สรุป Live: ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะ ‘สงคราม’

10 มีนาคม 2565EventsJitta WealthLive

ไฮไลต์

  • ‘สงคราม’ เป็นแรงกดดันสำหรับเดือนมีนาคม 2565 ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนขาลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี แต่จริงๆ แล้วภาวะการลงทุนช่วงนี้ เผชิญกับปัจจัยลบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น Covid-19 ที่ยังคงอยู่ ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัว และเทรนด์การขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก
  • ก่อนจะเริ่มลงทุน ควรเข้าใจก่อนว่า หากคุณลงทุนในตลาดหุ้น ข่าวลบๆ ความผันผวน และอารมณ์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่ต้องพบเจออยู่ตลอดเวลา และคุณต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ ว่าต้องมีสติและยึดมั่นในหลักการลงทุนที่ชัดเจน เพราะปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นระยะสั้น สุดท้ายทุกอย่างจะผ่านไปได้เอง
  • ข้อมูลย้อนหลังของดัชนี S&P500 หากคุณลงทุนในช่วงสงคราม จะทำให้คุณได้ผลตอบแทนที่ดีมากกว่าช่วงก่อนสงคราม และผลตอบแทนในการลงทุนช่วงวันเริ่มต้นสงคราม จะให้ผลตอบแทนดีกว่าวันสิ้นสุดสงคราม ดังนั้นการรอลงทุนในช่วงสิ้นสุดสงครามอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเสมอไป
  • ถ้าคุณลงทุนในธุรกิจที่ดี ภาวะเงินเฟ้อก็ทำอะไรธุรกิจที่ดีไม่ได้ เพราะธุรกิจที่ดีจะสามารถขึ้นราคาตามอัตราเงินเฟ้อ ธุรกิจจะทำรายได้มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น เงินเฟ้อจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หากลงทุนในธุรกิจที่ดี
  • ช่วงที่เงินเฟ้อสูงๆ ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาความร้อนแรง แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตลาดหุ้นอาจจะตอบสนองต่อการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นๆ แต่ก็ยังเติบโตได้เรื่อยๆ 

‘สงคราม’ ดูเหมือนจะสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นขาลงต่อไปเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หากคุณลงทุนมาก่อนหน้านั้น อาจจะรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อเห็นมูลค่าพอร์ตลงทุนลดลงหรือติดลบหนัก

Jitta Wealth เข้าใจความกังวลเหล่านี้ดี จึงได้จัด Live ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะ ‘สงคราม’ โดยมีคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ มาตอบคำถามและให้มุมมองการลงทุนในช่วงเวลานี้ จริงๆ แล้ว ปัจจัยที้เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในบางช่วงเวลา 

อยู่ที่หลักการลงทุนของคุณ อยู่ที่คุณภาพสินทรัพย์ที่คุณลงทุน และอยู่ที่วินัยการลงทุนของคุณ จะพาพอร์ตฝ่าความผันผวนไปได้

ดู Live ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะ ‘สงคราม’ 

สรุป Live ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะ ‘สงคราม’

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2565 สำหรับเรื่องแรกน่าจะเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อบรรเทาความร้อนแรงเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แนวโน้มของ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนมีนาคมนี้ และทั้งปีน่าจะขึ้นมาไม่เกิน 1.50% จากเดิม 0.00-0.25%

ท่าทีและการออกนโยบายของ Fed จะส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่เวลามีข่าวการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกมา ตลาดหุ้นจะตอบสนองในทางลบและปรับตัวลดลงก่อน

อีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่กำลังคุกรุ่นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างแน่นอน หลายประเทศจำเป็นต้องใช้มาตรการเพื่อกดดันทางรัสเซียไม่ให้ก่อสงครามใหญ่ขึ้นมา แต่ไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้ว่า สงครามในครั้งนี้จะจบอย่างไร แต่คิดว่ามีแนวโน้มว่าจะจบได้ในเร็ววัน เพราะมันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงเป็นวงกว้าง

หากคุณย้อนกลับไปดูในสงครามในแต่ละครั้ง มักจะมีจุดเริ่มต้นและจุดจบของมันอยู่เสมอ แต่คิดว่านานาชาติไม่ต้องการให้สงครามยืดเยื้อจนมากเกินไปอย่างแน่นอน สำหรับไตรมาสแรกปี 2565 ประเด็นถูกพูดถึงมาก คือ การลงทุนในช่วงสงคราม เงินเฟ้อพุ่งสูง และวิกฤตต่างๆ 

ตั้งแต่มีตลาดหุ้นเกิดขึ้นมา คุณต้องพบเจอกับทั้งข่าวร้ายและข่าวดี เช่น ข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่สื่อมักจะประโคมข่าวจนทำให้นักลงทุนกลัวและผลกระทบต่อตลาดหุ้น

ก่อนจะลงทุน คุณควรเข้าใจว่า หากคุณเลือกจะลงทุนในตลาดหุ้น ข่าวลบๆ อารมณ์ของนักลงทุน เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอ และคุณต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ ว่ามีสติและยึดมั่นในหลักการลงทุนที่ชัดเจน และสุดท้ายทุกอย่างจะผ่านไปเอง

Q: คุณเผ่าเริ่มลงทุนครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร 

ช่วงที่ซื้อหุ้นครั้งแรกจริงๆ น่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่ลงทุนในหุ้นแบบยังไม่ค่อยมีความรู้มากนัก และมาเริ่มลงทุนแบบจริงจังตอนปี 2549 ตอนนั้นผมเริ่มทำงานในสายเทคโนโลยี และรู้จักหุ้นหลายๆ บริษัท และก็โดนรับน้องด้วยวิกฤต Subprime ของสหรัฐฯ เลย 

ช่วงเวลานั้น ก็อดทนมาโดยตลอดโดยมีประโยคของ Warren Buffett เตือนใจอยู่ตลอดว่า ‘หากคุณไม่สามารถทนดูพอร์ตตัวเองตกไป 50% ได้ คุณไม่ควรลงทุนในหุ้น’ แต่สำหรับประโยคนี้ หมายถึงสิ่งที่คุณลงทุนอยู่ควรเป็นสินทรัพย์ที่ดีมีโอกาสเติบโตด้วย หากหุ้นไม่ดี ก็เป็นไปไม่ได้ที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 

อย่างหุ้น Washington Post ที่ Buffett ลงทุนอยู่ เคยตกลงไปมากกว่า 50% ซึ่ง Buffett ก็เฉยๆ เพราะมั่นใจในหุ้นที่เลือกลงทุน สุดท้ายหุ้น Washington Post ก็กลับสู่มูลค่าที่แท้จริงและสร้างกำไรให้กับ Buffett ได้อย่างมหาศาล

หากคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวจริงๆ ให้ใช้เวลาเป็นเพื่อน เช่น หากคุณลงทุนในหุ้น 10 บริษัท อาจจะขาดทุน 9 บริษัท แต่หากมีหุ้น 1 บริษัทที่เป็นหุ้น 10 เด้ง ก็สามารถทำผลตอบแทนชดเชยในส่วนที่ขาดทุน และสร้างกำไรที่ดีให้กับคุณ จะเห็นได้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นถูกทั้ง 10 บริษัท แค่ 1 บริษัทที่มีคุณภาพดี ก็เพียงพอแล้ว

ในช่วงวิกฤต Subprime สำหรับตัวผม ค่อนข้างเฉยๆ เพราะได้อ่านหนังสือ และมีความรู้เรื่องการลงทุนแล้ว รวมไปถึงหุ้นที่เลือกลงทุน หากมองในระยะยาวจริงๆ ผมคิดว่าโอกาสขาดทุนค่อนข้างน้อย 

จากบทเรียนนี้ทำให้ผมได้รู้ว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้สึกใจเย็น และมีความมั่นใจในระดับที่เหมาะสม สิ่งที่สำคัญคือ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และรับมือให้ได้ในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น

อยากจะพูดถึงกฎข้อแรกของ Buffett คือ อย่าขาดทุน ที่หลายคนเข้าใจผิด Buffett น่าจะหมายถึงการบริหารพอร์ตลงทุน และควรมีความเข้าใจในสิ่งที่คุณลงทุนมากกว่า เพราะ Buffett เองก็เคยขาดทุนจากการลงทุน รวมไปถึงยังต้องปรับพอร์ตลงทุนและซื้อขายหุ้นด้วย 

คุณควรตอบคำถามก่อนว่า คุณควรจะทำอะไรต่อไป หากคุณขายคุณจะอย่างไรต่อ และหากคุณได้รับผลกระทบจะทำยังไงกับพอร์ตลงทุน โดยเมื่อคุณมีความเข้าใจในหลักการลงทุน จะทำให้คุณมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีตามหลักการนั้น

คุณจะเห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองถึงกำไรมากกว่า ความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง หากสถานการณ์ตลาดหุ้นดี คุณไม่สามารถตอบได้หรอกว่า ความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่เหมาะสมกับคุณหรือไม่ และคุณจะไปรู้ตัวอีกครั้งตอนที่ตลาดหุ้นตกว่า คุณสามารถรับความเสี่ยงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

Q: เมื่อตลาดหุ้นตก คุณเผ่ารับมืออย่างไร

เมื่อตลาดหุ้นตก ผมจะมองว่าเป็นโอกาส ผมเป็นนักลงทุนที่ไม่สนใจข่าวสารรายวันสักเท่าไร และค่อนข้างมั่นใจว่าสินทรัพย์ที่ผมลงทุนจะสามารถผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อพอร์ตลงทุนของคุณ คุณต้องตอบคำถามตัวเองว่า คุณควรเปลี่ยนสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่ไหม และสิ่งที่คุณลงทุนจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้หรือไม่

สิ่งที่คุณควรรู้คือ หากหุ้นตก มันเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่เป็นระบบ หรือความเสี่ยงไม่เป็นระบบ ซึ่งความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ คุณสามารถแก้ได้ด้วยการกระจายความเสี่ยง สำหรับความเสี่ยงที่เป็นระบบจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

ก่อนอื่นคุณควรตั้งสติก่อน และลองถามตัวเองจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับพอร์ตลงทุนต่อ เช่น Covid-19 ทำให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวตกลง และคุณไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า หุ้นจะกลับมาทำกำไรได้เมื่อไร 

การที่ราคาหุ้นตกจากความเสี่ยงที่เป็นระบบ คุณไม่จำเป็นต้องขายหุ้นทุกบริษัท คุณอาจจะขายเฉพาะหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและเป็นหุ้นที่คุณไม่สามารถตอบคำถามตัวเองได้ว่า หุ้นบริษัทนี้จะกลับมาสู่จุดเดิมได้หรือเปล่า 

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมนักลงทุนเก่งๆ มักจะซื้อหุ้นที่สามารถผ่านไปได้ในทุกสถานการณ์ โดยการลงทุนในหุ้นประเภทนี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับคุณได้อย่างยั่งยืน 

แต่อย่างไรก็ตาม คุณต้องมีความเข้าใจด้วยว่า ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และคุณต้องมองภาพรวมว่า ธุรกิจนั้นยังมีโอกาสเติบโตได้อยู่หรือไม่ หากพบว่าธุรกิจที่คุณลงทุนอยู่แย่ลง คุณอาจจะตัดสินใจขายหุ้นบริษัทนั้น เพื่อไปลงทุนในธุรกิจที่ดีกว่าได้ 

ผมมองว่า การลงทุนเป็นทักษะที่อยู่ในสมอง คล้ายกับการเล่นเกมกระดาน สิ่งสำคัญที่คุณควรทำ คือ ศึกษาหลักการลงทุนให้เข้าใจ หาสไตล์การลงทุนของตัวเองให้เจอ เช่น หากว่าเป็น VI (Value Investing) คุณต้องหาภาพการลงทุนระยะยาว อ่านงบการเงินให้เป็น เข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น คอยพัฒนาตัวเอง และอัปเดตความรู้ความเข้าใจอยู่เสมอ

หุ้นบางบริษัท คุณอาจจะพบว่าเป็นหุ้นที่ดี แต่ราคาในตอนนี้อาจจะสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีโอกาสการลงทุนในหุ้นบริษัทนั้นในอนาคต นั่นคือเหตุผลที่ตอบว่าทำไมนักลงทุนต้องคอยติดตามหุ้น และหาโอกาสการลงทุนอยู่ตลอด

คำสอนของ Buffett อีกอย่างหนึ่งคือ ‘มันไม่ใช่สภาวะเศรษฐกิจหรอกที่ทำร้ายนักลงทุน แต่นักลงทุนนั่นแหละที่ทำร้ายตัวเอง’ มีความหมายว่า สภาวะเศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หากนักลงทุนหวั่นไหวและลงทุนโดยไม่มีหลักการ จะกระทบต่อผลตอบแทนของคุณได้ในที่สุด

Q: อยากให้คุณเผ่าพูดถึงการลงทุนในช่วงสงครามและคุณควรจะรับมืออย่างไร 

หากไปอ่านบทสัมภาษณ์นักลงทุนเก่งๆ หลายคน จะพบว่า พวกเขาค่อนข้างนิ่งและมั่นคงมาก ในวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้ง Covid-19 สงคราม หรือเงินเฟ้อ ซึ่งนักลงทุนเก่งๆ หลายคนอาจจะมองว่า ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีในการลงทุน 

หากดูจากภาพรวมจะพบว่า ทุกสงครามจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่เมื่อสงครามถึงจุดจบ ตลาดหุ้นจะกลับมาเติบโตอีกครั้งได้เสมอ สิ่งที่ควรกลัวไม่ใช่สงครามระยะสั้น หรือสงครามเฉพาะยุทธศาสตร์ เพราะมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่เป็นจุดสิ้นสุดของทุนนิยมต่างหาก คือสิ่งที่น่ากลัวที่แท้จริง

Buffett ได้กล่าวเอาไว้ว่า ‘ในช่วงสงครามทุกครั้ง มักจะส่งผลกระทบต่อค่าเงิน ซึ่งสิ่งสุดท้ายที่คุณอยากครอบครองในช่วงสงครามคือเงินสด’ Buffett แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ดีในช่วงสงคราม ซึ่งตัวเขาเองก็เคยลงทุน 120 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่สหรัฐฯ โดนโจมตีอ่าว Pearl Harbor ตอนนั้น Buffett มีอายุแค่ 11 ปี หาก Buffett เลือกลงทุนในดัชนี S&P500 และถือมาจนถึงวันนี้ จะทำให้เงิน 120 ดอลลาร์สหรัฐนั้น กลายเป็น 600,000 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน 

หากคุณมองระยะยาวและไม่ต้องการจะศึกษาหุ้นเพื่อลงทุนมากนัก ให้เลือกลงทุนในกองทุนดัชนี ก็จะทำให้เงินของคุณเติบโตได้ในระยะยาว และหากคุณดูจากภาพ จะเห็นว่าหลังสงครามตลาดหุ้นมักจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตามผลกระทบรายวัน มักจะทำให้นักลงทุนรู้สึกกังวลได้ แต่ผมอยากให้คุณลองมองในระยะยาว ในภาพนี้ที่เกิดความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จะพบว่าตลาดหุ้นไม่ได้ขึ้นหรือลงแรงมากขนาดนั้น คุณควรควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ หากคุณสามารถถือจนผ่านพ้นเรื่องที่เลวร้ายไปได้ จะทำให้คุณคลายความกังวลมากขึ้น ให้เวลาเป็นเพื่อนคุณ

สงคราม S&P500

สำหรับภาพรวมสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณจะพบว่าตลาดหุ้นตกลงมาสูงสุดเกือบ 40% แต่หากมองตอนจบของสงคราม จะเห็นว่าตลาดหุ้นจะกลับไปสูงกว่าจุดก่อนเริ่มสงคราม และตามภาพจะเห็นว่า หากคุณลงทุนในช่วงสงคราม จะทำให้คุณได้ผลตอบแทนที่ดีมากกว่าช่วงก่อนสงคราม

สงคราม S&P500

และในภาพนี้ จะแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนหากคุณลงทุนในช่วงต่างๆ ของสงคราม หากคุณลงทุนในวันเริ่มต้นของสงครามและวันสิ้นสุดของสงคราม จะพบว่า ผลตอบแทนในการลงทุนช่วงวันเริ่มต้นสงคราม จะให้ผลตอบแทนดีกว่าวันสิ้นสุดสงคราม

สงคราม S&P500

สำหรับใครที่คิดว่า รอลงทุนในช่วงสิ้นสุดสงครามอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเสมอไป เพราะบางทีช่วงสงครามนี่แหละ เป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าลงทุน

หากคุณสงสัยว่า ถ้าลงทุนในช่วงกึ่งกลางสงครามจะเป็นยังไง ลองดูภาพนี้จะพบว่า ผลตอบแทนโดยส่วนใหญ่จะดีพอๆ กับช่วงเริ่มต้นสงคราม แต่คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ช่วงไหนคือช่วงกึ่งกลาง หากให้สรุปง่ายๆ คือให้คุณลงทุนในช่วงที่ยังเกิดข่าวเกี่ยวกับสงคราม

สงคราม S&P500

สุดท้ายคือ การลงทุนในช่วงจุดดัชนีต่ำสุดในสงคราม ซึ่งหากคุณทำได้ จะกลายเป็นนักลงทุนระดับเทพ เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเมื่อไรคือช่วงที่ต่ำที่สุด และหากดูดีๆ จะพบว่าผลตอบแทนของการลงทุนในช่วงที่ดัชนีลงไปต่ำที่สุด และผลตอบแทนของการลงทุนในช่วงเริ่มต้นสงครามจะใกล้เคียงกันมากที่สุด

สงคราม S&P500

แต่คุณต้องมีความมั่นใจว่า คุณลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี อย่างในตัวอย่างนี้คือ การลงทุนในดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นเหมือนการลงทุนใน 500 บริษัทของดัชนี หากแนวโน้มในอนาคตตลาดหุ้นยังเติบโตได้ การลงทุนในช่วง ‘สงคราม’ ก็เป็นเหมือนการลงทุนที่คุณมีโอกาสชนะสูงมาก ผมอยากให้ทุกคนมองเห็นโอกาสในตรงนี้

Q: มีเรื่องอะไรที่คุณต้องกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ 

หากคุณดูจากกราฟอัตราเงินเฟ้อและดัชนีตลาดหุ้นตลอดตั้งแต่ปี 2493 (1950) จนถึงปัจจุบัน คุณจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ เคยมีสูงกว่านี้มาแล้ว เป็นเลข 2 หลักก็มีมาแล้ว  และอัตราเงินเฟ้อก็มีการขึ้นลงเป็นปกติ ถ้าคุณมองภาพในระยะยาว สุดท้ายดัชนีตลาดหุ้นก็ยังขึ้นอยู่ดี ไม่มีอะไรน่ากลัว 

เงินเฟ้อ S&P500

Warren Buffett บอกเอาไว้ว่า เขาเองก็เคยลงทุนในช่วงที่เงินเฟ้อขึ้นสูงเป็นเลข 2 หลักมาแล้ว สุดท้ายถ้าคุณลงทุนในธุรกิจที่ดี ภาวะเงินเฟ้อก็ทำอะไรธุรกิจที่ดีไม่ได้ เพราะธุรกิจที่ดีจะสามารถขึ้นราคาตามอัตราเงินเฟ้อ ธุรกิจจะทำรายได้มากขึ้น กำไรมากขึ้น เงินเฟ้อจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหากลงทุนในธุรกิจที่ดี 

สิ่งที่สำคัญ คือ หลักการที่คุณเลือกใช้ ปัจจัยภายนอกมีผลกับพอร์ตของคุณก็จริง แต่มันจะมีผลในระยะสั้น แต่ถ้ามองในระยะยาว พอร์ตลงทุนของคุณก็ยังเติบโตอยู่ดี  จากหลักการที่คุณเลือกใช้ และวินัยที่คุณทำตามหลักการนั้น 

ในช่วงที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงๆ ในช่วงปี 2513-2523 (1970-1980) อยู่ที่เกือบ 10% ซึ่งตอนนั้นนักลงทุนต่างกังวลมาก แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งจริงๆ สุดท้ายมันก็จะกลับมาได้เพราะภาวะเงินเฟ้อเคยสูงมากกว่านี้มาแล้ว แต่ดัชนีตลาดหุ้นก็ยังเติบโตต่อได้อยู่ 

เงินเฟ้อ S&P500

หากมองในแง่ของสงคราม เงินเฟ้อก็เอื้อประโยชน์ให้กับหลายๆ ธุรกิจที่ขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ แต่ก็มีธุรกิจที่ลำบากคือธุรกิจที่มีหนี้สิน เมื่อเงินเฟ้อมา ต้นทุนการเงินสูง ดอกเบี้ยขึ้น แต่ขึ้นราคาไม่ได้ ธุรกิจเหล่านั้นก็จะโดนผลกระทบมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างอยู่ที่สินทรัพย์และหลักการที่คุณเลือกลงทุน 

ภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่คุณต้องเผชิญ มีผลกระทบกับตลาดหุ้น ดัชนีขึ้นๆ ลงๆ แต่จะไม่ทำให้พอร์ตลงทุนมูลค่าเป็นศูนย์หรือติดลบหนัก ขึ้นอยู่กับคุณภาพของธุรกิจนั้นๆ ที่ไม่แข็งแกร่งมากพอ ที่จะผ่านวิกฤตต่างๆ กลับขึ้นมาได้ และอย่าลืมว่า ตลาดหุ้นมีปัจจัยอื่นๆ ที่มากกว่าเงินเฟ้อ 

Q: ความกังวลทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก

เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น จนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางทั่วโลกจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย จากกราฟ จะเห็นว่าช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของ Fed สูงนั้น ก็จะเป็นช่วงที่เงินเฟ้อสูงๆ นั่นเอง แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตลาดหุ้นก็ยังเติบโตได้เรื่อยๆ 

ดอกเบี้ย S&P500

สิ่งที่สำคัญคือ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง การรู้เขาคือ การทำความเข้าใจภาพระยะยาวของตลาดหุ้นให้ได้ ว่าจริงๆ แล้วทางเดียวที่จะทำให้ตลาดหุ้นล่มสลายคือ ระบบทุนนิยมพังลง  ซึ่งโอกาสก็มีน้อยมากๆ คุณจะเห็นแล้วว่า การลงทุนระยะยาวมันได้ผลดี 

การรู้เราคือ คุณรับกับข่าวลบๆ และความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ไหม คุณเข้าใจหลักการและทำตามหลักการได้ไหม ถ้าราคาหุ้นตก คุณยังยืนหยัดในหลักการที่คุณเลือกลงทุนได้ไหม 

ถ้าคุณรู้จักตลาดหุ้น และคุณรู้จักตัวเองและควบคุมตัวเองได้ รวมทั้งลงทุนในสิ่งที่ตัวเองถนัด และตรงกับหลักการที่ถูกต้อง รบที่ไหนคุณก็จะชนะ ไม่ว่าจะต้องเผชิญสภาพตลาดหุ้นแบบไหน คุณก็จะสามารถรับมือกับมันได้ คุณสามารถยอมแพ้ในสิ่งเล็กๆได้ 

แต่ในภาพใหญ่ คุณต้องไม่เสียทุกอย่างไป คุณอาจจะแพ้ศึกบางครั้ง เช่น มูลค่าพอร์ตของคุณตกลงมา มีความผันผวนชั่วคราว แต่คุณต้องชนะสงครามคือ พอร์ตลงทุนต้องโตขึ้นในระยะยาว และมีการจัดการสินทรัพย์ให้ดี มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี 

ดังนั้นพยายามมีสติ ท่ามกลางข่าวสารไหลเวียนมากมาย ให้ยึดตามหลักความเป็นจริงและจับต้องได้ ถ้ารู้สึกหวั่นไหว ก็แนะนำให้อ่านหนังสือการลงทุนดีๆ สักเล่ม ฟังบทสัมภาษณ์ของนักลงทุนเก่งๆ ว่าเขาผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้อย่างไร เขาทำอะไร เขานิ่งแค่ไหน เขารู้ว่า มีโอกาสในวิกฤตตรงไหนบ้าง 

Q: คุณลงทุนเชื่อมั่นในหลักการ หุ้นคุณแข็งแกร่งขนาดไหน ถ้าหุ้นไม่แข็งแรงคุณก็ต้องทำใจขายให้ได้ 

Warren Buffett พูดเอาไว้ว่า ‘Predicting rain doesn’t count. Building arks does.’  จะมาเดาว่า ฝนจะตกเมื่อไร มันไม่มีความหมาย แต่ถ้าคุณรู้ว่าฝนจะตก แล้วเตรียมร่มให้พร้อมไว้ดีกว่า มันเหมือนกับการลงทุน การสร้างพอร์ตที่แข็งแรง ที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี สินทรัพย์ที่หลากหลายอุตสาหกรรม หลายประเทศ มูลค่าพอร์ตโดยรวมก็จะไม่เสียหายมาก คุณก็จะชนะสงครามอยู่ดี 

โฟกัสที่หลักการลงทุน สินทรัพย์ที่คุณลงทุน และวินัยในการลงทุนของคุณ ต้องมี Mindset ที่ดี เมื่อเริ่มลงทุนแล้ว EQ สำคัญกว่า IQ เสมอ 

Q: เทคโนโลยี AI ของ Jitta Wealth จะสามารถเอาชนะความผันผวนได้หรือไม่ 

สิ่งที่ยากที่สุดของการลงทุนคือ ภาวะจิตใจและอารมณ์ เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยได้อยู่แล้ว เช่น การปรับพอร์ตลงทุน เมื่อเกิดวิกฤตคนส่วนมากมักทำอะไรไม่ถูก แต่ถ้าคุณมีเทคโนโลยี AI ที่ดี จะปรับพอร์ตให้คุณ โดยวิเคราะห์จากพื้นฐานของสินทรัพย์และโอกาสเติบโต 

เมื่อเกิดวิกฤต สิ่งที่ยากของนักลงทุนคือ การอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าให้เทคโนโลยีช่วย นอกจากจะอยู่นิ่งๆ ได้ เทคโนโลยีจะช่วยค้นหาหุ้นที่ดีในช่วงเวลานั้นๆ และปรับพอร์ตให้อัตโนมัติ

คุณไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะจบเมื่อไร แต่คุณรู้ว่าเมื่อเหตุการณ์จบแล้วคุณยังถือทรัพย์สินที่ดีมากๆ อยู่ พอร์ตของคุณจะรอดมาอย่างสวยงาม ทุกแผนการลงทุนของ Jitta Wealth มีหลักการในการลงทุนระยะยาว 

  • Global ETF เป็นการลงทุนทั่วโลก ทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ มีการกระจายความเสี่ยงให้แล้ว คุณสามารถสบายใจได้เลย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สินทรัพย์เหล่านี้ผ่านวิกฤตไปได้ และ Global ETF ยังใช้หลักการจัดพอร์ตแบบModern Portfolio Theory ซึ่งพิสูจน์มานานกว่า 100 ปีว่า วิธีนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว 
  • Thematic คุณโฟกัสที่การเติบโตของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจระยะยาว ถ้าเมกะเทรนด์ที่คุณเลือกมาแล้วเป็นเมกะเทรนด์ที่ดีก็จะมีการเติบโตอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผลตอบแทนก็จะกลับมาในจุดที่เหมาะสม ถ้าธุรกิจเป็นขาขึ้น รายได้ก็จะเติบโต แต่ช่วงนี้มีความผันผวนมาก เพราะแต่จะธีมเป็นหุ้นเติบโตสูง และเทคโนโลยีแห่งอนาคต เวลาที่มีปัจจัยลบ หุ้นกลุ่มนี้จะมีผลกระทบมากกว่าหุ้นที่ราคาและรายได้คงที่แล้ว บางครั้งหุ้นเติบโตหลายๆ บริษัท มูลค่าสูง จะถูกขายทำกำไรก่อน ไม่ว่าจะเลือกแผน Thematic DIY หรือ แผน Thematic Optimize ก็มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย พร้อมกระจายความเสี่ยง
  • Jitta Ranking หลักการลงทุนแบบ VI ใน ‘หุ้นดีราคาถูก’ ช่วงที่เกิดวิกฤต เทคโนโลยีจะวิเคราะห์ลงทุนหุ้นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้อย หาธุรกิจที่ดี จากการงบการเงินย้อนหลัง ที่ผ่านมาเลยทำให้ได้ผลตอบแทนดีมากๆ เพราะมีการปรับพอร์ตอย่างมีวินัย

Q: สถานการณ์ที่เกิดขึ้น การปรับพอร์ตทุก 3 เดือนของ Thematic Optimize ยังดีอยู่ไหม

ยังตอบโจทย์อยู่ สมมติว่า คุณไม่ปรับพอร์ตเลย เช่น คุณลง Thematic DIY อยู่ ธีมที่มีให้เลือกจัดพอร์ต มีโอกาสเติบโตอยู่แล้ว คุณสามารถลงทุน ผ่านสงคราม เงินเฟ้อ หรือเงินฝืดไปได้ ในระยะยาว ผลตอบแทนจะเติบโตตามศักยภาพของแต่ละธีม ยิ่งถ้าคุณปรับพอร์ตเองได้ถูกต้องตามหลักการ ไม่ได้ถือไว้เฉยๆ มูลค่าพอร์ตจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องมี AI มาคอยวิเคราะห์ให้

AI ของ Jitta Wealth ที่ออกแบบมาให้ Thematic Optimize มาตอบโจทย์ หากคุณไม่อยากศึกษา ETF หรือเลือกธีมด้วยตัวเอง 

คุณไม่รู้ว่า จุดสิ้นสุดของวิกฤตนั้นอยู่ที่ไหน แต่คุณรู้ตามหลักการว่า ถ้าคุณถือสินทรัพย์ที่คุณเชื่อว่ามันจะเติบโตนั้นไปเรื่อยๆ คุณปรับพอร์ตอย่างมีวินัย เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ธีมที่คุณลงทุนอยู่ก็จะเติบโตได้ดี และมันก็จะดึงพอร์ตกลับมาได้ดีกว่า ที่ไม่ปรับพอร์ตเลย 

บางทีการขายหุ้นที่ขาดทุน คุณอาจจะรู้สึกพ่ายแพ้ แต่ถ้ามองในเชิงการจัดการพอร์ต มันคือการปรับไปอยู่ในหุ้นที่ปลอดภัยกว่า มีการเติบโตสูงกว่า แต่ต้องมีหลักการ มีความมั่นใจในระยะยาว การปรับธีมให้ จะมีผลดีกว่าไม่ปรับเลย นี่คือสิ่งที่ Thematic Optimize กำลังทำอยู่ ถ้าคุณไม่มีเวลาทำเองก็ให้เทคโนโลยีทำให้ 

อย่าง Jitta Ranking ก็มีการปรับพอร์ตทุก 3 เดือนเช่นเดียวกัน ธุรกิจนี้มูลค่าแพงกว่าพื้นฐาน AI จะวิเคราะห์และไปลงหุ้นที่มีพื้นฐานดีกว่า แต่ราคาหุ้นยังถูก 

เวลาลงทุนอย่างมองในระยะสั้นๆ คุณอาจจะมองว่าธีมนี้ขายไปแล้ว ธีมที่ได้มาใหม่ ได้ผลตอบแทนแย่กว่าตัวที่แล้วอีก เวลาคุณมองระยะสั้นๆ คุณจะคิดแบบนั้น การลงทุนไม่มีอะไร 100% คุณมองความน่าจะเป็น เช่นคุณเปลี่ยนธีม A ไป ธีม B แล้วมันแย่ลง แล้วมากเปลี่ยนอีกรอบมันดีขึ้น คุณอย่าไปโฟกัสที่การเปลี่ยนแต่ละครั้ง แต่ต้องดูภาพรวมของพอร์ต ผลบวกมากกว่าผลลบ อย่าโฟกัสที่ระยะสั้นมากเกินไป 

คุณตอบไม่ได้ว่าการลงทุนไหนดี จากผลตอบแทนระยะสั้น บางครั้งอาจจะเป็นโชคก็ได้ มันมีปัจจัยมากมายที่คุณรู้และไม่รู้ 

Q: ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปัจจุบัน  

ธีมที่ผลมองว่า ในอีก 5-10 ปี หุ้นในธีมกลุ่มนี้ยังเติบโตต่อไปได้ คนยังใช้อยู่ และไม่หายไป ได้แก่

  • Cloud Computing เป็นธีมธุรกิจที่เติบโตสูงมาก คนทั่วโลกยังทำกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น Cloud Computing ก็ยังเป็นที่ต้องการและเติบโต เพราะมันเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของอินเทอร์เน็ตทั้งหมด 
  • Fintech ธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ ปัจจุบันคุณแทบไม่ใช้เงินสดแล้ว ระยะสั้นๆ คุณอาจจะมองไม่ออก แต่ถ้ามองมากกว่า 10 ปี Fintech ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อด้วย มีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้ต่อ
  • Genomics มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีหลายโรคที่ต้องรักษาผ่านทางเทคโนโลยีทางพันธุกรรม ที่เห็นได้ชัดคือ วัคซีน mRNA กระแสนี้ยังตอบโจทย์เมกะเทรนด์เฮลท์แคร์และสังคมคนสูงอายุ
  • Clean Energy ผู้นำประเทศรวมตัว มีเป้าหมายแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน หากใช้พลังงานฟอสซิล จะเพิ่มมลภาวะให้กับโลก จึงต้องหันมาใช้พลังงงานสะอาด เช่น ลม แสงอาทิตย์ และน้ำ ปัจจุบันไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ 

Q: ธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก ดีขึ้น แต่ยังไม่มีความแน่นอน จาก Covid-19 ที่ยังคงอยู่ ถ้าไปดูหุ้นไส้ใน ไม่ว่าจะเป็น Airbnb Booking หรือ Expedia ตอนแรกๆ งบออกมาดี แต่พอสงครามเริ่มต้น หุ้นก็เริ่มตก เพราะคนก็เริ่มกลัวว่า จะปิดประเทศหรือเปล่า คนไม่กล้าเที่ยวหรือเปล่า จะเปิดน่านฟ้าหรือไม่ แล้วพอมีข่าวว่าสงครามกำลังจะสงบลง ราคาหุ้นก็บวกกลับขึ้นมา ดังนั้นยังเป็นธีมที่มีโอกาสเติบโต แต่มีความผันผวนมาก 

ถ้าลงทุนในธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยว ก่อนที่สงครามจะจบก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าลงทุนหลังสงครามจบ ด้วยงบที่ออกมาจริงๆ ดี พื้นฐานหุ้นยังเติบโต เพียงแต่สงครามและ Covid-19 ธีมนี้จึงได้รับกระทบ 

Q: เมื่อสั่งถอนเงิน Jitta Wealth มีการพิจารณาขายหุ้นในแผน Jitta Ranking อย่างไร 

ถ้าคุณถอนเงินออกมาบางส่วน Jitta Wealth ก็จะขายหุ้นที่ไม่อยู่ใน Ranking อันดับต้นๆ ให้ก่อน เช่น Jitta Ranking Top 30 เวลาผ่านไป หุ้นบางบริษัทอาจจะหลุดจาก 30 อันดับแรก ไปอยู่อันดับที่ 40 หรือ 50 เพราะฉะนั้น ถ้าคุณลงทุน 3 ล้านบาท ขายออก 300,000 บาท ระบบของ Jitta Wealth จะขายหุ้นที่อยู่นอก Jitta Ranking Top 30 ก่อน เพราะถือว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุนน้อยที่สุด ถ้าขายแล้วได้เงินครบตามก็จะจบรายการ แต่ถ้ายังต้องขายสินทรัพย์เพิ่ม ระบบจะไปขายหุ้นที่อยู่ใน Top 30 แต่อยู่ในอันดับท้ายๆ ที่น่าลงทุนน้อยที่สุดก่อน หรือหุ้นที่มีสัดส่วนที่สูงเกินไป 

ถ้าปิดพอร์ตหรือถอนเงินออกทั้งหมด ระบบจะส่งคำสั่งทันที แต่เวลาขาย Jitta Wealth จะทยอยขาย เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยของราคาอยู่ในช่วงที่ดีที่สุด 

Q: คุณเผ่าช่วยพูดให้กำลังใจกับทุกคนที่ลงทุนในช่วงเวลานี้ จะผ่านไปได้อย่างไร

สุดท้ายมันก็จะผ่านไป เรื่องทุกเรื่องไม่ใช่แค่การลงทุน ชีวิตของคุณมีปัญหาเข้ามาตลอด มีเรื่องวุ่นวาย แต่หลายๆ ครั้ง คุณมองย้อนกลับไป คุณก็จะรู้สึกว่า คุณคิดอะไรตอนนั้นเยอะแยะ จริงๆ มันก็ไม่มีอะไรเลย ชีวิตคุณมันยาวนานมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ นี้ คุณไม่ควรจะต้องไปหมกหมุ่น หรือคิดมากอะไรมากเกินไป สิ่งที่คุณควรทำมากกว่าเสมอ คือ การจัดการกับปัญหานั้นๆ แล้วแก้ปัญหา คุณจะได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ คุณก็จะเป็นคนที่ดีขึ้น 

ในตลาดหุ้น คุณอาจจะไม่เคยผ่านเหตุกาณ์แบบนี้ ลองตัดสินใจบางอย่าง ทำในสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้องที่สุด หรือตามหลักการที่คุณเรียนรู้มา ทำไปก่อนแล้วหลังจากนั้นศึกษาจากการกระทำของตัวเอง คุณจะเป็นคนที่เก่งขึ้น 

การลงทุนคุณไม่จำเป็นต้องเทียบตัวเองกับใคร สิ่งสำคัญคือ คุณดีกว่า ตัวคุณเมื่อปีที่แล้วก็พอ ระยะยาวคุณจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ วันนี้อาจจะไม่ได้เป็นวันของคุณ แต่ตลาดหุ้นก็มีโอกาสมาใหม่ๆ เสมอ คุณจะมีโอกาสของคุณ ในเวลาที่คุณมีความรู้ และทักษะที่พร้อม  

อ่านสรุป Live ที่เกี่ยวข้อง

สรุป Live: ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน

CEO ของ Jitta Wealth เผยวิธีรับมือตลาดหุ้นผันผวนปี 2565

สรุป Live: ภาษีต้องรู้ สำหรับผู้ลงทุนในไทยและต่างประเทศ

CEO ของ Jitta Wealth เตรียมรับมืออย่างไร ภาษีขายหุ้นไทย 0.1% ปี 2565

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด