สรุป Live พูด-คุยข้อสงสัยภาษีลงทุนต่างประเทศกับ Jitta Wealth

1 ธันวาคม 2566Live

ประเด็นที่นักลงทุนหลายคนติดตาม เกณฑ์การเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ กฎเกณฑ์ใหม่ที่นักลงทุนรอคำตอบ การเรียกเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นักลงทุน Jitta Wealth ต้องทำอะไรหรือไม่ 

วันนี้ คุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ CEO ของ Jitta Wealth และ คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน COO ของ Jitta Wealth ได้หาคำตอบ สรุปประเด็นที่สำคัญของประกาศใหม่ล่าสุดมาให้นักลงทุน Jitta Wealth แล้ว 

สรุปประเด็นภาษีเงินได้ต่างประเทศล่าสุด เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คุณเผ่า: ในอดีตถ้าเรามีรายได้จากต่างประเทศ เราจะมีวิธีการบริหารภาษี 2 ประเภทด้วยกันคือ แบบที่ 1 แบบถิ่นที่อยู่ คือถ้าเราไม่ได้อยู่ในประเทศถึง 180 วัน เงินได้จากต่างประเทศในปีนั้นจะไม่เสียภาษี แบบที่ 2 คือ ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย 180 วัน และมีเงินได้ต่างประเทศในปีนั้น ถ้าเราเอาเงินได้นั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยข้ามปีภาษี เราก็ไม่ต้องเอารายได้จากต่างประเทศตรงนั้นมายื่นคำนวณภาษีเงินได้ส่วนบุคคล 

ซึ่งเกณฑ์ที่ว่ามานั้น ไม่ได้นับเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ แต่รวมไปถึงคนที่มีรายได้จากต่างประเทศในรูปแบบอื่นๆ ด้วย 

จนวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ประกาศเกณฑ์ฉบับ ป.161 ออกมา ซึ่งระบุว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ในเกณฑ์ระบุว่า ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากต่างประเทศในปีไหน และนำเข้ามาในประเทศไทยจะมีการคิดภาษีด้วย ซึ่งเป็นประกาศที่สร้างความแตกตื่นให้กับวงการลงทุนระดับหนึ่งเลยในตอนนั้น ซึ่ง Jitta Wealth ก็ได้ทำวีดีโออัปเดตสถานการณ์ในตอนนั้นไปแล้วเช่นกัน 

ในตอนนั้นเราก็รอทางกรมสรรพากรออกมาชี้แจ้งถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ถ้าจะคิดภาษีเงินได้ต่างประเทศจะคิดอย่างไรบ้าง 

และในวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาก็มีประกาศฉบับ ป.162 ออกมา ซึ่งใจความสำคัญคือ ถ้าเงินได้นั้นเกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567 คุณสามารถเอาเงินได้นั้นเข้ามาได้ในปีถัดๆ ไปแบบไม่ต้องเสียภาษี หรือก็คือเกณฑ์เดิมกับที่เคยใช้กันมาตลอด แต่เงินได้ที่เกิดขึ้นหลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปจะนับเป็นเกณฑ์ใหม่ สรุปก็คือ ทุกอย่างจะถูกเริ่มต้นใหม่หลัง 1 มกราคม 2567 

แล้วบางคนสงสัยว่า แล้วถ้าขาดทุนทำอย่างไร สมมติว่าเราเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ 1 ล้านบาท ขาดทุนจนเหลือ 800,000 บาท ถ้าเราเอาเงิน 800,000 บาทเข้าประเทศไทยจะเสียภาษีหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องเสีย เพราะจริงๆ แล้ว 800,000 นั้นนับเป็นเงินต้น

คุณอ้อ: ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ออก คำถาม-คำตอบ เรื่องการเสียภาษีเงินได้ต่างประเทศมาพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งวันนี้เราจะมาไล่ดูกันถึงข้อคำถาม คำตอบที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน Jitta Wealth โดยเฉพาะ ที่ทางเราเองก็ได้ปรึกษาพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีมาเรียบร้อยแล้วด้วย

หมายเหตุ: รายละเอียดต่อไปนี้เป็นการตีความจากประกาศและคำสั่งของกรมสรรพากรเท่านั้น  Jitta Wealth ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีโดยตรง หากมีคำถามที่เฉพาะเจาะจง ติดต่อสรรพากรที่เบอร์ 1161 

เกณฑ์ใหม่ออกมาแล้วจะบริหารภาษีอย่างไรดี

คุณเผ่า: มีนักลงทุนระยะยาวหลายคนที่คิดประมาณว่า ก็เราลงทุนระยะยาว จะเอาเงินนั้นกลับเข้ามาปีไหนก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะจริงๆ แล้วประเด็นมันคือ เราจะเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศนี้ เมื่อเอาเงินกลับเข้าประเทศไทย 

นักลงทุนระยะยาวหลายคนที่มีเป้าหมายลงทุนเพื่อใช้เงินก้อนนี้หลังเกษียณ ก็ปล่อยให้เงินทำงานอีก 10-20 ปี ให้เงินลงทุนเหล่านั้นทบต้นไป แล้วค่อยเสียภาษีเงินได้นั้นในปีที่จะเอากลับมาในประเทศไทยจริงๆ 

ที่สำคัญเมื่อถึงเวลานั้น เกณฑ์ในการเสียภาษีของเราก็อาจจะลดลงเพราะไม่มีเงินได้มากนักเนื่องจากหยุดทำงานแล้ว เราก็สามารถค่อยๆ ทยอยโอนเงินลงทุนเข้ามาใช้จ่าย เราก็จะเสียภาษีน้อยลงด้วย ก็เป็นการบริหารเงินภาษีรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

เงินได้จากต่างประเทศคืออะไรบ้าง 

คุณเผ่า: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีทั้งหมด 8 ประเภท ซึ่งสำหรับนักลงทุนก็จะคุ้นเคยมาตรา 40(4) ดอกเบี้ยและเงินปันผล ซึ่งเป็นประเด็นที่เราโฟกัสในวันนี้ 

คุณอ้อ: ซึ่งเงินได้จากต่างประเทศก็คือ เงินได้ตามมาตรา 40(1) – (8) ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศทั้งหมด 

หลักการของเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ คิดคำนวณอย่างไร 

คุณเผ่า: ในคำถามและคำตอบของกรมสรรพากรก็ได้เคลียชัดถึงข้อสงสัยนี้เรียบร้อยแล้ว คือ เงินต้นที่เราโอนออกไปลงทุน ไม่ว่าจะโอนเข้าออกอย่างไรไม่นับว่าต้องเสียภาษี การเสียภาษีจะนับเมื่อมีกำไร ซึ่งคำว่ากำไรในที่นี่คือ ส่วนต่างของราคาหุ้น ปันผล ดอกเบี้ย หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่โอนกลับเข้าประเทศไทย 

คุณอ้อ: เรียกว่าอะไรที่เป็นดอกผลของเงินต้นจึงจะเอามาคิดภาษีเงินได้จากต่างประเทศ 

คุณเผ่า: ซึ่งแสดงว่าเรื่องการเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศนั้นอาจจะไม่ได้มากมายอย่างที่เราคิดๆ หรือกังวลกัน

คุณอ้อ: อย่างในแอปพลิเคชันของ Jitta Wealth ก็มีบอกชัดเจนแล้วว่า เงินลงทุนจริงๆ เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ นักลงทุนจะได้มองออกและเข้าใจมากขึ้นด้วย 

คุณเผ่า: ซึ่งประเด็นนี้จะอยู่ในคำถามข้อที่ 8 ของกรมสรรพากร รวมไปถึงคำถามข้อที่ 9 ของกรมสรรพากรเรื่องดอกเบี้ยด้วย 

เงินได้พึงประเมินที่เกิดก่อน 1 มกราคม 2567 ต้องเสียภาษีหรือไม่

คุณเผ่า: คำว่า ‘เงินได้พึงประเมิน’ คือ  เงินที่เป็นของเราแล้ว เราเอาไปใช้จ่ายได้แล้ว เช่นหากคุณมีอสังหริมทรัพย์ให้เช่า ผู้เช่าจ่ายค่าเช่าคุณแล้ว นั้นหมายความว่าเงินค่าเช่าที่คุณได้รับนั้นถือเป็นรายได้พึงประเมิน 

คุณอ้อ: แล้วถ้าเป็นหุ้น ที่มันเป็นสินทรัพย์ มีมูลค่า เราเรียกว่าเป็นรายได้พึงประเมินได้หรือไม่ 

คุณเผ่า: ถ้าเป็นอย่างนั้นยังไม่นับ เพราะจะนับเมื่อมีการขายเป็นเงินออกมาแล้วเท่านั้น และมีการบันทึกกำไรแล้วว่าเราได้กำไรเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้คุณซื้อหุ้น แล้วยังไม่ได้ขายเอากำไร ก็ไม่ต้องนับเป็นเงินได้ 

คุณอ้อ: แสดงว่าถ้านักลงทุน Jitta Wealth เปิดแอปของเราขึ้นมา เห็นตัวเลขตรงนั้น ตัวเลขเหล่านั้นยังไม่เรียกว่ารายได้พึงประเมิน จะเป็นรายได้พึงประเมินเมื่อขายออกเท่านั้น

นักลงทุน Jitta Wealth มีการซื้อขายเข้าออกบ่อยครั้ง หรือการปรับพอร์ต ต้องคิดรายได้พึ่งประเมินอย่างไร

คุณเผ่า: ยกตัวอย่างนักลงทุนที่ลงทุนกับ Jitta Wealth มา 3 ปี เงินต้น 1 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินในพอร์ตเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท แสดงว่ากำไร 1 ล้านบาทนั้นถือเป็นเงินที่เกิดการรับรู้ไปแล้ว (Realized Gain) แต่ถ้ากำไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567 ก็ไม่ต้องเสียภาษี 

สรุปก็คือ อะไรที่ขายไปแล้ว รับรู้ว่าเป็นกำไรไปแล้ว ถูกประเมินเป็นรายได้พึงประเมินก่อนปี 2567 เรียบร้อยแล้วก็ถือว่าไม่ต้องเสียภาษี

ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีของนักลงทุน Jitta Wealth

คุณเผ่า: สมมติว่าเราไปดู NAV ปัจจุบันมีมูลค่า 4 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นเงินต้น 3 ล้านบาท ซึ่งเงินต้นตรงนี้ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเอากลับมาปีไหนก็ตาม เราจะเหลือ 1 ล้านบาท ที่แบ่งเป็น กำไรที่รับรู้แล้ว (จากการขายหุ้น ปรับพอร์ต) 900,000 บาท ในส่วนนี้ก็จะไม่ต้องเสียภาษี หากคุณนำเข้ามาในปี 2567 เป็นต้นไป เราจะเหลืออีก 100,000 บาท ที่เป็นกำไรที่ยังไม่รับรู้ จะถือว่ารับรู้ ณ วันที่ขาย และนำมาคำนวณภาษีในตอนนั้นอีกที 

แสดงว่าตามหลักแล้ว เราต้องเอา NAV – เงินต้น – กำไรที่รับรู้แล้ว จึงจะเหลือกำไรที่ยังไม่รับรู้ และจะเป็นส่วนที่นำมาคิดภาษี ณ วันที่เราจะเอาเงินกลับไทย 

ซึ่งคาดว่าหลังจาก 1 มกราคม 2567 นี้กรมสรรพากรน่าจะต้องออกแบบบันทึกให้ทาง บลจ. ต่างๆ เราต้องบันทึกการซื้อขาย กำไร ขาดทุน เพื่อที่แต่ละปีจะได้คำนวณได้ว่า เรามีกำไรที่รับรู้แล้วเท่าไหร่บ้าง แล้วถ้าคุณอยากเอาเงินก้อนนั้นกลับมาถึงจะเสียภาษี

อย่างตัวอย่างนี้ แสดงว่าเรามีสิทธิทางภาษีที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ต่างประเทศไปแล้ว 3.9 ล้าน 

แล้วจะบอกว่าจริงๆ บางคนกำไร 100% แต่กำไรที่ยังไม่รับรู้จริงๆ อาจจะเหลือน้อยมากก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นคนที่ลงทุน Jitta Ranking ที่ต้องปรับพอร์ตทุก 3 เดือน ก็จะเหลือกำไรที่ยังไม่รับรู้แค่ในช่วง 3 เดือนหลังของปีนี้ แสดงว่าจริงๆ แล้วก็เหลืออีกนิดเดียวเท่านั้นเอง 

คุณอ้อ: เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่ได้จะต้องใช้เงินก้อนเหล่านี้ที่ลงทุนอยู่ ก็ปล่อยให้เงินเติบโตในต่างประเทศไปได้ เพราะว่า เงินต้นของเราเอาเข้ามาปีไหนก็ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว ส่วนกำไรที่รับรู้แล้วที่เกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567 ถ้านำเข้ามาหลังปี 2566 เป็นต้นไป ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นเราจะเหลือเงินก้อนเล็กๆ ที่เป็นกำไรที่ยังไม่รับรู้ ที่ถ้าเอาเข้ามาต้องเสียภาษี แต่ก็ปล่อยให้เงินก้อนนั้นเติบโตไปได้เช่นเดียวกัน

กรณีพอร์ตรวมขาดทุนและถือต่อจะคิดภาษีอย่างไร

คุณเผ่า: ต้องย้ำอีกทีว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้เอาเงินลงทุนของเรากลับมา ก็เท่ากับว่าเรายังไม่ต้องเสียภาษี สมมติเรามีเงินต้น 1 ล้านบาท ขาดทุนจนเหลือ 800,000 บาท เราก็ยังไม่ต้องทำอะไรอยู่แล้วเพราะว่ามันน้อยกว่าเงินต้น และเราถือต่อมาเรื่อยๆ จนผ่านไปถึงปี 2569 พอร์ตของเราทำกำไร 100,000 บาท รวมกับเงินต้นเป็น 1.1 ล้านบาท และเราต้องการขายและนำเงินกลับเข้าไทย เงินที่ต้องถูกนำมาคิดภาษีคือ เงินที่ได้กำไร 100,000 บาท 

บางคนอาจจะรู้สึกว่าแต่จริงๆ แล้วถ้านับจากปี 2566 เท่ากับพอร์ตนี้มีกำไรมา 300,000 ไม่ใช่หรอ ก็จะบอกว่าไม่ใช่ เพราะว่าเอาเงินต้นมาหักอีก เงินต้นไม่ต้องเสียภาษี 

คุณอ้อ: แสดงว่า 1 มกราคม 2567 ไม่ได้รีเซตเงินต้นใหม่ ไม่ต้องกังวล 

คุณเผ่า: 100,000 บาทที่ได้มา เราจะเรียกเงินก้อนนี้ว่า รายได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นหลังจาก 1 มกราคม 2567 เราก็ต้องเอาเงินก้อนนี้มายื่นเสียภาษี เพราะฉะนั้นใครขาดทุนอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไร รอจนกว่าได้กำไร และเราต้องการเอาเงินกลับเข้าไทย ก็ค่อยคิดภาษีในโอกาสนั้นๆ อีกที

กรณีถ้าขาดทุนอยู่แต่อยากเอากลับมาก่อนแล้วค่อยลงทุนอีกครั้ง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

คุณเผ่า: ตัวอย่างนี้เป็นกรณีของคนที่ลงทุนโดยมีเงินต้น 1 ล้านบาท ขาดทุนเหลือ 800,000 บาท ต้องการที่จะขายและนำกลับไทยเลย กรณีนี้เงิน 800,000 บาทไม่ต้องเสียภาษีเพราะต่ำกว่าเงินต้น แล้วเอาไปลงทุนใหม่อีกครั้ง 800,000 บาท (เงินก่อนเดิมที่เอากลับมา)ในปี 2567

ผ่านไปจนถึงปี 2569 พอร์ตนี้ทำกำไร 300,000 บาท รวมเป็น 1.1 ล้านบาท หากเอากลับเข้าไทย กำไร 300,000 บาท ที่เกิดขึ้นหลังปี 2567 ถือเป็นเงินได้ต้องยื่นภาษี 

แสดงว่าคุณจะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือสิทธิประโยชน์เงินต้น หรืออีกมุมหนึ่งคือ คนที่ยังลงทุนต่อไปจะมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีมากกว่าคนที่เอาเงินกลับมาก่อน 

คำแนะนำก็คือ ถ้าใครที่ขาดทุนอยู่ ถือต่อไปดีกว่า ได้สิทธิประโยชน์มากกว่า หรือถ้าใครไม่มั่นใจเอามาพักที่ Jitta Money ก็ได้ หรือเรียกได้ว่า ทำอย่างไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องเอาเงินกลับมาประเทศไทยก่อน 

Jitta Money คืออะไร 

คุณเผ่า: Jitta Money คือการลงทุนใน Money Market ลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำ และก็จะได้รับดอกเบี้ยปันผลจากพันธบัตร ผลตอบแทนล่าสุดอยู่ที่ 4.53% ต่อปี ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่ากอง Money Market ในไทยที่อยู่ประมาณ 2% 

ซึ่งอย่างที่บอกไปว่า ก็สามารถเอา Jitta Money มาช่วยในการบริหารภาษีได้ เช่นปิดพอร์ตแต่ไม่เอาเงินกลับมาไทย โยกเงินไปลงทุนใน Jitta Money ไว้ก่อน แล้วรอก่อนและค่อยเปลี่ยนไปลงทุนอย่างอื่นอีกก็ได้ 

Q&A

กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศถือว่าเป็นกำไรที่ต้องเอามาคิดภาษีหรือไม่ 

คุณเผ่า: ถือว่าเป็นกำไร อย่างที่เราบอกไป คำว่ากำไรคือ ส่วนต่างราคาหุ้น ปันผล ดอกเบี้ย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน เราจะรู้เมื่อเราเอากลับเข้ามาแล้ว 

ดังนั้น ในวันที่โอนไปเป็นเท่าไหร่ หากในวันที่โอนกลับเงินคุณที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะนับในส่วนนั้น

สรรพากรจะทราบข้อมูลการลงทุนได้อย่างไร 

คุณเผ่า: เป็นหน้าที่ของบลจ. ต่างๆ ในการทำรายงานส่ง 

คุณอ้อ: ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้แนวทางปฎิบัตินั้นมา แต่ว่าขั้นต่อๆ ไปคือ สรรพากรจะต้องแจ้งแนวทางปฎิบัติอีกทีหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว Jitta Wealth ก็ทำให้นักลงทุนของเรามาตลอด กรณีที่นักลงทุนขอเอกสารเพื่อยื่นแก่กรมสรรพากร

เอกสารที่ Jitta Wealth ให้สำหรับส่งสรรพากรน่าเชื่อถือหรือไม่

คุณเผ่า: เชื่อถือได้ เพราะเป็นเอกสารที่ออกจากเป็นทางการจาก Jitta Wealth ที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงาน กลต.

คุณอ้อ: ซึ่งหากต้องการการยืนยันจากต้นทางเราก็สามารถออกเอกสารให้ได้ แต่สรรพากรจะเรียกเอกสารเบื้องต้นก่อน แต่หากมีการของเอกสารเพิ่มก็จะต้องมาคุยกันก่อนว่าจะต้องขอเอกสารจาก Custodian ต่างประเทศมายืนยันหรือไม่

คุณเผ่า: Jitta Wealth เป็น บลจ.ที่อยู่ภายใต้กำกับของสำนักงาน กลต. ซึ่งจะต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว หากสรรพากรระบุมาแล้วว่ามีหน้าที่ต้องนำส่งเอกสารอะไรให้ เราก็จะต้องดำเนินการตามนั้น

ทำไมอยู่ๆ สรรพากรถึงเริ่มมาคิดภาษี ทั้งๆ ที่เมื่อก่อสนับสนุนให้ลงทุนต่างประเทศ

คุณอ้อ: เป็นจุดเริ่มต้นแชร์ข้อมูลระหว่างคู่สัญญาทั่วโลก เพื่อทำให้เกณฑ์ต่างๆ เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น

คุณเผ่า: หลายประเทศมีการจับมือการแชร์ข้อมูลรายได้ของประชากร ว่าใครมีรายได้จากประเทศใดบ้าง เพื่อที่จะนำมาคิดภาษีได้ถูกต้อง

ถ้าพอร์ตมีกำไรเยอะ ควรขายในปี 2566 แล้วนำเงินกลับไหน หรือนำไปลงทุนต่อ

คุณเผ่า: ในกรณีที่ขายในปี 2566 แล้วนำเงินกลับไทยเลย จะต้องเอากำไรที่ได้ไปเสียภาษี แต่หากรอถึงปี 2567 ขายแล้วนำกลับเข้ามา ส่วนกำไรที่รับรู้ไปแล้ว (Realized Gain)ในปี 2566 จะไม่ต้องนำไปเสียภาษี ดังนั้นหากคุณต้องการขายในปี 2566 แนะนำให้ย้ายไปลง Jitta Money ก่อน แล้วค่อยนำกลับไทยในปี 2567 หรือปีถัดๆ ไป

คุณอ้อ: จริงๆ แล้ว NAV ที่แสดงอาจเป็นส่วนที่เป็นกำไรที่รับรู้แล้ว (Realized Gain) ไปแล้ว เหลือส่วนที่ยังไม่รับรู้ (Unrealized Gain) แค่ส่วนน้อยก็ได้

คุณเผ่า: พอร์ตที่มีกำไรเยอะๆ จริงๆ แล้วส่วนกำไรที่ยังไม่รับรู้รายได้ (Unrealized Gain) อาจเป็นส่วนน้อย ซึ่งสามารถลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ไม่นำกลับมาก็ยังไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษี

รวมถึงส่วนกำไรที่รับรู้แล้ว (Realized Gain) ก็สามารถนำกลับเข้ามาปีไหนก็ได้ไม่ต้องเสียภาษี และในการลงทุนระยะยาว อนาคตเกณฑ์ต่างๆ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้เราสามารถบริหารภาษีได้ง่ายขึ้นก็ได้

ดังนั้นให้มองไปที่วัตถุประสงค์ว่ายังอย่างลงทุนต่างประเทศต่อหรือไม่ อาจจะมีการย้ายไปลงประเทศอื่นๆ ถ้ายังอยากลงทุนต่อก็ไม่ควรนำเงินกลับไทย แต่ถ้าตัดสินใจว่าจะไม่ลงทุนต่างประเทศแล้ว ก็สามารถขายในปี 2566 แล้วนำเงินกลับเข้ามาในปี 2567 ได้

ในกรณีมีทั้งพอร์ตที่ได้กำไร และพอร์ตที่ขาดทุน Jitta Wealth มองเรื่องนี้อย่างไร

คุณเผ่า: หากตีความตามคำถาม-คำตอบของสรรพากร จะนำเงินต้นที่โอนออกไป ในกรณีที่โอนหลายๆ พอร์ตก็จะถูกนับเป็นเงินต้นรวม ดังนั้น หากบางพอร์ตกำไรบางพอร์ตขาดทุน แต่ยังไม่เกินจากเงินต้นรวมที่โอนออกไป เมื่อโอนกลับมาจะไม่ถูกนำมาคิดภาษี

ในกรณีที่มีการเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลไปแล้วในต่างประเทศ ยังต้องเสียที่ไทยอีกหรือไม่

คุณเผ่า: ตามหลักอนุสัญญาภาษีซ้อน ถ้าเราเสียภาษีในประเทศที่เป็นคู่สัญญาแล้ว ก็จะไม่ต้องมาเสียที่ไทยอีก แต่ก็จะมีส่วนที่ไม่เท่ากันอยู่ เช่น ถ้าเรามีการเสียที่ประเทศ A 30% และด้วยเงินได้แบบเดียวกันจะต้องเสียที่ประเทศ B 15% ถ้าเรานำเงินกลับมาประเทศ B สามารถมาขอเครดิตคืนได้แค่ 15% ส่วนอีก 15% ที่เสียให้ประเทศ A ไปแล้วนั้นไม่สามารถขอคืนได้

คุณอ้อ: ในอนาคตอาจมีแนวทางเพิ่มเติมในการกรอกรายละเอียดอีกทีหนึ่ง

ถ้าจะลงทุนเพิ่ม ควรลงทุนก่อนหรือหลัง ปี 2567 ในแง่มุมภาษี

คุณเผ่า: เนื่องจากใกล้ปี 2567 แล้วจึงจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในกรณีที่คุณลงทุนในปี 2566 แล้วพอร์ตมีกำไรขึ้นมา และมีการปรับพอร์ต หรือกำไรแล้วขายโยกไปลง Jitta Money กลายเป็นกำไรที่รับรู้แล้ว (Realized Gain) ในปี 2566 ก็จะได้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนนี้ 

หรือให้กรณีที่สรรพากรอาจมีการแจ้งยกเว้นเงินที่ลงทุนก่อน เกณฑ์ใหม่ปี 2567 เงินที่ลงทุนในปี 2566 ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน

อย่างไรก็ตามตามข้อมูลปัจจุบันสิทธิประโยชน์ไม่ได้ต่างกันมากนัก

ประเด็นเรื่องภาษีและการลงทุน Jitta Wealth

คุณเผ่า: สิ่งที่สำคัญคือให้มองเรื่องการลงทุนเป็นหลัก แล้วภาษีเป็นเรื่องที่เพิ่มเติมเข้ามา เรามีกลยุทธ์การลงทุนแบบไหน ต้องการจะลงทุนในประเทศเป็นหลัก กระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก หรือลงทุนประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่เราจะได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นหลักก่อน

หลังจากนั้นค่อยๆ เจาะลึกลงไปว่ามีอะไรที่เราต้องระมัดระวังบ้าง เช่นหากลงทุนต่างประเทศ ก็จะมีในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในการลงทุนระยะยาว ยิ่งระยะเวลานานอัตราแลกเปลี่ยนก็จะมีผลกับพอร์ตเราน้อยลงอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องภาษี ที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ ก็ต้องมาดูว่าเรามีวิธีบริหารภาษีอย่างไรบ้าง คอยติดตามข่าวสารอัปเดต จากนั้นมาตัดสินใจว่าเราจะยังลงทุนต่างประเทศอยู่หรือไม่ หรือลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ 

คำแนะนำโดยภาพรวมจากเกณฑ์ปัจจุบัน สุดท้ายการลงทุนต่างประเทศยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ  ขึ้นอยู่กับนักลงทุนว่าจะลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ และสำหรับคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ สำคัญคือปีนี้อย่าเพิ่งนำเงินกลับมา หากขายหรือปิดพอร์ต แนะนำให้ย้ายไป Jitta Money ก่อนแล้วค่อยนำเงินกลับเข้ามาในปีหน้าจะดีกว่า หรือจะเดินหน้าลงทุนต่อไป รอให้ถึงวันที่อยากเอาเงินกลับมาจริงๆ ค่อยเสียภาษีในตอนนั้นอีกทีก็ได้ เพราะเงินอาจจะเติบโตไปได้มากแล้ว


อ้างอิง

  1. เงินได้อันเป็นเหตุให้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมาจากแหล่งใดบ้าง https://www.rd.go.th/552.html
  2. คำถาม-คำตอบ เรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร https://www.rd.go.th/fileadmin/download/news/question_p161_162.pdf
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด