ผลตอบแทนจริงทุกนโยบายของ Jitta Wealth ปี 2565

19 มกราคม 2566Global ETFJitta RankingJitta WealthThematic

ไฮไลท์ 

  • ปี 2565 ตลาดหุ้นและตราสารหนี้ผันผวนทั่วโลก ทำให้ผลตอบแทนของทุกนโยบายติดลบ
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ติดลบทุกดัชนี โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ปิดลบไปที่ -33.10% ตลาดหุ้นจีนปิดลบ – 21.63% ตลาดหุ้นไทยมาแหวก ปิดบวกที่ +0.67% ตลาดหุ้นเวียดนามสวนทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ปิดลบหนัก -32.78% หลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบเล็กน้อยที่ -5.05% 
  • Jitta Ranking ผลตอบแทนติดลบตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่พลิกเป็นขาลง มี 2 แผนลงทุนที่ไปในทิศทางบวก คือ หุ้นเทคโนโลยีจีน และหุ้นญี่ปุ่น หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนขาดทุนน้อยที่สุดที่ -1.29% หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ ทำผลตอบแทนได้ต่ำที่สุดในปี 2565 
  • Global ETF ตลาดตราสารหนี้ไม่ได้เป็นหลุมหลบภัยในช่วงตลาดหุ้นขาลงในปี 2565 ส่งผลต่อผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดปีของ Global ETF ที่ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ 
  • Thematic ที่เน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงหนักเกือบทั้งกลุ่ม เพราะเป็นหุ้นเติบโตที่เน้นการขยายธุรกิจจึงอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ธีมบริการสุขภาพ ปรับตัวลดลงน้อยที่สุด ต่อมาคือธีมพลังงานสะอาด และธีมตลาดหุ้นอินเดีย 

ในความรู้สึกของคุณ คุณว่าตลาดหุ้นทั่วโลกตลอดปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นยังไงกันบ้าง 

หลายคนคงตอบว่า ‘อาการหนักอยู่เหมือนกัน’
แต่ก็คงมีนักลงทุนไม่น้อยที่มองว่าปีที่ผ่านมา ‘เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการลงทุน’

ปี 2565 เป็นปีที่ตลาดหุ้นใหญ่ๆ พลิกเป็นขาลงครั้งแรก หลังจากเป็นขาขึ้นติดต่อกันนานกว่า 13 ปี ทำสถิติตลาดหุ้นขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลพวงจากมาตรการอัดฉัดสภาพคล่องหรือ QE ในปี 2551

และแน่นอนว่าอะไรที่เคยพุ่งขึ้นต่อเนื่องนานๆ เมื่อถึงเวลา ‘ลง’ แรงกระแทกก็รุนแรง สร้างความเสียหายมากเป็นพิเศษ เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2565

ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก แล้ว ‘พอร์ตการลงทุนของ Jitta Wealth เป็นอย่างไรบ้าง’ คงเป็นคำถามที่นักลงทุนหลายคนสงสัยอยู่เหมือนกัน 

ทีมงาน Jitta Wealth ได้สรุปภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา พร้อมรวบรวมผลตอบแทนจริงของทุกนโยบาย ทุกแผนการลงทุนของ Jitta Wealth ในปี 2565 ที่ผ่านมา มาไว้ให้คุณแล้ว

สรุปภาพรวมตลาดหุ้นปี 2565

ก่อนที่เราจะไปดูผลตอบแทนจริงของ 3 นโยบายของ Jitta Wealth เรามาดูสรุปย่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปี 2565 กับเศรษฐกิจทั่วโลก ในตลาดหุ้นใหญ่ๆ และตลาดหุ้นที่น่าสนใจกันก่อน 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ทุกดัชนีติดลบหนักในปี 2565 โดยเฉพาะดัชนี Nasdaq ที่ปิดปีติดลบไป -33.10% หนักที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในรอบ 20 ปี ในขณะที่ดัชนี Dow Jones ปิดปีติดลบที่ -8.78% โดยมีหุ้นบิ๊กแคปที่ยังแข็งแกร่งช่วยประคองไว้ ส่วนดัชนี S&P 500 ที่มีทั้งหุ้นตัวใหญ่และหุ้นเติบโตก็ติดลบไปกว่า -19.44% โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ เงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

ตลาดหุ้นจีน

ปิดลบ -21.63% ในปีที่แล้วเช่นเดียวกัน โดยดัชนี CSI 300 หดตัวลงติดกันเป็นปีที่ 2 ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงติดลบเป็นปีที่ 3 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายใน เช่น การควบคุมบริษัทเทคโนโลยีจีน การควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวด และมาตราการ Zero Covid ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น ผลกระทบต่อเนื่องจาก Trade War และ Tech War จากฝั่งสหรัฐฯ

ตลาดหุ้นไทย

ปิดบวก +0.67% สวนทางตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนีแกว่งตัวขึ้นลงในกรอบตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักที่ดันตลาดหุ้นไทยมาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนหุ้นพลังงานมีอิทธิพลต่อดัชนีค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังเป้นผลมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ติดลบหนัก -32.78% สวนทางเศรษฐกิจที่เติบโตเด่น โดยตลาดหุ้นเวียดนามต้องเจอกับปัจจัยลบมากมาย เช่น การปั่นราคาจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นดอกเบี้ย การทุจริตของผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ GDP ปี 2565 ของเวียดนามกลับขยายตัวได้ถึง 8.02% สูงที่สุดในเอเชีย

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ปิดลบเล็กน้อย -5.05% ในปี 2565 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังแข็งแกร่งจากการบริโภคภายในประเทศท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจผันผวน และไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อมากนัก อัตราเงินเฟ้อสูงสุดอยู่ที่ 3.7% และค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าที่สุดในรอบ 32 ปี ส่งผลดีต่อการส่งออก ก่อนจะเริ่มแข็งค่าขึ้นหลัง BOJ ปรับนโยบาย Yield Curve Control ในช่วงปลายปี

ต่อให้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนตลอดทั้งปีกันเป็นส่วนใหญ่ แต่นักลงทุนหลายคนกลับมองว่านี่คือ ‘โอกาสในการเริ่มลงทุน’ และถ้าคุณกำลังหาโอกาสลงทุนหุ้นต่างประเทศอยู่ กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth เป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุน มีหลากหลายนโยบายให้คุณเลือกลงทุนตามความเสี่ยง คุณสามารถทำความเข้าใจกับทุกระดับเสี่ยงของทุกนโยบายของ Jitta Wealth ได้ที่นี่

ผ่าผลตอบแทนนโยบาย Jitta Ranking ปี 2565

นโยบาย Jitta Ranking จะลงทุนหุ้นรายตัว 5-20 บริษัท โดยใช้ AI วิเคราะห์และคัดเลือก ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม’ ตามหลักการของ Warren Buffett พร้อมเทคโนโลยีบริหารจัดการพอร์ตให้อัตโนมัติ พร้อมค่าธรรมเนียมที่ต่ำและยุติธรรม

คุณสามารถดูรายละเอียดนโยบาย Jitta Ranking เพิ่มเติมได้ที่นี่

ในปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความท้าทายตั้งแต่ต้นปี ภาวะเงินเฟ้อสูงที่สร้างแรงกดดันให้กับธนาคารกลางทั่วโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคาพลังงานและเงินเฟ้อสหรัฐแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จาก Covid-19

แล้วในปีที่ผ่านมานโยบาย Jitta Ranking เป็นอย่างไรบ้าง

ผลตอบแทนเฉลี่ยปี 2565 ของนโยบาย Jitta Ranking

🥇 Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีจีน ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีน ในตลาดหุ้น SSE และ SZSE 5-20 บริษัท  ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.34% ในปี 2565 เทียบกับดัชนีอ้างอิง CSI 300 TR ที่ผลตอบเทนเฉลี่ยอยู่ที่ -19.83% 

🥈 Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่น ลงทุน ‘หุ้นดี ราคาถูก’ ด้วย AI ในตลาดหุ้น TSE 5-20 บริษัท ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.44% ในปี 2565 เทียบกับดัชนีอ้างอิง TOPIX TR ที่ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -2.84% ในปี 2565 

🥉 Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ลงทุนหุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ในตลาดหุ้น Nasdaq และ NYSE 5-20 บริษัท ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -1.29% ในปี 2565 เทียบกับดัชนีอ้างอิง S&P 500 Healthcare TR ที่ผลตอบแทนอยู่ที่ -1.95% 

ในปี 2565 เกือบทุกแผนทำผลตอบแทนติดลบตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่พลิกเป็นขาลง มีเพียง 2 แผนลงทุนที่ไปในทิศทางบวก คือ Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีจีน และหุ้นญี่ปุ่น โดยแผนลงทุน Jitta Ranking ที่น่าสนใจมีดังนี้

แผน Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนขาดทุนน้อยที่สุดที่ -1.29% เพราะเป็นหุ้น Defensive ที่ต้านทานความผันผวนของตลาดหุ้นได้ดี และในระหว่างปีก็มีบางช่วงที่แผน Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนเป็นบวกได้โดดเด่น ก่อนจะโดนเทขายทำกำไรในเวลาต่อมา

Centers for Medicare and Medicaid Services คาดว่าอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์สหรัฐฯ จะเติบโตจนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2571 ที่สำคัญคือศักยภาพของบริษัทเฮลท์แคร์สหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำในการคิดค้นวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ได้ต่อเนื่องในอนาคต 

แผน Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม ที่ถือว่าเป็นตลาดหุ้นดาวเด่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ปี 2565 ที่ผ่านมากลับทำผลงานได้ไม่ค่อยดี ซึ่งเกิดจากการทุจริตสร้างราคาหุ้นของนักธุรกิจรายใหญ่ที่กระทบกับความน่าเชื่อถือ นักลงทุนจึงเทขายหุ้นและย้ายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่นเงินฝาก ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 7-8% ทำให้ดัชนีอ้างอิงอย่าง VNI TRI และ Jitta Ranking หุ้นเวียดนามร่วงลงอย่างหนัก หลังจากเป็นขาขึ้นติดต่อกันหลายปี 

แผน Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนได้ต่ำที่สุดในปี 2565 อย่างไม่ต้องสงสัย ตามสภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น ที่ในปีนี้ต้องเจอกับการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของ Fed ทำให้ราคาหุ้นเทคโนโลยีร่วงหนักเกือบทั้งกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการลงทุนหุ้นเติบโต (Growth Stock) ที่ต้องเน้นการขยายธุรกิจเป็นหลัก

ผ่าผลตอบแทนนโยบาย Global ETF ปี 2565

นโยบาย Global ETF จะลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลกเพื่อกระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory ที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยแต่ละแผนการลงทุนจะมีสัดส่วนหุ้นและตราสารหนี้ที่แตกต่างกัน 

  • Global ETF แผนพอเพียง ลงทุนหุ้น 20% ตราสารหนี้ 80%
  • Global ETF แผนสมดุล ลงทุนหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50%
  • Global ETF แผนเติบโต ลงทุนหุ้น 80% ตราสารหนี้ 20% 

คุณสามารถดูรายละเอียดนโยบาย Global ETF เพิ่มเติมได้ที่นี่

ในปี 2565 ตลาดตราสารหนี้ที่เคยเป็นหลุมหลบภัยในช่วงตลาดหุ้นขาลง กลับได้รับผลกระทบหนักไม่ต่างจากตลาดหุ้น และถือเป็นปีที่ตราสารหนี้ทำผลตอบแทนขาดทุนหนักที่สุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ขาดทุนหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ จากการขึ้นดอกเบี้ยที่ดุดันของ Fed ตลอดทั้งปี

แล้วนโยบาย Global ETF ของ Jitta Wealth เป็นอย่างไรบ้างในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อ Back Test ตลอด 10 ปีย้อนหลังหรือไม่

ผลตอบแทนเฉลี่ยปี 2565 ของนโยบาย Global ETF

🥇 Global ETF แผนพอเพียง ผลตอบแทนเฉลี่ย -13.74%

🥈 Global ETF แผนสมดุล ผลตอบเทนเฉลี่ย -15.67%

🥉 Global ETF แผนเติบโต ผลตอบแทนเฉลี่ย -16.19% 

นโยบาย Global ETF ในทุกๆ แผนประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่เหมือนกันคือ หุ้นและพันธบัตร แต่มีสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดปี 2565 อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ -13.74% -15.67% และ -16.19%

การขึ้นดอกเบี้ย 4% ในปีเดียวของ Fed คือสาเหตุหลักที่ทำให้ทุกแผนลงทุนของนโยบาย Global ETF ต้องเจอกับการขาดทุน โดยตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที Fed ขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วแบบนี้ คือในปี 2516 และ 2523 จนทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับลงแรง และทำผลตอบแทนได้ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

หากเจาะลึกไปใน ETF แต่ละกองทุน จะพบว่า ETF สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี ทั้ง LQD และ AGG ทำสถิติขาดทุนหนักที่สุดตั้งแต่ก่อตั้ง โดย LQD ขาดทุน -18.06% ขณะที่ AGG ก็ ทำผลตอบแทนได้ -13.40%

ในส่วนของตลาดหุ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงแรง ดัชนี Nasdaq ที่มีหุ้นเทคโนโลยีจำนวนมากได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมีอย่างเป็นทางการ แต่ได้หุ้นขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งในดัชนี S&P 500 และ Dow Jones ช่วยพยุงทำให้กองทุนหุ้นประเทศสหรัฐอเมริกา (VTI) ปรับลดลงมาที่ -19.33% 

ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแต่ละแห่งก็ผันผวนแตกต่างกัน มีทั้งอยู่ในแดนบวก และลบ ทำให้ กองทุนหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอย่าง (VEA) ทำผลตอบแทนในปี 2565 อยู่ที่ -15.39% 

ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ในปี 2565 ได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูง โดยตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เผชิญปัญหาหนัก แต่ก็ยังมีตลาดหุ้นอินเดียที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ผลตอบแทนกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ (VWO) ทำผลงานได้ดีกว่ากองทุนหุ้นประเทศสหรัฐฯ เล็กน้อย ที่ -18.21%

ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ทำให้ผลตอบแทนของทุกแผนลงทุนในนโยบาย Global ETF ต้องเจอกับภาวะขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

*หมายเหตุ: ETF สำหรับการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพดีของสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงจาก iShares iBoxx $ Inv Grade Corporate Bond ETF (LQD) ไปเป็น Vanguard Intermediate-Term Corp Bond Idx Fund ETF (VCIT) ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

ผ่าผลตอบแทนนโยบาย Thematic ปี 2565

นโยบาย Thematic ให้คุณได้ลงทุนใน ETF ตลาดหุ้น 4 ประเทศชั้นนำ และ ETF ธีมเมกะเทรนด์อีก 19 ธีมที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าน่าลงทุน แบ่งเป็นแผนลงทุน Thematic DIY ที่ให้คุณเลือกธีมทั้งหมดมาลงทุนเองได้สูงสุด 5 ธีม และแผน Thematic Optimize ที่ให้ AI วิเคราะห์และคัดเลือกเอาเฉพาะธีมเมกะเทรนด์ 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุดมาลงทุน โดยทั้ง 2 แผนมาพร้อมกับเทคโนโลยีช่วยปรับพอร์ตอัตโนมัติทุก 3 เดือน

คุณสามารถดูรายละเอียดของนโยบาย Thematic เพิ่มเติมได้ที่นี่

ในปี 2565 เป็นปีที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงหนักเกือบทั้งกลุ่ม เพราะเป็นหุ้นเติบโตที่เน้นการขยายธุรกิจ จึงอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มนี้ และทำให้ราคา ETF ธีมเมกะเทรนด์ที่ลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงแรงด้วยเช่นกัน

ผลตอบแทนของแต่ละธีมจะเป็นอย่างไรบ้าง และเกิดอะไรขึ้นตลอดปี 2565 ที่เป็นผลดี และผลเสียของอุตสาหกรรมนั้นๆ บ้าง ทีมงานได้รวบรวมข้อมูลมาให้คุณแล้ว 

ผลตอบแทนเฉลี่ยปี 2565 ของทุกธีมในนโยบาย Thematic

🥇 ธีมบริการสุขภาพ ลงทุนผ่าน iShares Global Healthcare ETF หรือ IXJ ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำผลตอบแทนเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ -6.40% 

🥈 ธีมพลังงานสะอาด ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ด้านพลังงานสะอาดผ่านกองทุน iShares Global Clean Energy ETF ทำผลตอบแทนเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ -6.24% 

🥉 ธีมตลาดหุ้นอินเดีย ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นหลักของประเทศอินเดีย ผ่านกองทุน iShares MSCI India ETF ทำผลตอบแทนเฉลี่ยในปั 2565 อยู่ที่ -10.66% 

ในปี 2565 ทุกธีมมีราคาปรับตัวลดลงเนื่องจากส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับหุ้นเทคโนโลยี แต่ก็มีทั้งธีมที่ปรับตัวลงน้อย เช่น ธีมบริการสุขภาพ ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นหุ้น Defensive ที่ทนทานความผันผวนของตลาดได้ดี และธีมพลังงานสะอาดที่ได้ประโยชน์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเต็มๆ

ขณะที่ธีมตลาดหุ้นอินเดียก็ทำผลตอบแทนติดลบน้อยเช่นกันในปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อย ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งก็ย้ายฐานการผลิตไปยังอินเดียแทนที่จีน เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ส่วนธีมที่ปรับตัวลงมากที่สุดในปี 2565 ได้แก่ ธีมกัญชา ที่ยังต้องรอความชัดเจนของร่างกฎหมายกัญชาสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา รวมถึงธีมเมตาเวิร์ส ที่มาจากความเชื่อมั่นต่อโลกเมตาเวิร์สของนักลงทุนที่น้อยลง และเทคโนโลยีการเงิน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาของ Cryptocurrency ที่ลดลง

ธีมคลาวด์ ที่ปรับตัวขึ้นสูงในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา จากการ Work From Home เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น นักลงทุนบางกลุ่มจึงกังวลว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งมีเหตุผลคล้ายๆ กับธีมอีคอมเมิร์ซ

อีกหนึ่งสาเหตุหนึ่งที่ ETF ส่วนใหญ่ปรับตัวลง เพราะราคาธีมส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 100% ในช่วงปี 2563-2564 เช่น ธีมลิเธียมและแบตเตอรี และธีมพลังงานสะอาด ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 300% ในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี 2564 นักลงทุนเริ่มกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้มีการเทขายทำกำไรต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565

ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ แผน Thematic Optimize เองรับผลกระทบไปด้วย โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ -38.62% ซึ่งอาจดูห่างจากดัชนี MSCI World Index TR ที่เป็นดัชนีอ้างอิงอยู่มาก แต่หากนำไปเทียบกับผลตอบแทนของดัชนี Nasdaq ที่ทำได้ -33.10% ในปีที่แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ได้ต่างจากผลตอบแทนที่แผน Thematic Optimize ทำได้มากนัก

แต่ถึงแม้ว่าราคาของแต่ละธีมจะลดลง แต่หากพิจารณาจากผลประกอบการแล้ว คุณจะยังเห็นว่ารายได้ของบริษัทในแต่ละธีมยังเติบโต เป็นโอกาสที่คุณจะได้ลงทุนธีมเมกะเทรนด์พื้นฐานดีในราคาที่ต่ำลง

นี่คือภาพรวม 3 นโยบายของ Jitta Wealth ตลอดปี 2565 พร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่ทีมงานรวบรวมมาให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าการขาดทุนหรือกำไรมีเหตุและผลมาจากอะไร

ผลตอบแทนจริงในปี 2565 ของนโยบายต่างๆ ของ Jitta Wealth บางส่วนก็ยังสามารถเอาชนะดัชนีตลาดหรือทำผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีตลาด แต่ผลตอบแทนรายปีเป็นเพียงผลตอบแทนระยะสั้น ไม่สามารถฉายภาพการลงทุนระยะยาวได้อย่างชัดเจน 

คุณสามาถดูผลตอบแทนระยะยาวจากผล Back Test ของเราได้ โดยทีมงานได้อัปเดตผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) ทั้งหมดขึ้นบนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว คุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ jittawealth.com

หากคุณมีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับการอัปเดตอัลกอริทึมและการบริหารจัดการพอร์ต Jitta Wealth สามารถติดต่อสอบถามในกลุ่ม Jitta Wealth Official หรือทาง Line ID: @JittaWealth ได้ในวันและเวลาทำการ


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01ผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่การันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด