สรุปคำถาม-ตอบ Exclusive Q&A with CEO จาก Jitta Wealth เดือนพฤษภาคม 2564

23 พฤษภาคม 2564EventsExclusive Q&A with CEOJitta Wealth

Exclusive Q&A with CEO เป็น Webinar ที่ทีมงาน Jitta Wealth จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth และตอบข้อสงสัยของนักลงทุนที่สนใจ 

คุณสามารถรับชม Webinar ย้อนหลังได้ทาง Facebook หรือ Youtube หรืออ่านสรุปคำถาม-ตอบ จากนักลงทุนทางบ้านได้ในบทความนี้

รับชม Webinar ย้อนหลัง

ช่วงถาม-ตอบ นาทีที่ 57:50

Jitta Wealth

สรุปคำถาม-ตอบจาก Webinar

Q: ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับจีนมีความร้อนแรงจนเกิดภาวะฟองสบู่ แผนการลงทุนไหนจะได้รับผลกระทบหรือแผนใดจะสูญมูลค่าน้อยที่สุด

Global ETF จะได้รับกระทบน้อยที่สุด กรณีที่เกิดวิกฤตหรือข่าวใดๆ เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้งฝั่งตราสารหนี้และหุ้น 

ดังนั้นเมื่อฟองสบู่ในตลาดหุ้นแตก ดัชนีและราคาหุ้นลงแรง แต่ฝั่งตราสารหนี้ไม่ได้รับผลกระทบ Jitta Wealth จะมีการปรับพอร์ตอัตโนมัติ ขายกำไรจากตราสารหนี้ มาซื้อฝั่งหุ้น พอวิกฤตจบ ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้น มูลค่าจากการลงทุนก็กลับมาเป็นบวกได้ 

Global ETF เป็นการลงทุนสำหรับมือใหม่ จัดพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง แต่ยังรักษาผลตอบแทนได้

อย่างไรก็ตามจากสถิติที่เคยทำกันมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านวิกฤตมาหลายรอบ ดัชนี S&P500 มีผลตอบแทนเฉลี่ย 6-8% ต่อปี หากเราลงทุนระยะยาว 10-20 ปี มีการ DCA (Dollar Cost Average) อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องกังวลภาวะฟองสบู่ระยะสั้น 

สำหรับ Thematic กรณีที่สหรัฐฯ และจีนมีปัญหา ก็สามารถเปลี่ยนธีมไปลงทุนหุ้นรายอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบไม่มาก เช่น กัญชา สุขภาพ หรือเทคโนโลยีท่องเที่ยวได้

Q: หุ้นจีนกับหุ้นเทคโนโลยีจีน มีมุมมองต่อสถานการณ์ในช่วงนี้อย่างไร

ตลาดหุ้นจีนมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขับเคลื่อนอยู่แล้ว ราคาหุ้นกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็เป็นโอกาสที่น่าลงทุน เพราะหุ้นกลุ่มนี้มีพื้นฐานดี ช่วงที่ตกลงมามาก มาจากความกังวลว่า รัฐบาลจีนกำลังตรวจสอบการผูกขาดของหุ้นเทคโนโลยี และทางการจีนแทรกแซงโดยป้องกันการผูกขาด ผ่านการเรียกค่าปรับ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจไม่คล่องตัว กระทบกำไร ซึ่งมองว่า เป็นกระทบระยะสั้นเท่านั้น 

ในภาพใหญ่ ยังไงรัฐบาลจีนต้องพึ่งพาบริษัทกลุ่มนี้ ต้องสนับสนุนให้บริษัทเติบโต เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ การจะออกกฎอะไร ต้องคุมเท่าที่จะทำได้ 

ในสหรัฐฯ รัฐบาลออกมาป้องกันการผูกขาด ซึ่งทำมานาน ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้นกับ Microsoft ปัจจุบันก็เป็น Facebook ซึ่งหลายๆ บริษัทเทคโนโลยีผ่านการจับตาและตรวจสอบมาหมดแล้ว 

ถ้าธุรกิจเทคโนโลยีเป็นประโยชน์จริงๆ สุดท้ายบริษัทต้องคงอยู่ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารตามกฎและหลักเกณฑ์ การลงทุนในโลกทุนนิยม Warren Buffett บอกว่า ถ้าธุรกิจดี ต่อให้มีคนไม่เก่งมาบริหาร บริษัทก็ยังสามารถทำผลประกอบการได้ดี ยังรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ ดังนั้นกรณีหุ้นเทคโนโลยีจีนน่าจะกระทบระยะสั้นเท่านั้น

Q: Jitta Ranking จะเพิ่มการลงทุนในหุ้นจีนไหม

มีอยู่ในแผนของ Jitta Wealth กำลังอยู่ในช่วงทดสอบ คาดว่า จะเริ่มเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย. โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท 

ตลาดหุ้นจีนมีศักยภาพโตสูง เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ประชากรเยอะ ธุรกิจมีศักยภาพ ภาคการบริโภค ขับเคลื่อนด้วยชนชั้นกลาง มีโอกาสลงทุนเหมือนตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ Jitta Ranking ทำผลตอบแทนได้ดี ในอนาคตจีนก็ไม่แพ้กัน

Q: Jitta Ranking ระหว่างหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ กับเวียดนาม ตอนนี้จะเลือกแผนไหน

ตอบยาก แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน เพราะทั้ง 2 แผน มีความแตกต่างกัน อย่างตลาดหุ้นเวียดนาม จะมีความผันผวนน้อยกว่า เพราะลงทุนในหุ้นรายอุตสาหกรรม ถ้ามองในระยะ 5 ปี เวียดนามจะเติบโตจากเศรษฐกิจ มีหุ้นดีราคาถูกมาก เหมือนกับตลาดหุ้นไทยหลังผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง 

ข่าวดีในตลาดหุ้นเวียดนามยังมีเรื่องกระแสเงินทุนไหลเข้า นักลงทุนรายย่อยเปิดบัญชีมาก มองภาพรวมจึงมีศักยภาพดีที่จะเติบโต

หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีความผันผวนมากกว่า มองว่า ปีที่แล้วราคาปรับตัวสูงมาก ทำให้ช่วงต้นปี ราคาปรับฐานลงมาจากจุดสูงสุด 20-50% และคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะปรับฐานต่อหรือไม่

แต่โดยรวมแล้ว พื้นฐานหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังดีอยู่ เพราะหากวัดช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดัชนี Nasdaq ก็ปรับฐานลงมากเหมือนกัน ถ้าลงทุนในช่วงย่อตัวแบบนี้ก็ทำได้ 

ถ้ามองในระยะไกลกว่านั้น 15-20 ปี หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีโอกาสเติบโตมากกว่า เพราะบางกลุ่มอย่างธุรกิจคลาวด์ เพิ่งเริ่มต้น ยังสามารถขยายธุรกิจไปในประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ได้

ขณะที่เวียดนาม ในระยะยาวมีโอกาสที่จะโตน้อยลง เพราะยังขับเคลื่อนด้วยธุรกิจดั้งเดิมเหมือนหุ้นไทย ในอนาคตสามารถเจอ Disruption ได้

ดังนั้นถ้ามองในระยะ 5 ปี ระหว่างหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ กับเวียดนาม ผลตอบแทนพอๆ กัน แต่เวียดนามผันผวนน้อยกว่า แต่ลงทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม ก็ลงทุนสบายใจในระยะยาวได้

Q: Jitta Ranking ประเทศอื่น มีโอกาสให้บริการหรือไม่ 

สามารถแนะนำกันเข้ามาได้ ถ้าได้รับความสนใจมากๆ ในอนาคตก็สามารถให้บริการได้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ของ Jitta Wealth 

เรามั่นใจอัลกอริทึมวิเคราะห์หุ้น เพราะมีการปรับปรุงทุกปี และเอามาจัดพอร์ต Jitta Ranking รวมทั้งปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือน สุดท้ายแนวทางของ Jitta Wealth คือสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด 

ปัจจุบันมีหลายตลาดหุ้นที่น่าสนใจ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในยุโรป เราจะเลือกที่ขนาดมาร์เก็ตแคป มีศักยภาพในการเติบโต เงินทุนหมุนเวียนสูง รวมทั้งระบบตลาดทุนและการเมืองนิ่ง ถ้าเปิดให้ลงทุน จะต้องได้ผลตอบแทนที่ดี

Q: Jitta Ranking ระหว่างจีนกับเวียดนาม เลือกแผนไหน

มุมมองส่วนตัว เพราะมีหลักการ Passive Investment ถ้าให้ลงทุนระยะยาว เลือกตลาดหุ้นจีน เพราะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น กำลังเติบโต 

จีนเป็นประเทศใหญ่ ประชากรเยอะ ขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดการณ์ว่า จะแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ได้ ดังนั้นนักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่า ผลตอบแทนโตตามกระแสน้ำ เทคโนโลยีจีนขยายตัว โตด้วย Big Data และ AI เจาะตลาดอาเซียน ในประเทศมีกลุ่มชนชั้นกลางเยอะ มีการบริโภคสูง 

ส่วนเวียดนาม ในระยะสั้นๆ มีโอกาสโต แต่ระยะยาวยังมีความคลุมเครือ เพราะแผนแม่บท แนวทางการบริหารประเทศไม่เด่นชัดเท่าจีน 

นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนาม ยังจัดเป็นตลาดหุ้นชายขอบ ยังไม่ชัดว่า จะขยับไปเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่เมื่อไรเพราะถ้าอัปเกรดระดับตลาดหุ้นได้ กระแสเงินทุนจากกองทุนระดับโลกจะไหลเข้าอีกมาก รวมทั้งเงื่อนไข Foreign Ownership Limit เป็นข้อจำกัดให้กองทุนต่างชาติลงทุนไม่ได้ เงื่อนไขเหล่านี้ยังกดศักยภาพของตลาดหุ้นเวียดนามอยู่

Q: อัลกอริทึมของ Jitta Ranking ยังมีจุดอ่อนอะไรบ้าง

Country Risk ความเสี่ยงรายประเทศ หลักการคือ ลงทุนหุ้นดี ราคาถูก อย่างตลาดหุ้นไทย มีหุ้น 700-800 บริษัท หลักการเลือกหุ้นของ Jitta คือ 30 ตัว ลงทุนระยะยาว เพื่อให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี 

ถ้าตลาดหุ้นไทยมีปัญหา เศรษฐกิจไม่ได้โตสูง ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน ต่อให้เลือกมาดี แนวโน้มจะไปกับตลาดหุ้น นี่คือความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนต้องรอโอกาส บางปีผลตอบแทนอาจจะอิงกับตลาดหุ้น บางปีเศรษฐกิจไม่ดี Jitta Ranking ก็ไม่โต 

ต่างจาก Global ETF และ Thematic ที่ไม่เกี่ยวกับอัลกอริทึม เพราะเป็นไปตามเศรษฐกิจทั่วโลกและธีมธุรกิจนั้นๆ 

ข้อจำกัดของ Jitta Ranking อีกด้าน คือ บางครั้งไม่สามารถเลือกลงทุนได้ตามหุ้นที่จัดอันดับได้ ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของหุ้นตัวนั้น ถ้าซื้อไม่ได้ ต้องข้ามไปซื้อหุ้นในอันดับถัดไป แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้สามารถขายหุ้นได้เร็วกว่าหุ้นสภาพคล่องต่ำ เช่น Foreign Ownership Limit (FOL) ของตลาดหุ้นเวียดนาม 

แนวทางของ Jitta Wealth คือ Value Investing (VI) ในทางปฏิบัติ Jitta Ranking ซื้อหุ้นรายตัว จะได้หุ้นราคาถูกหรือแพง ต้องใช้เวลาส่งคำสั่ง ต่างจากซื้อ ETF (Exchange Traded Fund) ที่มีสภาพคล่องสูง กองใหญ่ เม็ดเงินมหาศาล 

สิ่งที่ Jitta Wealth พยายามจัดการคือ ปรับปรุงระบบคัดเลือกหุ้น วิธีการส่งคำสั่ง เพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ Jitta Ranking มากที่สุด

Q: มีการดูแลความปลอดภัยบัญชีของนักลงทุนอย่างไร

มี 2 ส่วน ส่วนแรก ออนไลน์ จะมีทีมงานค่อยดูอยู่ตลอด ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหา มีศักยภาพเทียบเท่ากับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ตามเงื่อนไขของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มาตรวจสอบบริการของ Jitta Wealth นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ เราใช้ระบบคลาวด์จาก Amazon Web Services และ Google ซึ่งมีระบบการป้องกันสูงมาก

ส่วนที่สอง เงินลงทุน ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามเงื่อนไขในการดูแลบัญชีของลูกค้า การโอนเงินและถอนเงินจะต้องโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าโดยตรง ถ้าโดนแฮ็กระบบก็ไม่มีทางเอาเงินออกไปได้ นอกจากนี้ เรามีหน่วยงานภายนอก ทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากสินทรัพย์ Jitta Wealth ไม่สามารถแตะเงินลงทุนของลูกค้าได้ 

Q: Global ETF ใช้อัลกอริทึมในการจัดการความเสี่ยงอย่างไร

ไม่ได้ใช้อัลกอริทึม เหมือนกับการลงทุนหุ้นรายตัว เป็นการเอาสินทรัพย์ทั่วโลกมาจัดพอร์ตลงทุน โดยมีเป้าหมายคือให้ผลตอบแทนดี ในความเสี่ยงที่น้อยลง เป็นทำโครงสร้างพอร์ตลงทุน ผ่าน ETF  

เช่น หุ้นทุกตัวในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ลงทุนใน ETF ก็เท่ากับกันความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว เพราะ ETF ก็ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ หลายร้อยตัว 

นอกจากนี้ Global ETF เป็นการกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ต่างกัน บางช่วงที่หุ้นขาลง ตราสารหนี้กลับเป็นขาขึ้น อาศัยแค่เทคโนโลยีปรับพอร์ตอัตโนมัติ 

ดังนั้นเป็นการสร้างพอร์ตลงทุนให้ถูก เลือก ETF ดี ค่าธรรมเนียมต่ำ ค่า Tracking Error ต่ำ ใช้หลักการ Modern Portfolio Theory มาช่วย ดังนั้นนักลงทุนไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ลงทุนตามแผนที่เลือกไว้ ผ่าน ETF 

Q: Global ETF กับ Thematic ปรับพอร์ตลงทุนแตกต่างกันอย่างไร

ความจริงแล้วใช้หลักการเดียวกัน Global ETF ใช้หลักจัดการสินทรัพย์ระหว่างตราสารหนี้และหุ้น ที่ไม่สัมพันธ์กัน ส่วน Thematic เป็น ETF หุ้น มีความสัมพันธ์ใกล้กันมาก โดยเฉพาะหุ้นอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยี ราคาจะขึ้นลงตามกัน ถ้าจัดธีมในพอร์ตเดียวกัน ขาขึ้นก็ไปตามกัน ขาลงก็ไปตามกัน อาจจะไม่ต้องปรับพอร์ตเลย

แต่บางธีมใน Thematic มีโอกาสขึ้นแรงได้ ระบบก็จะปรับพอร์ต ขายกำไรธีมที่ขึ้นแรงๆ ไปซื้อในธีมที่ราคานิ่งๆ พอร์ตลงทุนก็ผันผวนน้อยลง 

ถ้าหากลงทุนธีมเดียว จะไม่ได้ปรับพอร์ตเลย ถ้า ETF นั้นมีราคาวูบลง ต้องถามตัวเองว่า รับได้ไหม ถ้าโอกาสขาดทุน (Maximum Drawdown) ถึง 30% แต่ถ้าลงทุน 4 ธีม บางธีมราคาลดลง แต่ไม่ได้เป็นทุกธีม โอกาสขาดทุนเหลือเพียง 20% และช่วงที่ธีมราคาขึ้น ก็ทยอยขายทำกำไรมาปรับพอร์ตลงทุนระหว่างทาง สัดส่วนที่ธีมราคาตกก็มีน้อยลง การปรับพอร์ตอัตโนมัติ จะทำให้โอกาสขาดทุนลดลงเหลือ 15%

Q: Thematic ค่า Correlation แต่ละธีมแตกต่างกันไหม

อยู่ที่ว่าจะเลือกลงทุนโฟกัสที่ธุรกิจใกล้เคียงกันหรือ Diversify หลายธุรกิจ

อย่างช่วงนี้ธีมเทคโนโลยีราคาลง แต่ธีมกัญชาไม่ลงมาก จึงถ่วงน้ำหนักพอร์ตลงทุนได้ เพราะค่า Correlation ต่างกัน

ถ้าเลือกธีมใกล้เคียงกัน เช่น อีคอมเมิร์ซ คลาวด์ AI และหุ่นยนต์ เกมและอีสปอร์ต และฟินเทค ก็สามารถลงทุนได้ ถ้ามองว่า ผลตอบแทนระยะยาวสูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน 15-20% ได้ เพราะค่า Correlation ไม่ต่างกันมาก 

หลักการจัดพอร์ต Thematic  ไม่มีกฎตายตัว อยู่ที่ว่านักลงทุนมีแนวทางแบบไหน

Q: ธีมกัญชาเป็นอย่างไร ช่วงที่ผ่านมาราคาค่อนข้างผันผวน

ธีมกัญชายังน่าลงทุนในระยะยาว ช่วงที่ผ่านมา แยกเป็น 2 เรื่อง คือ ธุรกิจกับราคาหุ้น

ธุรกิจกัญชายังเติบโตทั่วโลกจากการปลดล็อกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถใช้สารสกัดจากกัญชาได้ ดังนั้นตัวธุรกิจยังมีความสามารถในการทำรายได้ ขยายใหญ่ได้ในอนาคต

ส่วนราคาหุ้น เกิดจากกระแสข่าวปลดล็อกกฎหมายกัญชาระดับประเทศในสหรัฐฯ พรรค Democrat สนับสนุน บางรัฐมีเสียงจาก Democrat ก็จะได้ปลดล็อกกฎหมายก่อน ทำให้ราคาหุ้นบริษัทกัญชาขึ้นแรงในช่วงเดือนก.พ. ก่อนที่จะปรับฐานลงมา ถ้าเพิ่มทุนหรือ DCA ก็จะเฉลี่ยราคาได้

ธีมกัญชายังมีความผันผวนสูง เพราะอิงกับกระแสข่าว มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ต่อให้ในธีมกัญชามาก ไม่ควรลงทุนธีมเดียวในพอร์ต แนะนำให้จัด 4 ธีม เพราะเราไม่รู้ว่า ธีมไหนจะขึ้นไหนจะลง แต่ส่วนใหญ่เป็นธีมเมกะเทรนด์ ยังมั่นใจได้ว่า มีโอกาสเติบโตระยะยาว ดังนั้นการเลือกลงทุนมากกว่า 1 ธีม ทำให้เราไม่ต้องรับความเสี่ยงสูง ไม่ต้องค่อยจับจังหวะตลาด เพราะไม่มีใครคาดการณ์ถูก 

ถ้าหมั่น DCA ก็จะช่วยลดโอกาสขาดทุนได้ ผันผวนน้อยลง แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง จะลงทุนธีมเดียวได้

Q: ธีมเกมและอีสปอร์ต เทรนด์เป็นอย่างไร

เกมเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มานาน เพราะมนุษย์ชอบใช้เวลาสันทนาการหรือเอนเทอร์เทน เราใช้เกมตั้งแต่เด็ก เพียงแต่เปลี่ยนจากยุค Famicom หรือ Super Famicom ที่มีราคาสูง ต้องซื้อตลับเกม มาเป็นการเล่นเกมผ่านหน้าจอ เพราะทุกคนมีอุปกรณ์ดิจิทัลอยู่แล้ว เกมที่ให้ดาวน์โหลด แทบจะมีราคาถูกหรือให้ฟรี

เมื่อโมเดลการเล่นเกมเปลี่ยน บริษัทพัฒนาเกมก็เปลี่ยนจากขายเกม เป็นขายไอเท็มในเกมแทน ราคาแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งคนเล่นเกมเป็นร้อยล้านคนทั่วโลก หลายคนยอมจ่ายเงิน เพื่อซื้อไอเท็มให้ผ่านด่าน บริษัทมีรายได้จากทางนี้ ทำให้โมเดลธุรกิจมั่นคง เม็ดเงินสะพัดสูง บางคนจ่ายเงินเป็นล้านในโลกเกมออนไลน์ มันคือความสุข สะสมไอเท็มเป็นคอลเล็กชัน ทำให้อุตสาหกรรมเกมเฟื่องฟูได้อีก บริษัทก็พัฒนาเกมใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ 

ส่วนอีสปอร์ต เป็นอีกด้านหนึ่งของคนที่ชอบดูคนเล่นเกมออนไลน์แข่งกัน เป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่ดูการแคสเกมผ่านจอ คล้ายกับที่เราชอบดูกีฬา ก็ต้องซื้อบัตรไปดูที่สนาม ในอนาคตฐานคนดูอีสปอร์ตจะขยายตัวมากขึ้น เพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรม รันเวย์อีกยาว อนาคตอาจจะโตมากกว่าลิขสิทธิ์ Premier League หรือ NBA 

Q: Global ETF และ Thematic ลดขั้นต่ำเงินลงทุนได้หรือไม่ 

เป็นแผนของ Jitta Wealth ที่จะพยายามลดเงินลงทุนขั้นต่ำลงมา แต่ในแง่โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปรับเปลี่ยนได้ยาก เมื่อก่อนการจะทำกองทุนส่วนบุคคล ต้องมีเงินทุน 5-10 ล้าน Jitta Wealth พยายามลดลงมาเหลือ 100,000 บาทผ่าน ETF 

ที่ผ่านมา Jitta Wealth ก็มีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ หาหนทาง พัฒนาเทคโนโลยี ถ้าในอนาคตฐานเงินลงทุนรวมจากลูกค้าขยายใหญ่ขึ้น Jitta Wealth อาจจะสามารถเอามูลค่าตรงนี้ ไปเจรจากับพาร์ตเนอร์ได้ เพราะสเกลใหญ่ขึ้น ต้นทุนต่างๆ ถูกลง

แนวทางของ Jitta Wealth คือ ทำให้คนทั่วไป สามารถเข้าถึงกองทุนส่วนบุคคลได้ อนาคตหากใครเพิ่งเริ่มทำงาน ก็สามารถเริ่มลงทุนได้เลย เงินลงทุนขั้นต่ำหลักร้อยหลักพัน ก็กระจายการลงทุนได้ทั่วโลก เราอยากสร้างวินัยและนิสัยการลงทุนให้กับคนไทย

Q: มีการคำนวณค่าธรรมเนียมการจัดการอย่างไร

ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) 0.5% ต่อปี เป็นอัตราตามหลักสากล เราจะคำนวณจากมูลค่า NAV (Net Asset Value) ทุกวัน และหารด้วย 365 วัน ดังนั้นมูลค่า NAV เปลี่ยนแปลงทุกวัน การคำนวณก็ตามมูลค่าที่เกิดขึ้นจริง บวกรายวันจนครบไตรมาส ถึงจะตัดเงินสดจากพอร์ตลงทุน ซึ่งเราจะคงเหลือเงินสดไว้ 1% ในพอร์ต ลูกค้าสามารถดูได้จากรายงานประจำเดือนที่ส่งให้ทางอีเมล

Q: เมื่อคำนวณค่าธรรมเนียมแล้ว ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนดูอย่างไร 

มูลค่า NAV ที่เห็นในแอปพลิเคชัน Jitta Wealth จะมีการคำนวณค่าธรรมเนียมต่างๆ ไว้แล้ว ดังนั้นผลตอบแทนที่ปรากฎก็หักค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องแล้ว 

ส่วนค่าธรรมเนียมกำไร (Performance Fee) จะคำนวณครั้งเดียว ณ สิ้นปี โดยคำนวณจากมูลค่า NAV ต้นปีและสิ้นปี ถ้าพอร์ตลงทุนมีกำไร ก็จะหัก 10% จากกำไร ถ้าในปีต่อไป มูลค่า NAV ณ สิ้นปีน้อยลงจากต้นปี ก็จะไม่คิดค่าธรรมเนียมกำไร ลูกค้าสามารถดูได้จากรายงานประจำเดือนเช่นเดียวกัน

Q: ค่าธรรมเนียมกำไร มีโอกาสลดลงหรือไม่

มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน แต่ Jitta Wealth จะโฟกัสที่สร้างผลตอบแทนหรือกำไรให้ได้ต่อเนื่องทุกปี เพราะถ้าพอร์ตเติบโตได้ดี ก็วิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย จึงมุ่งเน้นพัฒนาอัลกอริทึม และปรับพอร์ตลงทุนอัตโนมัติ เพราะค่าธรรมเนียมกำไรเหมือนเป็นรายได้ให้ทีมงาน Jitta พัฒนาระบบวิเคราะห์หุ้นให้แม่นยำมากขึ้น

Q: แอปพลิเคชัน แจ้งผลตอบแทนรวมของทุกพอร์ตหรือไม่

ยังดูผลตอบแทนรวมไม่ได้ เป็นผลตอบแทนแยกกันแต่ละพอร์ต แต่ Jitta Wealth รับข้อเสนอแนะไว้ ดูว่าจะพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างไรในอนาคต

Q: ยอดเงินที่ถอน ต่ำกว่าเงินลงทุน จำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่

ไม่เสียภาษี เพราะนำเงินกลับ น้อยกว่ายอดเงินลงทุน หากต้องการบริหารภาษี ต้องมีการวางแผนให้ดี และคุยกับสรรพากรในพื้นที่ด้วย แต่ทยอยโอนเงินลงทุนที่ขายสินทรัพย์กลับมา จะไม่เสียภาษีอยู่แล้ว

Q: Jitta Ranking จีน เงินลงทุนเริ่มต้นเท่าไร

สำหรับการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ยังใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ตอนนี้ยังปรับให้ลดเหลือ 500,000 บาทแบบหุ้นไทยยังไม่ได้

Q: Jitta Ranking ไทย ลงทุนมา 3 ปี กำไร 20% ควรถือต่อดีหรือไม่

เข้าลงทุนในช่วงปี 2561 ช่วงที่หุ้นไทยกำลังพีก ผ่านวิกฤต Covid-19 มาแล้ว Jitta Ranking หุ้นไทยกำลังทำผลตอบแทนได้ดี แพลตฟอร์มคัดเลือกหุ้นดีราคาถูก ยังสามารถถือครองต่อได้ เพราะหุ้นไทยไม่ได้ตอบสนองต่อการระบาดในประเทศช่วงนี้ 

แต่ถ้าอยากเปลี่ยนสินทรัพย์ สามารถเปลี่ยนลงทุน Thematic ในหุ้นเทคโนโลยี เวียดนาม หรือจีน เพราะการเติบโตดีกว่า เมื่อเทียบกับไทย GDP โตช้ากว่า ส่งผลให้ราคาหุ้นไม่ไปไหน ผลตอบแทนน้อย ลงทุนต่างประเทศจะได้ผลตอบแทนดีกว่า  

Q: Global ETF ถ้าได้กำไรตามที่ต้องการแล้ว ขายได้ไหม

หลักของ Global ETF คือ การลงทุนระยะยาว ดังนั้นหากต้องการถอนเงิน ให้ดูที่วัตถุประสงค์และความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน ถ้ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่แนะนำให้ถอน เพราะ Global ETF มีผลตอบแทนคาดหวังไว้แล้ว ถ้าคาดหวังกำไร ลงทุนนานๆ จะดีกว่า

Q: ลงทุนแล้ว 3 แผน Jitta Ranking ไทยกับเทคโนโลยีสหรัฐฯ และ Thematic จะเพิ่มเงินลงทุนอย่างไร

วิธีการที่ง่ายคือ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อย่าง Thematic ถ้าเลือกธีมถูก ลงทุนหลายธีม ยังไงพอร์ตลงทุนก็โตได้ เพิ่มทุนได้เลย ส่วน Jitta Ranking หุ้นรายประเทศยังโตได้ตามเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ช่วงนี้หุ้นเทคโนโลยีราคาลง เป็นจังหวะเพิ่มทุนได้ เพื่อรอจังหวะขาขึ้น เพราะกลุ่มเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว

Q: ลงทุน Thematic มาหลายเดือน แต่พอร์ตลงทุนยังติดลบ 20% ลงทุนเพิ่มดีหรือไม่

คาดว่า เป็นพอร์ตเลือกลงทุนธีมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่วนพอร์ตลงทุนธีมตลาดหุ้นราคายังไม่ตก คงต้องกลับไปดูว่า คุณมองแต่ละธีมยังไง ถ้าราคาหุ้นตก ธีมที่เลือกยังสามารถเติบโตในระยะยาวได้อีกหรือไม่ ช่วงขาลงเป็นช่วงเวลาเพิ่มทุน ถ้ายังกังวลอยู่ แนะนำให้ทยอยลงทุน ไม่เน้นจับจังหวะ เพราะภาวะราคาขึ้นลง มีตัวแปรเยอะ

เชื่อว่า ธีมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ปรับฐานมาพอสมควรในช่วง 3-6 เดือน ตลาดรับรู้มูลค่าจริงแล้ว ช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ราคาปรับฐานจากแรงเทขาย ก่อนออกงบไตรมาสแรก ช่วงไตรมาสที่ 2 ราคาไม่ผันผวนมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเม็ดเงินย้ายไปลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่น

Q: มีเงินก้อนใหญ่ จะลือกลงทุนระหว่าง Global ETF หรือ Thematic ดี เพราะคาดหวังผลตอบแทนสูง

ถ้าคาดหวังผลตอบแทนสูง ลง Thematic จะดีกว่า ส่วน Global ETF มีผลตอบแทนคาดหวังแล้ว 4% 6% และ 8% ต้องดูเป้าหมายการลงทุนว่า พอใจหรือไม่ แต่ Global ETF เป็นผลตอบแทนทบต้น ลงทุนนานๆ ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวได้ 

ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงมาก ควรลงทุน Thematic แทน เพราะจัดพอร์ตเลือกธีมได้หลากหลาย ถ้ารับความเสี่ยงได้ไม่เยอะ ก็จัดพอร์ตลงทุนธีมตลาดหุ้น แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้เยอะ จัดพอร์ตธีมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้ ยังแนะนำให้จัดพอร์ต 4-5 ธีม เชื่อว่า ธีมเกี่ยวเทคโนโลยีต่างๆ จะยังสร้างผลกำไรได้ดี เพราะยังอยู่ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง

Q: ให้เลือกระหว่างลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Jitta Wealth 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจะสมทบให้ เหมือนเป็นโบนัส ควรเลือกลงทุนแบบนี้ก่อน ถ้าอยากลงทุนต่างประเทศให้ดูแผนการลงทุนที่บริษัทมีให้ ว่ามีให้ลงทุนหุ้นเทคโนโลยีหรือสุขภาพหรือไม่ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 

แต่ไส้ในของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูง มั่นใจว่า Jitta Wealth ยังมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า 

ดังนั้นแนะนำให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่ เหลือเงินลงทุนค่อยเอามาลงทุน Jitta Wealth ได้ 

Q: ทำไม Jitta Ranking ขายหุ้นไปแล้ว กลับมาซื้ออีก ถึงได้ราคาแพงกว่า

เกิดจากการปรับพอร์ตอัตโนมัติ เพราะอัลกอริทึมปรับอันดับหุ้นดี ราคาถูกใหม่ ระบบจึงขายหุ้นเดิม แล้วไปซื้อหุ้นที่น่าลงทุนกว่า เพื่อให้ในระยะยาวได้ผลตอบแทนดี

ดังนั้นการกลับมาซื้อหุ้นเดิมอีกครั้ง เกิดจากการปรับพอร์ตเช่นเดียวกัน โอกาสที่ราคาหุ้นแพงขึ้น ก็เป็นไปได้ เพราะพื้นฐานเปลี่ยน หุ้นนี้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

นักลงทุนเก่งๆ จะสามารถใช้หลักการปรับพอร์ตได้อย่างสบายๆ ขายหุ้นและโยกเงินทันที ไม่เหมือนคนทั่วไปที่ปรับตัวยาก เพราะพวกเขาไม่สนอดีตของหุ้นตัวนั้น และมีหลักการลงทุนที่ไม่ใช้อารมณ์มาเกี่ยว ซื้อขายตามเหตุผล 

Q: ธีมหุ้นจีนและเวียดนาม มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ กดดันผลตอบแทนได้หรือไม่

ถ้ามองสถิติระยะยาว อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากปัจจัยทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อ การพิมพ์ธนบัตร 

หลักการลงทุนในหุ้น ก็พิสูจน์มาแล้วว่า ไม่จะผ่านวิกฤตอะไรมา เงินเฟ้อสูง มาตรฐานทองคำใหม่ หรือก่อการร้าย ดัชนี S&P500 ยังสามารถโตได้ 6-8% ต่อปี มีโอกาสชนะเงินเฟ้อ ดังนั้นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกระทบการลงทุนก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือ การลงทุนในหุ้นคุณภาพดี มีโอกาสเติบโตระยะยาว

Q: ภาษีที่เกี่ยวข้องการลงทุนต่างประเทศมีอะไรบ้าง  

ก็เหมือนกับไทย ทุกประเทศยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไร (Capital Gain)

แต่ถ้านำเงินกลับมาในปีภาษีเดียวกัน ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยคำนวณจากกำไรที่เกิดจากการลงทุนต่างประเทศ ที่แนะนำคือ ให้เอากลับไทยน้อยกว่าที่เอาออกไปลงทุน

นอกจากนี้พยายามวางแผนภาษีให้ดีๆ เพราะนำกลับไทยมาเยอะในปีภาษีเดียวกัน ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น ถ้าเป็นเงินเย็นอยู่แล้ว ไม่ควรรีบร้อนถอนออกมา เก็บไว้ในพอร์ตแล้วปล่อยให้ผลตอบแทนทำงานแทน Let Profit Run 

อ่าน Exclusive Q&A with CEO ย้อนหลัง  

สรุปคำถาม-ตอบ Exclusive Q&A with CEO จาก Jitta Wealth เดือนเมษายน 2564

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด