ปี 2564 ถือเป็นปีทองของ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ เพราะเป็นปีที่ตลาดหุ้นเวียดนามพุ่งทะยานต่อเนื่องจนทำจุดสูงสุดใหม่หรือ New High ได้ถึง 4 ครั้งในรอบ 1 ปี เรียกได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วดัชนี VNI ทำจุดสูงสุดใหม่ได้ทุกไตรมาสเลยทีเดียว
แต่ ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ เมื่อวันที่ดัชนี VNI ตกลงแรงก็มาถึง นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ดัชนี VNI ทะยานไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,524.70 จุด หลังจากนั้นดัชนีก็ดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วมากกว่า 350 จุดในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ โดย ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ดัชนี VNI อยู่ที่ระดับ 1,171.95 จุด หรือตกลงมามากกว่า 23% ในระยะเวลาเพียง 43 วัน
หากคุณลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอยู่อาจรู้สึกตกใจกับมูลค่าพอร์ตที่หายไปอยู่ไม่น้อย หรืออาจกังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นเวียดนามที่อยู่ดีๆ ก็ร่วงกราวรูดลงมา
หรือหากคุณยังไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเลย อาจรู้สึกลังเลว่าดัชนี VNI ตกแรงแบบนี้จะมีโอกาสฟื้นตัวกลับไปที่ระดับ 1,400-1,500 จุดได้อีกหรือเปล่า แล้วตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีหรือยังที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามหรือไม่
ทีมงาน Jitta Wealth มาสรุปทุกมิติของตลาดหุ้นเวียดนามให้คุณพิจารณาในบทความนี้
การจะประเมินว่า ‘การปรับฐาน’ ของตลาดหุ้นเวียดนามภายในเวลาแค่ 2 เดือนนี้น่ากลัวแค่ไหน คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานรอบนี้เกิดจากสาเหตุใด
ต้นเหตุที่ทำให้หุ้นเวียดนามดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 เดือนเศษก็คือ ‘คดีทุจริตในตลาดหุ้น’ ที่เริ่มปรากฎในข่าวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2565 หลังหน่วยงานกำกับการดูแลตลาดหุ้นของเวียดนามอย่าง State Securities Commission of Viet Nam (SSCV) เข้าควบคุมตัวผู้บริหารระดับสูงของบริษัท FLC Group ในข้อหาปั่นหุ้น ฉ้อโกง และไม่รายงานการซื้อขายหุ้นล่วงหน้าตามกฎของ SSCV ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปราบปรามทุจริตครั้งใหญ่รอบนี้
ตามมาด้วยการควบคุมตัวผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง Tan Hoang Minh Group ในข้อหากระจายหุ้นกู้ที่นำออกจำหน่ายแบบผิดกฎหมาย ต่อด้วยการควบคุมตัวผู้บริหารระดับสูงอีกหลายคนของบริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจในเวียดนามหลายแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในเสถียรภาพของตลาดหุ้นเวียดนาม จึงเทขายหุ้นออกมาเพื่อถือเงินสดรอดูสถานการณ์ก่อน
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามมีเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด และมีมูลค่าการซื้อขายโดยใช้เงินกู้ยืมจากบริษัทหลักทรัพย์หรือ Margin Loan (เงินที่ลูกค้ากู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์) ค่อนข้างสูง ขณะที่สัดส่วนเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศมีจำกัดจากเรื่อง Foreign Ownership Limit
เมื่อข่าวคดีทุจริตในตลาดหุ้นถูกเปิดเผยออกมาจนราคาหุ้นหลายตัวในตลาดดื่งลง นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายด้วย Margin Loan จะโดนเรียกเงินประกันในการซื้อขายเพิ่มเติม (Margin Call) ทำให้นักลงทุนบางส่วนตัดสินใจขายหุ้นเพื่อนำเงินสดมาวางเงินประกันเพิ่ม กลายเป็นอีกปัจจัยที่มาซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นตกแรงยิ่งขึ้นไปอีก
และยังมีปัจจัยลบอื่นๆ เข้ามากระทบอีก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือกฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในตลาดตราสารหนี้ ส่งผลกระทบกับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคารที่ถูกเทขายออกมาด้วย ซึ่งหุ้นทั้ง 2 กลุ่มนี้มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนี VNI สูงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง
ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศก็ส่งผลกระทบต่อดัชนี VNI ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก และการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก
จากปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามดิ่งลง จะเห็นว่าทั้งหมดล้วนเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ไม่ได้กระทบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และหากย้อนไปตั้งแต่ที่ Covid-19 เริ่มระบาดในช่วงต้นปี 2563 ดัชนี VNI ก็เป็นขาขึ้นมาตลอดและทำ New High ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาถึง 4 ครั้ง
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการปราบปรามการทุจริตในตลาดหุ้นจนส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานในรอบนี้ส่งผลดีกับพัฒนาการของตลาดหุ้นเวียดนามในระยะยาว เพราะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีเสถียรภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามตามการจัดอันดับของ MSCI จากการเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ไปสู่การเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งหากมองเช่นนี้ การปราบปรามการทุจริตให้ตลาดหุ้นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีกว่าที่หลายๆ คนคิด
แม้ว่าดัชนี VNI ของเวียดนามจะตกลงมาเยอะ แต่ถ้าพิจารณาเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนก็จะเห็นว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นที่ไม่ได้กระทบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนามและปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจของเวียดนามยังมีศักยภาพการเติบโตสูง แบบนี้ก็คงตอบได้ว่า การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่
ควรลงทุนหุ้นเวียดนามตอนไหนดี?
ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตสูงระดับนี้ เพราะไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ล้วนเป็นโอกาสในการลงทุนทั้งนั้น
แต่ก่อนที่จะลงทุน คุณควรตอบตัวเองให้ได้อย่างชัดเจนก่อนว่าอะไรทำให้คุณอยากลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม คุณเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวและสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน และการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามจะช่วยให้คุณเขยิบเข้าใกล้เป้าหมายในการลงทุนที่ตั้งเอาไว้ได้หรือไม่
หากคุณมองว่าเวียดนามเป็นตลาดที่น่าลงทุน ตั้งใจจะลงทุนในระยะยาวอย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไปก็เหมาะจะลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาและกำลังจะพุ่งทะยานอีกครั้ง หรือหากคุณต้องการสะสมความมั่งคั่งด้วยการทยอยลงทุนแบบ DCA ก็สามารถทำได้ เพื่อให้คุณได้ลงทุนอย่างเป็นระบบและได้เฉลี่ยต้นทุนสินทรัพย์ทั้งช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นและขาลง
อยากลงทุนหุ้นเวียดนาม Jitta Wealth มีแผนการลงทุนอะไรบ้าง?
Jitta Wealth มีแผนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม 2 แผนด้วยกัน คือ
Jitta Ranking เวียดนาม ลงทุนใน ‘หุ้นดีราคาถูก’ ในตลาดหุ้น HOSE และ HNX อย่างน้อย 5-20 ตัว เงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เพิ่มทุนครั้งละ 100,000 บาท
Thematic ETF ตลาดหุ้นเวียดนาม ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามผ่านกองทุน VanEck Vector Vietnam ETF ให้พอร์ตเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนตามธีมเมกะเทรนด์ที่คุณเชื่อมั่น เงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 บาท เพิ่มทุนครั้งละ 10,000 บาท