สรุปความคืบหน้าล่าสุด การเสียภาษีรายได้จากต่างประเทศ

24 พฤศจิกายน 2566News

ล่าสุดกรมสรรพากรมีประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ต่างประเทศ (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162) และมีคำถาม – คำตอบ เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีใจความสำคัญที่เกี่ยวกับนักลงทุน Jitta Wealth เพื่อทำความเข้าใจดังนี้

  1. เกณฑ์กำหนด ว่าเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 จะใช้เกณฑ์เดิม คือเงินได้จากการลงทุนที่เกิดขึ้นในปี 2566 หรือก่อนหน้า สามารถนำกลับประเทศไทยในปี 2567 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องยื่นเสียภาษี
  2. เงินได้จากการลงทุน ให้รวมถึง กำไรส่วนต่างราคาหุ้นจากการขาย เงินปันผลที่เกิดขึ้นในพอร์ตการลงทุนและส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน (ถ้ามี) นับเป็นเงินได้พึงประเมิน (Realized Gain) ดังนั้นในกรณีที่มีการขายหุ้นทำกำไรไปแล้ว ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 จะถือว่า กำไรในส่วนนั้นเป็นเงินได้จากการลงทุนที่ไม่จำเป็นจะต้องเสียภาษี ถ้าหากนำเงินนั้นกลับเข้ามาในปี 2567 เป็นต้นไป
  • เช่น ถ้าหากเรามีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 1,000,000 บาท ในปี 2565 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2566 หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 บาท เราทำการขายหุ้นทั้งหมดออก ทำให้เรามีเงินได้จากการลงทุน 200,000 บาท ในปี 2566 ซึ่งเงินได้นี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เมื่อเรานำเงินนี้กลับเข้ามาในประเทศในปี 2567 เป็นต้นไป
  1. เงินต้นและกำไร อ้างอิงจากกรมสรรพากร กำไรคือส่วนเกินจากเงินต้นที่โอนออกไปลงทุน ดังนั้นหากลูกค้าโอนเงินออกไปลงทุน 1 ล้านบาท เงินได้ที่โอนกลับเข้าไทยที่เกินจากต้นทุน 1 ล้านบาทจะถูกนับเป็นกำไรที่ต้องนำมายื่นเป็นรายได้
  • เช่น ถ้าหากเรามีการโอนเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ 1,000,000 บาท หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2567 และ เงินลงทุนเติบโตขึ้นเป็น 1,200,000 บาท เมื่อรายทำการโอนเงินทั้งหมดกลับเข้ามาในประเทศไทย เงิน 1,000,000 บาทแรกจะถือเป็นเงินต้น ไม่ถือเป็นเงินได้ จึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ส่วนเงิน 200,000 บาท จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมาเสียภาษี

ดังนั้น สำหรับนักลงทุน Jitta Wealth ที่มีการลงทุนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 จะมีแนวทางจัดการภาษีดังนี้

กรณีที่ 1: พอร์ตการลงทุนมีกำไร

ตัวอย่าง: นาย A เริ่มลงทุนใน Jitta Ranking – US เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ในปี 2563 และพอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นเป็น 2,000,000 บาท ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 โดยในตลอดระยะเวลาที่ลงทุนมานั้น Jitta Wealth ปรับพอร์ตการลงทุนทุกๆ 3 เดือน เมื่อมีกำไรจากการขายหุ้นหรือปันผล ก็จะนำเงินนั้นไปลงทุนซื้อหุ้นใหม่ต่อไปเรื่อยๆ

ซึ่งพอร์ตของนาย A ปรับพอร์ตครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ทำให้ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน พอร์ตการลงทุนของนาย A มีหุ้นอยู่ 10 หุ้น โดยมีหุ้นที่กำไรอยู่ 7 หุ้น รวมเป็นเงินกำไร 100,000 บาท

ดังนั้น จากเกณฑ์การคิดภาษีแบบใหม่ นาย A จะมีภาระทางภาษี ในกรณีที่โอนเงินเข้ามาหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนี้

  1. เงินต้นที่โอนออกไปลงทุน 1,000,000 บาท → ไม่เสียภาษี
  2. กำไรที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้น (Realized Gain) ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 จำนวน 900,000 บาท → ไม่เสียภาษี
  3. กำไรที่ยังไม่รับรู้ จำนวน 100,000 บาท → ยังไม่ถือเป็นรายได้พึงประเมินจนกว่าจะมีการขายเกิดขึ้น

โดยสรุป นาย A สามารถลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ได้อย่างสบายใจ และ หลังวันที่ 1 มกราคม 2567 นาย A สามารถถอนเงินลงทุนกลับมาได้ 1,900,000 บาท โดยที่ไม่เสียภาษี โดยจะโอนเงินจำนวนนี้กลับมาในประเทศไทยครั้งเดียวเลย หรือ หลายๆ ครั้งก็ได้

ส่วนกำไรที่ยังไม่รับรู้จำนวน 100,000 บาทนั้น ต้องไปดู ณ วันที่ขายอีกทีว่า จะมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่ จึงจะค่อยนำมาคำนวณเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี ในกรณีที่มีการนำเงินจำนวนนี้กลับเข้ามาในประเทศไทย หลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

กรณีที่ 2 : พอร์ตการลงทุนขาดทุน

ตัวอย่าง: นาย B เริ่มลงทุนใน Thematic Optimize เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ในปี 2564 และพอร์ตการลงทุนขาดทุนจากการที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีตกอย่างหนักในปี 2565 ทำให้ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของนาย B มีมูลค่า 800,000 บาท ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566

ดังนั้น ปัจจุบันนาย B ยังไม่มีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากเงินลงทุนในปัจจุบันน้อยกว่าเงินต้นที่โอนออกไปลงทุนอยู่ 200,000 บาท

ถ้าหากนาย B ลงทุนต่อไปเรื่อยๆ นาย B จะมีภาระทางภาษีก็ต่อเมื่อ พอร์ตการลงทุนกลับมาเติบโตมากกว่าเงินต้น 1,000,000 บาท มีการขายพอร์ตลงทุนและนำเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 จึงจะเสียภาษีในส่วนเงินกำไรที่เกิน 1,000,000 บาท

แต่ถ้าหากนาย B ทำการขายและโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยในปี 2566 จำนวน 800,000 บาท แม้ว่าจะไม่เสียภาษี แต่เมื่อไหร่ที่นาย B ทำการโอนเงินจำนวน 800,000 บาทนี้ กลับไปลงทุนในต่างประเทศใหม่อีกครั้ง จะถือว่าเงินต้นที่โอนออกไปลงทุนใหม่คือ 800,000 บาท ถ้าหากว่าพอร์ตเติบโตขึ้น นาย B จะเสียภาษีในส่วนที่เกิน 800,000 บาททันที เมื่อทำการขายพอร์ตลงทุนและนำเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังวันที่ 1 มกราคม 2567

ดังนั้นจะเห็นว่าสำหรับนักลงทุนที่ตั้งใจจะลงทุนในต่างประเทศระยะยาวอยู่แล้ว ในพอร์ตการลงทุนที่ยังขาดทุนอยู่ เราไม่ควรที่จะถอนเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยในปีนี้ แล้วโอนออกไปลงทุนต่างประเทศใหม่ในอนาคต เพราะการทำแบบนั้นจะทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเราลดลง เทียบกับ การที่เราลงทุนต่อไปในต่างประเทศ จะในประเทศเดิม หรือ ประเทศใหม่ก็ได้ จะทำให้เราได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่า


สำหรับการลงทุนที่เกิดขึ้นหลัง  1 มกราคม 2567   

กำไรจากการลงทุน หรือเงินได้พึงประเมินหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ในส่วนที่มากกว่าเงินต้นที่โอนออกไป เมื่อนำกลับเข้ามาในประเทศไทย (ไม่ว่าจะปีภาษีใดก็ตาม) จะต้องนำไปยื่นภาษี แต่หากการลงทุนในต่างประเทศมีการเสียภาษีการลงทุนของแต่ละประเทศไว้แล้ว สามารถนำมาเครดิตภาษีคืนได้ อีกทั้งหากถอนเงินและนำเงินไปลงทุนต่อโดยไม่นำเงินกลับเข้าไทย ผู้ลงทุนจะสามารถวางแผนการลงทุนและวางแผนเกี่ยวกับการจัดการภาษีได้อย่างเหมาะสม บนหลักเกณฑ์ปัจจุบันหรือหลักเกณฑ์ในอนาคต หากเปลี่ยนแปลงหรือมีความชัดเจนที่มากขึ้น


ทั้งนี้ หากกรมสรรพากรมีประกาศใหม่ในอนาคต อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบกับรายละเอียดข้างต้นได้ จึงแนะนำติดตามการอัปเดตจาก Jitta Wealth และ การประกาศจากกรมสรรพากรอย่างใกล้ชิด

ทาง Jitta Wealth ขอให้นักลงทุนทุกคนมีความเชื่อมั่นและสบายใจในเรื่องนี้ ไม่ว่าในอนาคตจะมีปรับปรับเปลี่ยนเกณฑ์ต่างๆ อย่างไร เราพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างนักลงทุน เพื่อคอยอัปเดตและนำเสนอแนวทางจัดการภาษีจากการลงทุนต่างๆ ให้ถูกต้อง และเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับนักลงทุนเสมอครับ

เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอย่างละเอียดมากขึ้นแก่นักลงทุน Jitta Wealth เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ Jitta Wealth จึงจัดให้มีการ Live ผ่านช่องทาง Youtube @JittaWealth และ Facebook  @JittaWealth ในวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18:00 น


หมายเหตุ: 

  • รายละเอียดข้างต้นเป็นการตีความจากประกาศและคำสั่งของกรมสรรพากรเท่านั้น
    บลจ.จิตตะ เวลธ์ จำกัด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีโดยตรง  
  • หากมีคำถามสามารถติดต่อกรมสรรพากรในพื้นที่ของท่าน หรือ โทร 1161
  • สามารถดูรายละเอียดคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162 จากลิงก์ด้านล่างนี้
  • สามารถดู ถาม-ตอบ เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรจากกรมสรรพากรได้ที่ลิงก์นี้ https://www.rd.go.th/fileadmin/download/news/question_p161_162.pdf 
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด