CEO Jitta Wealth เผยความลับ ‘หุ้นญี่ปุ่น’ อีกหนึ่งขุมทรัพย์น่าลงทุน

25 กรกฎาคม 2565Exclusive Q&A with CEO

Exclusive Q&A with CEO ของ Jitta Wealth ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 เป็น Live สดที่คุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ จะมาไขข้อสงสัยให้คุณ ไม่ว่าจะมีพอร์ตลงทุนกับ Jitta Wealth อยู่แล้ว หรือเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ แต่ต้องการฟังมุมมองของ CEO เกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกและนโยบายต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนตัดสินใจลงทุน

หากคุณพลาดชม Live สด สามารถชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ Facebook และ YouTube

ดูวิดีโอ CEO ของ Jitta Wealth ย้อนหลัง

สรุปนโยบายลงทุนของ Jitta Wealth

Jitta Wealth คือกองทุนส่วนบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ตามหลักการลงทุนที่ถูกต้อง เพื่อช่วยวิเคราะห์หุ้น ซื้อขายหุ้น และจัดการพอร์ตให้คุณอัตโนมัติ โดยมีนโยบายลงทุนที่แตกต่างกันออกไปตามระดับความเสี่ยง ดังนี้

  • Global ETF ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ มีความเสี่ยงที่ต่ำ-ปานกลาง ประกอบไปด้วย 
    • แผนพอเพียง ลงทุนหุ้น 20% พันธบัตร 80% ผลตอบแทนที่คาดหวัง 4% ต่อปี
    • แผนสมดุล ลงทุนหุ้น 50% พันธบัตร 50% ผลตอบแทนที่คาดหวัง 6% ต่อปี
    • แผนเติบโต ลงทุนหุ้น 80% พันธบัตร 20% ผลตอบแทนที่คาดหวัง 8% ต่อปี 
  • Thematic ลงทุนในธีมเมกะเทรนด์ที่คุณเลือกหรือตามที่ AI จัดพอร์ตให้จาก 23 ธีม 
    • Thematic DIY เลือกจัดพอร์ตลงทุนตามธีมที่คุณชื่นชอบสูงสุด 1-5 ธีม
    • Thematic Optimize ให้ AI ช่วยจัดพอร์ตให้คุณ โดยเลือก 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุดในเวลานั้น พร้อมปรับพอร์ตอัตโนมัติทุก 3 เดือน
  • Jitta Ranking ลงทุนในหุ้นดี ราคาเหมาะสม และมีโอกาสเติบโตสูง ตามหลักการลงทุนของ Warren Buffett ที่ทำผลตอบแทนชนะดัชนีตลาดได้ในระยะยาว 
    • หุ้นญี่ปุ่น
    • หุ้นจีน
    • หุ้นเวียดนาม
    • หุ้นไทย
    • หุ้นสหรัฐฯ
    • หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ
    • หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ

ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับแผน Jitta Ranking ญี่ปุ่น

แผน Jitta Ranking ญี่ปุ่นใช้อัลกอริทึมในการวิเคราะห์หุ้นในตลาดหุ้นโตเกียว ส่วนเหตุผลที่ Jitta Wealth เลือกเปิดลงทุนในญี่ปุ่นมีหลายปัจจัยด้วยกัน สามารถสรุปได้ดังนี้

  • ปัจจุบัน เศรษฐกิจญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจีน
  • ญี่ปุ่นมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 
  • ญี่ปุ่นมีความสามารถในการแข่งขันอันดับ 6 ของโลก จากการจัดอันดับโดย World Economic Forum 
  • ญี่ปุ่นมีรายได้ต่อหัวสูงถึงกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นกลุ่มประเทศรายได้สูง 
  • ญี่ปุ่นมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก 
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวเรื่อยๆ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต 

หากสำรวจหุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking ญี่ปุ่นตอนนี้ จะพบว่ากำไรสุทธิ (Net Income) ของแต่ละบริษัทมีการเติบโตที่น่าประทับใจ แต่ราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่ามาก

ยกตัวอย่างหุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking ญี่ปุ่น เช่น BML และ Takara Bio เป็นหุ้นที่มีการเติบโตแข็งแกร่งในขณะที่ราคายังถูกมาก จะเห็นว่ามีความน่าลงทุนมาก การลงทุนในหุ้นคุณภาพดีราคาถูก จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้คุณในระยะยาว 

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะมีหุ้นคุณภาพดี ราคาถูกอยู่อีกหลายบริษัทที่นักลงทุนยังไม่รู้จักหรือไม่ได้ให้ความสนใจ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว จึงทำให้ Jitta Wealth เปิดลงทุนในประเทศญี่ปุ่น

เรื่องน่ารู้ของ Warren Buffett ในปี 2516 ในช่วงเงินเฟ้อขึ้น 2 หลัก 

ย้อนกลับไปในปี 2516 เป็นช่วงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงเป็นเลข 2 หลัก หลายคนกำลังหวาดกลัวและไม่กล้าลงทุน แต่ Warren Buffett กลับไล่เก็บหุ้นเข้าพอร์ตอย่างสนุกมือ

ปู่ Buffett มองว่าในช่วงนั้นหุ้นที่เขาลงทุนมีราคาถูกมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานราคาหุ้นที่เขาซื้อได้ปรับตัวลงไปอีกประมาณ 25% แต่นั่นไม่ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับ Buffett แต่อย่างใด

หลังจากนั้น หุ้นที่ Buffett ลงทุนไปหลายตัวก็พลิกกลับขึ้นมาทำผลตอบแทนให้เขาได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Buffett บอกว่าอาวุธลับในการลงทุนของเขาก็คือ “การซื้อหุ้นของธุรกิจที่ดี ในช่วงที่กำลังลดราคา” 

จะเห็นว่า Buffett มีมุมมองการลงทุนระยะยาวจริง และไม่หวั่นไหวแม้หุ้นที่ตัวเองเพิ่งเข้าลงทุนจะปรับตัวลดลงไปมากกว่า 25%

สรุปคือ เงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และ สงคราม เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่สุดท้ายเมื่อกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ตลาดหุ้นจะกลับมาเติบโตได้อย่างแน่นอน หากคุณเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีตามหลักการลงทุนที่ถูกต้อง และมีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน 

ช่วงที่ตลาดหุ้นตก คุณควรอาจมองเป็นโอกาสลงทุน หากคุณไม่ได้มีทักษะในการลงทุนสูงมาก คุณสามารถใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยคุณสร้างผลตอบแทนให้คุณในระยะยาวได้จริง และเป็นกลยุทธ์ที่ทำตามได้ง่ายด้วย 

สรุปสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกครึ่งปีแรก 2565

หากนักลงทุนเข้าใจหลักการลงทุนของ Jitta Wealth จะมองภาพระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากจะมองถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2565 ก็จะพบว่ามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นด้วยกัน เช่น 

  • เงินเฟ้อพุ่ง เพราะได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก เงินเฟ้อจะสร้างความกังวลให้นักลงทุนเพราะจะชักนำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น
  • ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเร็วกว่าเดิม จากราคาพลังงาน อาหาร และธัญพืชหลายชนิดที่สูงขึ้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะพบว่าหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2565 ก็เริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว สำหรับสถานการณ์ความผันผวนของแต่ละประเทศมีดังนี้

สหรัฐอเมริกา Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 40 ปีเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ถึงแม้เราจะไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าเมื่อไรที่เงินเฟ้อจะลดลง แต่ขอให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างแน่นอนเหมือนเหตุการณ์ในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมา

จีน ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 แต่ยังมีข่าวดีอยู่บ้างเพราะเงินเฟ้อไม่สูงตามสหรัฐฯ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเริ่มผ่อนคลายจากการควบคุมของรัฐบาล ตลาดหุ้นจีนในปี 2565 มีความคึกคักและรัฐบาลจีนมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เป็นตลาดที่น่าสนใจมากในปีนี้ 

เวียดนาม มีแนวโน้มที่ดี เพราะการเติบโตของ GDP เวียดนามในครึ่งปี 2565 ที่ผ่านมามีอัตราเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค แต่ต้องเผชิญกับปัญหาและแนวโน้มการระบาด Covid-19 หนักที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2565

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามยังเจอกับเหตุการณ์ปั่นหุ้น และการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง หลังจากปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี

แต่คุณจะมองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสลงทุนก็ได้ เพราะการที่เศรษฐกิจโตในขณะที่ตลาดหุ้นตกเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก และทำให้หุ้นคุณภาพดีหลายตัวอยู่ในช่วงราคาที่ถูกมาก

ไทย เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะไทยเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบเต็มรูปแบบ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ไทยเจอกับปัญหาเงินเฟ้อเช่นกันที่ 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แต่อย่างที่ได้บอกไปว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ค่าเงินบาทก็จะกลับสู่ภาวะปกติ และไทยจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน 

สรุปแนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกครึ่งปีหลัง 2565

ส่วนตัวคิดว่า จะยังไม่เปลี่ยนแปลงจากครึ่งปีแรกของปี 2565 มากนัก เพราะ Fed ยังจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน ข่าวดีคือราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง และอุปสงค์อุปทานเริ่มสมดุลกันแล้ว

นักวิเคราะห์ชั้นนำต่างๆ ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจฝั่งเอเชียมีแนวโน้มน่าลงทุนมาก BlackRock ให้ความเห็นว่าตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มน่าลงทุน รวมไปถึงบริษัทการลงทุนอื่นๆ  

ตลาดหุ้นทางฝั่งเอเชียยังโดดเด่น นำโดย จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น คาดว่าเม็ดเงินมีแนวโน้มไหลเข้าเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอย่างชัดเจน และหลายประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อสูงเหมือนทางฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป 

สำหรับธีมลงทุนที่โดดเด่นในปี 2565 หลายคนคงอาจจะเห็นแล้วว่า ธีมพลังงานสะอาด กำลังมาแรง เพราะผู้คนกำลังมองหาและเลือกใช้พลังงานทางเลือกอื่นนอกจากน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงมาก รวมไปถึงเทคโนโลยีของพลังงานสะอาดที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีราคาที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น

สรุป Q&A และมุมมองจาก Jitta Wealth 

Q: ในตอนนี้ทั้งหุ้นและพันธบัตรตกลงพร้อมกัน ควรลงทุนอย่างไรดี?

นักลงทุนต้องมีความยืดหยุ่นและเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน แนะนำให้มองภาพระยะยาว แน่นอนว่านักลงทุนแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายแล้วในช่วงที่เกิดความผันผวนมักจะสร้างโอกาสที่ดีในการลงทุนให้กับคุณ

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คุณไม่ต้องใส่ใจเศรษฐกิจภาพใหญ่มากนัก แต่ให้โฟกัสไปที่การเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญและความรู้ในสินทรัพย์ที่คุณจะเลือกลงทุน จะทำให้คุณสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนระดับโลกอย่าง Peter Lynch และ Warren Buffett แนะนำอยู่เสมอ คือ “ให้ลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจ” และ “ให้ลงทุนอยู่ในขอบเขตความสามารถของตัวเอง” เสมอ  

Q: ทั้งค่าเงินบาทและค่าเงินเยนอ่อนค่า ถึงจังหวะที่จะลงทุน Jitta Ranking ญี่ปุ่นหรือยัง?

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่าหากคุณลงทุนระยะยาว 10 ปีและลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี จะทำให้คุณมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นในระยะสั้นอย่างแน่นอน 

คำตอบคือคุณสามารถเลือกลงทุนในนโยบาย Jitta Ranking ญี่ปุ่นตอนไหนก็ได้ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าเงินมากนัก ต่างจากนักลงทุนระยะสั้นที่จะเจอความเสี่ยงเรื่องค่าเงินมากกว่า เพราะต้องซื้อขายสินทรัพย์บ่อยครั้ง 

เช่นเดียวกับทางฝั่งสหรัฐฯ ที่ตอนนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก แต่หากคุณเป็นนักลงทุนระยะยาว อยากให้คุณโฟกัสสินทรัพย์ที่ลงทุนมากกว่าค่าเงิน กลยุทธ์ลงทุนที่ช่วยลดความผันผวนได้คือการ DCA ซึ่งจะช่วยทำให้คุณได้ถัวเฉลี่ยทั้งราคาสินทรัพย์ที่คุณลงทุนและค่าเงินไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม หากคุณยังกังวลเรื่องค่าเงิน อาจมองหาทางเลือกการลงทุนในตลาดหุ้นอื่นที่ในตอนนี้ค่าเงินไม่ผันผวนมากนัก เช่น ตลาดหุ้นจีน ที่ค่าเงินไม่ได้ผันผวนตามตลาดโลกและยังลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกด้วย 

Q: Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนพุ่ง 44%

แผนลงทุน Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 44.19% ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น (23 เม.ย. – 23 ก.ค. 2565) อย่างที่ได้เคยแนะนำไปว่าหุ้นประเภท Defensive ทนทานต่อเงินเฟ้อได้สูง มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปี 2565 และเป็นหุ้นที่น่าลงทุน

หลายคนอาจจะมีความเข้าใจว่าหุ้นประเภท Defensive หรือหุ้นในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์จะเติบโตช้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีจะส่งผลดีให้กับพอร์ตของคุณแน่นอน

ด้วย AI ของ Jitta Wealth ที่วิเคราะห์หุ้นในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ได้ดี มีแนวโน้มเติบโตสูง ทำให้ผลตอบแทนของแผน Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ออกมาดีมาก และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่าดัชนี S&P 500 Health Care ชัดเจน

แต่ระยะเวลาเพียง 3 เดือนยังพิสูจน์อะไรได้ไม่มาก ต้องติดตามดูผลตอบแทนระยะยาวกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

Q: สังคมสูงวัยในญี่ปุ่น จะส่งผลต่อหุ้นในอุตสาหกรรมอื่นนอกจากเฮลท์แคร์อย่างไร 

หากมองประเทศญี่ปุ่น จะพบว่าประชากรมีคุณภาพ และมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เชี่ยวชาญถึงขีดสุด ญี่ปุ่นปรับตัวหลายอย่างมาก รวมถึงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การใช้ Digital Tranformation เพื่อเข้ามาพัฒนาการทำงานภาครัฐและในหลายอุตสาหกรรม

หลายอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นตอนนี้มีความโดดเด่นขึ้นมา เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี จุดแข็งอีกอย่างนึง คือ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมไปถึงหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการพัฒนาด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่าหุ้นญี่ปุ่นบางตัวปรับตัวขึ้นจนกลายเป็นหุ้น 10 เด้ง เช่น ‘Onitsuka Tiger’ และ ‘Okamoto’ แสดงให้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นมีความโดดเด่นและพัฒนาอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะค่อนข้างอยู่ในกรอบ ทำเฉพาะสิ่งที่เชี่ยวชาญ

แต่ตอนนี้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เริ่มกล้าคิดนอกกรอบมากยิ่งขึ้น และพัฒนาการทำงานใหม่ๆ ทำให้แนวโน้มการเติบโตของบริษัทญี่ปุ่นในอนาคตมีความน่าสนใจมากทีเดียว แต่เป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่ได้สังเกตเห็นมากนัก

การลงทุนใน Jitta Ranking ญี่ปุ่นจะทำให้คุณจะมั่นใจได้ว่า คุณจะได้ลงทุนในธุรกิจที่ดี ในราคาที่ไม่แพง

Q: Jitta Wealth จัดการนโยบายดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นอย่างไร?

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจก่อนว่าดอกเบี้ยติดลบคืออะไร หากดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ -0.5% หมายความว่าถ้าฝากเงิน 100 บาท เมื่อถึงสิ้นปีจะเหลือ 99.5 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วเพราะญี่ปุ่นต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนออกมาใช้จ่าย ไม่ใช่เก็บเงินสดอย่างเดียว

Jitta Wealth ไม่สามารถจัดการอะไรได้เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ว่าใครฝากเงินที่ญี่ปุ่นก็จะเจอดอกเบี้ยติดลบ นโยบาย Jitta Ranking ญี่ปุ่นจะพยายามลงทุนด้วยเงินทั้งหมด 

แต่คุณอาจจะเหลือเงินสด 1-2% ที่เป็นเงินที่คุณซื้อหุ้นไม่ได้ ซึ่งเงินจำนวน 1-2% ของพอร์ตการลงทุนตรงนี้จะเป็นส่วนที่จะเจอผลของดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับโอกาสเติบโตที่เป็นไปได้

Q: Backtest ของ Jitta Ranking ญี่ปุ่นมีผลตอบแทนเป็นอันดับต้นๆ ของ Jitta Ranking จริงไหม? 

ต้องบอกก่อนว่าไม่มีกลยุทธ์การลงทุนไหนที่จะชนะตลาดได้ทุกปี สำหรับ Jitta Ranking ญี่ปุ่นก็มีทั้งชนะและแพ้ตลาด แต่ถ้าดูตัวเลขในปีที่ชนะก็ชนะมาเยอะมาก เช่นในปี 2556 ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 54% แต่ Jitta Ranking ญี่ปุ่นทำผลตอบแทนได้สูงถึง +110% 

จุดเด่นของตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือ มีหุ้นราคาถูกเยอะ คล้ายกับตลาดหุ้นเวียดนามในปีที่แล้วที่หลายคนเคยรู้สึกว่าทำไมไม่ขึ้นสักที แต่พอขึ้นก็ขึ้นสูงมากเพราะมีหุ้นตัวเล็กราคาถูกที่นักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่นักลงทุนในประเทศที่เฟ้นหาหุ้นราคาถูกเข้าไปลงทุน ราคาหุ้นเหล่านั้นก็เลยขึ้นมา ของญี่ปุ่นก็คล้ายๆ กัน

ช่วงที่ทำ Back test เป็นช่วงที่ Shinzo Abe เข้ามาดำรงตำแหน่งพอดี นโยบาย Abenomics ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีผลต่อประสิทธิภาพของญี่ปุ่น ซึ่งนโยบายเหล่านี้ยังถูกสานต่อ และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

Q: ญี่ปุ่นมีภาษีเงินปันผลหรือไม่?

ในส่วนของรายละเอียดภาษีเมื่อลงทุนใน Jitta Ranking ญี่ปุ่น จะมีดังนี้ครับ

ในฐานะบุคคลที่ไม่ได้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศ จะต้อง เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผล 15.315% ตามนโยบายของญี่ปุ่น โดยส่วนที่เหลือจะนำมาลงทุนต่อให้

ส่วนของกำไร หากแจ้งขายและโอนเงินกลับเข้าประเทศในปีภาษีเดียวกัน จะต้องนำเงินได้ส่วนนั้นมาคำนวณเป็นเงินได้ประจำปีด้วย ส่วยจะเสียภาษีเท่าไรนั้นจะขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละคน

แต่หากวันที่แจ้งขายและวันที่โอนเงินกลับเข้าประเทศไทยเป็นคนละปีปฏิทิน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมเพื่อยื่นภาษีเงินได้

Q: Jitta Wealth จะมี Thematic ETF ญี่ปุ่น หรือไม่?

มีโอกาสเปิดให้ลงทุนอยู่เหมือนกัน แต่ที่เลือก Jitta Ranking ญี่ปุ่นก่อนเพราะว่าถ้าเป็น ETF หุ้นญี่ปุ่นก็คงจะเป็นการลงทุนในหุ้นใหญ่ๆ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้ยากกว่า แต่สำหรับ Jitta Ranking ญี่ปุ่นจะมองหาหุ้นที่มีโอกาสเติบโต ในราคาถูก มักเป็นหุ้นตัวเล็กๆ ที่มีโอกาสเติบโตได้สูงกว่า 

มีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หุ้นที่เกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่น ลิขสิทธิ์ต่างๆ เพราะเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น และไม่ได้เป็นหุ้นที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูงมากนัก 

Q: มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่นโยบายลงทุนในจีน เช่น ธีมเทคโนโลยีจีน ธีมพลังงานสะอาดจีน จะถูกปรับให้เป็นกลุ่ม Non-profit เหมือนธุรกิจกวดวิชาในจีน?

ต้องบอกว่าไม่มีอะไรแน่นอน 100% แต่ถ้าถามความน่าจะเป็นก็มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปเสมอ เช่น ธุรกิจกวดวิชาที่ทางรัฐบาลจีนปราบปรามมีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งทำให้ในปัจจุบันคนไม่อยากมีลูก และจีนประสบปัญหาอัตราการเกิดน้อยลง 

การมีลูกหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บริษัทกวดวิชาก็กอบโกยกำไรไปเยอะ คนก็อยากทำธุรกิจนี้มากขึ้น รัฐบาลจึงพยายามปราบปรามเพื่อไม่ให้มีมากเกินไปเพื่อแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงของผู้ปกครอง 

อุตสาหกรรมเกมของจีนที่เคยโดนปราบปราม หุ้นก็ตกลงแต่สุดท้ายก็กลับมาได้ เพราะจีนไม่ได้ให้ธุรกิจเกมเป็น Non-profit รัฐบาลจีนรู้ว่ามันคือธุรกิจไม่ได้เกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชนโดยตรงเหมือนอย่างธุรกิจการศึกษา 

จีนก็มองแบบนี้กับธุรกิจที่กล่าวมา ตราบใดที่ยังไม่ได้กระทบเชิงโครงสร้าง ความมั่นคง ความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ยิ่งพลังงานสะอาดเป็นธุรกิจที่รัฐบาลจีนสนับสนุนมากๆ ก็น่าจะผลักดันให้เติบโตมากกว่าเข้ามาควบคุม

Q: ระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดไหนน่าลงทุนกว่ากัน?

ถ้ามองอนาคตระยะยาว คงต้องตอบว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะเหตุผลต่างๆ ดังนี้ 

  • ประชากรมากกว่า ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบไทยในเรื่องต้นทุนการผลิต เพราะแค่จำหน่ายในประเทศก็ต้องผลิตมากกว่าแล้ว 
  • การเติบโตในประเทศญี่ปุ่นโดยไม่ต้องส่งออก ทำได้มากกว่าไทยเกือบเท่าตัว 
  • รายได้ต่อหัวของญี่ปุ่นมากกว่าไทย ขายของได้แพงกว่า มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า 
  • ในเชิงหุ้นคุณภาพดี ญี่ปุ่นก็มีมากกว่าในไทย มีหุ้นให้เลือกมากกว่า ทำให้ระยะยาวผลตอบแทนของญี่ปุ่นอาจจะดีกว่าไทย

Q: สมมติว่าลงทุน Jitta Ranking ไป 30 ปี แล้วอยากจะเอาปันผลออกมาใช้เป็น Passive Income จะทำได้อย่างไร?

Jitta Ranking เป็นการลงทุนในหุ้นรายบริษัท ซึ่งหุ้นรายบริษัทก็จะมีการจ่ายปันผลเข้ามาในพอร์ต แต่ Jitta Wealth ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลออกไป แต่จะนำปันผลที่ได้นั้นกลับมาลงทุนต่อแทน (Reinvestment) เพื่อสร้างผลตอบแทนทบต้นให้สูงที่สุด

เพราะฉะนั้นถ้านักลงทุนเห็นว่าพอร์ตโตมาระดับหนึ่งแล้ว คุณก็สามารถคำนวณได้เองว่าปีหนึ่งคุณจะถอนเงินออกมาเท่าไหร่

แนะนำว่าให้มองเป็นรายปีมากกว่ารายเดือน สมมติว่าคุณถอน 5% ของพอร์ตมาเรื่อยๆ เพราะระยะยาวสำหรับการลงทุนใน Jitta Ranking ส่วนมากผลตอบแทนจะอยู่ที่ 10-15% ถ้าคุณถอนไม่เกินครึ่งหนึ่ง 5-7% เอาออกมาใช้ทุกปีนั้นหมายความว่าเงินต้นก็ยังโตต่อได้ 

หรือบางคนไม่ได้ลงว่าจะลงทุนยาวถึง 10 ปี อาจจะเลือกลงทุนเงินต้นในจำนวนเงินที่มากหน่อยแล้วลงทุนไว้ 5 ปี ขอถอนปีละ 5% และปล่อยพอร์ตให้โตขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ได้ 

Q: ถ้าสนใจลงทุน 15 ปีอย่างต่ำ Jitta Ranking เวียดนาม มีจุดไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ?

การลงทุนในเวียดนามมีสิ่งหนึ่งที่ต้องรับให้ได้คือความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อกฏหมาย เช่น อาจจะเกิดการปั่นหุ้นเพราะกฏหมายยังไม่เข้มแข็งเหมือนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว และการเป็นตลาดหุ้นขนาดเล็ก ตลาดหุ้นก็จะผันผวนตามเงินที่ไหลมาจากต่างประเทศ ถ้าเงินต่างประเทศไหลเข้ามากหุ้นก็ขึ้นมาก ก็จะมีความเสี่ยงประเภทนี้อยู่

แต่ถ้ามองเศรษฐกิจและราคาหุ้นในภาพรวมถือว่ายังน่าสนใจ มองว่าการลงทุนในเวียดนามอาจจะไม่ได้มองไปไกลถึง 15 ปี คิดว่าสัก 10 ปีน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเวียดนามก็อาจจะถึงจุดอิ่มตัวเหมือนกัน ถ้าเวียดนามเองไม่ได้พัฒนาไปเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ดีๆ และค่าแรงสูงขึ้นแบบจีน 

ปัจจุบันโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแล้ว ถ้าอยากลงทุนยาว 15 ปี แนะนำให้ลงประเทศที่ประชากรเยอะอย่างจีนน่าจะดีกว่า แต่จีนก็มีเรื่องที่ต้องระวังอย่าง Regulation Risk เช่นเดียวกับเวียดนาม ถ้าคุณกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้ แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ หรือ ญี่ปุ่น ที่กฏระเบียบด้านตลาดทุนพัฒนามากกว่า

Q: Thematic ETF และ Global ETF ควรลงทุนอย่างไร? 

Global ETF จุดเด่นคือ มีความผันผวนต่ำไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน ก็สามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ เพราะระยะยาวคุณจะได้ 8% ต่อปี หรือต่อให้ติดลบก็ไม่ได้มาก ลงทุนช่วงเวลาไหนก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

สำหรับ Thematic ETF และ Jitta Ranking ความผันผวนของตลาดทำให้เกิดโอกาสที่ซ่อนอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ถ้าคุณจับจังหวะได้ดีก็เป็นผลดี แต่ทุกนโยบายก็น่าลงทุนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับนักลงทุนมากกว่าว่าชอบแบบไหน ตามความเสี่ยงที่รับได้ และระยะเวลาในการลงทุน 

Q: ช่วงนี้ค่าเงินบาทลดลง การลงทุน DCA ควรชะลอไปก่อนหรือไม่? 

ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าคุณตัดสินใจจะใช้กลยุทธ์ DCA แล้วคุณต้องทำไปเรื่อยๆ การทำแบบนี้สม่ำเสมอทุกเดือนจะช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องจังหวะลงทุน เรื่องค่าเงิน เพราะคุณก็ไม่รู้ว่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าต่อไปอีกก็ได้ แต่สิ่งที่คุณตอบได้ คือ ถ้าคุณทำสม่ำเสมอทุกเดือน ระยะยาวคุณจะได้ผลตอบแทนที่ดี โดยไม่ต้องเสี่ยงมาก

Q: สังคมผู้สูงอายุของไทยและเวียดนาม ส่งผลให้ GDP ไทยโตน้อยลง เมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่ Jitta Ranking ไทยเทียบกับ Jitta Ranking เวียดนาม ผลตอบแทนไทยดีกว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เวียดนามจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าไทยในระยะยาว?

อยากให้เข้าใจก่อนว่า GDP ส่งผลกับภาพรวมตลาดหุ้นจริง แต่ Jitta Ranking เลือกลงทุนในหุ้นรายบริษัท โดยจะซื้อหุ้นจำนวน 20-30 หุ้น และเลือกหุ้นดี ราคาถูก ต้องบอกว่ามันเป็นการลงทุนแบบโฟกัส ต่อให้ประเทศไทยหรือเวียดนามจะมี GDP อย่างไร ก็ไม่ได้ส่งผลกับ Jitta Ranking มากขนาดนั้นในระยะยาว

Q: ปัญหาเรื่องหนี้สาธาณะของญี่ปุ่น มีผลต่อการเติบโตของบริษัทในตลาดหุ้นอย่างไรบ้าง? 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะเยอะมาก แต่ญี่ปุ่นเป็นหนี้คนในประเทศเอง คิดว่าไม่ค่อยมีผลอะไรมาก นโยบาย Jitta Ranking จะเฟ้นหาหุ้นดี เรื่องของหนี้ของบริษัทก็อยู่ในงบการเงินที่ได้รับพิจารณามาแล้ว ต่อให้หนี้สาธารณะเยอะ แต่ถ้าธุรกิจดี ไม่มีหนี้หรือหนี้น้อย ก็เป็นหุ้นดีที่น่าลงทุนได้

Q: Backtest ของ Thematic ETF ใช้ปัจจัยอะไรพิจารณาบ้าง? 

แรกสุดคือการดูผลประกอบการ เนื่องจาก Jitta มีข้อมูลหุ้นทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ละ Thematic ETF ที่ลงทุนมีอะไรอยู่บ้าง มีสัดส่วนการลงทุนอย่างไรบ้าง ดูงบการเงินของแต่ละบริษัทใน ETF ว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างไร และชั่งน้ำหนักดูภาพรวมอีกที 

จากนั้นจะคัดดูธีมที่มีการเติบโตสูง ดูความผันผวนเทียบกับผลตอบแทน เพื่อดูว่าราคาหุ้นเป็นอย่างไร นักลงทุนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป้าหมายคือซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดีและนักลงทุนให้ความสนใจเป็นเมกะเทรนด์ของโลก

Q: หุ้นใน Jitta Ranking ญี่ปุ่น เหมือนกับหุ้นในดัชนี Nikkei 10/20/50 มากน้อยแค่ไหน?

ดัชนี Nikkei เป็นดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีมานานแล้ว แต่ระยะหลังผู้คนเริ่มใช้ดัชนีนี้เป็นตัวเทียบเคียงน้อยลง ต้องบอกว่าการสร้างดัชนีมีวิธีในการคำนวณหลายรูปแบบ 

ดัชนี Nikkei เป็นดัชนีประเภท Price-Weighted Index คือ ยิ่งราคาหุ้นสูง จะยิ่งมีผลต่อดัชนี แต่ถ้าคุณมองตามความเป็นจริง มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะดัชนีที่น่าจะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดควรจะให้น้ำหนักตามมูลค่ามาร์เก็ตแคปของบริษัทมากกว่าราคาหุ้น

เพราะฉะนั้น Jitta Wealth จึงใช้ดัชนีอ้างอิงตัวที่เป็น Market Capitalization-weighted Index หรือ Market Value Weighted Index แบบดัชนี TOPIX ตามหลักสากลดีกว่า ส่วนวิธีการเลือกหุ้นของทั้ง 2 ดัชนีก็จะมีความแตกต่างกันด้วย

แต่นโยบาย Jitta Ranking ไม่ได้สนใจว่าหุ้นนั้นจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ แต่สนใจว่ามันเป็นธุรกิจที่ดี มีแนวโน้มการเติบโตสูง และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง ในระยะยาวถ้าเลือกได้ดีก็จะทำผลตอบแทนได้ชนะตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ Jitta Wealth พยายามพิสูจน์มาโดยตลอด 


อ่านมุมมอง CEO ของ Jitta Wealth

สรุป Live: ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน

CEO ของ Jitta Wealth พร้อมตอบ ตลาดหุ้นยังน่าลงทุนอยู่ใช่ไหม

สรุป Live: ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะ ‘สงคราม’

CEO ของ Jitta Wealth เผยวิธีรับมือตลาดหุ้นผันผวนปี 2565

CEO ของ Jitta Wealth เผยเคล็ดลับปรับพอร์ตรับมือภาวะตลาดหมี 

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด