'ค่าเงิน' ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุนต่างประเทศ

3 สิงหาคม 2565Jitta RankingJitta WealthThematic

ไฮไลต์

  • ค่าเงิน จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ มากมายทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย 
  • ค่าเงินแข็งค่า ส่งผลดีต่อนักลงทุน เพราะสามารถนำเงินไปแลกสกุลเงินต่างประเทศได้มากขึ้น และ ด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้น และช่วยลดต้นทุนในการลงทุนต่างประเทศของคุณลงได้อย่างชัดเจน ค่าเงินอ่อนค่า ก็ส่งผลดีต่อนักลงทุน ที่ต้องการนำเงินที่ลงทุนต่างประเทศกลับเข้าประเทศ จะทำให้แลกเงินได้มากขึ้นไปด้วย 
  • ค่าเงิน จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ มากมายทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการของสกุลเงิน โดยจะส่งผลกระทบที่คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 
  • Jitta Wealth ไม่ทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เนื่องจากทุกนโยบายลงทุนของ Jitta Wealth คือการลงทุนระยะยาว ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินลง และการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน จะทำให้ต้นทุนการลงทุนของคุณเพิ่มขึ้นด้วย  
  • กลยุทธ์ลงทุนเพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน มีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน ประกอบไปด้วย Dollar-Cost Averaging (DCA) Value Averaging (VA) และ Market Timing เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและสามารถปฏิบัติตามได้อย่างง่าย เพียงแค่ต้องใช้วินัยในการลงทุนค่อนข้างสูง

ทุกวันนี้…โลกของเราเปิดกว้างมาก ทำให้โอกาสการลงทุนต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด รวมไปถึงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ที่จะเปิดโอกาสให้คุณได้นำเงินออกไปผจญภัยในดินแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

นักลงทุนสามารถกระจายเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ บางคนอาจจะแบ่งเงินเย็นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ไปลงทุนในต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ แต่การลงทุนต่างประเทศก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่หลายคนไม่คุ้นเคย ซึ่งก็คือ ‘ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘ความเสี่ยงด้านค่าเงิน’ นั่นเอง

นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจไปลงทุนต่างประเทศจะรู้จักสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนอย่างดีเยี่ยม รู้แนวโน้มเมกะเทรนด์ และรู้จักหุ้นแต่ละบริษัทว่าทำธุรกิจอะไรบ้าง แต่หลายคนกลับยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบเรื่องค่าเงินว่ามีผลต่อการลงทุนต่างประเทศอย่างไร?

ในบทความนี้ เราจะมาเปิดคลาส ‘ค่าเงิน 101’ ที่จะสอนทุกเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับค่าเงินว่าส่งผลต่อการลงทุนต่างประเทศอย่างไร รวมไปถึงแนวทางการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

หลายคนอาจมองว่าความผันผวนของค่าเงินนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัว น่าสับสน จึงจับจังหวะลงทุนในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเท่านั้น เราอยากบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะเราได้ไปหาวิธีที่มีประสิทธิภาพและทำตามได้ง่ายที่สุดในการรับมือกับค่าเงินที่ผันผวนมาให้กับคุณแล้ว 

‘ค่าเงิน’ ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก

หากลงทุนในประเทศ คุณจะไม่พบกับความเสี่ยงเรื่องค่าเงินสักเท่าไรนัก แต่หากเป็นการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ‘ความเสี่ยงด้านค่าเงิน’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ข่าวดีคือคุณสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้

แต่ก่อนอื่น เราอยากให้คุณเข้าใจคำว่า ‘ค่าเงินแข็งค่า’ และ ‘ค่าเงินอ่อนค่า’ กันก่อน เพียงแค่รู้ความหมายของทั้งสองคำนี้ จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องค่าเงินมากยิ่งขึ้น 

  • ค่าเงินแข็งค่า หมายความว่า สกุลเงินนั้นมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุล จึงต้องใช้จำนวนที่ ‘น้อยลง’ ในการแลกเปลี่ยนเป็นอีกสกุลเงินนึง
  • ค่าเงินอ่อนค่า หมายความว่า สกุลเงินนั้นมีค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุล จึงต้องใช้จำนวนที่ ’มากขึ้น’ ในการแลกเปลี่ยนเป็นอีกสกุลเงินนึง

ตัวอย่างเช่น ในอดีต 30 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปัจจุบัน 36.50 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวอย่างนี้มีความหมายว่า ‘เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ’ และ ‘เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท’ นั่นเอง

จากตัวอย่าง คุณสามารถบอกได้ง่ายๆ ว่าสกุลเงินใดที่แข็งค่าขึ้นและสกุลเงินใดที่อ่อนค่าลง และจะสังเกตว่าการเปรียบเทียบค่าเงินนั้น ต้องเปรียบเทียบระหว่างสกุลเงิน 2 สกุลเสมอ 

แต่หากคุณไม่ได้มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ระดับเข้มข้น ก็อาจเกิดข้อสงสัยตามมาว่า ‘แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป’

เพื่อทำความเข้าใจกลไลที่ทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราจะอธิบายให้คุณได้เห็นถึงปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงิน หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ให้คุณสันนิษฐานเอาไว้ได้เลยว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินอย่างแน่นอน

ค่าเงิน
  • อัตราดอกเบี้ย (Rate of Interest) 
    • การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อค่าเงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะดึงเงินให้ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศนั้นมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สกุลเงินนั้นแข็งค่าขึ้นจากความต้องการที่สูงขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาท
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth)
    • ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูง ก็จะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจากมูลค่าการส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อบริษัทไทยส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และบริษัทคู่ค้าชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ บริษัทไทยก็จะทำการแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทเพื่อใช้ในกิจการต่อไป
    • เศรษฐกิจที่เติบโตจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลต่อเนื่องให้ธนาคารกลางของประเทศนั้นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อลง และอย่างที่บอกไปว่าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นแข็งค่าขึ้นด้วย
  • ความต้องการของสกุลเงิน (Demand)
    • อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าเมื่อมีความต้องการสินค้าใดสินค้านึงเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้านั้นๆ สูงขึ้นด้วย ไม่เว้นแม้แต่สกุลเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน หากความต้องการสกุลเงินใดเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้สกุลเงินนั้นแข็งค่าตามไปด้วย แต่กลับกันหากความต้องการลดน้อยลงจะส่งผลให้สกุลเงินนั้นอ่อนค่าลง

ผู้ที่ต้องให้ความสนใจกับค่าเงินเป็นอย่างยิ่ง คือ ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า แต่เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราจะขอสมมติทั้งสองคนนี้เป็นบุคคลขึ้นมาโดยจะเรียกเขาว่า ‘นายจิตตะ’ และ ‘นายมั่งคั่ง’ รวมไปถึงตัวอย่างที่จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องค่าเงินได้ใน 5 นาที

ผลกระทบต่อนายจิตตะ และนายมั่งคั่ง เมื่อค่าเงินแข็ง-เงินอ่อน

สถานที่สำหรับตัวอย่างนี้จะยกให้เป็น ‘ประเทศไทย’ และพูดถึงสกุลเงิน ‘บาท’ โดยจะมีตัวอย่างที่คุณสามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดายดังนี้

ตัวอย่างที่ 1

นายจิตตะ ต้องการไปซื้อ iPhone จากต่างประเทศมาเพื่อขายต่อในประเทศไทย การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาขายต่อ จำเป็นต้องแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปซื้อสินค้า ในช่วงเวลานั้นค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 30 บาท

นายจิตตะต้องการแลกเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องใช้เงินบาททั้งสิ้น 30 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการนำเข้า iPhone ลง เพราะราคา iPhone ถูกลงนั่นเอง

นายมั่งคั่ง ต้องการขายข้าวหอมมะลิให้คู่ค้าจากต่างประเทศ หมายความว่านายมั่งคั่งจะได้รับการจ่ายเงินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นายมั่งคั่งต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับมาแปลงเป็นเงินบาทอีกครั้ง แต่ในช่วงเวลานั้นค่าเงินบาทแข็งค่า

หากนายมั่งคั่งขายข้าวหอมมะลิได้เงินมาทั้งหมด 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากตัวอย่างแรกเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 28 บาท จะทำให้นายมั่งคั่งได้รับเงินบาทเพียงแค่ 28 ล้านบาทเท่านั้น แทนที่จะได้เงิน 30 ล้านบาท

ตัวอย่างที่ 2

นายจิตตะ ต้องการไปซื้อ iPhone จากต่างประเทศมาเพื่อขายต่อในประเทศไทยเช่นเดิม และต้องแลกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปซื้อสินค้า แต่ในช่วงเวลานั้นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37 บาท

นายจิตตะต้องการแลกเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องใช้เงินบาททั้งสิ้น 37 ล้านบาท ซึ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้า iPhone สูงมากขึ้นไปด้วย

นายมั่งคั่ง ต้องการนำข้าวหอมมะลิที่ปลูกไปขายต่างประเทศเช่นเดิม โดยรับเงินชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยราคาข้าวหอมมะลิที่เท่าเดิม หากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จะทำให้นายมั่งคั่งได้รับการชำระเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่าเดิมแต่นำมาแปลงเป็นเงินบาทไทยได้สูงถึง 37.5 ล้านบาท

คุณจะเห็นได้ว่าเพียงแค่ค่าเงินขยับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะส่งผลต่อค่าเงินที่นายจิตตะและนายมั่งคั่งได้รับหรือต้องใช้ชำระสินค้าในทันที ซึ่งจะทำให้แต่ละคนได้รับผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป 

ตอนนี้หลายคนคงสงสัยว่า นักลงทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ จะได้รับผลประโยชน์เหมือนกับใครกันแน่ ซึ่งเราสามารถบอกได้อย่างชัดเจนเลยว่า 

เมื่อนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ‘นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์เหมือนกับนายจิตตะ’ แต่เมื่อแลกเงินกลับเข้าประเทศ ‘นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์เหมือนนายมั่งคั่ง’ หมายความว่านักลงทุนมีโอกาสได้รับประโยชน์ทั้งในช่วงค่าเงินแข็งค่าและอ่อนค่านั่นเอง

นักลงทุนไทย ขาไปชอบบาทแข็ง ขากลับชอบบาทอ่อน

ลองคิดภาพตามหากคุณสามารถเลือกได้ ระหว่างการนำเงิน 30 ล้านบาทไปแลกเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับนำเงิน 40 ล้านบาทไปแลกเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คุณจะเลือกทางไหน  

แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยต้องตอบทางเลือกแรกอย่างแน่นอน เพราะมันช่วยลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเพื่อนำไปลงทุนต่างประเทศลงไปได้มหาศาล นั่นคือสาเหตุที่นักลงทุนไทยหลายคนมีความกังวลเมื่อเงินบาทเกิดอ่อนค่าขึ้นมา เมื่อต้องแลกเงินไปลงทุนยังต่างประเทศ

กลับกันหากคุณสามารถเลือกได้ว่า นำเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐกลับมาแลกเป็นเงิน 40 ล้านบาท หรือ นำเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐกลับมาแลกเป็นเงิน 30 ล้านบาท คุณจะเลือกแบบใด ซึ่งก็เป็นคำตอบเดิมที่คุณน่าจะเลือกทางเลือกแรก 

เมื่อเงินบาทอ่อนค่าหรือเงินต่างประเทศที่คุณกำลังจะลงทุนแข็งค่าขึ้น ต้นทุนในการแลกเงินเพื่อไปลงทุนย่อมสูงขึ้นกว่าเดิม แต่โดยปกติแล้วจะมีวิธีในการลดความเสี่ยงจากค่าเงินอยู่ และวิธีนั้นคือการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Currency Hedging) นั่นเอง

ทำไม Jitta Wealth ถึงไม่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ทุกแผนการลงทุนของ Jitta Wealth จะไม่มีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะเราเห็นว่าการเลือกหุ้นที่ดีและการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจะทำผลตอบแทนสะสมให้คุณได้มากกว่าในระยะยาว

และยังมีอีก 2 เหตุผลหลักที่ทำให้การทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของคุณในระยะยาวได้ นั่นคือ

  1. ทุกการลงทุนใน Jitta Wealth คือ ลงทุนระยะยาว 

Jitta Wealth ออกแบบนโยบายลงทุนต่างๆ ให้เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวทั้งหมด (ระยะเวลาการลงทุน 3-5 ปีขึ้นไป) ขณะที่การทำประกันความเสี่ยงค่าเงินนั้น ต้องทำประกันทุกปี จึงเหมาะกับการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศในระยะสั้นๆ แต่สำหรับการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนรายปีที่เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1% ก็ช่วยขจัดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ลดลงได้แล้ว

  1. ทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน = ต้นทุนที่คุณต้องเสียเพิ่ม

ในการทำประกันความเสี่ยงด้านค่าเงิน คุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในสัดส่วนที่สูง แต่เจตนารมณ์ของ Jitta Wealth คือต้องการให้คุณจ่ายค่าธรรมเนียมให้ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับผลตอบแทนของคุณ และหากคุณได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเอาไว้ผิดทาง เช่น ทำประกันค่าเงินในกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เงินบาทกลับอ่อนค่าลงในความเป็นจริง นั่นเท่ากับว่าคุณต้องเสียค่าธรรมเนียมการทำประกันค่าเงินไปฟรีๆ โดยไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมาเลยในปีนั้น

สรุปก็คือ คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มเติมในการทำประกันค่าเงิน แต่ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเสมอไป

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ Jitta Wealth ไม่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะไม่ต้องการเพิ่มต้นทุนให้กับคุณ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีกลยุทธ์ลงทุนเพื่อขจัดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินมาให้กับคุณเลย เพราะคุณกำลังจะได้รู้ถึงวิธีที่แสนง่ายดาย แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก

กลยุทธ์ลงทุน รับมือ ‘ค่าเงิน’ ผันผวน

ค่าเงิน

การขจัดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่คุณทำตามกลยุทธ์ที่เรานำมาเสนอ หากคุณทำตามในระยะยาว คุณแทบจะหมดกังวลกับความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไปได้เลย 

โดยเราได้แบ่งกลยุทธ์ลงทุนเพื่อขจัดความเสี่ยงค่าเงินออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน รวมไปถึงวิธีลงทุนตามทั้ง 3 วิธีด้วย โดยมีเนื้อหาดังนี้

  1. Dollar-Cost Averaging (DCA) ทางเลือกที่ดีต่อใจในทุกสถานการณ์

หลายคนเมื่อเข้ามาในแวดวงการลงทุน คงจะได้ยินคำว่า DCA จนเบื่อ แต่ด้วยประสิทธิภาพของการลงทุนด้วยวิธีนี้ที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าช่วยขจัดความเสี่ยงด้านจากการจับจังหวะซื้อขายและด้านค่าเงินในระยะยาวได้จริง รวมไปถึงยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้คุณได้อีกด้วย 

การ DCA จะช่วยเฉลี่ยต้นทุนค่าเงินในแต่ละช่วง ทำให้ผลกำไรและขาดทุนจากค่าเงินเบาบางลง และยังทำให้คุณได้ถัวเฉลี่ยราคาหุ้นอีกต่อ เป็นกลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่ายที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามได้ ด้วยการแบ่งเงินลงทุนเท่าๆ กัน และเติมเข้าพอร์ตลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ 

  1. Value Averaging (VA) ล้ำไปอีกขั้น ซื้อให้มูลค่าเป็นไปตามที่เราต้องการ 

การลงทุนด้วยกลยุทธ์ VA จะเหมือนกับการลงทุนด้วย DCA นั่นคือการเติมเงินเข้าพอร์ตเป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ เช่น ทุกเดือน ทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุกปี โดยวิธี DCA นั้นจะเป็นการกำหนดจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละงวด เช่น เติมเงิน 10,000 บาท เข้าพอร์ตลงทุนทุกเดือน

แต่สำหรับ VA จะเป็นการลงทุนเพื่อให้พอร์ตลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาตามที่คุณต้องการ ไม่ว่าในช่วงเวลานั้นค่าเงินจะแข็งหรืออ่อนค่า และราคาหุ้นจะปรับขึ้นหรือปรับลง ยกตัวอย่างเช่น คุณเปิดพอร์ตด้วยเงิน 50,000 บาท ในเดือนถัดมาคุณต้องการให้มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท 

แต่ระหว่างนั้นค่าเงินและราคาหุ้นส่งผลให้พอร์ตลงทุนของคุณตกลงมาเหลือ 45,000 บาท หากคุณใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ VA คุณต้องเติมเงินให้พอร์ตลงทุนอีก 35,000 บาท เพื่อให้มูลค่าพอร์ตเป็น 80,000 บาทตามแผนที่วางเอาไว้นั่นเอง

ในทางกลับกัน หากพอร์ตลงทุนของคุณปรับตัวสูงขึ้นเป็น 55,000 บาท คุณต้องเติมเงินให้พอร์ตลงทุนของคุณเพียง 25,000 บาท เพื่อให้พอร์ตลงทุนของคุณเป็นมูลค่า 80,000 บาท ตามที่คุณต้องการเช่นกัน

ทั้งกลยุทธ์ DCA และ VA จะทำให้ได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่ VA จะทำให้คุณได้จำนวนหุ้นเพิ่มมากกว่า เพราะต้องเพิ่มเงินลงทุนเมื่อหุ้นปรับตัวลง แต่เมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น การลงทุนแบบ VA จะลดจำนวนเงินลงทุนที่ซื้อลง หรือกล่าวได้ว่าเมื่อของแพงขึ้น ก็จะซื้อน้อยลงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ลงทุนแบบ VA ต้องใช้วินัยสูงและติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อเติมเงินในจำนวนที่พอดี รวมไปถึงระยะเวลาในการซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ อาจทำให้ใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ VA ไม่ได้ตามที่คุณต้องการอย่างสมบูรณ์

  1. Market Timing (จับจังหวะลงทุน) รอให้ค่าเงินเป็นไปตามที่ต้องการ แล้วค่อยลงทุน

เป็นวิธีที่หลายคนพยายามทำ ซึ่งการรอให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อยเข้าไปลงทุนช่วยลดความเสี่ยงจากค่าเงินได้จริง และช่วยความรุนแรงในการขาดทุนจากค่าเงินด้วยเช่นกัน แต่ทว่ากลยุทธ์นี้มีจุดอ่อนอยู่พอสมควร

การที่คุณต้องรอให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก่อนค่อยลงทุน ทำให้คุณพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว และกว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอาจต้องใช้เวลานาน และไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างถูกต้องว่าช่วงเวลาใดที่ค่าเงินจะแข็งค่ากลับมา 

รวมไปถึงในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า หากดูทิศทางของราคาหุ้นในช่วงนั้นคุณอาจจะพบว่า ‘หุ้นอยู่ในช่วงราคาที่ถูกมาก’ การเฝ้ารอค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น จะทำให้คุณเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีงามไปอย่างน่าเสียดาย 

แต่หากถามว่าวิธีใดที่ง่ายที่สุด คำตอบคือวิธีนี้ เพราะคุณแค่รอจนกว่าจะถึงเวลาที่ค่าเงินอยู่ในกรอบที่คุณต้องการเท่านั้น หากไม่คำนึงถึงการเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทน 

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่เกี่ยวกับ ‘ค่าเงิน’ ในการลงทุนต่างประเทศ ที่จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเงินเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน อย่างที่เราได้บอกคุณเอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นแล้วว่า ค่าเงินไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก และหวังว่าคุณจะชอบคลาส ‘ค่าเงิน 101’ ที่เราได้เรียบเรียงให้คุณในวันนี้

หากคุณยังมีความสนใจจะลงทุนกับ Jitta Wealth หรือมีคำถามเกี่ยวกับค่าเงินเพิ่มเติม สามารถสอบถามเข้ามาได้ที่ Facebook: Jitta Wealth และ Line ID: @JittaWealth และสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ้างอิง

  1. ฉวยจังหวะ ‘บาทแข็ง’ ลงทุนต่างประเทศ https://library.jitta.com/th/blogs/strong-thai-baht-nov-2020-th
  2. เงินแข็ง กับ เงินอ่อน คืออะไร? ต่างกันอย่างไร https://jitta.co/3ROrYxO
  3. ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการส่งออกสินค้า http://utccmbaonline.com/ijbr/doc/(Edit)Id1259-06-05-2020_09:14:52.pdf
  4. ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน ใครได้ใครเสีย? https://www.sanook.com/money/672149/
  5. ทุกเรื่องที่ต้องรู้…ก่อนจะ ‘ลงทุนต่างประเทศ’ กับ Jitta Wealth https://blog.jittawealth.com/post/jitta-wealth-foreign-investment-knowledge
  6. เทคนิคการลงทุนแบบ DCA หรือ VA แบบไหนคือสไตล์เรา https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/262-dca-or-va
  7. Value Averaging – What Is Value Averaging? https://www.investopedia.com/terms/v/value_averaging.asp
  8. Currency Hedging | Western Union Business Solutions https://business.westernunion.com/en-us/learning-center/fx-101/currency-hedging
  9. Market Timing – What Is Market Timing? https://www.investopedia.com/terms/m/markettiming.asp

อ่านเพิ่มเติม

9 เหตุผลว่าทำไม ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ถึงโต 9 เด้ง ไม่ลงทุน ไม่ได้แล้ว

‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ปรับฐาน ถึงเวลาลงทุนแล้วหรือยัง?

ปั้นพอร์ตเมกะเทรนด์ ‘หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ’ กับ Jitta Ranking

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด