7 บริษัทญี่ปุ่น เบื้องหลังผู้สร้างเทคโนโลยีล้ำยุค

5 สิงหาคม 2565Jitta Ranking

ไฮไลต์

  • ญี่ปุ่นดูเหมือนจะตกขบวนเทคโนโลยียุค 4.0 ไปแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า ‘บริษัทญี่ปุ่น’ หลายแห่งเป็นผู้นำคอยชักใยห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีเมกะเทรนด์อยู่เบื้องหลัง
  • Apple พึ่งพาบริษัทญี่ปุ่นมากถึง 33 บริษัทชั้นนำ ในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้ผลิตภัณฑ์ของตน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนกล้อง กระจกหน้าจอ เซนเซอร์ แบตเตอรี่ รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายชนิด
  • หัวใจการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รุ่น Model S และ Model 3 ของ Tesla ถูกสร้างโดยบริษัทญี่ปุ่น รวมไปถึงตัวถังที่โค้งมนสวยงามเพื่อลดแรงต้านของอากาศ แม้กระทั่งแบตเตอรี่ลิเธียมรุ่นใหม่ล่าสุดก็ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นทั้งสิ้น
  • แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนว่า ‘หุ้นญี่ปุ่นไม่โต’ แต่จริงๆ แล้วมีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่ผลประกอบการเติบโตไปพร้อมกับเมกะเทรนด์ใหม่ๆ เพียงแต่คุณและนักลงทุนส่วนใหญ่ ‘ไม่รู้จัก’

หากให้คุณคิดถึงแบรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบัน คุณคงนึกถึงแบรนด์จากฟากฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Apple Tesla Netflix หรือ Nvidia ที่ครองภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ แต่น้อยคนนักจะนึกถึง ‘บริษัทญี่ปุ่น’ ที่หากดูภาพรวมในฉากหน้า เหมือนจะตกขบวนเทคโนโลยียุค 4.0 ไปแล้ว

แต่ในเบื้องหลังนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาด ‘บริษัทญี่ปุ่น’ หลายแห่งที่ครองความเป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วน คอยขับเคลื่อนการสร้างอุปกรณ์อยู่ในหลังฉากอย่างเงียบๆ จึงไม่แปลกเลยที่ตัวคุณและนักลงทุนส่วนใหญ่จะ ‘มองข้าม’ ขุมทรัพย์อันแสนงดงามนี้ไป

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับบริษัทผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีชั้นนำของโลกจาก ‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ ผู้ที่ทำให้การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นจริงได้

‘บริษัทญี่ปุ่น’ เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘Apple’

Apple บริษัทที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูงที่สุดโลก ได้เปิดเผยว่าพึ่งพาผู้ผลิตชิ้นส่วนจากแดนซามูไรถึง 33 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของซัพพลายเออร์ทั้งหมด สูงเป็นอันดับ 2 รองจากซัพพลายเออร์จากจีน (รวมไต้หวัน) จากข้อมูล Apple Supplier List ล่าสุดในปี 2564

Apple ขึ้นชื่อในเรื่องการคัดเลือกบริษัทในห่วงโซ่อุปทานอย่างเข้มข้น พร้อมเรียกร้องมาตรฐานการทำงานระดับสูงจากบริษัทคู่ค้าอยู่เสมอ 

เพื่อให้สินค้าตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ดีที่สุด การที่บริษัทจากญี่ปุ่นได้รับความไว้วางใจให้เป็นคู่ค้ากับ Apple จำนวนมาก จึงเป็นการบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกแห่งนี้

นี่คือ 4 ตัวอย่าง ‘บริษัทญี่ปุ่น’ ผู้ป้อนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สำคัญเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์สวยงามและตอบโจทย์ผู้ใช้งานของ Apple

Murata Manufacturing

บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และตัวเก็บประจุรายใหญ่ที่สุดในโลกจากญี่ปุ่น เป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนตัวเก็บประจุชนิดที่ใช้เซรามิคแบบหลายชั้นเป็นฉนวนไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Multilayer Ceramic Capacitor (MLCC) ให้กับ Apple

นอกจากการป้อนชิ้นส่วนตัวเก็บประจุให้ Apple แล้ว Murata ยังเป็นคู่ค้ารายสำคัญของผู้แบรนด์โทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลกอีกหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Google Samsung Xiaomi Oppo หรือ Vivo ที่ต่างก็ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งการผลิตของ Murata ให้ได้ตามเป้าหมายของตัวเองในทุกๆ ปีอยู่เสมอ

ผลประกอบการของ Murata Manufacturing จากงบปี 2565

  • บริษัทมีรายได้เติบโต 11.2% 
  • กำไรสุทธิเติบโต 32.5% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 7.08 
  • ราคาหุ้นต่ำกว่า Jitta Line 21.35%

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

TDK Corporation

บริษัทที่ชื่อไม่คุ้นหู แต่คุณน่าจะคุ้นเคยกับสินค้าของบริษัท เพราะในอดีต TDK เป็นผู้นำเทคโนโลยีในด้านการเก็บข้อมูลมัลติมีเดียมาตลอด ตั้งแต่ตลับเทป วิดีโอ แผ่นซีดี ดีวีดี และแผ่น Blu-Ray 

ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลประเภทมัลติมีเดียแบบดิจิทัล TDK เป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนเซนเซอร์ตรวจจับแรงโน้มถ่วง (Gyroscope) ในสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตที่ทำให้แอปคลิเคชันต่างๆ สามารถหมุนหน้าจอการใช้งานตามองศาการหมุนของอุปกรณ์ได้

รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียม พาวเวอร์ซัพพลาย และขดลวดเหนี่ยวนำไฟฟ้า (Inductor Coil) ให้กับ Apple และแบรนด์อื่นๆ อีกหลากหลายแบรนด์มาอย่างยาวนาน

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทในเครือของ TDK ได้จัดตั้งธุรกิจร่วมทุนกับ CATL ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เพื่อขยายธุรกิจแบตเตอรี่ของ TDK ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น 

ในปี 2564 ที่ผ่านมา TDK มีรายได้จากธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียมคิดเป็นราว 50% ของรายได้ทั้งหมด หรือประมาณ 740,000 ล้านเยน และถือเป็นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมอยู่แล้ว น่าจับตามองว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะทำให้ TDK เติบโตได้อีกไกลแค่ไหน

ผลประกอบการของ TDK Corporation จากงบปี 2565

  • บริษัทมีรายได้เติบโต 28.6% 
  • กำไรสุทธิเติบโต 65.5% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 6.14 
  • ราคาหุ้นต่ำกว่า Jitta Line 41.69% 

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

AGC

เมื่อพูดถึงชื่อ AGC คุณอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงกระจกยี่ห้อ Asahi Glass คุณอาจจะถึงบางอ้อกันเลยทีเดียว AGC คือบริษัทกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกจากญี่ปุ่น ผู้ผลิตและจำหน่ายกระจกภายใต้แบรนด์ Asahi ที่มีให้เห็นกันอย่างแพร่หลายในไทย 

คุณคงเดาได้ว่าสิ่งที่ AGC ผลิตและป้อนให้ Apple คือแผ่นกระจกบนหน้าจอของผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ซึ่งต้องการเทคโนโลยีพิเศษหลายอย่าง เช่น กระจกต้องสามารถทนแรงกดและรอยขีดข่วนได้ มีความคงทนในระดับที่น่าพอใจ 

แน่นอนว่าเมื่อยอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกเติบโตในช่วง Covid-19 ผลประกอบการของ AGC ก็จะเติบโตตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

ผลประกอบการของ AGC จากงบปี 2564

  • บริษัทมีรายได้เติบโต 20.2% 
  • กำไรสุทธิเติบโต 278.5% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 5.94 
  • ราคาหุ้นต่ำกว่า Jitta Line 37.28%

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

Alps Alpine

บริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ยี่ห้อ Alpine ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบเครื่องเสียงติดรถยนต์ และนอกจากการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์แล้ว Alps Alpine ยังทำธุรกิจอีกหลายอย่างด้วยกัน 

ไม่ว่าจะเป็นการผลิต ‘เซนเซอร์’ ‘ทรานซิสเตอร์’ ‘Touch Pad’ บนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รวมถึงชิ้นส่วนสวิตช์ของคีย์บอร์ดทั่วไปและสวิตช์แบบ Tactile ของ Mechanical Keyboard ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และคอเกมทั่วโลก

ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ Alps Alpine ผลิตให้กับ Apple ก็คือระบบสวิตช์ใต้ปุ่มคีย์บอร์ดและเมาส์ที่จะแปลงข้อมูลการกดให้เป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ ไล่ตั้งแต่คีย์บอร์ดและเมาส์สำหรับคอมพิวเตอร์รุ่น Apple IIc คอมพิวเตอร์รุ่น MacIntosh มาจนถึงคีย์บอร์ดดีไซน์สวยงามสำหรับ iMac ด้วย

ผลประกอบการของ Alps Alpine จากงบปี 2565

  • บริษัทมีรายได้เติบโต 11.8% 
  • กำไรสุทธิเติบโต 698.4% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 5.39 
  • ราคาหุ้นสูงกว่า Jitta Line 216.3% 

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

‘บริษัทญี่ปุ่น’ ผู้ผลิต EV ตัวจริงของ ‘Tesla’

Tesla บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นผู้นำในการประกอบเทคโนโลยีหลายประเภทเข้าด้วยกันจนกลายเป็นแนวคิดรถยนต์ไฟฟ้า และระบบการขับขี่อัตโนมัติอันล้ำสมัย แต่คุณรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว EV ของ Tesla ส่วนใหญ่ถูกสร้างโดย ‘บริษัทญี่ปุ่น’

Tesla มีชื่อเสียงในเรื่องการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ให้สามารถทำการผลิตได้เป็นจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อเพิ่มความเร็วในการผลิตและลดระยะเวลาการรอคอยรถยนต์ของลูกค้าที่สั่งซื้อกับบริษัทนั่นเอง 

งานหนักจึงไปตกอยู่กับบริษัทคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่ต้องถูกคัดเลือกอย่างเข้มข้น เพื่อให้ตอบโจทย์การผลิตสุดหินของ Tesla 

ส่วนบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตและป้อนชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ให้กับ Tesla จะมีบริษัทอะไรบ้าง ไปดูกันได้เลย

Odawara Engineering

บริษัทผู้ผลิตเครื่องม้วนขดลวดไฟฟ้าแบบอัตโนมัติหรือ Coil-Winding Machine ที่จะผลิตตามการออกแบบของลูกค้า โดยหากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ถ้ามอเตอร์ไฟฟ้าคือหัวใจของ EV ตัวขดลวดไฟฟ้าก็ถือเป็นหัวใจของมอเตอร์ไฟฟ้าอีกทีนึง ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญมากๆ ใน EV ทุกคัน 

Tesla ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของ Odawara รวมไปถึงบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Nissan ด้วย ถือเป็นบริษัทที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง คนภายนอกวงการแทบไม่มีใครรู้จัก แต่กลับมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกสูงมากทีเดียว

ผลประกอบการของ Odawara Engineering จากงบปี 2564

  • บริษัทมีรายได้เติบโต 20.9% 
  • กำไรสุทธิเติบโต 105.1% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 4.14 
  • ราคาหุ้นสูงกว่า Jitta Line 21.65%

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

Fuji Technica & Miyazu

บริษัทย่อยในเครือ Toyo Seikan Group Holdings ที่ประกอบธุรกิจบรรจุภัณฑ์ การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก และเครื่องจักรกลสำหรับการเชื่อมโลหะยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น 

โดย Fuji Technica จะรับหน้าที่ผลิตแม่พิมพ์โลหะสำหรับขึ้นรูปเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมสำหรับตัวถัง Model S และ Model 3 ให้กับ Tesla นั่นเอง

จุดเด่นของ Fuji Technica ที่ทำให้ได้เป็นคู่ค้าของ Tesla ก็คือความสามารถในการทำแม่พิมพ์โลหะเพื่อใช้ขึ้นรูปชิ้นส่วนอะลูมิเนียมสำหรับการผลิตรถยนต์จำนวนมากบนสายการผลิตได้ ซึ่งมีความละเอียดและซับซ้อนกว่าการทำแม่พิมพ์โลหะสำหรับขึ้นรูปเหล็กกล้า และมีเพียงไม่กี่บริษัทในโลกที่ทำได้

ผลประกอบการของบริษัทแม่ Toyo Seikan Group Holdings จากงบปี 2565

  • บริษัทมีรายได้เติบโต 9.7% 
  • กำไรเติบโต 178.6% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 6.47 
  • ราคาหุ้นสูงกว่า Jitta Line 32.20%

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

Panasonic

บริษัทสุดท้ายที่คุณรู้จักกันดี แต่ที่คุณอาจยังไม่รู้ก็คือ Panasonic ได้ร่วมทุนกับ Tesla ก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมขนาดใหญ่มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้อนให้กับสายการผลิต EV ของ Tesla โดยเฉพาะ 

นอกจากนี้ Panasonic ยังกำลังเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมอีกแห่งที่รัฐมิสซูรีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้อนให้กับสายการผลิตของ Tesla แห่งใหม่ที่รัฐเท็กซัสอีกด้วย 

นอกจาก Tesla แล้ว Panasonic ก็ยังเป็นคู่ค้ากับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ที่กำลังหันหัวเรือมามุ่งหน้าพัฒนา EV อย่างเต็มกำลังด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่า Panasonic จะเป็นแบรนด์คุ้นหู แต่คุณก็อาจจะยังไม่รู้ว่าบริษัทกำลังเร่งขยายธุรกิจเพื่อจะเติบโตไปกับเทรนด์พลังงานสะอาดด้วย 

ผลประกอบการของ Panasonic จากงบปี 2565

  • รายได้เติบโต 10.3% 
  • กำไรสุทธิเติบโต 54.7% 
  • Jitta Score อยู่ที่ 4.94 
  • ราคาหุ้นต่ำกว่า Jitta Line ถึง 20.80%

ข้อมูล: Jitta ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565

จากตัวอย่างทั้ง 7 บริษัทที่เราพาคุณไปทำความรู้จักกันในบทความนี้ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วบริษัทจากญี่ปุ่นเป็นเสมือนผู้ชักใย สร้างโครงข่ายห่วงโซ่อุปทานอยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีเมกะเทรนด์ล้ำยุคในโลกดิจิทัลเกือบทุกอย่าง 

ทั้งจากชื่อเสียงในด้านมาตรฐานการทำงานระดับสูง ความน่าเชื่อถือ และทักษะด้านวิศวกรรมที่ล้ำหน้ากว่าใคร พร้อมท้าทายกับข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ

แม้จะถูกครหาอยู่บ่อยครั้งว่า ‘หุ้นญี่ปุ่นไม่โต’ แต่ในโลกของการลงทุน หากคุณได้ลงทุนในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากเมกะเทรนด์ใหม่ๆ และผลประกอบการกำลังเติบโตก็สามารถสร้างความมั่งคั่งได้เช่นกัน โดยไม่ต้องสนใจกับดัชนีตลาดหุ้นในภาพรวมเลยแม้แต่นิดเดียว

หากใครสนใจอยากลงทุนใน ‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะไปค้นหุ้นดีอย่างในบทความนี้เจอได้อย่างไร นโยบาย Jitta Ranking ญี่ปุ่นพร้อมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คุณได้ลงทุนในขุมสมบัติลึกลับที่เต็มไปด้วย ‘หุ้น VI กำไร 9 เด้ง’ รอให้คุณเป็นเจ้าของแบบนี้ได้

คุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของนโยบาย Jitta Ranking ญี่ปุ่นได้ ที่นี่ ถ้าคุณพร้อมแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ที่นี่ เปิดบัญชี


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ้างอิง

  1. Apple Supplier List 2021
    https://www.apple.com/supplier-responsibility/pdf/Apple-Supplier-List.pdf
  2. Apple Supplier Murata is building out Production of key Multilayer Ceramic Capacitors to Keep Up with Demand for 5G iPhones
    https://www.patentlyapple.com/2021/01/apple-supplier-murata-is-building-out-production-of-key-multilayer-ceramic-capacitors-to-keep-up-with-demand-for-5g-iphones.html
  3. Announcement on Business Alliance and Establishment of Joint Venture with Contemporary Amperex Technology Co., Limited
    https://www.tdk.com/en/news_center/press/20220427_02.html
  4. One of the biggest challenges faced by the Apple iPhone and other smartphone makers
    https://www.cnbc.com/2018/04/26/the-race-is-on-to-make-iphone-screen-glass-unbreakable.html
  5. Sony and Alps Alpine supply camera parts for iPhone 14 series
    https://iphonewired.com/news/424281/
  6. Apple Suppliers Indicate that Sensor-Shift OIS and Automatic Focus will be coming to the 2021 iPhone Pro
    https://www.patentlyapple.com/2021/03/apple-suppliers-indicate-that-sensor-shift-ois-and-automatic-focus-will-be-coming-to-the-2021-iphone-pro.html
  7. Tesla, Toyota Motors Help Obscure Japanese Suppliers Thrive
    https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-07-19/supplier-thrives-by-selling-coil-winding-tools-to-tesla-toyota
  8. The company that helps Tesla make aluminum look sexy
    https://asia.nikkei.com/Business/Biotechnology/The-company-that-helps-Tesla-make-aluminum-look-sexy
  9. Panasonic to build $4bn battery plant in Kansas to meet Tesla demand
    https://www.ft.com/content/0a499e05-972a-42a9-8d32-a6485002986a
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด