CEO Jitta Wealth ตอบคำถามคาใจ Thematic Optimize

7 กุมภาพันธ์ 2566Exclusive Q&A with CEOOptimizeThematic

ที่ผ่านมามีนักลงทุนหลายคนสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับการทำงานของนโยบาย Thematic Optimize ของ Jitta Wealth ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ไม่รู้จะเลือกลงทุนธีมเมกะเทรนด์อะไร และต้องการให้ AI เลือกให้เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่ดีกว่าการเลือกแบบไม่มีหลักการ 

วันนี้ คุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO ของ Jitta Wealth จะมาตอบคำถามคาใจนักลงทุนเกี่ยวกับการลงทุนแผน Thematic Optimize ในหลายประเด็นที่ถูกถามเข้ามาทางกลุ่มเฟซบุ๊ก Jitta Wealth Official 



นิยามการลงทุนระยะยาวสำหรับ Jitta Wealth คืออะไร?

การลงทุนระยะยาว คือการลงทุนในทรัพย์สินบางอย่างที่สามารถเติบโตไปเรื่อยๆ ได้โดยไม่พยายามจับจังหวะ เก็งกำไร บางคนอาจเคยได้ยินเรื่องการลงทุนระยะยาวด้วยกลยุทธ์ Buy and Hold หรือการซื้อแล้วถือไปเรื่อยๆ เช่น นักลงทุนบางคนอาจถือหุ้นบางตัว 10 – 20 ปี แล้วพอร์ตโตขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมาก็ได้

แล้ว Thematic Optimize ที่ปรับพอร์ตทุก 3 เดือนเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างไร? แนวคิดของการลงทุนระยะยาว คือ กลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว หรือทำให้พอร์ตเติบโตไปได้เรื่อยๆ ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็สามารถแบ่งได้หลายแบบ เช่น คุณเลือกที่จะถือหุ้นน้อยตัว แต่เลือกมาแล้วอย่างดีเยี่ยม ใช้เวลาศึกษาแล้วถือไปยาวๆ และคอยสังเกตว่าธุรกิจนั้นยังมีการเติบโตอยู่หรือไม่

อีกแบบหนึ่งที่ Jitta Wealth ใช้ในการบริหารพอร์ต Thematic Optimize คือ การใช้ประโยชน์จาก AI และอัลกอริทึมที่สามารถวิเคราะห์สินทรัพย์ได้เป็นจำนวนมากในการรีวิวพอร์ตเพื่อดูว่าหุ้นที่ถืออยู่นั้นยังดีอยู่มั้ย ถ้ายังมีโอกาสเติบโตอยู่ก็ถือต่อ ไม่ได้จำเป็นต้องขายทิ้งทุกครั้งที่ปรับพอร์ต

การปรับพอร์ตทุก 3 เดือน คือการจับจังหวะไหม?

การลงทุนใน Thematic Optimize จะมีกระบวนการรีวิวพอร์ตทุก 3 เดือน ซึ่งอ้างอิงจากส่วนสำคัญหลายปัจจัยที่ส่งผลดีในระยะยาว เช่น ตัวเลขทางการเงิน และ การเติบโตของบริษัท จึงไม่ใช่การจับจังหวะตลาดสั้นๆ เพราะเราจะคำนวณจากภาพรวมหลายปีเข้าด้วยกัน เพื่อเฟ้นหาธีมที่ดีที่สุดในช่วงเวลาและลงทุนในธีมนั้น

การรีวิวและปรับพอร์ตทุก 3 เดือน โดยอ้างอิงจาก ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ไม่ใช่การพยายามจับจังหวะ เราเชื่อว่ากระบวนการปรับพอร์ตทุก 3 เดือนนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับนักลงทุน การรีวิวพอร์ตทุก 3 เดือนก็จะเกิดขึ้นต่อไป

การปรับพอร์ตทุก 3 เดือนดีจริงไหม?

ทีมงานข้อมูลให้ทำการศึกษาเยอะแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่แผน Thematic Optimize แต่รวมไปถึง Jitta Ranking ที่ในอดีตเรามองว่าปรับพอร์ตปีละครั้งก็เพียงพอ แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าการที่เราปรับพอร์ตทุก 3 เดือนตามรอบผลประกอบการของบริษัท ประกอบกับการใช้ AI และอัลกอริทึมเพื่อวิเคราะห์หุ้นได้จำนวนมากๆ พร้อมกัน ทำให้เราสามารถโยกย้ายเงินลงทุนไปอยู่ในสินทรัพย์ที่ดีที่สุดได้

และเมื่อเราได้ทดลองทำ Back Test ของ Jitta Ranking โดยแบ่งระยะเวลาการปรับพอร์ตเป็น 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือนและ 12 เดือน ทำให้เจอจุดที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดก็คือการปรับพอร์ตทุก 3 เดือน 

ตอนที่เราเริ่มทำ Thematic Optimize เราก็ทดลองทำ Back Test เหมือนกัน และพบว่าการปรับพอร์ต 3 เดือนจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้ในระยะยาว

ย้ำกันอีกครั้ง Thematic Optimize คืออะไร? 

ในช่วงแรกแผนลงทุนที่ Jitta Wealth เปิดให้ลงทุน คือ Thematic DIY เพื่อให้นักลงทุนเลือกลงทุนในธีมเมกะเทรนด์ที่ตัวเองสนใจได้ แต่เมื่อทำแผน Thematic DIY กลับเจอปัญหาใหญ่ๆ คือ นักลงทุนไม่สามารถเลือกธีมลงทุนได้เอง

ทีมงานมองเห็นปัญหาว่าหากนักลงทุนปรับธีมไปเรื่อยๆ แบบไม่มีหลักการที่ถูกต้องจะทำให้ได้ผลตอบแทนแย่ลง จึงพยายามหาทางออกที่ดีกว่า จนในที่สุดทีมงานได้พบวิธีแก้ปัญหาว่า หากคุณไม่รู้จะเลือกธีมอะไรดี ลองให้ Jitta Wealth เลือกให้ดีไหม

ทีมงาน Jitta Wealth จึงสร้างอัลกอริทึมขึ้นมา โดยพยายามทำให้อัลกอริทึมสามารถทำผลตอบแทนชนะนักลงทุนที่เลือกธีมลงทุนเองได้อย่างน้อย 50% ของนักลงทุนทั้งหมดก็น่าพอใจแล้ว แต่หลังจากได้ทดสอบพบว่า Thematic Optimize ทำผลตอบแทนได้ดีกว่า 90% ของการเลือกธีมทุกรูปแบบ จึงสรุปได้ว่า Thematic Optimize มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการเลือกลงทุนเองแบบสุ่มในระยะยาว

เช่นเดียวกับ Jitta Ranking ทีมงานไม่ได้บอกว่า Thematic Optimize จะชนะตลาดทุกปี บางปีเราอาจจะแพ้ตลาดก็ได้ แต่สุดท้ายหากลงทุนในระยะยาว 10 – 20 ปี การลงทุนด้วย Jitta Ranking ควรจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด สำหรับแผน Thematic Optimize ก็มีแนวคิดเหมือนกัน

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของ Thematic Optimize คือ การมอบความสงบทางจิตใจให้กับนักลงทุน ช่วยลดวุ่นวายในการจัดพอร์ตลงทุนด้วยตัวเอง จนอาจไม่มีความสุขในการลงทุนได้ Thematic Optimize จึงเป็นทางออกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความสุข และมีโอกาสทำผลตอบแทนดีกว่าการเลือกธีมด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้คือวัตถุประสงค์ของ Thematic Optimize

Back Test จะ Bias ตลาดขาขึ้นหรือไม่?

Back Test คือกระจกมองหลังการลงทุน อย่าง Jitta Ranking เรามีข้อมูลเป็น 10 ปีในหลายตลาด  สำหรับ Thematic Optimize เป็นการลงทุนในเมกะเทรนด์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่ปี ข้อมูล Back Test บางเมกะเทรนด์ก็อาจจะย้อนหลังไปได้เพียง 3-4 ปี นักลงทุนบางท่านอาจจะรู้สึกว่ามีข้อมูลน้อย รวมถึงเป็นช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นเท่านั้น 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคิดถึงด้วยก็คือ สิ่งเหล่านี้เหมือนการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ถ้าลองมองย้อนกลับไปในดัชนีหุ้น Nasdaq ในระยะเวลา 10 – 20 ปี ก็ผ่านเส้นทางตลาดขาขึ้นและขาลงมาแล้ว แต่สุดท้ายดัชนีก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ Jitta Wealth เข้าใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าแผน Thematic Optimize ก็เป็นการลงทุนในเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตระยะยาวแบบนี้เหมือนกัน 

การซื้อธีมซ้ำๆ ขายแล้วซื้อใหม่ เกิดขึ้นจากอะไร?

การปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือนแล้วบางครั้ง Jitta Wealth อาจจะขายธีมหนึ่งไปแล้วซื้อกลับมาครั้งหน้าแล้วซื้อธีมเดิมกลับมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการลงทุน เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนควรจะมีคือ ‘ไร้ใจ’ ซึ่งหมายความว่า คุณต้องไม่มีอคติว่า ‘คุณเคยขายอะไรไปแล้วจะไม่สามารถซื้อกลับมาได้’

สิ่งที่สำคัญของการลงทุนก็คือ เมื่อคุณมีการรีวิวพอร์ต คุณควรจะนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินที่ วิเคราะห์มาเรียบร้อยแล้วว่า ‘หุ้นตัวนี้มีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนได้ดี ณ ตอนนั้น’ เหมือนที่เราวิเคราะห์มาแล้วในแต่ละครั้งว่า ‘การลงทุนในธีมนี้ ณ ปัจจุบันมันดีที่สุดแล้ว ก็ลงทุนได้’ และทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของ AI และ อัลกอริทึม

ตามหลักการ สิ่งที่อัลกอริทึมทำยังเหมือนเดิมคือ ณ วันที่ขาย ‘วันนั้นควรขายอะไร’ และ ณ วันที่ซื้อ ‘วันนั้นควรซื้ออะไร’ ซึ่งในช่วงระยะเวลาตรงนั้นมีข้อมูลบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลา 3-4 วัน ธีมบางธีมที่เคยขายไปแล้วกลับมาอยู่ในอันดับที่เหมาะสม อัลกอริทึมก็ซื้อกลับมา โดยไม่มีอคติว่า ‘เพิ่งขายหุ้นตัวนี้ไป จะไม่สามารถซื้อกลับมาได้’ ซึ่งการที่อัลกอริทึมไร้ใจแบบนี้เป็นผลดีกับนักลงทุน

นักลงทุนต้องมีอิสระในการลงทุนครั้งปัจจุบันเสมอ ‘คุณเคยขายอะไร มันได้จบไปแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันถ้าคุณจะซื้อหุ้น คุณจะซื้ออะไรที่ดีที่สุดในตอนนี้’ ซึ่งถ้าคุณสามารถทำแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ ซ้ำๆ เป็นร้อย เป็นพันครั้งได้ สุดท้ายการลงทุนนั้นจะถูกต้องเอง

เป็นไปได้มั้ยที่เงินในพอร์ตจะเหลือ 0 หากปรับพอร์ตไปเรื่อยๆ?

สิ่งที่จะทำให้พอร์ตเหลือ 0 คือ กลยุทธ์ของคุณผิดพลาด ความเสี่ยงสูงเกินไป หรือสินทรัพย์ที่ลงทุนผิดพลาดหรือไม่ ซึ่ง Thematic Optimize มีหลักการคือเลือกลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นเมกะเทรนด์ที่มีการเติบโตอยู่ หากศึกษาเรื่องระยะการเติบโตของเมกะเทรนด์ต่างๆ ก็จะเห็นว่าในระยะยาวมีการเติบโตขึ้น เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นซึ่งมีช่วงขาขึ้นและขาลง การปรับพอร์ตในช่วงขาลงแล้วขาดทุน ก็ไม่ได้แปลว่าถ้าไม่ปรับพอร์ต ถือหุ้นตัวเดิมอยู่แล้วจะขาดทุนเพิ่มไม่ได้

อีกเรื่องคือตราบใดที่อุตสาหกรรมนั้นยังคงเติบโตต่อได้ การขึ้น-ลงของราคาคือความผันผวนระยะหนึ่ง แต่ถ้าในระยะยาวแล้วคุณสามารถถือต่อไปได้ พอร์ตของคุณก็จะมีโอกาสเติบโต

อีกเรื่องหนึ่งคือ Thematic Optimize เป็นการลงทุนใน ETF เมกะเทรนด์ บรรจุไปด้วยหุ้นรายตัวหลายบริษัท หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่สามารถไปต่อได้ รายได้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมแต่เปลี่ยนไปเป็นรายได้ของอีกบริษัทแทน ทำให้โอกาสที่ราคา ETF จะเหลือ 0 จึงเป็นไปได้ยากมาก ถ้ามีคงเป็นกรณีเดียวคืออุตสาหกรรมนั้นล่มสลายไป

Jitta Wealth ซื้อขายหุ้นบ่อยเพราะได้ค่าคอมมิชชันเยอะหรือไม่?

Jitta Wealth ไม่ได้รับค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น สิ่งที่ Jitta Wealth ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้รับคือค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ และเป้าหมายของเราชัดเจนคือ เราพยายามจะหาวิธีให้นักลงทุนได้กำไรมากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ เราประหยัดให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีข้อดีตรงที่ Jitta Wealth จะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) จากการออกแบบนโยบายการลงทุน

ทุกครั้งที่ Jitta Wealth ตัดสินใจอะไร หลักการที่เรายึดถือคือการทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาวเท่านั้น

ในปี 2565 ทำไม Thematic Optimize ถึงปรับตัวลงหนัก?

การปรับตัวลงของหุ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะแผน Thematic Optimize เป็นการลงทุนในหุ้น 100% ซึ่งมี ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk) ทำให้เมื่อคุณถือหุ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วตลาดหุ้นปรับตัวลดลงหมด ราคาหุ้นในพอร์ตลงทุนของคุณก็จะลดลงด้วย 

แต่เรามีพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า หากนักลงทุนถือหุ้นจนผ่านช่วงวิกฤตมาได้จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า นักลงทุนที่เข้าออกตลาดบ่อยๆ นักลงทุนที่ตัดสินใจครั้งเดียวว่าจะลงทุนหุ้นต่อไป จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่านักลงทุนที่พยายามจับจังหวะตลาด เพราะในระยะยาวตลาดหุ้นเป้นขาขึ้น

ในปี 2565 หากลองดูข้อมูลจะพบว่าตลาดหุ้นปรับตัวลงกันถ้วนหน้า ตลาดหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีก็ปรับตัวลงมากเช่นกัน ทำให้ Thematic Optimize ปรับตัวลดลงมาก เพราะเป็นการลงทุนในธีมเมกะเทรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยตรง ซึ่งมีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมปกติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณจะได้คือพอร์ตของคุณจะมีโอกาสเติบโตสูงด้วย หากคุณมั่นใจว่าจะลงทุนระยะยาวไปในธีมเมกะเทรนด์ ช่วงที่ราคาปรับตัวลงจะเป็นเหมือนช่วงลดราคา ที่คุณควรลงทุนเพิ่มมากกว่า

หากคุณกังวลว่าราคาหุ้นตกเยอะ อาจจะทำให้พลาดโอกาสลงทุนไปได้ ยกตัวอย่าง เช่น ‘วิกฤต Dot Com’ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ และ ‘วิกฤติซับไพรม์’ หากลงทุนในช่วงที่ตลาดตกแบบนี้จะยิ่งทำให้คุณมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตได้

ส่วนในปี 2565 เป็นเรื่องของเงินเฟ้อและสงครามซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว สุดท้ายเงินเฟ้อและสงครามก็จะผ่านไปเช่นกัน สุดท้ายเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย ตลาดหุ้นจะกลับมาเติบโตตามปกติ

ในมุมมองนักลงทุนระยะยาว ช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเป็นช่วงเวลาที่ คุณควรจะโลภ ไม่ใช่ช่วงที่คุณควรกลัว คุณควรคว้าโอกาสเอาไว้บ้าง ไม่ใช่กลัวจนพลาดโอกาสลงทุน 

ปี 2565 Thematic Optimize ตกหนักมาก ปีต่อๆ ไปจะกลับขึ้นมาได้ไหม?

ผลตอบแทนในปี 2565 ที่ผ่านมาอาจจะสร้างความกังวลให้นักลงทุน อย่างที่บอกไปว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปรับตัวลงค่อนข้างมาก โดยดัชนี NASDAQ ที่เป็นเหมือนตัวแทนหุ้นเทคโนโลยีได้ปรับตัวลดลงไป -33.1% 

ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ยของแผน Thematic Optimize ปี 2565 ที่ลงทุนเต็มปีจะอยู่ที่ -38.62% ซึ่งหากเทียบกับดัชนี NASDAQ จะพบว่า Thematic Optimize ทำผลตอบแทนแพ้พอสมควร

แต่ถ้าเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีเป็นหลัก จะพบว่าแผน Thematic Optimize ไม่ได้ทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุด และอยู่ในระดับปกติเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่ลงหุ้นเทคโนโลยี

ในบางปี Thematic Optimize อาจทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนอื่นในทุกๆ ปี บางปีอาจจะทำได้แย่กว่า คงต้องไปพิสูจน์กันยาวๆ อีกทีว่าเมื่อผ่านทั้งในช่วง ตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง ไปผลงานของ Thematic Optimize เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ จะเป็นยังไง

ปี 2565 ยกระดับ Thematic Optimize ยังไงบ้าง?

สำหรับการพัฒนาอัลกอริทึมในปี 2565 ที่ผ่านมาคือ การตัดธีมรายประเทศออกจากแผน Thematic Optimize เราได้รับคำแนะนำจากนักลงทุนหลายคนว่าอยากลงทุนในธีมเมกะเทรนด์อย่างเดียว จึงได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปทดสอบและพบว่า Thematic Optimize ที่ตัดธีมรายประเทศออกทำผลตอบแทนได้ดีกว่า เราจึงตัดธีมประเทศออกจากการคัดเลือกของ Thematic Optimize 

การพัฒนา Thematic Optimize เราต้องทดสอบให้มั่นใจก่อนว่าการพัฒนายกระดับอัลกอริทึมในแต่ละครั้งจะทำให้ประสิทธิภาพดีกว่าเดิมจริงๆ เพราะฉะนั้นจากการทดสอบนี้พบว่าผลตอบแทนดีกว่าเดิม เราจึงเลือกตัดธีมรายประเทศออกไป เพื่อการลงทุนที่ดีที่สุดของนักลงทุน 

รายละเอียดการพัฒนายกระดับ Thematic Optimize และ Jitta Ranking ยังมีรายละเอียดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คุณสามารถไปดู อัปเดตการลงทุน Jitta Wealth ปี 2566 ทั้งหมดได้ที่นี่

มีโอกาสไหมที่ Jitta Wealth จะเปิดเผย Percentile ของ Thematic Optimize?

เราเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ได้ แต่อาจจะต้องดูกรอบเวลาในการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวอีกที สิ่งสำคัญที่เราต้องการย้ำเตือน คือ อย่าพยายามนำผลตอบแทนระยะสั้นมาเปรียบเทียบกัน ไม่ใช่เฉพาะใน Thematic Optimize แต่รวมไปถึงการลงทุนทุกรูปแบบ 

เพราะโลกของการลงทุนที่วุ่นวายในปัจจุบัน เกิดขึ้นจาก นักลงทุนนำผลตอบแทนระยะสั้นไปเปรียบเทียบกันจนกดดันผู้จัดการกองทุน และพยายามบังคับให้ผู้จัดการกองทุนนั้นทำผลตอบแทนระยะสั้นให้ดี จนในบางครั้งการโฟกัสที่ผลตอบแทนระยะสั้นมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อผลตอบแทนระยะยาว

สำหรับแผน Thematic Optimize เราบอกกับนักลงทุนอยู่เสมอว่าจะ โฟกัสไปที่การทำผลตอบแทนระยะยาวให้ดีที่สุด ในส่วนของตัวเลข Percentile เรากำลังหาช่วงเวลาที่จะแสดงให้นักลงทุนได้เห็น 

แต่ต้องการให้นักลงทุนเข้าใจด้วยว่ามันไม่ใช่การเปรียบเทียบระยะสั้น แต่มันคือการดูไปเรื่อยๆ ทุกปีและวัดผลตอบแทนว่าในระยะยาวสุดท้ายว่าเป็นยังไง ในอนาคต Jitta Wealth น่าจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลข Percentile ในส่วนนี้ให้นักลงทุนได้ดูกัน 

เพิ่มฟังก์ชัน Thematic Optimize ว่าไม่ยอมให้ AI ปรับพอร์ตได้ไหม?

ในทางเทคนิคนั้นสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าสมควรทำไหม คำตอบคือ ไม่สมควรทำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักลงทุน เพราะเราได้ทดสอบ Thematic Optimize อย่างละเอียดและทำซ้ำมาหลายๆ ครั้งแล้ว พบว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวดีกว่าการเลือกเอง 

แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ หากคุณเป็นนักลงทุนที่พร้อมจะเลือกและปรับพอร์ตด้วยตัวเอง แผน Thematic DIY น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับคุณมากกว่า เพราะคุณสามารถเลือกธีมและเลือกปรับพอร์ตได้ตามเป้าหมายและเวลาที่คุณวางเอาไว้ได้เลย

Thematic Optimize จะเหมาะกับคนที่ไม่ต้องการปรับพอร์ต เลือกธีมด้วยตัวเอง เพราะอาจจะไม่มีเวลา ถึงแม้ว่าในบางครั้ง Thematic Optimize จะปรับพอร์ตไม่ตรงกับความรู้สึกบ้าง แต่สุดท้ายในระยะยาว Thematic Optimize จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า 

ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์แรกที่ทำให้ Jitta Wealth สร้างแผน Thematic Optimize ขึ้นมาก็เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนในเมกะเทรนด์ได้ และสบายใจว่าในระยะยาวจะมีโอกาสได้มากกว่าเสีย 

DCA ใน Thematic Optimize มีข้อดียังไงบ้าง?

กลยุทธ์ Dollar-cost Averging (DCA) มีข้อดีหลายอย่างมาก ไม่เฉพาะในการลงทุน Thematic Optimize เท่านั้น เพราะ DCA ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าหากคุณทำได้อย่างถูกต้อง จะช่วยทำให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม

ในอีกมุม DCA เป็นเหมือนการออมเงินไปเรื่อยๆ ในทรัพย์สินที่เติบโตมากกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารเฉยๆ แน่นอนว่าความผันผวนอาจเกิดขึ้นบ้าง แต่จะมีโอกาสที่ทำให้เงินจำนวนนั้นงอกเงยมากขึ้นกว่าเดิม และในระยะยาวคุณจะได้ประโยชน์ของการ DCA อยู่แล้ว 

หากคุณไม่มีเวลาในการวิเคราะห์ หรือจัดการพอร์ตลงทุน การ DCA เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุด เพราะคุณจะไม่ต้องเหนื่อย 

สำหรับคนที่คิดว่ายิ่ง DCA ยิ่งขาดทุน จริงๆ เราเคยพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วใน Live ตำราพิชัยลงทุนให้ชนะสงคราม ที่ได้พูดถึงดัชนี NASDAQ ว่าหากคุณลงทุนแบบ DCA ตอนที่ดัชนี NASDAQ ขึ้นไปจุดสูงสุดช่วงปี 2543 เป็นช่วงที่ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลดลงไปกว่า 70% ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงช่วงปี 2562 – 2563 คุณจะได้ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยประมาณ 13% ต่อปี เป็นข้อพิสูจน์ว่ากลยุทธ์ DCA สามารถใช้ได้จริง

และตามสถิติคือจำนวนปีที่หุ้นขึ้นจะมากกว่าจำนวนปีที่หุ้นตกอยู่แล้ว หากสถิติยังเป็นแบบนี้ต่อไปสุดท้ายคุณจะได้ผลตอบแทนที่เป็นบวกและทำให้พอร์ตลงทุนโตได้เองในอนาคต

หาก DCA ช่วงขาลง จะยิ่งทำให้ขาดทุนมากกว่าเดิมหรือไม่?

หลายคนที่ DCA ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงตลาดขาลงจนอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า ทุกครั้งที่ DCA หุ้นก็จะตกไปอีก ทำให้ยิ่งเหมือนขาดทุนมากยิ่งขึ้น ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นจากการมองภาพรวมในระยะสั้นเกินไป

การ DCA ควรทำทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง โดยระยะยาวเงิน DCA ที่ลงเป็นก้อนแรกๆ ที่คุณเห็นว่ายิ่งลงยิ่งขาดทุนไป ถ้าอยู่ในตลาดต่อไปในระยะยาวเงินก้อนนี้จะโตขึ้นมาก เพราะฉะนั้นจะเป็นเหมือนการยอมขาดทุนระยะสั้นเพื่อโตระยะยาว ส่วนที่ DCA ไปตอนตลาดหุ้นขาขึ้นแล้วได้กำไร มันก็จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน

สำหรับคนที่สนใจที่จะอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติม สามารถติดตามหาข้อมูลที่อัปเดตใหม่ๆ ได้ที่ 

เราพร้อมจะให้คำแนะนำและหลักการลงทุนที่ดีกับทุกท่านเสมอ หากคุณต้องการชมวีดีโอตอบคำถามคาใจ Thematic Optimize สามารถรับชมวิดีโอได้ทั้งทาง Facebook และ YouTube

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด