Jitta Wealth Journal - China Evergrande กระทบพอร์ตหรือไม่?

21 กันยายน 2564Jitta WealthJitta Wealth Journal

จีนเตรียมเพ่งเล็งธุรกิจเสริมความงาม

Jitta Wealth Journal ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 21 กันยายน 2564 ทีมงานได้รวบรวมความเคลื่อนไหวการลงทุนจากทุกมุมโลก ดังนี้

  • หนี้ China Evergrande สะเทือนเศรษฐกิจจีนหรือไม่
  • ‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ โตไม่สน Covid-19 
  • เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ปรับตัวสูงขึ้น 5.3%
  • Google โดนรัฐบาลเกาหลีใต้ปรับกว่า 5,800 ล้านบาท
  • Viu ก้าวขึ้นแซง Netflix เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน
  • รัฐบาลจีนเข้าจัดระเบียบธุรกิจเสริมความงาม
  • Tencent หลุดอันดับ Global Top 10 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
  • บริษัทเทคโนโลยีเตรียมรับมือราคาแร่หายากพุ่งสูงขึ้น
  • การใช้จ่ายตลาดเกมสูงถึง 37,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 8 เดือนแรก

 ไปติดตามกันได้เลย


ใหม่! Thematic Optimize

อยากลงทุนแบบ Thematic แต่ธีมเมกะเทรนด์มีให้เลือกมากมาย…ไม่รู้จะเลือกอะไรดี

#เลือกให้ถูก Thematic Optimize เลือกให้

ครั้งแรกในประเทศไทย AI ช่วยจัดพอร์ตธีมเมกะเทรนด์ให้คุณ
พิสูจน์จากทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังสูงถึง 20%* ต่อปี

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

*ผลตอบแทนทบต้นจากการทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2563


Exclusive Q&A with CEO ประจำเดือนกันยายน

หากใครที่พลาดไม่ได้เข้าร่วม Webinar ถามตอบกับคุณตราวุทธิ์ ลองเข้าดู Live ย้อนหลัง หรืออ่านสรุปที่ทีมงาน Jitta Wealth ได้ทำมาให้ หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับบริการใหม่ Thematic Optimize ติดตามจากลิงก์ข้างล่างนี้ได้เลย

ดูวิดีโอย้อนหลัง

อ่านสรุป Webinar 


หนี้ China Evergrande สะเทือนเศรษฐกิจจีนหรือไม่ 

China Evergrande บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เบอร์ 2 ของจีน จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง กำลังเผชิญหนี้สินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหนี้ของสถาบันการเงินและหนี้หุ้นกู้ของนักลงทุน

ภาพชัดๆ คือ China Evergrande กำลังจะผิดนัดชำระหนี้ และเกิด NPL (Non-performing Loans) ในภาคการเงิน ด้วยมูลหนี้ที่สูงมาก คิดเป็น 2% ของ GDP จีน แน่นอนว่า กำลังสั่นสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ของจีน

จริงๆ แล้วผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องยาวเป็นลูกโซ่เลย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การระดมทุนผ่านหุ้นกู้ รวมไปถึงโครงการที่อยู่ในแผน ผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และแรงงานที่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

รวมไปถึงลูกค้ากว่า 1.5 ล้านรายที่วางเงินดาวน์เพื่อจองที่อยู่อาศัยเอาไว้แล้วด้วย เรียกได้ว่า ใครๆ ต่างก็อกสั่นขวัญแขวน ไม่รู้ว่าบริษัทจะหาทางออกอย่างไร

ว่ากันว่า…วิกฤตครั้งนี้ อาจจะเหมือนการล้มละลายของ Lehman Brothers ก่อนวิกฤต ​Subprime ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2551

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้น China Evergrande ปรับตัวลงไปกว่า 25% ภายในเวลา 3 วัน หลังศาลตัดสินอายัดบัญชีเงินฝากมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น China Evergrande ร่วงไปถึง 60% หลังรัฐบาลจีนเริ่มออกมาตรการควบคุมอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวดมากขึ้น และเพิ่มข้อจำกัดมากมายในการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  

นอกจากราคาหุ้นของบริษัทตกไปเกือบเท่าตัวแล้ว Evergrande เองยังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักและขาดสภาพคล่องมาดำเนินธุรกิจ

หากบริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ความเสียหายครั้งนี้ จะกระทบต่อสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ ภาคก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภคที่ซื้อที่อยู่อาศัยกับ China Evergrande

นักลงทุนตั้งคำถามว่า วิกฤตนี้จะเป็นชนวนนำไปสู่ ‘วิกฤต Subprime ในเอเชีย’ หรือไม่ เพราะปัญหาหนี้สินมากมายของ ทำให้ S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือของ China Evergrande เหลือเพียง CCC คือ มีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้

Fitch Rating ระบุว่า บริษัทจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น หาก China Evergrande ผิดนัดชำระหนี้จริง ทำให้สินเชื่อในกลุ่มผู้สร้างบ้านมีช่องว่างมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดปัญหากับธนาคารขนาดเล็กด้วย 

จึงทำให้ วิกฤตหนี้ China Evergrande มีความสำคัญ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ในกลไกสำคัญของเศรษฐกิจจีน มีสัดส่วนคิดเป็น 29% ของมูลค่า GDP ยิ่งเป็นเบอร์ 2 หากล้มละลายจริง จะเป็นบททดสอบข้อใหญ่ให้ทางการจีนเลยทีเดียว 

แต่นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า มีโอกาสน้อยมากที่ทางการจีนจะปล่อยให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับนี้ล้มละลาย เชื่อว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือหรือบังคับปรับโครงสร้างได้ 

ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดสภาพคล่อง 90,000 ล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงิน ผ่านสัญญากู้ยืมระยะสั้น (Repo) อายุ 7 และ 14 วัน นับเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องภายใน 1 วันที่มีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บรรเทาวิกฤตในตลาดการเงินเบื้องต้น 

นอกจากนี้ ทางการจีนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำแผนจัดการปัญหาหนี้ของ China Evergrande รวมถึงการประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์สินที่มีศักยภาพ ภายในเดือนนี้ จะมีการลงนามข้อเสนอเพื่อให้บริษัทสามารถเจรจากำหนดเวลาการชำระเงินกับธนาคารและเจ้าหนี้รายอื่นได้อีกครั้ง ปูทางสำหรับการบรรเทาโทษชั่วคราว

วิธีรับมือกับข่าวนี้ในมุมมองของ Jitta Wealth คือ ยังคาดการณ์ไม่ได้ การล้มละลายยังไม่เกิด ระหว่างนี้หน่วยงานกำกับดูแลของจีนคงจะมีมาตรการออกมา เพื่อบรรเทาความเสียหายต่อระบบการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจโดยรวม

China Evergrande บนแพลตฟอร์มของ Jitta มีวิเคราะห์มาแล้วว่า บริษัทมีงบการเงินอ่อนแอหลายๆ ด้าน เช่น กำไรลดลง มูลหนี้สูง กระแสเงินสดใช้เวลาหมุนเวียนมากกว่า 1 ปี ขาดการเติบโต และปันผลให้ผู้ถือหุ้นน้อย

แม้ว่า ราคาหุ้นปัจจุบันจะอยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ก็ไม่ได้แปลว่า งบการเงินจะดีเสมอไป ทำให้อัลกอริทึมของ Jitta ไม่จัดให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เบอร์ 2 ของจีน อยู่ในอันดับสูงๆ ของ Jitta Ranking ฮ่องกง

ถึงจะเป็นบริษัทจีน แต่ซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง ไม่มีผลกระทบต่อ Jitta Ranking จีน และจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อ Thematic ธีมตลาดหุ้นจีน เพราะ iShares MSCI China ETF มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ประมาณ 0.02% ถืออยู่ท้ายตารางของ ETF เลย

เพราะฉะนั้น ยังลงทุน Jitta Ranking จีนและ Thematic ธีมตลาดหุ้นจีนกันได้อย่างสบายใจ


จัดพอร์ตเติบโตไปกับ ‘หุ้นเทคโนโลยีจีน’ เมื่อฟ้าเปิด

คุณตราวุทธิ์ได้เขียนบทความวิธีรับมือลงทุนหุ้นจีนอย่างไร กับความเสี่ยงมาตรการกำกับดูแลของทางการจีน (Regulatory Risk) ในกลุ่มเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา และอาจจะมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ตามมาในอนาคต

อ่านต่อ


‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ โตไม่สน Covid-19 

‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ กลายเป็นตลาดหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเติบโตของดัชนี SENSEX กว่า 23%ในช่วงปี 2564

ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียแซงตลาดหุ้นฝรั่งเศสมาเป็นอันดับ 6 และมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 3.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ท่ามกลางวิกฤต Covid-19 ที่ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องเร่งยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่ตลาดหุ้นอินเดียกลับเติบโตสวนทางกัน และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลง เมื่อเดือนมีนาคม 2563

ผ่านมาได้ 1 ปีครึ่งตลาดหุ้นอินเดียสามารถฟื้นฟูมาร์เก็ตแคปได้อีก 2.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี SENSEX และ NIFTY50 ได้ปรับตัวลงเล็กน้อย ซึ่ง SENSEX ลดลงประมาณ 0.21% เหลือ 59,016 จุด ในขณะที่ NIFTY50 ลดลง 0.25% ปิดที่ 17,585 จุด 

แต่ดัชนี 2 ตัวยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และมีแนวโน้มทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นอินเดียมีศักยภาพเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อมาร์เก็ตแคปโต สะท้อนว่า ราคาหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ศักยภาพของตลาดหุ้นอินเดียที่น่าสนใจ อินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคนที่ขับเคลื่อนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในภาพใหญ่

Jitta Wealth มองว่า อินเดียเป็นตลาดหุ้นที่เติบโตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า มีความน่าสนใจทั้งขนาดและประชากรเหมือนๆ จีน เพียงแต่จีนพัฒนาตัวเองไปได้เร็วกว่า สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้

สำหรับตลาดหุ้นอินเดียอยู่ในช่วงกำลังเติบโต มีรายได้มาจากความต้องในประเทศ และศักยภาพในการทำธุรกิจในต่างประเทศด้วย สะท้อนว่า บริษัทสัญชาติอินเดียมีความสามารถในการแข่งขันสูงบนเวทีโลกด้วย

หากคุณสนใจ ‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ กองทุนส่วนบุคคล Thematic DIY มีธีมนี้ให้คุณเลือกจัดพอร์ตเอง ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ณ 17 กันยายน อยู่ที่ 56.86% ตามการเติบโตของดัชนีตลาดหุ้น


Jitta Wealth

โอกาสลงทุนใน ‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ อยู่ที่ไหนบ้าง

เราจะพาคุณไปทำความรู้จัก ETF และกองทุนรวมที่ลงทุนใน ‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ พร้อมผ่าไส้ในว่า ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้าง มีผลตอบแทนย้อนหลังเป็นอย่างไร ทานกระแสวิกฤต Covid-19 ได้ดีแค่ไหน

อ่านต่อ


ขุมพลังเศรษฐกิจ New India แต้มต่อตลาดหุ้นขึ้นแท่น ‘กระทิง’ 

คุณตราวุทธิ์เขียนบทความถึงความน่าสนใจของ ‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ ประเทศเกิดใหม่ ที่ถูกมองว่า มูลค่าเศรษฐกิจจะแซงประเทศพัฒนาแล้วในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ถึงเวลาหรือยังที่คุณจะลองจัดพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นที่มีหลายๆ ธุรกิจเติบโตบนเวทีโลก

อ่านต่อ


Q&A 10 คำถาม มีคำตอบ เรื่อง Global ETF ของ Jitta Wealth

เพจ Stock Vitamins – วิตามินหุ้น รีวิวพอร์ตลงทุน Global ETF และสรุปคอนเซ็ปต์พอร์ตลงทุนสำหรับวางแผนทางการเงินระยะยาว ไม่ว่าจะรับความเสี่ยงได้มาก ปานกลาง หรือน้อย Jitta Wealth ออกแบบสูตรสำเร็จมาให้แล้ว

อ่านต่อ


สรุปสถานการณ์ลงทุนทั่วโลก 

📌กระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้น 5.3%ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ 5.4% ซึ่งดัชนีนี้เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อและราคาสินค้ารายเดือน

โดยในเดือนกรกฎาคม ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551

📌คณะกรรมาธิการค้ายุติธรรมของเกาหลีใต้ (KFTC) วางแผนปรับ Google กว่า 5,800 ล้านบาท ฐานห้ามผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอย่าง Samsung ไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการอื่น ซึ่งจะเป็นบทลงโทษต่อต้านการผูกขาดที่ใหญ่ที่สุด

เกาหลีใต้เริ่มบังคับใช้กฎหมายโทรคมนาคมฉบับปรับปรุง ห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการแอปสโตร์ เช่น Google และ Apple กำหนดให้ผู้ใช้สมาร์ตโฟนชำระเงินด้วยระบบการซื้อในแอป เพราะนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ทั้ง 2 ค่ายด้วย 

โดยทั้งผู้ใช้งานและนักพัฒนาแอปพลิเคชันต้องมีอิสระในการเลือกช่องทางชำระเงิน ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่นำกฎนี้มาใช้ 

📌 เวียดนามเร่งฉีดวัคซีน Covid-19 หวังคลายล็อกดาวน์ปลายเดือนกันยายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ระบุว่า จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกรุงฮานอยได้มากกว่า 1 ล้านคนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

เวียดนามจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้อีกครั้ง ตอนนี้ประชาชนในกรุงฮานอย 80% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และทางการหวังว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็น 100% ภายในสัปดาห์นี้ 

📌 Viu สตรีมมิงสัญชาติฮ่องกง ก้าวขึ้นแซง Netflix เป็นอันดับ 2 ของตลาดสตรีมมิงเอเชียตะวันออกเชียงใต้ พร้อมเดินหน้าเบียด Disney+ เพื่อเป็นที่ 1 ในภูมิภาค

Netflix ผู้บุกเบิกตลาดร่วงไปอยู่อันดับ 3 และอันดับ 1 เป็นของ Disney+ สำหรับ Viu มีการเติบโตทางรายได้ถึง 47% ในครึ่งปีแรก 2564 จำนวนผู้ชมกว่า 49 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 

📌 รัฐบาลจีนกำลังเข้าจัดระเบียบธุรกิจเสริมความงาม โดย People’s Daily สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ตีพิมพ์บทความ เรียกร้องให้มีการควบคุมโฆษณาที่เกี่ยวกับการศัลยกรรมความงาม ที่กล่าวอ้างเกินจริง หรือนำเสนอข้อมูลเท็จ

โดยการวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามครั้งนี้ เกิดขึ้นในระหว่างที่รัฐบาลจีนกำลังเข้ามาจัดระเบียบธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจเทคโนโลยี การศึกษา ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสริมสร้างการควบคุมเศรษฐกิจและสังคม หลังจากปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ทำเงินมหาศาลมาหลายปี 

📌 Tencent หลุดอันดับ Global Top 10 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยเกิดจากราคาหุ้นลดลง จากการตรวจสอบด้านกฎระเบียบของทางการจีน ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับนักลงทุน

ก่อนหน้านี้ Tencent อยู่ตำแหน่ง 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามมูลค่าตลาด และเป็นหุ้นจีนที่ติดโผมาโดยตลอด ตอนนี้ Nvidia บริษัทผู้ผลิตชิป ขึ้นมาติด 10 อันดับเป็นที่เรียบร้อย

📌 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องเตรียมรับมือกับราคาแร่หายากที่พุ่งสูงขึ้น จากแรงกดดันสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนยังคงมีอยู่ โดยทั้ง 2 ประเทศมีอุตสาหกรรมที่ข้องกับทรัพยากรแร่ธาตุหายากเป็นจำนวนมาก 

ราคาแร่หายากที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลไปกับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ด้วยต้นทุนการผลิตสูงขึ้น คาดการณ์ว่า จะทำให้กำไรขั้นต้นของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ลดลงไปถึง 20% และยังไร้วี่แววว่า ราคาของแร่หายากจะลดลงในเร็ววัน

จีนเป็นประเทศเดียวที่ครอบครองกระบวนการผลิตแร่หายากแบบครบวงจรในขณะนี้ ทำให้จีนมีอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ มากขึ้น และนอกจากราคาแร่ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อบริษัทเทคโนโลยีแล้ว ยังส่งผลต่อบริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตในหลายๆ ประเทศอีกด้วย

📌 อุตสาหกรรมเกมยังคงสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน ด้วยยอดขายที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้บริโภคใช้จ่ายในอุตสาหกรรมเกมเพิ่มมากขึ้นถึง 13% หรือประมาณ 37,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา 

สำหรับเดือนสิงหาคม อุตสาหกรรมเกมมีการใช้จ่ายไป 4,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 7% โดยแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายฮาร์ดแวร์เกมเพิ่มขึ้น 45% อยู่ที่ 329 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดยเจ้าใหญ่ Microsoft และ Sony ที่ออกเครื่องเล่นเกมคอนโซล

ทำให้ช่วง 8 เดือนแรก การใช้จ่ายกลุ่มเกมคอนโซลเติบโต 49% มาอยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก Nintendo Switch และ PlayStation 5


นี่คือ สรุปข่าวจากทั่วโลกที่มีผลต่อการลงทุนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งปัจจัยบวก ปัจจัยลบ กระทบมาก และกระทบน้อย อยู่ที่ว่า ตัวเราเองจะมีมุมมองต่อข่าวที่เกิดขึ้นอย่างไร

หากคุณรู้จักสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ดีพอ คุณไม่ได้ตัดสินใจลงทุนผิดเลย เพียงแค่ข่าวหรือปัจจัยลบๆ ที่เข้ามา อาจจะทำให้คุณไขว้เขว และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมพอร์ตถึงลดลง 

ทั้งๆ ที่คุณเลือกธีมที่เติบโตระยะยาว ลงทุนหุ้นที่มีการเติบโต ในโลกของการลงทุนระยะยาว ผลลัพธ์ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ให้พิจารณาที่เหตุผล เป้าหมายการลงทุน และความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – ถึงเวลายุติสงครามการค้าหรือยัง

Jitta Wealth Journal – 3 ปัจจัยดันเงินบาทแข็งค่า

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด