสำหรับผม ในการซื้อหุ้นที่ขายในราคา 10 เท่าของมูลค่าเหมาะสมแต่ผมลืมคิดไปว่าคุณสามารถเปลี่ยนธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ไปขายของอื่นๆ ได้อีกตั้งหลายอย่าง เขา (Jeff Bezos) มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและเก่งพอที่จะทำให้สิ่งที่เขาคิดเป็นจริงได้” ปู่ Buffett เปิดเผยกับ Yahoo Finance

ถึงตรงนี้ คุณอาจจะมองว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่ Warren Buffett จะไม่ลงทุนหุ้นเทคโนโลยีที่เขาไม่เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง แต่จริงๆ แล้วปู่ Buffett เองก็นึกเสียดาย ที่ตลอดชีวิตของเขาไม่ได้หาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเทคโนโลยีจนมั่นใจที่จะลงทุนได้เลย

“เห็นได้ชัดเลยว่าชีวิตผมจะดีกว่านี้มาก ถ้าผมมีความรู้เรื่องธุรกิจเทคโนโลยีมากกว่านี้” ปู่ Buffett ยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ของสหรัฐฯ

และก็เช่นเคย ราคาหุ้น Amazon วิ่งจากราคาตอน IPO ที่ 18 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นในปี 2540 และผ่านการแตกพาร์ (Stock Split) หลายครั้ง จนราคาหุ้น IPO ที่ 18 ดอลลาร์สหรัฐนั้นเหลือเพียง 0.075 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ในปัจจุบันราคาหุ้น Amazon อยู่ที่ราว 97.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น

ถ้าคุณซื้อหุ้น Amazon ตั้งแต่ตอน IPO ด้วยเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันเงินก้อนนี้จะมีค่าประมาณ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือพูดง่ายๆ คือราคาหุ้น Amazon ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 1,300 เท่า ในเวลา 26 ปี!

จนกระทั่งในปี 2561 ผู้ช่วยของ Warren Buffett อย่าง Todd Combs และ Ted Weschler จึงกลับเข้ามาลงทุนหุ้น Amazon อีกครั้ง เพราะเห็นศักยภาพในธุรกิจ Cloud ของบริษัท

นอกจากหุ้น Amazon แล้ว ปู่ยังไม่ได้ลงทุนหุ้นที่เขาเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ อีกหลายตัว เช่น บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ Walmart ที่ปู่เริ่มลงทุนในปี 2548 ทั้งๆ ที่บริษัทจดทะเบียน IPO ตั้งแต่ในปี 2513 หรือธนาคาร JP Morgan ที่ปู่ Buffett ชื่นชมในความสามารถของ CEO อย่าง Jamie Dimon มานานแล้ว แต่กลับเพิ่งมาลงทุนในปี 2561

คุณคงเห็นแล้วว่าการ ‘รอ’ เพราะอคติโดยไม่ยอมลงทุนหุ้นที่คุณเล็งไว้สักที ทั้งที่หุ้นเหล่านั้นถูกพิสูจน์มาแล้วตามหลักการว่าเป็น ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม’ อาจทำให้คุณพลาดโอกาสลงทุนหุ้นที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณได้เลย เหมือนที่ Warren Buffett เคยพลาดหุ้นหลายเด้งอย่าง Google และ Amazon มาแล้ว

การเปลี่ยนมุมมองของ Buffett สู่การลงทุนหุ้นเทคโนโลยี

ถึงแม้ Berkshire Hathaway จะพลาดการลงทุนหุ้น Google และ Amazon ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในช่วงต้นปี 2559 ผู้ช่วยของปู่ Buffett ทั้ง Todd Combs และ Ted Weschler ได้เริ่มลงทุนหุ้น Apple และได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

และเป็นจุดที่ปู่ Buffett เริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหุ้นเทคโนโลยี โดยเขาได้เปิดเผยในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ปี 2560 ว่า “สำหรับ Apple แล้ว ผมมองว่าเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค มากกว่าที่จะเป็นธุรกิจเทคโนโลยี” ซึ่งก็มีส่วนจริง 

เพราะถ้าวิเคราะห์ให้ดีๆ คุณจะเห็นว่า Apple ทำธุรกิจค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงธุรกิจช่องทางการจัดจำหน่ายเพลง ภาพยนตร์ เกม และแอปพลิเคชันผ่านสินค้าต่างๆ มากกว่าการเป็นธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่

ในปัจจุบัน หุ้น Apple มีสัดส่วนสูงที่สุดในพอร์ตการลงทุนของ Berkshire Hathaway โดยมีสัดส่วนการลงทุนสูงถึงเกือบ 40% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

และดูเหมือนว่า Berkshire Hathaway จะเริ่มลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น หลังจากล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง TSMC ด้วยเช่นกัน

คุณคงเห็นตัวอย่างจากเรื่องราวความผิดพลาดของ Warren Buffett แล้วว่าการ ‘รอ’ ให้ราคาหุ้นตกลงมานั้นอาจจะมีข้อดีอยู่ก็จริง แต่ในหลายๆ ครั้งก็อาจทำให้คุณพลาดหุ้นที่จะเข้ามา ‘พลิกชีวิต’ ให้คุณได้เช่นกัน โดยเฉพาะหุ้น Superstock ที่เติบโตดี มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง และขายในราคาที่เหมาะสม

ประโยคหนึ่งที่สามารถสรุปบทเรียนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการ ‘รอ’ จนตกรถ ‘หุ้นดี’ ของ Buffett ได้คือ ‘อย่ามองข้ามบางสิ่งบางอย่างที่น่าดึงดูดในวันนี้ เพราะคุณคิดว่าจะพบสิ่งที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้’ ที่ปู่เองเคยกล่าวเอาไว้ 

เปิดปีกระต่าย 2566 มา ถือเป็นฤกษ์ดีที่คุณจะได้ ‘เลิกรอ’ และเริ่มลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ เพราะการ ‘รอ’ นั้นมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งก็คือเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป และไม่สามารถเรียกคืนมาได้ ลงทุนแบบมีหลักการ ปราศจากอคติกับ Jitta Wealth ได้เลย 

ทีมงาน Jitta Wealth ได้เคยฉายภาพให้เห็นแล้วว่าในระยะยาว ตลาดหุ้นนั้นเป็น ‘ขาขึ้น’ เพียงแค่คุณลงทุนในกองทุนอิงดัชนีก็สามารถทำเงินให้งอกเงยได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเล่นท่ายาก ใช้การจับจังหวะตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

พิเศษ! หากคุณสนใจลงทุน นโยบาย Jitta Ranking ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 66 รับฟรีเครดิตค่าธรรมเนียมมูลค่า 500 บาท เมื่อลงทุนทุกๆ 100,000 บาท คุณสามารถดูรายละเอียดแคมเปญได้ที่นี่

สุดท้ายนี้ ทีมงาน Jitta Wealth หวังว่าคุณจะไม่ทำพลาดเหมือนปู่ Buffett ที่ปล่อยผ่านโอกาสการลงทุนที่อยู่ตรงหน้า เพียงเพราะตัวคุณเองไม่ได้หาความรู้เพิ่มเติมจนมั่นใจ

ปีนี้ ถือเป็นฤกษ์ดี ที่คุณจะ ‘เลิกรอ’ แล้วมาหาความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มเติม จะได้ลงทุนอย่างมั่นใจไปด้วยกัน 


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่การันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Why Warren Buffett missed Amazon, misjudged Google, dumped IBM and bought Apple
    https://www.afr.com/wealth/investing/why-warren-buffett-missed-amazon-misjudged-google-dumped-ibm-and-bought-apple-20170508-gvzxqd
  2. Warren Buffett: I’ve made bigger mistakes than not investing in Amazon
    https://finance.yahoo.com/news/warren-buffett-amazon-investing-mistakes-171315467.html
  3. Warren Buffett: I was wrong on Google and ‘too dumb’ to appreciate Amazon
    https://www.cnbc.com/2017/05/06/warren-buffett-admits-he-made-a-mistake-on-google.html
  4. Warren Buffett: I was wrong on Google and Amazon, Jeff Bezos achieved a business ‘miracle’
    https://www.cnbc.com/2018/05/05/buffett-i-was-wrong-on-google-and-amazon-bezos-achieved-a-business-miracle.html
  5. If You Invested $10,000 in Amazon Stock at Its IPO, Here’s How Much You’d Have Today
    https://www.fool.com/investing/2022/12/24/if-invested-10000-amazon-stock-ipo-how-much-today/#:~:text=On%20May%2015%2C%201997%2C%20Amazon,public%20for%20%2418%20per%20share.
  6. If You Invested $10,000 in Google’s IPO, This Is How Much Money You’ve Have Now
    https://www.fool.com/investing/2019/11/25/if-you-invested-10000-in-googles-ipo-this-is-how-m.aspx

อ่านเพิ่มเติม

การ ‘รอ’ ของคุณ…มีราคาเท่าไร?

ผลตอบแทนจริงทุกนโยบายของ Jitta Wealth ปี 2565

3 เทคนิค บริหารเงิน ‘อั่งเปา’ เสริมความเฮงให้ชีวิต


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด