ในปัจจุบันนักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้หลากหลายมากขึ้น มีช่องทางการลงทุนมากมายให้เลือกสรร ตามกลยุทธ์และเป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่หลักการลงทุนยอดนิยมก็คงหนีไม่พ้น VI (Value Investing) ที่จะเน้นการลงทุนระยะยาว
ซึ่งปัญหาที่นักลงทุนสาย VI หรือแม้แต่นักลงทุนสายอื่นๆ ต้องเจอกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ ‘อาการอยู่ไม่สุข’ หุ้นตัวที่ถืออยู่ดีพอหรือยัง หุ้นตกอยู่ควรขายดีไหม หรือบางทีก็มีกระแสหุ้น กระแสการลงทุนใหม่ๆ ที่พุ่งแรงว่าตัวที่มี ก็รู้สึกคันไม้คันมืออยากได้ตามกระแสบ้าง
จนทำให้หลายครั้งเกิดการตัดสินใจผิดพลาด ขายของดี ไปซื้อของใหม่บนจุดสูงสุดแล้วติดดอย บางคนร้ายแรงจนถึงขั้นต้องล้มเลิกเส้นทางการลงทุนไปเลยก็มี
สาเหตุเพราะรูปแบบการลงทุนที่ใช้อยู่อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ ของคุณ เช่นพอร์ตนิ่งเกินไป จนคุณอยากแวะเที่ยวไขว่คว้าผลตอบแทนสูงๆ ที่ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยสักหน่อย หรือคุณอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงเกินไป เจอความผันผวนเป็นรถไฟเหาะบ่อยๆ ก็ใจคอไม่ดี กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ระหว่างทางที่คุณขอแวะไปเจอความหวาดเสียว หรือหรือเจอความผันผวนอยู่เยอะเกินรับไหวอาจเป็นเพราะคุณไม่ได้สร้างสมดุลให้พอร์ตโดยรวมของคุณอย่างมีหลักการ
วิธีสร้างสมดุลให้กับพอร์ตคือการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน บทความนี้จะพาคุณไปสร้างสมดุลให้กับพอร์ตด้วยวิธีการจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ให้พอร์ตของคุณสมดุล มีทั้งส่วนที่เน้นสร้างผลตอบแทนแบบค่อยๆ เป็นค่อยไป และส่วนที่หวังสร้างกำไรจากโอกาสใหม่ๆ ด้วยวิธีการที่เสี่ยงมากขึ้น
การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Core & Satellite คือการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) รูปแบบหนึ่งเพื่อ ‘บริหารความเสี่ยง’ (อีกรูปแบบที่คุณอาจเคยได้ยิน คือ Modern Portfolio Theory)
อย่างที่ชื่อ Core & Satellite บอก การจัดสรรสินทรัพย์แบบนี้ จะแบ่งพอร์ตออกเป็น 2 ส่วน คือส่วน Core Port (พอร์ตหลัก) และ Satellite Port (พอร์ตรอง) ทั้ง 2 ส่วนจะทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้การลงทุนโดยรวมของคุณเติบโตได้ดีที่สุด ในความเสี่ยงที่เหมาะกับคุณที่สุด เท่ากับว่า คุณเองก็จะลงทุนได้อย่างสบายใจที่สุดด้วย
โดย Core & Satellite จะมีหน้าที่การทำงานคร่าวๆ ดังนี้
Core Port หรือพอร์ตหลัก รากฐานของการลงทุนทั้งหมดของคุณ ต้องเป็นที่พึ่งพิงที่เอาแน่เอานอนได้ หน้าที่ของ Core Port จึงเป็นการสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในระยะยาว เติบโตเรื่อยๆ ในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ ทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจ เพราะมี Core Port เป็นฟูกรองรับอยู่เสมอ
ดังนั้น สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ใน Core Port ก็จะเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงไม่สูงมาก เช่น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ETF หรือ หุ้น ที่กระจายความเสี่ยงอยู่ใน Core Port อย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวน และสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในระยะยาว
เงินลงทุนทั้งหมดของคุณควรอยู่ใน Core Port ประมาณ 60-80% อาจจะน้อยหรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่คุณรับได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 50% เพราะจะทำให้การลงทุนโดยรวมของคุณเผชิญความเสี่ยงมากเกินไปได้
ถ้าคุณจัด Core Port ด้วยสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงมาก หรือลงทุน Core Port ในสัดส่วนที่น้อยเกินไป Core Port ของคุณจะทำหน้าที่ได้ไม่ดี หากเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมากับ Satellite Port ของคุณที่ความเสี่ยงสูงมากๆ อยู่แล้ว แทนที่คุณจะได้ล้มลงบนฟูกนิ่มๆ ของ Core Port กลายเป็นว่าคุณจะล้มลงบนกองอิฐจนเจ็บตัวหนักแทน
Satellite Port หรือพอร์ตรอง ส่วนต่อขยายจากโครงสร้างพื้นฐาน เน้นคว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยวิธีการที่เสี่ยงมากขึ้น เหมือนสนามเด็กเล่นให้คุณ ‘ลองของ’ ได้อย่างเต็มที่ เพราะต่อให้ผันผวนแค่ไหน คุณก็ยังอุ่นใจได้ว่าจะ ‘ไม่เจ๊ง’ เพราะมี Core Port เป็นฟูกรองรับอยู่แล้ว
ดังนั้น Satellite Port สามารถผสมผสานการลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว และกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เช่น หุ้นเติบโต หุ้นเมกะเทรนด์ หุ้นเทคโนโลยี หุ้นในประเทศกำลังพัฒนา หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เป็นต้น
การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Core & Satellite เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างสบายใจ แต่ไม่อยากทิ้งโอกาสทำกำไรสูงๆ เพราะการจัดพอร์ตการลงทุนแบบนี้ จะช่วยคุณบริหารความเสี่ยง ให้พอร์ตเติบโตเรื่อยๆ ในระยะยาว ไปพร้อมๆ กับการลงทุนที่เสี่ยงสูงได้แบบไม่เครียดมากเกินไป
เหมือนเวลาคุณล่องเรือสำราญ ค่อยๆ มุ่งสู่เป้าหมาย แต่ระหว่างทางคุณก็เพลิดเพลินกับกิจกรรมเฮฮาปาร์ตี ดำน้ำ คาสิโน ฯลฯ ตักตวงประสบการณ์ให้สุด ชีวิตจะได้ไม่น่าเบื่อจำเจจนเกินไป สุดท้ายก็ถึงเป้าหมายโดยสวัสดิภาพอยู่ดี
ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงๆ ได้อยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกกังวลกับความผันผวนของพอร์ต ก็ไม่จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการจัดสรรสินทรัพย์ตามหลักการนี้
ซึ่งการจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Core & Satellite สามารถปรับสัดส่วนประยุกต์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และความต้องการของคุณได้หลากหลายแบบ โดยโฟกัสไปที่การสร้างสมดุลระหว่างพอร์ตหลักและพอร์ตรองให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้จริง ซึ่งเรามีสัดส่วนการจัดพอร์ตมาแนะนำคร่าวๆ 3 แบบ ได้แก่ 80/20 60/40 และ 50/50 ตามรายละเอียดดังนี้
สัดส่วน: ลงทุน Core 80% และ Satellite 20%
เหมาะสำหรับมือใหม่ หรือนักลงทุนมือโปรที่อยากลงทุนแบบสบายๆ คาดหวังผลตอบแทนระยะยาวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เครียดมาก แต่ก็ยังคงมีส่วนเสริมให้สนุกกับการคว้าโอกาสทำกำไรที่มากขึ้นด้วย
สัดส่วน: ลงทุน Core 60% และ Satellite 40%
เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มุ่งหวังให้พอร์ตเติบโตเร็วขึ้น มีเวลาติดตามสถานการณ์ตลาด คอยคว้าโอกาสจากความผันผวนเร่งสปีดคว้าโอกาสเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากกระแสตลาดปัจจุบัน
สัดส่วน: ลงทุน Core 50% และ Satellite 50%
เหมาะกับนักลงทุนที่ชื่นชอบความท้าทาย ต้องการซิ่งให้ถึงเป้าหมายเร็วที่สุด มีเวลาติดตามสถานการณ์แบกรับความผันผวนได้สูง คาดหวังกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ตลอด โดยมี Core Port ไว้เป็นเข็มขัดนิรภัย
ในการจัดพอร์ต แต่ละแบบเป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ ที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์กับกลยุทธ์หรือสไตล์ของคุณได้ เมื่อได้พอร์ตในสัดส่วนที่ตรงใจแล้วก็สามารถ DCA ตามสัดส่วนของแต่ละพอร์ตได้เลย
ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะจัดพอร์ตแบบไหน คุณจะต้องทบทวนพอร์ตโดยรวมอยู่เสมอ หากช่วงเวลาหนึ่ง Satellite Port ทำผลตอบแทนได้ดี เติบโตเกินสัดส่วนเริ่มต้น คุณสามารถขายและนำเงินมาลงในส่วน Core Port เพื่อขับเคลื่อนพอร์ตสู่เป้าหมายระยะยาวต่อไป
Jitta Wealth มีการลงทุนทั้งหุ้นและ ETF โดยแยกเป็นหลายนโยบาย หลายรูปแบบให้คุณเลือกสรร แต่ในบรรดานโยบายทั้งหมดที่มี หากจะนำมาจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite จะสามารถจัดยังไงได้บ้าง นโยบายไหนควรอยู่ส่วนใดของพอร์ต
นโยบาย Global ETF ทั้ง 3 แผน ไม่ว่าจะเป็นแผนสมดุล พอเพียง หรือเติบโต เพราะ Global ETF ได้จัดสรรสินทรัพย์และกระจายความเสี่ยงให้อย่างดี ตามความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวังที่คุณรับได้ โดยแบ่งไปลงทุนหุ้นทั่วโลก และตราสารหนี้คุณภาพดีมากมาย ผ่าน ETF พร้อมทั้งคอยปรับพอร์ตบาลานซ์สัดส่วนให้อัตโนมัติ
ทำให้เป็นนโยบายที่สามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับนโยบายอื่นๆ ของ Jitta Wealth จึงเหมาะที่จะเป็น Core Port ให้คุณมากที่สุด
นโยบาย Thematic ที่ให้คุณได้กระจายลงทุนในหุ้นเมกะเทรนด์ และตลาดหุ้นชั้นนำของโลกผ่าน ETF ชั้นนำที่เราคัดสรรมาเป็นตัวแทนธีมธุรกิจต่างๆ กว่า 27 ธีม ไม่ว่าจะเป็นธีมเซมิคอนดักเตอร์ ธีมเทคโนโลยี หรือธีมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น
ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้ AI คัดเลือกธีมเมกะเทรนด์ศักยภาพระดับท็อป ณ เวลานั้นให้ ผ่านนโยบาย Thematic Optimize หรือ คุณสามารถเลือกจัดธีมเองได้ตามชอบสูงสุด 5 ธีม ผ่านนโยบาย Thematic DIY
นโยบายที่ 2 ที่คุณสามารถเลือกเป็น Satellite Port ได้ก็คือ นโยบาย Jitta Ranking ที่คุณจะได้ลงทุนในหุ้นรายตัว โดยจะมี AI คัดเลือกหุ้นคุณภาพดี ราคาถูกระดับท็อปของตลาดมาให้คุณลงทุน โดยตลาดให้คุณเลือกมากมายหลากหลายประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น Jitta Ranking หุ้นจีน หุ้นเทคโนโลยีจีน หุ้นฮ่องกง หุ้นสหรัฐฯ หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ หุ้นญี่ปุ่น หุ้นเวียดนาม และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ หุ้นไทย
สำหรับนโยบาย Global ETF และ Thematic ลงทุนเริ่มต้นที่ 10,000 บาท สามารถจัดพอร์ต ในสัดส่วน Core 80% Satellite 20% โดย ลงทุน Global ETF จำนวน 40,000 บาท และ Thematic จำนวน 10,000 บาท
หรือใครที่เริ่มต้นลงทุนมีพอร์ตใดพอร์ตหนึ่งอยู่แล้วก็สามารถเปิดอีกพอร์ตและเพิ่มทุนให้ได้สัดส่วน 80/20 หรือในกรณีที่คุณเป็นนักลงทุนมือใหม่เพิ่งเริ่มลงทุน อาจจะเริ่มที่พอร์ต Core ไปก่อนเพื่อให้คุณคุ้นชินกับการลงทุนจากนั้นจึงค่อยเพิ่มพอร์ต satellite เข้ามา
นั่นก็คือเริ่มต้นลงทุน Global ETF 10,000 บาทและหมั่น DCA เรื่อยๆ จนครบ 40,000 บาท จากนั้นจึงเปิดพอร์ต Thematic เพิ่มเข้ามา
ในกรณีที่คุณมีพอร์ตลงทุนนโยบายอื่นๆ สามารถกรอกข้อมูล เพื่อดูว่าควรจัดพอร์ตให้เป็น Core & Satellite อย่างไร ด้วย Template คำนวณสัดส่วนพอร์ตที่เหมาะสมได้ที่นี่
บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเพื่อการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งนี้ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน