Jitta Wealth Journal - คุณจะรับมือ Stagflation อย่างไร

18 พฤษภาคม 2564Jitta WealthJitta Wealth Journal

หุ้นเทคปรับฐาน ตัวไหนได้ไปต่อ

Jitta Wealth Journal ฉบับที่ 25 ประจำวันที่ 18 พ.ค. มีประเด็นข่าวที่น่าติดตามและมีผลกระทบต่อการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้

  • Stagflation ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกหรือไม่
  • เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกติดลบ 2.6%
  • ตลาดหุ้น Wall Street ปิดบวกปลายสัปดาห์
  • ราคาหุ้นเทคจีนย่อตัว ถึงเวลาซื้อหรือยัง
  • ผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 ทั่วโลกอาจจะมากกว่าที่รายงาน

ไปติดตามกันได้เลย


Jitta Wealth

Jitta Wealth Live: A FATMAN รู้จักบริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำไรบาน

หากคุณยังสงสัยว่า บิ๊กเทคจะไปได้อีกไกลหรือไม่ ราคาปรับฐานตอนนี้ ควรเข้าลงทุนหรือยัง มาชม Live ที่รวบรวมกูรูจาก Facebook Amazon Microsoft และ Google มาให้ความรู้ และพูดถึงศักยภาพระยะยาวของบริษัทเหล่านี้

กด ‘Going’ ที่นี่


Stagflation ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกหรือไม่

ท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันเงินเฟ้อขาขึ้นเริ่มมีความกังวลจากนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก คำว่า Stagflation ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งไทยด้วย

Stagflation มาจากคำสนธิระหว่าง Stagnation (ประเทศที่เศรษฐกิจโตช้า) และ Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ) เมื่อมารวมกัน หมายถึง เศรษฐกิจโตช้าหรือไม่เติบโต การว่างงานสูง แต่ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพง เงินในกระเป๋าประชาชนลดลง 

SCBEIC ของธนาคารไทยพาณิชย์บอกว่า ปีนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประเด็นภาวะเงินเฟ้อก็ตามมา เพราะราคาพลังงานสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ที่ทั่วโลกเจอวิกฤต Covid-19

เศรษฐกิจขาขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น ลดการเข้าซื้อพันธบัตรจากเม็ดเงินมาตรการ QE อย่างธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เริ่มประกาศลดแล้ว

อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดว่าจะเริ่มลดการเข้าซื้อพันธบัตรประมาณปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 แต่เทรนด์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น คาดว่า จะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ 

SCBEIC บอกอีกว่า เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เกิดจาก Pent-up Demand หรือความต้องการซื้อที่ยังไม่ได้ซื้อ ต่อเนื่องมาจากช่วงวิกฤต Covid-19 รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลด้วย

ดังนั้น Stagflation ยังไม่ใช่นิยามของภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกก็ฟื้นตัวได้ดี แม้จะโตจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วก็ตาม

ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.2% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 12 ปี 8 เดือน ทั้งยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% ขณะที่เดือน มี.ค. เงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.6%

เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในสหรัฐฯ เกิดจากราคาน้ำมันขาขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 3% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2.3%

ส่วนไทย SCBEIC มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ทำสถิติสูงสุด 8 ปี 4 เดือนที่ 3.4% ลงลึกในรายการสินค้า หมวดราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 36.4% ส่งผลให้หมวดราคาพาหนะ ขนส่ง และการสื่อสารเพิ่มขึ้น 10.2%

ทิศทางเงินเฟ้อเดือนที่ผ่านมา เป็นไปตามราคาพลังงานของโลกเช่นเดียวกัน เมื่อมาดูเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปียังติดลบ 0.4% SCBEIC มองภาพเงินเฟ้อทั้งปีที่ 1.3% ดังนั้นไทยก็ไม่ได้เข้าข่าย Stagflation

SCBEIC บอกว่า ไทยจะอยู่ในภาวะเงินฝืด (Deflation) เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า การท่องเที่ยวทรุด กำลังซื้อจากประชาชนซบเซาจากรายได้ที่น้อยลง

ดังนั้นความต้องการซื้อหรืออุปสงค์โดยรวมของไทยไม่ขยายตัวตามประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ GDP ไทยมีแนวโน้มโตได้ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด Covid-19

SCBEIC มองว่า รัฐบาลต้องเร่งนโยบายการคลังที่จำเป็น เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อในประเทศ ผ่านงบประมาณที่วางไว้ปี 2564 ที่ 240,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการเยียวยาประชาชนต่างๆ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 มีแนวโน้มอยู่ในภาวะถดถอย เพราะกว่าเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริงๆ น่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนควรเร่งมือควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ SCBEIC มองว่า นโยบายการเงินผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะยังต้องใช้ดอกเบี้ยต่ำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ดังนั้นคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ในช่วง 2 ปีนี้ หรืออาจจะพิจารณาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ท่ามกลางธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังลดวงเงินซื้อพันธบัตร คาดว่า จะกระทบกับ Yield Curve ในตลาดตราสารหนี้ไทยด้วย ซึ่งแบงก์ชาติอาจจะใช้มาตรการแทรกแซงตลาดบอนด์ เพื่อมารองรับภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าได้ 

สำหรับ Stagflation ก็มีมุมมองอีกด้านว่า อาจจะกำลังเกิดขึ้นกับไทย เพราะเศรษฐกิจเราโตช้า ขณะที่อัตราการว่างงานหลังจากช่วง Covid-19 ของไทยเพิ่มขึ้น คงต้องดูสถานการณ์หลังจากนี้ว่า เงินเฟ้อไทยยังเร่งตัวต่อหรือไม่

ที่สำคัญคือ ต้องจับตาดูว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นอย่างไรต่อ 


เมื่อ E-commerce เติบใหญ่ โอกาสลงทุนอยู่ไหนบ้าง?

ช่วง Covid-19 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงมาก เพราะคนทั่วโลกออกไปซื้อของเองไม่ได้ แต่พอหมด Covid-19 พวกเรายังคงสั่งของออนไลน์กัน นั่นหมายความว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยังเติบโตต่อได้ในระยะยาว 


เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกติดลบ 2.6%

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานตัวเลข GDP ไทยไตรมาสแรก ตามคาดติดลบ 2.6% นับว่า หดตัวต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 5 ส่วนเงินเฟ้อในไตรมาสที่ผ่านมา ติดลบ 0.5% 

เมื่อลงลึกตามเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตัวเลขที่เป็นบวกไตรมาสแรก มาจากการลงทุนของรัฐและเอกชนโต 7.3% มูลค่าการส่งออกโต 5.3% การบริโภคของรัฐบาลโต 2.1% 

ส่วนตัวเลขที่ติดลบคือ การบริโภคภาคเอกชน หดตัว 0.5% สะท้อนภาพรายได้ประชาชนและความต้องการซื้อสินค้าลดลง

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน เม.ย. เร่งตัวขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นเฉลี่ย 203.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว

นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวไตรมาสที่ผ่านมา ก็ไม่ได้สดใส แม้จะมีมาตรการ Special Tourist Visa ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 20,172 คน ลดลง 99.7%

ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย ไตรมาสแรกอยู่ที่ 93,000 ล้านบาท ลดลง 51% ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับผลกระทบจาก ​Covid-19 

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ยังมีมุมมองเชิงบวกว่า ​GDP ไทยปี 2564 จะขยายตัว 1.5-2.5% จากที่หดตัว 6.1% ในปี 2563 โดยหวังว่าตัวเลขการส่งออกจะดัน GDP ได้ คาดว่าทั้งปีโต 10.3%

แต่ตัวเลข GDP ที่คาดการณ์ใหม่นี้ ถูกปรับลดจากมุมมองเดิมที่สภาพัฒน์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 2.5-3.5%

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ คาดว่า โต 1.6% โดยให้กรอบเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1-2%

สำหรับตัวเลขการว่างงานของไทยไตรมาสแรก สภาพัฒน์จะรายงาน ‘ภาวะสังคม’ ในสัปดาห์หน้า


ตลาดหุ้น Wall Street ปิดบวกปลายสัปดาห์

3 ดัชนีหลักของ Wall Street ปิดสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวผันผวน ขึ้นแรงลงแรง ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เผชิญกับความกังวลกับภาวะเงินเฟ้อ

หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พุ่ง 4.2% เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ส่งผลให้ 3 ดัชนีดิ่งลงในวันเดียวกัน แต่วันพฤหัสบดีก็กลับมารีบาวด์ได้อีก

ปิดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี DJIA เพิ่มขึ้น 1.06% เป็น 34,382.13 จุด ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 61.49% เป็น 4,173.85 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่ม 2.32% เป็น 13,429.98 จุด

แม้ว่าจะปิดท้ายสัปดาห์บวก แต่ 3 ดัชนีหลักยังอยู่ในช่วงขาลงรายสัปดาห์ นับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า ดัชนีแกว่งตัวขึ้นลงแรง เกิดจากการเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่าการลงทุนระยาว และตลาดช่วงนี้กำลังมองหาปัจจัยบวกใหม่ๆ เพื่อให้เป็นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาช่วงนี้ จึงมีผลต่อความเคลื่อนไหวต่อดัชนีและราคาหุ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น อาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาว

เมื่อเงินเฟ้อเร่งตัว ดอกเบี้ยนโยบายต้องปรับขึ้น เพื่อชะลอความร้อนแรง แต่ปัจจุบัน Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2566 

แต่นักวิเคราะห์มองว่า การเติบโตยอดค้าปลีกชะลอตัว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากราคายังคงอยู่ในทิศทางที่สูงขึ้น สะท้อนว่า ในขณะที่ความต้องการซื้อกำลังเติบโต แต่ภาวะเงินเฟ้อจะยังไม่เกิดขึ้น

นักวิเคราะห์บอกว่า กำไรของหุ้นในกลุ่ม S&P500 จะเติบโต 50.6% ในปี 2564 ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผลประกอบการก็สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้


โอกาสลงทุนทั่วโลกง่ายๆ ผ่าน ETF

คุณตราวุทธิ์ได้มีโอกาส Live สดร่วมกับคุณสุทธิชัย หยุ่น พูดถึงหลักการจัดพอร์ตลงทุน Global ETF เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งอธิบายถึงความน่าสนใจของ ETF ต่างประเทศ


ราคาหุ้นเทคจีนย่อตัว ถึงเวลาซื้อหรือยัง

JP Morgan บอกว่า หุ้นเทคโนโลยีของจีนมีความน่าสนใจ แม้ว่าราคาจะยังมีความผันผวนในระยะสั้น จากการปราบปรามด้านกฎระเบียบจาก ก.ล.ต. จีน เพราะแต่ละบริษัทยังมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว 

หุ้นบิ๊กเทคจีน Alibaba JD.com และ Meituan ปรับตัวลดลง ตั้งแต่ทางการจีนตรวจสอบการผูกขาดตลาดของบริษัทกลุ่มนี้มาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

แต่ JP Morgan บอกว่า ช่วงเวลานี้อยู่ในจุดที่ควรเข้าลงทุน เพราะด้วยปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท จะสามารถเติบโตได้ในอนาคต 

ความพยายามตรวจสอบจาก ก.ล.ต. จีน ทำให้นักลงทุนเปลี่ยนจากหุ้นบิ๊กเทคจีน ซึ่งเป็นหุ้นเติบโต (Growth Stock) ไปลงทุนหุ้นกลุ่มอื่น ดังนั้นมูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทเทคโนโลยีบางตัวลดลงไปด้วย

ราคา Alibaba ลดลงราว 7.48% ในปีนี้ ส่วน JD.com และ Meituan ลดลง 16% และ 10.8% ตามลำดับ

JP Morgan มองว่า บิ๊กเทคจีนจะยังคงเผชิญอุปสรรคด้านกฎระเบียบจากทางการจีนอยู่ แต่เป็นการควบคุมที่สมเหตุสมผล และแต่ละบริษัทจะปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ได้ 


Global ETF พอร์ตลงทุนสูตรสำเร็จ รับมือความผันผวน

ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ‘จัดสรรสินทรัพย์’ และ ‘กระจายความเสี่ยง’ ลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันทั่วโลก มีความสำคัญ เพราะจะทำให้พอร์ตลงทุนผันผวนน้อยลง แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี

ลงทุน Global ETF ให้เงินงอกเงยได้ 127% ใน 10 ปี

อัปเดต Back Test ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีของ Global ETF ที่บอกว่า หากลงทุนระยะยาว เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่

Global ETF ทางเลือก ‘ดีต่อใจ’ รับมือ ‘ความผันผวน’

เปรียบเทียบกราฟ Global ETF แผนเติบโตของคุณตราวุทธิ์ เทียบกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะมีหุ้นถึง 80% ในพอร์ต แต่ความผันผวนน้อยกว่า และเมื่อตลาดหุ้นขาขึ้น ผลตอบแทนในพอร์ตก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน


ผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 ทั่วโลกอาจจะมากกว่าที่รายงาน

The Economist ทำแบบจำลองคำนวณสถิติผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 ทั่วโลก พบว่า หลายประเทศมีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำกว่าความเป็นจริง

อัปเดตล่าสุด ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลก ถูกรายงานไว้ที่ 3.39 ล้านคน แต่วิธีการรายงานผู้เสียชีวิตของแต่ละประเทศ ไม่ได้จัดทำอย่างทันท่วงที ดังนั้นตัวเลขที่รายงานมาอย่างเป็นทางการ มีแนวโน้มต่ำกว่ายอดรวมที่แท้จริง

ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้สร้างแบบจำลอง จำนวนผู้เสียชีวิตส่วนเกินในช่วงที่เกิดการระบาดในประเทศที่ไม่ได้รายงาน พบความเป็นไปได้ 95% ที่ผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 7.1-12.7 ล้านคน โดยมีค่าเฉลี่ย 10.2 ล้านคน 

ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดรอบใหม่ในหลายๆ ประเทศ และเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตมีโอกาสสูงขึ้นกว่านี้ 

The Economist มองว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่าจริง รายงานมาจากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำกับรายได้ปานกลาง ยกตัวอย่าง อัตราการเสียชีวิตประเทศในแอฟริกา 14 เท่าของตัวเลขจริง 

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะอยู่ที่ 1.17 เท่าของตัวเลขที่รายงานออกมา สะท้อนว่า มีความแตกต่างกันมากในกระบวนการรายงานสถิติผู้เสียชีวิต


Jitta Wealth

Exclusive Q&A with CEO

สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่า จะเริ่มต้นลงทุนกับ Jitta Wealth อย่างไร หรือจะเลือกจัดพอร์ตลงทุนอย่างไร ธีมไหนน่าสนใจนำมาจัดพอร์ตบ้าง มาร่วม Webinar ผ่าน Zoom ถามคุณตราวุทธิ์ได้โดยตรง


ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังประกาศออกมา ล้วนส่งผลต่อตลาดการลงทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว สถานการณ์ต่างกันมาก ตอนนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังรีบาวด์ หลังจากที่ดิ่งลงแรง ราคาน้ำมันก็ลดลงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปีนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัว เพราะวัคซีนกำลังกระจายไปทั่วโลก ทุกคนกำลังจะกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ การท่องเที่ยวและกำลังซื้อเริ่มกลับมา ภาวะเงินเฟ้อที่กังวลกันก็เกิดขึ้นได้

แต่ยังเป็นตัวเลขแค่เดือนเดียว ยังต้องดูต่อไป ว่าเงินเฟ้อหลังจากนี้จะเร่งตัวขึ้นหรือไม่ แล้วเราจะรับมืออย่างไร

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – Fed จะขึ้นดอกเบี้ยตาม Yellen หรือไม่

Jitta Wealth Journal – ขึ้นภาษี Capital Gain สหรัฐฯ จะส่งผลอย่างไร

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด