สรุป Live: A FATMAN รู้จักบริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำไรบาน

21 พฤษภาคม 2564Jitta RankingJitta WealthThematic

ไฮไลท์

  1. A FATMAN ย่อมาจาก Apple Facebook Amazon Tesla Microsoft Alphabet และ Netflix ทั้ง 7 บริษัทสัญชาติอเมริกัน อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ เป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนดัชนีตลาดหุ้น
  2. ปี 2563 หุ้นบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ราคาพุ่งแรงมากและมีงบการเงินที่แข็งแกร่ง อย่าง Facebook และ Google มีรายได้หลักมาจากการขายโฆษณา ส่วน Amazon และ Microsoft กำลังก่อร่างสร้างตัวกับธุรกิจ Cloud Computing อย่าง Amazon Web Services และ Microsoft Azure
  3. Apple พัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัล iPhone iPad และ Mac แต่เน้นการหารายได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เป็น Ecosystem ขนาดใหญ่ รองรับการใช้งานทั่วโลก ส่วน Netflix เป็นทีวีสตรีมมิง ที่มีอิทธิพลมากในช่วงวิกฤต Covid-19 และมีคอนเท็นต์เป็นของตัวเอง ทัดเทียมสตูดิโอยักษ์ใหญ่ ขณะที่ Tesla คือ ผู้ปฏิวัตินวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้วิ่งบนถนนได้จริง และกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์และ AI ในรถยนต์ รวมไปถึงยานยนต์ไร้คนขับ
  4. วัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเทคเหล่านี้ที่เป็น ‘กุญแจแห่งความสำเร็จ’ คือ ไม่ปิดกั้นแนวคิดพัฒนาแพลตฟอร์มหรือบริการต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในองค์กร เพื่อดึงศักยภาพของพนักงานออกมา สิ่งที่แต่ละบิ๊กเทคมีเหมือนๆ กัน คือ คิดเร็ว ทำเร็ว แก้ปัญหาเร็ว และลูกค้าต้องมาเป็นอันดับแรก

ดูวิดีโอย้อนหลัง

สรุปเนื้อหา Live

วันพุธที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา Jitta Wealth ได้จัด Live สดในหัวข้อ A FATMAN รู้จักบริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำไรบาน เป็นการพูดคุยจากมุมมองของอดีตบุคลากรไทยในบิ๊กเทคเหล่านั้น สิ่งที่พวกเขาจะฉายภาพ คือ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้ มีธุรกิจอะไรบ้าง ธุรกิจไหนที่เป็นรายได้หลัก ธุรกิจใดกำลังจะมีศักยภาพเติบโตในอนาคต

นอกจากจะทำความรู้จักบิ๊กเทคเหล่านี้ พวกเขาจะพูดถึงวัฒนธรรมองค์กร แนวคิดการทำงานของ CEO และ Founder ที่มีส่วนทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีรายได้เติบโตทุกปี และครองมาร์เก็ตแคปใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

และพวกเขายังเป็นนักลงทุนในหุ้นบิ๊กเทคด้วย…

Jitta Wealth ได้รับเกียรติจาก… 

  • คุณต้า หรือ ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio และอดีต Data Scientist ที่ Facebook
  • คุณโต หรือ กิตติศักดิ์ โควินท์ทวีวัฒน์ เจ้าของเพจ Billionaire VI พนักงาน Amazon และอดีตพนักงาน Microsoft

นอกจากนี้ยังมี คุณอ้อ หรือ พรทิพย์ กองชุน ปัจจุบันเป็น COO และ Cofounder ของ Jitta ผู้เคยดำรงตำแหน่ง Country Marketing Manager ที่ Google และเป็นอดีตพนักงาน Microsoft จะเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์และวัฒนธรรมองค์กรด้วย

โดยมีคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO แห่ง Jitta Wealth และยังเป็นนักลงทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ Live ครั้งนี้

A FATMAN ย่อมาจาก Apple Facebook Amazon Tesla Microsoft Alphabet และ Netflix ทั้ง 7 บริษัทเทคนี้เป็นที่รู้จักระดับโลก ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะหลายคนเป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มที่พัฒนามาจากบิ๊กเทคเหล่านี้ 

ปัจจุบันทั้ง 7 บริษัท จัดเป็นหุ้นระดับเมกะแคป (Mega Cap Stock) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ใช่บิ๊กแคปธรรมดาๆ อีกต่อไป มีความแข็งแกร่งในลักษณะการทำธุรกิจในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี มีรายได้เติบโตก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

ที่สำคัญคือ มีศักยภาพที่จะโตต่อได้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า…

Apple Amazon และ Microsoft ผ่านมุมมองคุณโต

คุณโต เล่ามุมมองในฐานะนักลงทุนหุ้น Apple ว่า ปัจจุบันเป็นหุ้นที่มาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุด 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าที่อยู่ในไปป์ไลน์อย่าง iPhone iPad และ Mac ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

แต่ที่เสริมความแข็งแกร่งให้ Apple คือ บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่าน Apple TV หรือ App Store ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้จากการบอกรับสมาชิก (Subscribe) และค่าคอมมิชชัน (Gross Profit – GP) ซึ่งตั้งเป้าว่า จะเติบโตเท่าตัวในปี 2567

“ธุรกิจที่เป็นไปป์ไลน์จะสเกลอัปยากแล้ว แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ เป็นการสร้าง Ecosystem (ระบบนิเวศน์) ให้ผู้ใช้งานทั่วโลก เช่น App Store เป็นตัวกลางให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน มีให้ดาวน์โหลด มีผู้ใช้งาน เกิด Network Effect จากทั้งผู้ซื้อผู้ขาย เป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่ง มีอำนาจต่อรองสูง ซึ่ง Apple ยังพัฒนาแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้ผู้ใช้งานด้วย อย่าง Apple Car”

Apple มีอุปกรณ์ดิจิทัลรองรับการใช้งาน มีนวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับอุปกรณ์เหล่านั้น จนเกิดเป็น Ecosystem ที่ผู้ใช้งานไม่สามารถบอกลาได้ ใครใช้ iPhone ก็ยังซื้อต่อ  

Jitta Wealth

ในฐานะที่อยู่ ​Amazon คุณโตเล่าว่า Amazon มีธุรกิจหลักคือ อีคอมเมิร์ซ มีสินค้ามาขาย บริหารคลังสินค้า และควบคุมคุณภาพเอง แตกต่างจาก Alibaba ตรงที่ ทางฝั่งจีนเป็นอีมาร์เก็ตเพลส ให้คนมาขายสินค้า แต่ตอนนี้ Amazon แตกไปทำอีมาร์เก็ตเพลสเองด้วย 

ส่วน Amazon Web Services (AWS) เป็นธุรกิจให้บริการ Cloud Computing เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นระบบคลาวด์ที่ให้บริษัทและสตาร์ตอัป ซื้อบริการเซิร์ฟเวอร์ พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ จ่ายเท่าที่ใช้งาน องค์กรไม่ต้องลงทุนระบบไอทีเอง ที่ผ่านมารายได้จาก AWS จึงเติบโตเยอะมาก มากกว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ราคาหุ้น Amazon เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทเติบโตมากขึ้น 

คุณโต มองว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Amazon มีคู่แข่งเยอะขึ้น แต่คิดว่าไม่สะดุด เพราะครอบคลุมทั่วโลก ส่วน AWS จะเสริมให้ธุรกิจคลาวด์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มให้บริการลูกค้าหลากหลาย มีพันธมิตรธุรกิจหลายร้อยบริษัท มีระบบจัดการ Data Wearhouse ของตัวเอง 

“รันเวย์ของ Amazon ยังอีกไกลมาก เพราะลูกค้าองค์กรใช้บริการคลาวด์ผ่าน AWS ประมาณ 34% ยังมีรูมให้เติบโตอีก แต่ Amazon ไม่หยุดในการเสาะหาธุรกิจใหม่ๆ การซื้อกิจการไว้ในมือมากมาย เช่น ฟู้ดมาร์เก็ต และร้านขายยา ต้องมาดูว่า เขาจะสเกลอัปไปได้อีกแค่ไหน”

“อย่างธุรกิจร้านขายยา คือ การเข้าไปอยู่ในธุรกิจสุขภาพ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ทั้งโลก ต่อยอดเทเลเมด (การแพทย์ทางไกล) ซึ่ง Amazon มีเทคโนโลยีพร้อมแล้ว ทั้ง Big Data หรือ AI ถ้าทำสำเร็จ ก็ไปได้ต่ออีก”

Jitta Wealth

ส่วน Microsoft นั้น คุณโต บอกว่า ธุรกิจไปป์ไลน์ คือ การขายซอฟต์แวร์ มาโดยตลอด ทำให้ราคาหุ้นที่ผ่านมาไม่ไปไหน ต่อมาก็มาซื้อธุรกิจหลายตัว จนมาถึงการพัฒนาระบบ Cloud Computing ปี 2557 แม้จะเริ่มช้ากว่าใคร แต่ทำได้ดี เพราะ CEO มีการปรับโครงสร้างองค์กร วางระบบให้เหมาะสม ราคาหุ้นโต 5-6 เท่า

CEO เปลี่ยนการทำงานของพนักงานขาย (เซลล์) ที่เน้นขายซอฟต์แวร์ให้ลูกค้า มาเป็นการสร้าง Engagement กับลูกค้าด้วย เพราะธุรกิจคลาวด์ ทำให้เซลล์รายได้ลดลง

“ระบบคลาวด์ของ Microsoft Azure ก็มีความแข็งแกร่ง จากแพลตฟอร์มที่สนับสนุนผู้ใช้งาน มีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเยอะ ส่งผลให้ลูกค้าไม่เปลี่ยนแพลตฟอร์มใช้งาน เคยมีบริษัทจากจีนพยายามทำแพลตฟอร์ม Office ลดราคาให้ถูกกว่า Microsoft แต่ผู้ใช้งานก็ไม่เปลี่ยนใจ เพราะคุ้นเคยกับการใช้งานไปแล้ว”

Jitta Wealth

Facebook และ Tesla ผ่านมุมมองคุณต้า

คุณต้า บอกว่า Facebook ดูลักษณะธุรกิจง่ายกว่า เพราะรายได้หลักมาจากแอด (โฆษณา) ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แนวทางการดำเนินธุรกิจของ Facebook คือ เปิดโลกกว้าง ให้คนทั่วโลกสามารถติดต่อเชื่อมถึงกันได้ ต่อมาก็พัฒนาการสร้างชุมชนออนไลน์ มาขับเคลื่อนเน็ตเวิร์ก จึงทำให้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กที่โตเร็ว  

ที่เด่นชัด คือ ทุกคนสามารถสร้างคอนเท็นต์ ขณะเดียวกันทุกคนก็เสพคอนเท็นต์ ถ้าเพื่อนๆ อยู่ในแพลตฟอร์มนี้เยอะ เราก็ไม่อยากย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น ทำให้ Facebook ยังรักษาฐานผู้ใช้งานได้ น้อยมากที่จะลบบัญชีออก ซึ่งตัวเลข Active User (ผู้ใช้งานจริง) เป็นจำนวนที่ Facebook ใช้วัด Engagement (ความผูกพัน) กับผู้ใช้งานทั่วโลก

สิ่งที่ทำให้ Facebook โดดเด่น คือ ผู้ใช้งานต้องใช้ตัวตนจริง ไม่ให้ใช้นามแฝง ทุกคนต้องเป็นตัวเองในแพลตฟอร์ม เพราะ Facebook จะเจาะได้ว่า ผู้ใช้งานสนใจอะไร สร้าง Awareness (ความตระหนักรับรู้) ผ่านการยิงโฆษณา ส่งผลให้ Facebook สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานทั่วถึง รายได้โฆษณาก็เติบโต

“อย่างแอปพลิเคชัน Facebook ผ่าน App Store ก็กำลังถูกจับตาจาก Apple ว่า กำลังแทรกซึมดูพฤติกรรมผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ก็จะเป็นปัญหาในอนาคตของ Facebook”

“แต่จุดแข็งของ Facebook คือ เมื่อผู้ใช้งานเยอะ ทำธุรกิจก็ต้องยิงโฆษณาผ่าน Facebook แต่อยากได้ Reach (การเข้าถึง) ก็ต้องจ่ายเพิ่ม วันใดวันนึง ถ้าผู้งานใช้ Facebook น้อยลง ก็กระทบกับรายได้หลัก”

Jitta Wealth

คุณต้า พูดถึงการออกสกุลเงินดิจิทัล Libra ว่า มันเป็นการปล่อยกระแสออกมา เพื่อดูปฏิกิริยาจากธนาคารกลาง ดูทิศทางลมว่า เวิร์กไหม เพราะมันเป็นเทรนด์อนาคต ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ Facebook ได้ ตอบโจทย์การเชื่อมอีคอมเมิร์ซและอีเพย์เมนต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ถ้าหากทำสำเร็จ ก็จะเป็นบิ๊กบูม เพราะ Facebook มีฐานเน็ตเวิร์กผู้ใช้งานที่แข็งแรง

ในฐานะนักลงทุนหุ้น Tesla คุณต้าบอกว่า เป็นเจ้าแรกในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดจากความพยายามพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแผงแบตเตอรีใหญ่ๆ ให้วิ่งได้ไกลขึ้น ทำให้รถยนต์มีระบบซอฟต์แวร์และ AI เก็บข้อมูลผู้ใช้งานตลอดเวลา 

“Tesla ทำให้ EV จากที่เป็นเทคโนโลยีเหนือจินตนาการ เป็นรถยนต์ที่วิ่งได้จริง โรงงานประกอบรถ ก็เอาหุ่นยนต์มาใช้ในไลน์ประกอบ”

“Tesla ออก EV โมเดลก่อนๆ ยังมีราคาสูง ก็กลับไปทำการบ้านใหม่ ออก EV ในราคาที่คนเข้าถึงได้ ยอดจองมากมาย ผู้ซื้อยอมทำสัญญาจอง เพื่อรอรถเป็นปี”

Jitta Wealth

Google ผ่านมุมมองคุณอ้อ

คุณอ้อ เล่าว่า Google มีรายได้หลักเป็นโฆษณาจาก Search Engine ซื้อคีย์เวิร์ดได้ ในเครือข่ายของ Google มีเว็บไซต์ข่าวหลายแห่ง เอา Google Ads ฝังในหน้าเว็บ และที่มาแรง คือ โฆษณาผ่าน YouTube มี YouTuber เกิดใหม่มากมาย แต่พอมีแพ็กเกจ YouTube Premium ที่ให้ผู้ใช้จ่ายเงินเพื่อปิดโฆษณา รายได้จากการขายโฆษณาก็ลดลง 

ก่อนหน้านี้ การค้นหาข่าวอัปเดต ผู้ใช้งานไม่ได้ใช้ Google ค้นหา แต่ใช้ Facebook แทน แม้ว่า Google จะคุมระบบปฏิบัติการ Andriod ผ่านสมาร์ตโฟนก็ตาม ทำให้ต้องพัฒนา Google Assistance Voice Command บน Andriod ใช้ AI มาช่วยดูว่า ผู้ใช้งานกำลังค้นหาอะไรหรือดูอะไร 

ธุรกิจที่กำลังไต่ระดับตามมา คือ Cloud Computing เช่น Google Suite และ Google Workspace 

“แม้จะเป็นช่วง Covid-19 รายได้จากโฆษณาก็ยังสูง โต 2 เท่า คิดว่า ยังไปได้อีกไกล”

Jitta Wealth

Netflix ผ่านมุมมองคุณเผ่า

คุณเผ่าเสริมว่า Netflix เติบโตมาจากร้านเช่า DVD ก่อนจะเปลี่ยนมาพัฒนาแพลตฟอร์มทีวีสตรีมมิง แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ในการปล่อยลิขสิทธิ์ เลยทำให้ Netflix หันมาทำคอนเท็นต์ของตัวเอง ได้รับความร่วมมือจากทีมผลิตหลายประเทศ ซึ่งเป็นคอนเท็นต์ที่โด่งดัง มีรางวัลการันตีมากมาย จนได้รับความนิยมมากกว่า คอนเท็นต์จากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้สตูดิโอเหล่านี้ พัฒนาแพลตฟอร์มทีวีสตรีมมิงตามมาด้วย อย่าง Disney Plus เป็นต้น

Jitta Wealth

Q&A บริษัทเทคยักษ์ใหญ่กับโอกาสเติบโตในอนาคต

Q: แนวคิดของบริษัทเทค ต่อการทุ่มทุนซื้อกิจการอื่นๆ  

คุณโต มองว่า เป็นโอกาสธุรกิจในการซื้อกิจการที่เกี่ยวข้อง หรือลงทุนในสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นการลงทุนที่เหมาะสม แต่ก็มีบางช่วงที่ไปซื้อกิจการนั้นแล้ว ไม่ได้เสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น หรือเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย สุดท้ายแล้ว เมื่อทำไม่สำเร็จ ก็ต้องขายกิจการออกไป

ส่วนคุณต้า มองว่า Facebook รู้เทรนด์ล่วงหน้าว่า แอปไหนกำลังจะมา ก็จะไปเจรจาซื้อกิจการ ได้มาแล้วก็สานต่อธุรกิจให้เติบโต แต่แน่นอนว่า เมื่อซื้อกิจการมาแล้ว ถ้านโยบายการทำงานไม่ไปทางเดียวกัน ผู้ก่อตั้งเดิมก็ลาออกได้ อย่าง Instagram และ WhatsApp ที่เจ้าของเดิมที่ขายกิจการให้ ก็ลาออกจากดำแหน่งบริหารไปแล้ว 

ส่วนคุณอ้อ มองว่า การซื้อกิจการของบริษัทเทค ที่ทำให้เกิดการผูกขาดตลาด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอด เพราะบิ๊กเทคแต่ละรายมีทุนสูง อย่างสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายคอยควบคุมและตรวจสอบอยู่แล้ว 

“ดีล M&A (Mergers & Acquisitions) ของบริษัทเทคเหล่านี้ เป็นได้ทั้งการนำเทรนด์ หรืออยากได้คนในองค์กรนั้น เพราะเมื่อซื้อกิจการมาแล้ว บุคลากรต้องทำงานให้อย่างน้อย 2 ปี”

“เหมือนเป็นการดูมูลค่าของกิจการที่ซื้อมามากกว่า แต่ไม่ใช่ทุกกิจการที่ซื้อจะไปได้ดี อย่าง Google ก็เฟลเยอะมาก บางกิจการก็ซื้อมา เพื่อเอามาแช่ไว้ ไม่ทำอะไรอยู่ 2 ปี เพียงเพื่อสกัดกั้นไว้ไม่ให้เติบโต”

Q: วัฒนธรรมการทำงานของแต่ละบริษัทเทค

คุณอ้อ เล่าว่า Google ยึดความเชื่อมั่นใน Core Value ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไป มีแนวคิดเรื่อง User First คือ ผู้ใช้งานได้ประโยชน์อะไร อยากใช้แพลตฟอร์มหรือบริการนี้ไหม เพราะถ้าทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกอยากใช้ ความสำเร็จอื่นๆ ก็จะตามมา ดังนั้นไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง ว่าจะคำนวณมาเป็นรายได้เท่าไร เพราะเมื่อมีความสำเร็จแล้ว แพลตฟอร์มหรือบริการเหล่านั้นจะมีวิธีการหารายได้เอง

นอกจากนี้ Google ให้คุณค่ากับไอเดียหรือโพรเจ็กต์ที่ล้มเหลว เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรม โดยได้จัดกิจกรรม TGIF (Thank God It’s Friday) ให้พนักงานที่พัฒนาอะไรไปแล้วไม่สำเร็จ มาแชร์มุมมอง ว่าแก้ปัญหายังไง ล้มเหลวเพราะอะไร แก้ไขอย่างไร อย่าง CEO ก็เคยมาแชร์ว่า เคยทำอะไรไม่สำเร็จมาบ้าง

Google ยังสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ปล่อยให้พนักงานขาดทักษะที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในองค์กร มองว่า Competition is Healthy ผ่านกิจกรรมและรางวัลต่างๆ เหมือนสร้างสภาพแวดล้อมให้พนักงานดึงศักยภาพในตัวเองออกมา

คุณโต เล่าว่า Amazon เน้น 3 ข้อหลัก อย่างแรก คือ Customer Focus จะออกบริการอะไร ให้นึกถึงความต้องการของลูกค้า 

อย่างที่สอง คือ กล้าคิดกล้าทำ คิดเร็วทำเร็ว CEO ไม่อายที่จะขอบอร์ดบริหารว่า จะทำธุรกิจคลาวด์ เพราะมั่นใจว่าจะตอบโจทย์ลูกค้า ตอนนั้นกรรมการบริษัทไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมโดนดูถูก ดึงดันที่จะทำ จน AWS ติดตลาด ธุรกิจก็สเกลอัปได้ต่อ

อย่างที่สาม คือ Think Big เพื่อจะสเกลอัปงานต่อได้

ส่วนคุณต้า บอกว่า Facebook จะส่งเสริมให้พนักงานคิดอะไรใหม่ๆ เสมอ โดยเน้น 2 ข้อ คือ Focus Impact และ Move Fast หลักคิด คือ เมื่อเกิดปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ พนักงานต้องแก้ปัญหาอย่างไร เน้นให้มูฟเร็ว และไม่ทำพัง ดังนั้นแพลตฟอร์ม Facebook จึงถูกแฮ็กกันเองบ่อย เพื่อกระตุ้นให้พนักงานแก้ปัญหา ทะลายกำแพงให้ได้

Q: เลือกบริษัทเทคยักษ์ที่มีอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า 

คุณต้าบอกว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ไม่เหมือนบริษัทดั้งเดิมที่สามารถคาดการณ์โอกาสเติบโตได้จากการอ่านงบการเงิน ขอเลือก Amazon ชอบที่ความสามารถในการกระจายธุรกิจใหม่ (Diversify) ได้ดี 

ส่วนคุณอ้อ บอกว่า ยังเชื่อมั่นใน Google เพราะหัวใจหลักยังเป็นโฆษณาที่จะสามารถต่อยอดช่องทางการหารายได้อีกในอนาคต ส่วนแอปพลิเคชันให้ใช้ฟรีอื่นๆ เปรียบเหมือนเป็น Ecosystem เพื่อดึงคนเข้ามาที่ Google Ads อยู่ดี ธุรกิจคลาวด์ของ Google ก็ยังมีแผนสำรองเพื่อจะตี AWS ได้อยู่ 

ปิดท้ายที่คุณโต บอกว่า ขอเลือก Google เพราะมีธุรกิจที่ตามเมกะเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ AI และสุขภาพ ส่วน YouTube ยังเป็นช่องทางการหารายได้ที่ดี รวมไปถึงอนาคตที่ Google อาจจะพัฒนารถ EV ที่สามารถใช้ Google Map หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ได้ 

คุณโต บอกอีกว่า นักลงทุนควรศึกษาพื้นฐานหุ้นเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ดูว่าเทรนด์อนาคตเป็นยังไง ธุรกิจคลาวด์ รถ EV หรืออีคอมเมิร์ซ มีโอกาสแค่ไหน สิ่งสำคัญคือ บริษัทแข็งแกร่งแค่ไหน วิเคราะห์มูลค่าบริษัทในอนาคต และต้องซื้อในราคาที่เหมาะสม 

“ผมมองว่าธุรกิจคลาวด์ยังมีรันเวย์อีกยาว เพราะทุกคนมุ่งมาที่ Big Data และ AI อย่างบริษัทดั้งเดิมในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม พวก FMCG (Fast-moving Consumer Goods) ยังดูข้อมูลลูกค้าผ่านการใช้ Cloud Computing หรือ Tesla ก็กำลังมุ่งไปเป็นยานยนต์ไร้คนขับ ดังนั้นเทคโนโลยีเคลื่อนไหวเร็วมาก นักลงทุนต้องมองเทรนด์ให้ขาด”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

สรุป Live: ลงทุน ETF ระดับโลก เริ่มต้นแค่ 100,000 บาท [Jitta Wealth x Wealth Me Up]

Jitta Wealth Journal – คุณจะรับมือ Stagflation อย่างไร

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด