สรุป Live: ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน

3 กุมภาพันธ์ 2565EventsJitta WealthLive

ไฮไลต์

  • เมื่อต้องเผชิญความผันผวนสั้นๆ หรือวิกฤตยาวๆ นักลงทุนย่อมเกิดความกลัวและตกใจ  ปรับ Mindset แรก คือ ตั้งสติและอยู่เฉยๆ อย่าเพิ่งตื่นตูมมากจนเกินไป เพราะจะทำให้คุณใช้อารมณ์ในการปรับพอร์ต 
  • จงจำเอาไว้เสมอว่า การตัดสินใจที่พลาดไป 1 ครั้ง ไม่ได้หมายความว่า คุณจะพลาดในครั้งต่อไป ข่าวสารและความผันผวนไม่มีใครคาดคิดได้ หากคุณมั่นใจในหลักการการลงทุนของคุณ จะทำให้จิตใจของคุณเข้มแข็งและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับพอร์ตลงทุนของคุณ
  • หากคุณตัดสินใจจากมุมมองระยะสั้น มีโอกาสที่คุณจะตัดสินใจผิดได้สูง แต่ถ้าคุณตัดสินใจจากมุมมองระยะยาว จะพบว่า การขายหุ้นออกไปตอนนี้ ยังดีกว่าสูญเสียเงินอีกมหาศาล
  • การจำกัดความเสี่ยง คือ การลงทุนในสิ่งที่คุณรู้จริงเท่านั้น ถ้าคุณลงทุนในสิ่งที่คุณรู้จักก่อน โอกาสที่คุณจะขาดทุนก็จะน้อยลงตาม คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนหุ้นทุกบริษัท เลือกอะไรที่มันง่ายและคุณเข้าใจ ความเสี่ยงจะลดลงไปเรื่อยๆ 
  • การจดบันทึกซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดหุ้น จะช่วยให้คุณเพิ่มกฎลงทุนด้วย เช่น ครั้งต่อไปคุณควรทำแบบนี้นะ คุณควรคิดแบบนี้ การจดบันทึกจะช่วยสะท้อนความคิดของคุณ จะทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น การควบคุมอารมณ์และอคติต่างๆ จะดีขึ้นเอง
  • Warren Buffett บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นเบสบอลไม่ได้อยู่ที่คะแนน แต่อยู่ที่ว่า เขาเล่นกันอย่างไร ถ้าทีมไหนเล่นบนสนามได้ดีสุดท้ายจะชนะเอง การจ้องคะแนนอยู่ตลอดไม่ได้ช่วยอะไร 
  • การลงทุนในตลาดหุ้น คุณควรโฟกัสในสิ่งที่คุณควบคุมได้ นักลงทุนระยะยาวระดับโลกไม่ได้สนใจปัจจัยระยะสั้นที่จะทำให้ราคาหุ้นของพวกเขาขึ้นหรือลง แต่มุมมองของพวกเขาคือ ‘หุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม’ พวกเขาจะลงทุนในหุ้นแบบนี้ เพราะเชื่อว่า มันจะก้าวข้ามผ่านความผันผวนระยะสั้นต่างๆ ไปได้

ดู Live ‘ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน’


สรุป Live ‘ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน’

ทีมงาน Jitta Wealth เข้าใจความรู้สึกกังวลใจและหวาดหวั่นของคุณ เมื่อเห็นมูลค่าพอร์ตลงทุนลดลงในช่วงเดือนธันวาคม ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม เกิดจากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดัชนีหลักๆ อย่าง S&P500 ปรับลดลง มูลค่าหุ้นหลายๆ บริษัทลดลง ย่อมส่งผลต่อพอร์ตลงทุนของคุณเช่นเดียวกัน

จริงๆ แล้วความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นเป็นธรรมชาติของการลงทุน แต่อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่จะทำให้การลงทุนเป็นเรื่องยากและไม่ประสบความสำเร็จ คือ ภาวะจิตใจของนักลงทุนเอง เราจึงได้จัด Live ‘ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน’ เพื่อมาฉายภาพวิธีคิดและรับมือ เมื่อคุณเห็นมูลค่าพอร์ตลงทุนลดลง จะปรับตัวปรับใจอย่างไร 

โดยเชิญนักลงทุนผู้มีประสบการณ์แน่นปึก 2 ท่าน ได้แก่ 

  1. คุณจิม ศรุติ โชติเสรีวิทย์ ผู้เขียนหนังสือ Investor Mindset รู้ทันอารมณ์ สร้างกำไรด้วยเหตุผล และเจ้าของเพจ Stock Vitamins
  2. คุณพีท พิริยะ พาณิชย์ชะวงศ์ ผู้แปลหนังสือจิตวิทยาการลงทุน The Psychology of Investing

และมีคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO ของ Jitta Wealth เป็นผู้ดำเนินรายการ

Q: เริ่มปี 2565 มาต้องเจอกับตลาดหุ้นผันผวน หลายๆ ดัชนีร่วงกันอย่างหนัก คุณควรจะรับมือกับความผันผวนนี้อย่างไร

คุณจิม: เมื่อตลาดผันผวนมักจะสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนหลายคนรวมถึงตัวผมด้วย นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนว่า วิกฤตหรือความผันผวนที่เกิดขึ้นจะจบลงเมื่อใด อย่างไรก็ตามหากนักลงทุนมีความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไม Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้นักลงทุนรู้ว่าจริงๆ แล้วสถานการณ์มันไม่ได้แย่จนเกินไป 

ถึงแม้ภาพรวมจะยังคลุมเครืออยู่ แต่หากมีความเข้าใจและการติดตามข่าวสารจะทำให้คุณเห็นความชัดเจนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นมากกว่าเดิม แน่นอนครับว่า ทุกคนมีความกังวล แต่เมื่อคุณเข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจน คุณจะสามารถปรับตัว และไม่วิตกกังวลถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นในตอนนี้อย่างแน่นอน

คุณพีท: ผมมองว่าเมื่อคุณเตรียมตัวเตรียมใจมาดี และมีแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน เมื่อเกิดวิกฤตหรือความผันผวน จะเป็นโอกาสที่คุณได้ทบทวนแนวทางลงทุนของคุณอีกครั้ง ซึ่งนักลงทุนต้องตอบคำถามว่า ‘คุณยังเชื่อมั่นกับแนวทางการลงทุนแบบนี้อยู่หรือไม่’ หากคำตอบคือใช่ จะทำให้คุณคลายความกังวลลง และมีใจที่แข็งแกร่งมากขึ้นในการลงทุน 

Q: คุณควรจัดการสภาพจิตใจอย่างไร เมื่อเผชิญวิกฤตหรือความผันผวนขึ้น

คุณจิม: ขอเล่าย้อนกลับไปถึงวิกฤต Covid-19 ใน 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แน่นอนว่าทุกคนจะเกิดความกลัวและความตกใจ สิ่งที่คุณควรทำอย่างแรกคือ ‘ตั้งสติและอยู่เฉยๆ’ อย่าเพิ่งตื่นตูมมากจนเกินไป เพราะจะทำให้คุณใช้อารมณ์ในการจัดการพอร์ตของคุณ สิ่งที่ผมคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอคือ ‘ถ้าคิดไม่ออก ให้นั่งอยู่เฉยๆ’ 

จากนั้นค่อยลองไปหาข้อมูลว่า เคยมีวิกฤตที่คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ อย่างวิกฤต Covid-19 จะคล้ายกับการแพร่ระบาดของ Spanish Flu ในอดีต ซึ่งเป็นไปได้ว่าวิกฤตดังกล่าวอาจผ่านพ้นไปได้คล้ายๆ กัน จากนั้นเมื่อคุณมีความเข้าใจมากขึ้น ค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะทำยังไงกับพอร์ตลงทุนของคุณ 

อย่างผมตั้งเวลาเอาไว้ว่า หากวิกฤตดังกล่าวยังไม่จบ จะเริ่มปรับพอร์ตช่วงเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2564 โดยดูข้อมูลและทำการบ้านว่า หุ้นและ ETF (Exchange Traded Fund) ไหนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว การปรับพอร์ตจะทำให้คุณมีความสบายใจในการลงทุนมากขึ้น ผมมองว่าวิกฤต Covid-19 ยังไงมันต้องมีวันจบลง แต่คุณแค่ไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไร 

เมื่อเกิดวิกฤตในบางครั้ง จะทำให้คุณสามารถอ่านอารมณ์ตลาดหุ้นได้อีกด้วย เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อถึงจุดสูงสุด คุณคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นในตอนนั้นมีความกลัวสูงที่สุด ทำให้ราคาหุ้นในช่วงเวลานั้นจะมีราคาถูกมาก คุณอาจจะคว้าโอกาสจากจุดนั้นและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ 

อย่างไรก็ตาม คุณควรต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า ความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดขึ้น จะทำให้มูลค่าหรือพื้นฐานของธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่คุณลงทุนเปลี่ยนไปในระยะยาวหรือไม่ หากสินทรัพย์ที่คุณลงทุนดีจริง ราคามันจะตกลงเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น 

คุณพีท: คุณต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณมีแนวทางการลงทุนแบบไหน เช่น เทรดเดอร์ หรือ VI แต่ผมจะมาพูดถึงหลักการลงทุนระยะยาว หากคุณติดตามข่าวสารมาก ผมมองว่า มันกลับเป็นการเพิ่มสิ่งรบกวนจิตใจคุณ คุณไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์กับข่าวหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป 

คุณควรตั้งสติและยึดมั่นกับแนวทางการลงทุนของตัวเอง หากคุณมั่นใจในหลักการลงทุนอยู่แล้ว คุณก็จะลงทุนได้อย่างสบายใจ ผมมองว่า คนเราควรมีอารมณ์แบบ ‘พอดี’ ไม่มั่นใจจนเกินไปเวลาตลาดหุ้นขึ้น หรือวิตกกังวลจนเกินไปในช่วงตลาดหุ้นตก 

คุณควรปรับอารมณ์ให้เหมาะสม และเรียนรู้ว่าความผันผวนหรือวิกฤตดังกล่าวเป็นความผันผวนประเภทใด หากเป็นเพียงแค่ความผันผวนระยะสั้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากเกินไป อย่างที่บอกว่า ‘ความพอดี คือดีที่สุด’ และจะทำให้คุณรับมือกับวิกฤตดังกล่าวได้อย่างมั่นคง

คุณเผ่า: ในช่วงวิกฤต Covid-19 คุณจะได้เห็นว่า ทุกคนขยันมากในการหาข้อมูลเพื่อลงทุน ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ต้องพบเจอกับวันที่หุ้นตกหนัก อย่างไรก็ตามทุกคนรู้ว่า ‘เวลานี้จะผ่านไป’ หากคุณเลือกลงทุนในตลาดหุ้น ยังไงคุณต้องพบเจอกับวิกฤตหรือความผันผวนแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งคุณควรมีความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่า มันเป็นธรรมชาติของตลาดหุ้น 

นอกจากนี้คุณควรมีความเข้าใจว่า ตลาดหุ้นไม่ได้ขึ้นหรือลงเป็นเส้นตรง แต่มันจะขึ้นๆ ลงๆ ตามเศรษฐกิจและอารมณ์ของนักลงทุนในช่วงเวลานั้น หากคุณมีความโลภหุ้นก็จะขึ้น หากคุณมีความกลัวหุ้นก็จะลง ตามสถิติได้บอกว่าในช่วงระยะเวลา 10 ตลาดหุ้นจะขึ้นในช่วง 6-7 ปี และลงในช่วง 3-4 ปี เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรจะกลัวตลาดที่ปรับตัวลง จนมากเกินไป และหากเลือกลงทุนในระยะยาวคุณ จะพบกับตลาดหุ้นที่ขึ้นมากกว่าลง 

เมื่อคุณรู้และเข้าใจข้อมูลตรงนี้ คุณจะเริ่มมีความกล้าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น และอดทนถือหุ้นจนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวนไปได้ และสุดท้ายคุณจะมีวิธีเอากำไรกลับคืนมาในช่วงตลาดขาขึ้น และหากแนวทางการลงทุนของคุณถูกต้อง คุณจะสร้างกำไรได้เอง 

Q: หากพูดถึงเรื่อง ‘จิตวิทยา’ และ ‘การลงทุน’ ทั้ง 2 สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และ Mindset และอารมณ์มีความสำคัญกับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน 

คุณพีท: เมื่อคุณมองถึงเรื่อง ‘จิตวิทยา’ และ ‘การลงทุน’ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นคนละเรื่องกัน แต่ต้องบอกว่ามันมีความสัมพันธ์กันมากกว่าที่คิด หากคุณตั้งเป้าจะลงทุนระยะยาว คุณจำเป็นต้องมีความแข็งแกร่งของจิตใจ หมั่นทำการบ้านอยู่เสมอ ตรวจเช็คแนวทางการลงทุนของตัวเอง และหลีกเลี่ยงจากข่าวต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในระยะสั้นและอารมณ์ของคุณ

หากคุณนำตัวเองไปผูกกับอารมณ์จนมากเกินไป จะทำให้คุณเกิดความกลัวที่จะลงทุน เช่น เมื่อคุณเคยขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นบริษัทหนึ่ง จะทำให้คุณเกิดความกลัวที่จะลงทุนในหุ้นนั้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าพื้นฐานหุ้นดังกล่าวจะดีมาก หรือมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่อารมณ์จะกันคุณไม่ให้ซื้อหุ้นนั้นได้ 

จงจำเอาไว้เสมอว่า ‘การตัดสินใจที่พลาดไป 1 ครั้ง ไม่ได้หมายความว่า คุณจะพลาดในครั้งต่อไป’ เรื่องราวและความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยต่างๆ ที่คาดไม่ถึง และไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ อย่างที่ย้ำเสมอ หากคุณมั่นใจในหลักการการลงทุนของคุณ จะทำให้จิตใจคุณเข้มแข็งและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับการลงทุนของคุณ

คุณเผ่า: หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายคือ เมื่อคุณซื้อหุ้นและสามารถทำกำไรได้ ก็มีโอกาสที่คุณจะลงทุนในหุ้นหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะคุณรู้สึกว่าคุณเก่งและคิดว่าสิ่งที่คุณลงทุนถูกต้อง แต่ในบางครั้งคุณก็จะเจอกับช่วงที่คุณลงทุนและราคาหุ้นก็ตกลงมาเรื่อยๆ จะทำให้คุณเกิดความกลัวและไม่กล้าลงทุนในหุ้น

คุณควรแยกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นออกไป การลงทุนแต่ละครั้งจะไม่เกี่ยวข้องกัน หากคุณตัดสินใจผิดครั้งที่แล้ว ไม่ได้แปลว่าคุณจะตัดสินใจผิดในครั้งนี้ด้วย ถ้าสภาพแวดล้อมทุกอย่างบอกว่า ในช่วงเวลานี้มันตรงกับหลักการลงทุนของคุณ คุณก็ควรจะลงทุน และสุดท้ายค่อยกลับไปดูว่ากำไร หรือขาดทุนมันเกิดขึ้นเพราะอะไร

แน่นอนว่าคุณอาจจะเลือกลงทุนในหุ้นได้ถูกต้องหมดทุกบริษัท แต่กลับเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น เช่น Covid-19 ปัญหาสัมปทาน Fed ขึ้นดอกเบี้ย หรือปัจจัยต่างๆ ที่คาดไม่ถึง และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ก่อนได้ ฉะนั้นก่อนจะลงทุน คุณต้องเตรียมใจรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้ และค่อยกลับมามองอีกครั้งว่าสิ่งที่คุณลงทุนไป มันตรงกับหลักการลงทุนของคุณหรือเปล่า

คุณจิม: จิตวิทยาและการลงทุนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ หากคุณมีแนวทางการลงทุนที่ดี แต่เมื่อ Mindset คุณไม่มั่นคงก็สามารถทำให้คุณขาดทุนได้เช่นเดียวกัน นักลงทุนที่ดีควรมีจิตใจที่เข้มแข็ง และสามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจของตัวเอง จะทำให้การลงทุนของคุณดียิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าทุกวันนี้นักลงทุนหลีกเลี่ยงข่าวสารต่างๆ ได้ค่อนข้างลำบาก เพราะมีข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย และในอินเทอร์เน็ตมากมาย ทำให้จิตใจของคุณไขว้เขวได้ นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะพยายามหาข้อมูล เพื่อมายืนยันว่าตัวเองคิดถูกต้อง 

โดยปกตินักลงทุนมักจะหยิบข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ หลังจากที่ราคาหุ้นขึ้นไปแล้ว โดยไม่วิเคราะห์ให้ละเอียดถี่ถ้วน จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พอร์ตลงทุนติดลบได้ เพราะฉะนั้นหากคุณไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ จะทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตแข็งแกร่งเอง

Q: เมื่อคุณมีหุ้นที่ขาดทุนหนัก คุณจะทำใจขายหุ้น เพื่อตัดขาดทุนได้อย่างไร

คุณจิม: ผมเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องยากที่คุณจะขายตัดขาดทุนออกไป แต่สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือ กลั้นใจและตัดใจขายไปให้ได้ หรือหากไม่สามารถทำใจขายได้จริงๆ คุณอาจจะแบ่งขายออกเป็นส่วนๆ เช่น ขายครั้งละ 30% ของพอร์ตไปเรื่อยๆ จนหมด 

แล้วหลังจากนั้นคุณค่อยตัดสินใจอีกทีว่า คุณจะกลับเข้ามาลงทุนตอนไหน คุณไม่จำเป็นต้องคิดมากว่า ‘หากหุ้นที่ขายไปกลับขึ้นมาอีกครั้งจะทำอย่างไร’ เพราะจะทำให้ไม่กล้าขายหุ้นบริษัทนั้นออกไป หากคุณมีแผนการขายและกลับมาลงทุนที่ชัดเจน จะช่วยให้คุณตัดสินใจขายหุ้นที่ขาดทุนได้ง่ายมากขึ้น 

คุณเผ่า: ในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจจะแสดงออกไปตรงกันข้ามกับเหตุและผล ผมเคยลงทุนในหุ้นบริษัทหนึ่งที่ราคาตกลงมาประมาณ 50% และตัดใจขายไป รู้ว่าตัดสินใจผิดและมีข้อมูลที่ชัดเจน แต่เมื่อขาย ราคาหุ้นกลับเด้งขึ้นมาที่ 10-20% ทำให้รู้สึกไม่ดีอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามองไปที่ภาพรวมของธุรกิจ ผมก็มองไม่เห็นเหมือนกันว่า หุ้นบริษัทนั้นจะกลับขึ้นมาได้อย่างไร 

สิ่งที่คุณควรมองและตอบคำถามตัวเองให้ได้ คือ ‘ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ธุรกิจนั้นจะยังดีอยู่ไหม’ แน่นอนว่าถ้าธุรกิจยังดี ราคาหุ้นจะกลับขึ้นมาได้ แต่ถ้าธุรกิจแย่ สุดท้ายราคาหุ้นก็จะปรับตัวลง สิ่งที่ทำให้คุณตัดใจขายได้ง่ายที่สุด คือ เมื่อขายแล้ว อย่าไปดูมันอีกเลย ซึ่งหลายปีผ่านมา ผมกลับไปดูหุ้นบริษัทนั้นอีกครั้ง และพบว่า ราคาหุ้นตกไปอีก 90% และถูกถอดออกจากตลาดหุ้นไปแล้ว 

ทำให้คุณรู้ว่า หากคุณตัดสินใจจากมุมมองระยะสั้น มีโอกาสที่คุณจะตัดสินใจผิดได้สูง แต่ถ้าคุณตัดสินใจจากมุมมองระยะยาว จะทำให้พบว่า การขายหุ้นออกไปตอนนี้ ยังดีกว่าสูญเสียเงินอีกมหาศาล อย่าใส่ใจกับตลาดระยะสั้นมาก เพราะมันจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่ในระยะยาว ราคาหุ้นจะปรับตัวกลับสู่มูลค่าที่แท้จริงเสมอ

จงอยู่กับปัจจุบันและถามตัวเองว่า ‘หากวันนี้คุณไม่ได้ถือหุ้นบริษัทนี้ คุณจะซื้อมันในวันนี้หรือไม่’ ถ้าข้อมูลทุกอย่าง บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า คุณไม่ควรถือหุ้นบริษัทนี้ ก็ถึงเวลาที่คุณจะขายหุ้นออกไป ซึ่งมันจะทำให้คุณชนะกับดักจิตใจของคุณได้ จงพยายามใช้เหตุผลให้มากกว่าจิตใจในการตัดสินใจเรื่องการลงทุน

Q: ในมุมของจิตวิทยาการลงทุน มีมุมมองต่อความเสี่ยงอย่างไรบ้าง

คุณพีท: ถ้าคุณอ่านหนังสือจิตวิทยาหรือประวัติศาสตร์ ความกลัวความเสี่ยง เป็นเรื่องของสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่แล้ว ความกลัวมีไว้ให้คนและสัตว์ปลอดภัย ทำให้คุณระมัดระวังตัวมากขึ้น  

ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่นๆ คนบุกเบิกการรับความเสี่ยงได้ เริ่มออกไปล่าสัตว์ ออกไปจากหมู่บ้าน ออกไปเป็นนักเดินทาง ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ ก็คือ ความกล้าเสี่ยงจะทำให้คุณพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ 

แต่คุณจะจัดการกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร คุณต้องใช้ความกลัว ความระมัดระวัง ความรอบคอบ มาทำให้คุณจัดการความเสี่ยงได้ดี อุดรอยรั่วและประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดได้ 

Q: แล้วคุณจะจัดการความเสี่ยงในตลาดหุ้นได้อย่างไร

คุณพีท: มักจะกลับมาที่หลักการเดิมๆ คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นให้เยอะที่สุด และทำการบ้านมาให้ดี เหมือนที่ Warren Buffett ทำอยู่ตลอด 

คุณจิม: การจำกัดความเสี่ยงคือ การลงทุนในสิ่งที่คุณรู้จริงเท่านั้น ถ้าคุณลงทุนในสิ่งที่คุณรู้จักก่อน โอกาสที่คุณจะขาดทุนก็จะน้อยลงตาม Warren Buffett จะบอกเสมอว่า Make things simple คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนหุ้นทุกบริษัท เลือกอะไรที่มันง่ายและคุณเข้าใจ ความเสี่ยงจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อความรู้ของคุณมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน 

คุณเผ่า: Buffett จะลงทุนเยอะในธุรกิจที่เขาเข้าใจเท่านั้น และถ้ามันยิ่งถูกมากกว่ามูลค่าจริงที่มันควรจะเป็นเขาก็จะยิ่งลงทุนเยอะ แต่ถ้าจะให้พูดมันก็ดูง่าย นักลงทุนที่ดี จะเข้าใจตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะไม่ต้องซื้อขายกันบ่อย แต่รอจังหวะที่ใช่ของคุณดีกว่า รอเวลาที่หุ้นบริษัทที่คุณรู้จักดี มีราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง นั่นอาจจะเป็นจังหวะที่ดีของคุณในการลงทุนก็ได้ 

Q : นักลงทุนหลายคน มักจะรู้สึกคันไม้คันมือ จะต้องทำอะไรสักอย่างตลอดเวลา หุ้นขึ้นก็อยากขาย หุ้นตก อาจจะขายและเปลี่ยนไปเป็นตัวนั้นตัวนี้ มันทำให้เกิดการซื้อขายที่บ่อยเกินไป ซึ่งความเสี่ยงก็จะมากขึ้น เพราะคุณเริ่มลงทุนในสิ่งที่คุณไม่รู้ คุณจะจัดการความรู้สึกของคุณอย่างไรไม่ให้คุณซื้อขายเยอะเกินไป

คุณพีท: ถ้าคุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่หรือไม่แน่ใจว่าควรทำอะไรให้อยู่เฉยๆ ก่อน เอาข้อมูลทุกอย่างมาวางไว้บนโต๊ะให้ได้ และคิดให้รอบคอบ ใจเย็นๆ ค่อยๆ คิด มองในความเป็นจริงให้ได้ว่า ในตอนที่คุณจะซื้อจริงๆ ราคาหุ้นต่ำหรือถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงหรือไม่ หรือถ้าทนไม่ไหวจริงๆ คุณอาจจะลองแบ่งเงินทุนเพื่อเข้าซื้อไปก่อน และมันอาจจะเป็นบทเรียนให้กับคุณก็ได้ ประสบการณ์จะสอนให้คุณดีขึ้นในทุกๆ วัน 

คุณเผ่า: การจดบันทึกว่า คุณซื้อหุ้นบริษัทนี้เพราะอะไร ขายเพราะอะไร ทำไมถึงขาดทุน การจดบันทึกแบบนี้ จะช่วยให้คุณเพิ่มกฎของคุณในการซื้อขายหุ้นได้มากขึ้นด้วย เช่น ครั้งต่อไปคุณควรทำแบบนี้นะ คุณควรคิดแบบนี้ การจดบันทึกจะช่วยสะท้อนความคิดของคุณ และจะทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น การควบคุมอารมณ์และอคติต่างๆ จะดีขึ้นเอง 

ยิ่งคุณจดเยอะ หรือฟังคนอื่นพูดหลักการต่างๆ อ่านหนังสือ เมื่อคุณต้องเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก คุณจะเหมือนมีคนมากระซิบว่า สถานการณ์แบบนี้คุณควรจะทำอย่างไร ถ้านึกอะไรไม่ออกก็ตั้งสติและออกไปอ่านที่คุณจด แล้วหาว่า ที่คุณพลาดแบบนี้เป็นเพราะอะไร ถ้าคุณอยู่ในตลาดหุ้นคุณพลาดได้เสมอ เพราะฉะนั้นพยายามดึงตัวเองออกมาอยู่นอกตลาดหุ้นและใช้ความคิดของคุณให้รอบคอบ 

Buffett บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นเบสบอลไม่ได้อยู่ที่คะแนน แต่อยู่ที่ว่า เขาเล่นกันอย่างไร ถ้าทีมไหนเล่นบนสนามได้ดีสุดท้ายจะชนะเอง การจ้องคะแนนอยู่ตลอดไม่ได้ช่วยอะไร 

การลงทุนในตลาดหุ้น คุณควรโฟกัสในสิ่งที่คุณควบคุมได้ และคุณรู้ว่าจะดีหรือไม่ดี Buffett ไม่ได้สนใจปัจจัยระยะสั้นที่จะทำให้หุ้นของเขาขึ้นหรือลง แต่มุมมองของเขาคือ หุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม ถ้าเป็นแบบนี้เขาจะลงทุนเพราะเขาเชื่อว่า มันจะก้าวข้ามผ่านความผันผวนระยะสั้นต่างๆ ไปได้ 

อีกเรื่องคือ กำไรหรือขาดทุนในตลาดหุ้น มันมาจากทั้งทักษะการลงทุนของคุณ และปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่คุณควบคุมไม่ได้ ต้องแยกให้ออก สิ่งที่คุณควรพัฒนาคือทักษะในการเลือกหุ้น การควบคุมความเสี่ยง และความน่าจะเป็นให้ดี 

ผลลัพธ์เป็นเรื่องของตลาดหุ้น แต่สุดท้ายธุรกิจที่ดี ความน่าจะเป็นของตลาดหุ้นคือ คุณก็จะมีกำไรมากกว่าขาดทุนอยู่แล้ว และเมื่อขาดทุนก็อย่าคิดอะไรมาก เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการลงทุน โดยเฉพาะถ้าการขาดทุนนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทักษะคุณเลย

คุณจิม: มันเหมือนเป็นการฝึก ฝึกบ่อยๆ ทำให้คุณรับความเป็นจริงได้ ผิดพลาดได้ก็เป็นบทเรียน 

Q: ภาวะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ซึ่งก็เป็นอันตรายมากเช่นกัน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และคุณควรมีวิธีการจัดการกับมันได้อย่างไร 

คุณพีท: การกลับมารีวิวสิ่งที่คุณจดบันทึก ทำเป็นบทเรียนเอาไว้ จะทำให้คุณรู้ว่ามันมีเหตุและผลอย่างไรบ้าง

คุณเผ่า: Buffett พูดเอาไว้ว่า คุณจะรู้ว่าใครแก้ผ้าว่ายน้ำก็ต่อเมื่อน้ำลด ตอนหุ้นขึ้น ทุกคนกล้าเป็นเซียนหุ้นหมด แต่ตลาดหุ้นไม่ได้มีแค่ขาขึ้น แต่มีขาลงด้วย ช่วงตลาดขาลงคุณก็ต้องอยู่รอดให้ได้ เมื่อหุ้นขึ้นคุณต้องเริ่มมีสติว่า ต้องไม่ประมาท ต้องระวังตัว อย่ามั่นใจมากเกินไป

คุณจิม: ผมเคยเป็นในช่วงที่ลงทุนแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะรู้สึกเองว่า จริงๆ ผมไม่ได้เก่ง  ถ้าคุณมั่นใจมาก มันจะมีหุ้นบางบริษัทที่คุณรู้สึกว่า ดีมากๆ ต่อให้คุณวิเคราะห์มารอบด้านแล้ว แต่ก็อย่าลืมว่าสุดท้ายมันก็มีจุดที่คุณพลาดได้ ยิ่งคุณเจอเหตุการณ์ความผิดพลาด มันจะยิ่งลดอีโก้ของคุณลงมาเรื่อยๆ 

Q: แบบฟอร์มบันทึกการลงทุน บันทึกอย่างไรบ้าง

คุณจิม: ปกติจะมี 2 แบบแบบเป็นสมุดกับ Powerpoint ผมพยายามที่จะสรุปในแต่ละวันว่าวันนี้ตลาดเป็นอย่างไร เพื่อให้รู้ความเคลื่อนไหวจะได้เห็นภาพรวมของตลาด มีเหตุและผลอย่างไร ดูภาพใหญ่และเล็กลงเรื่อยๆ และมาดูที่พอร์ตลงทุนว่า ในแต่ละวันมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง พื้นฐานเปลี่ยนหรือไม่ และจดเหตุการณ์ที่ดีที่สุด 3 อย่างและแย่ที่สุด 3 อย่างของวันนี้ 

คุณจะค่อยๆ เห็นว่า หุ้นขึ้นเพราะอะไร ทำไมมันถึงลง เป็นเหตุเป็นผลและบทเรียนให้กับคุณ สิ่งที่คุณจะทำ และสิ่งที่คุณจะไม่ทำต่อไปคืออะไร

คุณเผ่า: ผมจะมองว่า ซื้อหุ้นบริษัทนี้เพราะอะไร มีความสามารถในการแข่งขันอย่างไร และจะมองออกมากขึ้นว่า หุ้นบริษัทนี้จะมีอนาคตอย่างไรบ้าง จดเข้าไป ตอนขายก็เช่นเดียวกัน ขายเพราะอะไรคุณจะเห็นเหตุผลในการซื้อขาย คุณจะเรียนรู้ว่า ท่าไม้ตายของคุณคืออะไร หลังจากนั้นการลงทุนจะง่ายขึ้นเยอะ แบบฟอร์มไม่ได้สำคัญ แต่ขอให้เริ่มทำ

Q: คุณควรจะลงทุนได้หรือยัง เพราะหุ้นเริ่มขึ้นแล้ว

คุณพีท: กลับไปที่หลักการว่า คุณเป็นนักลงทุนประเภทไหน คุณลงทุนในหุ้นบริษัทนี้เพราะอะไร ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาว กลับมาดูที่ปัจจัยพื้นฐานดีกว่าว่า มันใช่จังหวะที่คุณจะลงทุนแล้วหรือยัง 

คุณจิม: คุณไม่สามารถกะเกณฑ์ตลาดได้ ว่ามันจะขึ้นหรือลง คุณต้องรู้ว่า หุ้นที่คุณจะลงทุนในอนาคตข้างหน้า จะเป็นอย่างไร  เขามีแผนธุรกิจอย่างไร คุณกะเกณฑ์ ช่วงเวลาธุรกิจได้ แต่คุณไม่สามารถกะเกณฑ์เวลาของตลาดได้ คุณควรเริ่มลงทุนในจังหวะที่มันควรเริ่มลงทุน หุ้นแต่ละตัวมีเวลาของมัน 

คุณเผ่า: ถ้าสุดท้ายบริษัทที่คุณเลือกดีจริง ท้ายที่สุดแล้วมันก็จะมีเวลาของมัน ยึดที่หลักการ ดูข้อเท็จจริง คิดวางแผน ทำตามแผนของคุณไป แล้วถ้าแผนของคุณถูกต้อง มันก็จะพาคุณผ่านช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนและเติบโตไปได้เอง

Q: DCA (Dollar Cost Averaging) เป็นประจำอยู่แล้ว ถูกต้องแล้วหรือยัง มันสามารถเอาชนะอารมณ์ได้อย่างไร 

คุณจิม: คุณต้องรู้ก่อนว่า สิ่งที่คุณจะ DCA มันคืออะไร คุณต้องพยายามเลือกหุ้นที่มันจะขึ้นไปได้ในอนาคตจริงๆ เรื่อยๆ หุ้นที่มีพื้นฐานดี มั่นคงและแข็งแรง และอย่าลืมว่า ต้องรีวิวตลอดว่า คุณต้องปรับเปลี่ยนแผนการอย่างไร อย่าอดทนในสิ่งที่มันผิด ถ้าทิศทางผิด อย่างไงผลลัพธ์มันก็ผิด 

คุณเผ่า: DCA ใช้ได้จริง แต่ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าคุณ DCA ในสินทรัพย์อะไร DCA ที่ถูกต้องคือ DCA ในธุรกิจที่ระยะยาวมันเป็นขาขึ้น ต่อให้บางช่วงจะผันผวน อย่า DCA ทรัพย์สินที่ผิด และคุณจะสามารถเอาชนะอารมณ์ได้ด้วย เพราะคุณมีแผนการ คุณแค่ทำตามแผน 

คุณพีท: ผมสนับสนุนนะครับ เพราะการ DCA จะช่วยบริหารความเสี่ยง และอารมณ์ของคุณได้

นี่คือ สรุป Live: ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน ที่ทีมงาน Jitta Wealth ตั้งใจนำเสนอ เพื่อที่คุณจะเข้าใจและรับมือกับความผันผวนของตลาดหุ้นปี 2565 ได้ หากคุณสนใจหลักการลงทุนระยะยาวของเรา สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ที่ Line ID: @JittaWealth


อ่านสรุป Live อื่นๆ จาก Jitta Wealth

สรุป Live: ภาษีต้องรู้ สำหรับผู้ลงทุนในไทยและต่างประเทศ

สรุป Live: Fintech ไทย ไขเทรนด์ Fintech โลก

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด