อัปเดตผลตอบแทน Global ETF เติบโตเกือบ 10% ใน 9 เดือนแรก

19 ตุลาคม 2564Global ETFJitta Wealth

เผลอแป๊บเดียว…เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กันแล้ว กับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจาก Covid-19

ขณะที่ภาพเส้นกราฟกำลังค่อยๆ ทะยานขาขึ้นเป็นวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่ หลายๆ ธุรกิจและดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังฟื้นตัวในทิศทางเดียวกัน

แต่ก็มีข่าวสารเชิงบวกเชิงลบ…เข้ามากระทบตลาดการลงทุนทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

สำหรับกองทุนส่วนบุคคล Global ETF ที่ Jitta Wealth ออกแบบสูตรสำเร็จพอร์ตลงทุนระยะยาวที่ให้คุณเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีคอนเซ็ปต์ว่า ‘สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด’

โดยใช้การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ผ่าน ‘หุ้น’ และ ‘พันธบัตร’ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของคุณตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลระดับโลก ออกมาเป็นแผนการลงทุน 3 แผนได้แก่ แผนเติบโต สมดุล และพอเพียง

Jitta Wealth อัปเดตผลตอบแทนช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 ว่า แต่ละแผนการลงทุนเป็นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้การลงทุนทั่วโลกยังมีความผันผวน 

และเราจะแจกแจงให้คุณทราบว่า ETF ทั้ง 5 ตัวที่ Global ETF จัดพอร์ตลงทุนอยู่นั้น ผลตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันเป็นอย่างไร 

ผลตอบแทนรวมของ Global ETF ตามช่วงเวลา

Global ETF2564 (ม.ค. – ก.ย.)นับตั้งแต่จัดตั้ง
พอเพียง+1.04%+4.25%
สมดุล+5.15%+12.39%
เติบโต+9.57%+19.80%
ที่มา: Jitta Wealth ข้อมูลถึง 30 กันยายน 2564 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนหักค่าธรรมเนียม

คุณจะเห็นว่า ผลตอบแทน 9 เดือนแรก ปี 2564 แผนเติบโตทำผลงานเกินกว่าผลตอบแทนคาดหวัง 8% ด้วยอานิสงส์จากการลงทุนในหุ้น 80% ตรงกันข้าม แผนพอเพียงและสมดุล แม้จะเป็นบวก แต่ก็ยังไม่ถึงผลตอบแทนคาดหวังที่ 4% และ 6% ตามลำดับ เพราะทั้ง 2 แผนลงทุนใน ETF ตราสารหนี้มีสัดส่วนมากถึง 80% และ 50% ตามลำดับ

ที่สำคัญ คือ ผลตอบแทนของ iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG) กับ iShares iBoxx $ Investment Grade Corporate Bond ETF (LQD) ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ยังติดลบอยู่

Jitta Wealth

Bond Yield พุ่งสูงขึ้น กดดันราคาตราสารหนี้

มาทำความเข้าใจภาวะตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐฯ กันก่อน เพราะประเด็นเรื่อง Bond Yield ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นได้ทุกจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

สหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกัน ภาพการฟื้นตัวหลังจาก Covid-19 ชัดเจนมาก เร่งการฉีดวัคซีนป้องกันและเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือ มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนเริ่มออกมาท่องเที่ยวจับจ่ายมากขึ้น จนเป็นที่มาของ ‘ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัว’

ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี มาตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคมที่รายงานตัวเลขล่าสุด หลายสำนักวิจัยคาดว่า ทั้งตัวเลข Consumer Price Index (CPI) และ Personal Consumption Expenditures Price Index (PCE) จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ตามการฟื้นตัว

ผลกระทบตามมาคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม 0-0.25% ในอนาคตอันใกล้ เพื่อบรรเทาความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ดังนั้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Bond Yield) จึงพุ่งขึ้นอย่างแรงในช่วงเวลาสั้นๆ เรียกว่า ​Bond Shock จาก 1.304% ในวันที่ 23 กันยายนมาอยู่ที่ 1.612% ในวันที่ 12 ตุลาคม

เป็นภาวะเดียวกับช่วงต้นปี 2564 ที่ Bond Yield ไต่ระดับจาก 1.013% วันที่ 27 มกราคม มาอยู่ที่ 1.744% วันที่ 31 มีนาคม แล้วผลที่เกิดขึ้นตามมาก คืออะไร…

ตลาดซื้อขายพันธบัตรและหุ้นกู้ก็ใช้หลักอุปสงค์และอุปทานเหมือนกับตลาดหุ้น เมื่อ Bond Yield เร่งตัว คนที่ถือตราสารหนี้ระยะยาวชุดเดิมก็อยากจะขาย เพื่อเอาเงินไปลงทุนตราสารหนี้ชุดใหม่ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ใคร…อยากจะซื้อตราสารหนี้ระยะยาวชุดเก่า ที่ให้ดอกเบี้ยไม่สูงเท่าตราสารหนี้ชุดใหม่

เมื่อความต้องการขาย มากกว่าความต้องการซื้อ จึงทำให้ราคาซื้อขายตราสารหนี้ชุดเก่าในตลาดลดลง ส่งผลต่อมูลค่า NAV (Net Asset Value) ในบรรดา ETF ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้สหรัฐฯ นั่นเอง

แน่นอนว่า ทั้ง AGG และ LQD ก็ไม่มีข้อยกเว้น มูลค่า NAV ลดลงในรอบ 9 เดือนที่มาผ่านเช่นเดียวกัน

  • iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG) -1.67%
  • iShares iBoxx $ Investment Grade Corporate Bond ETF (LQD) -2.21%

ส่งผลให้ผลตอบแทนของ Global ETF แผนพอเพียงที่มีสัดส่วนการลงทุนใน AGG และ LQD สูงถึง 80% ยังทำผลตอบแทนคาดหวังไม่ถึง 4% (YTD +1.04%) ส่วนแผนสมดุลที่มีสัดส่วนใน AGG และ LQD อยู่ที่ 50% ยังทำผลตอบแทนคาดหวังไม่ถึง 6% (YTD +5.15%)

แต่ทั้ง 2 แผนมีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นอยู่ด้วย เพื่อชดเชยความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวทั่วโลก ในสัดส่วน 20% ของแผนพอเพียงและ 50% ของแผนสมดุล จึงทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตไม่ติดลบ เหมือนการลงทุนใน ETF ตราสารหนี้สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว

ประเด็นที่คุณจะต้องติดตามต่อหลังจากนี้ ได้แก่

  • การรายงานตัวเลข CPI และ PCE รายเดือน เพื่อดูว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเหล่านี้เร่งตัวหรือไม่ แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไปแล้วว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไป มาจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น (Cost-push inflation ต้นทุนราคาสินค้า) และการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Demand-pull inflation ความต้องการสินค้า) 
  • Core PCE เป็นตัวเลขที่ Fed ใช้พิจารณาในการปรับขึ้นดอกเบี้ย เหมือนตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) โดย Fed มีเป้าหมายที่ 2% รายงานล่าสุด เดือนสิงหาคม Core PCE อยู่ที่ 0.4%
  • การประชุมของ Fed และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รายเดือน จะมีความคืบหน้าเรื่องนโยบายการเงินและไทม์ไลน์การลดวงเงิน QE (Quantitative Easing) รวมไปถึงสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย
  • ตัวเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ดีขึ้นและมีผลต่อการฟื้นตัว เช่น การจ้างงาน (เพิ่มขึ้น) การขอรับสวัสดิการว่างงาน (ลดลง) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI เพิ่มขึ้น) รวมไปถึงดัชนีตลาดหุ้น  

นี่คือสาเหตุที่ทำให้พอร์ตลงทุน Global ETF แผนพอเพียงและสมดุล ยังไม่เติบโตตามผลตอบแทนคาดหวัง ซึ่งแตกต่างจากแผนเติบโตที่ทำผลตอบแทนได้มากกว่าที่คาดหวัง 8% เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวจาก Covid-19 และมีน้ำหนักการลงทุนในพอร์ตสูงถึง 80% 

ลงทุนในตลาดหุ้นหลังวิกฤต มักจะเป็น ‘ขาขึ้น’ 

แน่นอนว่า เมื่อมีปัจจัย Bond Yield เร่งตัว ไม่ได้มีผลกระทบแค่ตลาดซื้อขายพันธบัตรเท่านั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีความผันผวนด้วยเช่นกัน

เมื่อนักลงทุนเห็น Bond Yield เร่งตัว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น จึงขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ เพื่อเอามาลงทุนในตราสารหนี้ชุดใหม่ ที่เสนอผลตอบแทนดีขึ้น

แรงเทขายทำกำไรในตลาดหุ้นเป็นระยะๆ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนอยู่บางช่วง จึงมีแรงกดดันให้ราคาหุ้นเมกะแคป (มาร์เก็ตแคปมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และหุ้นบิ๊กแคป (10,000-200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เคลื่อนไหวผันผวนไปตามดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วย

และอีกเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนกังวล คือ เมื่อเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนทางการเงินในฝั่งธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนจะที่เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย อาจจะส่งผลต่อกำไรสุทธิ ถ้าบริษัทนั้นมีหนี้สินและกู้เงิน  

แม้ว่าตลาดหุ้นมีความผันผวน แต่ในภาพใหญ่ ดัชนีตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้นทั่วโลก ตามการฟื้นตัวหลัง Covid-19 สำหรับผลตอบแทนของ ETF หุ้นทั่วโลกในรอบ 9 เดือนแรกที่ Global ETF เลือกมาจัดพอร์ต มีอัปเดตดังนี้

  • Vanguard Total Stock Market ETF (VTI) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ +15.18%
  • Vanguard FTSE Developed Markets ETF (VEA) ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว +8.73%
  • Vanguard FTSE Emerging Markets ETF (VWO) ตลาดหุ้นเกิดใหม่ +1.39%

สำหรับแผนเติบโตของ Global ETF มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงถึง 80% ในทั้ง 3 ETF ที่สะท้อนเทรนด์ขาขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก จึงมีผลตอบแทนมากกว่าที่คาดหวังที่ 8% (YTD +9.57%)

เมื่อลงลึก ETF รายกอง คุณจะเห็นได้ว่า VWO ที่ลงทุนในตลาดหุ้นกำลังพัฒนา อัตราการเติบโตน้อยที่สุด เนื่องจาก VWO มีสัดส่วนการลงทุนในจีนมากที่สุด ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนค่อนข้างสูงจากจากการแทรกแซงและเข้าควบคุมหุ้นเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน รวมไปถึงการออกกฎระเบียบควบคุมการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ในประเด็นการผูกขาดทางการค้า กฎเกณฑ์การทำธุรกิจ และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่างการศึกษา อสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินในตลาดหุ้นจีนเผชิญแรงกดดันจากประเด็นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม VWO ไม่ได้ลงทุนแค่เพียงในจีนเพียงประเทศเดียว เพราะยังกระจายการลงทุนไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น ไต้หวัน อินเดีย บราซิล และ แอฟริกาใต้ ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของ VWO ยังเป็นบวก แม้ว่าตลาดหุ้นจีนจะเป็นขาลงก็ตาม

ส่วนตลาดหุ้นพัฒนาแล้วทั่วโลกผ่าน VTI และ VEA ยังมีทิศทางขาขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีเศรษฐกิจฟื้นตัว อัตราการฉีดวัคซีนสูง และทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วัฏจักรเศรษฐกิจกำลังเป็นกราฟวิ่งขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นยังคงเป็นขาขึ้นสอดคล้องกัน 

ประเด็นที่คุณจะต้องติดตามต่อหลังจากนี้ ได้แก่

  • การตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ไม่ใช่แค่ Fed มีที่มาตรการ QE เท่านั้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเช่นกัน และทั้ง 2 ธนาคารกลางมีแผนจะลดวงเงิน QE ซึ่งจะส่งผลต่อกระแสเงินไหลกลับและทิศทางค่าเงินทั่วโลก ตลาดหุ้นที่จะเจอผลกระทบคือ ตลาดหุ้นเกิดใหม่
  • เทรนด์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก แต่ละประเทศจะมีไทม์ไลน์การตัดสินใจที่ไม่เหมือนกัน แต่จะส่งผลต่อตลาดการเงินการลงทุนอย่างแน่นอน เช่น เม็ดเงินลงทุนที่มากขึ้นในตลาดพันธบัตร และต้นทุนการเงินของบริษัทจัดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น
  • ความผันผวนในตลาดหุ้นระยะสั้นเกิดจากความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic Risk) จากบริษัทจดทะเบียน เช่น ข่าวเชิงลบ ผลประกอบการไม่ดี แต่การลงทุนใน ETF จะลดความเสี่ยงนี้ได้ เพราะลงทุนหลายๆ บริษัทในกองเดียว

นี่คือภาพรวมการลงทุนใน ‘ตราสารหนี้’ ในสหรัฐฯ และ ‘หุ้น’ ทั่วโลก ผ่าน 5 ETF ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตลอด 9 เดือนแรกของปี 2564 และการจัดพอร์ตลงทุนใน 3 แผนของ Global ETF ที่ผสมผสานระหว่างสินทรัพย์ที่มีความแตกต่างกัน จะช่วยลดความเสี่ยงในพอร์ตได้

Global ETF พอร์ตลงทุนรับมือความผันผวน 

กองทุนส่วนบุคคล Global ETF ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เป็น ‘พอร์ตลงทุนสูตรสำเร็จ’ สำหรับการลงทุนระยะยาวและมีผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ ผ่านการจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนระหว่าง ‘ตราสารหนี้’ และ ‘หุ้น’ ตามความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ 

แต่ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณผ่านวิกฤต Covid-19 มาได้แล้ว ไม่ได้แปลว่า อีก 5-10 ปีข้างหน้า คุณจะไม่เจอวิกฤตอื่นๆ อีก ดังนั้นการจัดสรรสินทรัพย์และกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม จะช่วยให้พอร์ตลงทุนของคุณผันผวนน้อยลง

หากแผนการลงทุนที่คุณเลือกไว้ได้รับผลกระทบจากข่าวสารเชิงลบ ไม่ว่าจะมาจากตราสารหนี้หรือหุ้นทั่วโลก Jitta Wealth มีวิธีการรับมือกับความผันผวนหลากหลายทางด้วยกัน ดังนี้ 

  1. เพิ่มทุนเพื่อคว้าโอกาสในช่วงที่ ETF ราคาลดลง

Global ETF จะปรับสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติ เมื่อสัดส่วนของ ETF ในพอร์ตมีมูลค่าลดลงอย่างน้อย 5% ระบบของ Jitta Wealth จะปรับสัดส่วนในพอร์ต โดยขาย ETF ที่มีมูลค่าสูงขึ้น มาซื้อ ETF ที่มีมูลค่าลดลง แล้วปรับสัดส่วน ETF ในพอร์ตตามค่าเริ่มต้น 

การเพิ่มทุนเข้ามาในพอร์ต จะช่วยเฉลี่ยต้นทุน ระบบจะปรับพอร์ตให้อีกครั้ง ถ้าอยากให้เงินงอกเงยและทำงานสร้างผลตอบแทนอย่างเต็มศักยภาพ คุณสามารถเพิ่มทุนตามช่วงเวลา หรือ DCA (Dollar-cost Averaging) ได้ 

  1. ติดตามสถานการณ์การลงทุนเพื่อประเมินศักยภาพของ ETF 

ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ และไม่มีใครคาดการณ์ได้ คุณสามารถติดตามข่าวสารข้อมูล เพื่อประเมินผลกระทบต่อพอร์ตลงทุนได้ สำหรับประเด็น Bond Yield เร่งตัวและส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ในตลาด Jitta Wealth มองว่า เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น เมื่อตลาดเริ่มเห็นความชัดเจนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด มูลค่าของ ETF ตราสารหนี้จะกลับมาเคลื่อนไหวสะท้อนราคาที่แท้จริง

  1. ปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคต

คุณสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนใน Global ETF ได้ตามที่คุณต้องการ หากคุณประเมินแล้วว่า ยังไม่รับความผันผวนในช่วงวิกฤต คุณสามารถเปลี่ยนมาเป็นแผนสมดุลหรือพอเพียงได้ หรือถ้าอยากลงทุนไปกับโอกาสเติบโตของตลาดหุ้นทั่วโลกหลัง Covid-19 คุณสามารถเปลี่ยนมาลงทุนในแผนเติบโต ซึ่งคุณเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

กองทุนส่วนบุคคล Global ETF พอร์ตลงทุนสูตรสำเร็จที่ช่วยให้เงินลงทุนของคุณจะงอกเงยได้ในระยะยาว เพื่อเอาชนะภาวะเงินเฟ้อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด หากคุณต้องการทำความรู้จัก Global ETF มากขึ้น เข้ามาดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://jittawealth.com/global-etf หรือสอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนที่ Line ID: @JittaWealth


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ้างอิง

  1. 10-year Treasury futures prices fall to start the week; bond markets closed https://www.cnbc.com/2021/10/11/us-bonds-treasury-yields-climb-to-start-the-week.html
  2. กรุงเทพธุรกิจ – สาเหตุที่ ‘bond yield’ ขึ้น และหุ้นลง https://www.bangkokbiznews.com/news/926952
  3. คาด Fed เดินเกมการเงินเข้ม หวั่น Bond Yield พุ่ง ฉุดหุ้นทั่วโลกปรับฐาน https://www.thairath.co.th/business/investment/stockexchange/2205114
  4. Bond Yield คืออะไร ส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนอย่างไร? https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/grow-your-wealth/bond-yield.html
  5. Vanguard FTSE Emerging Markets ETF (VWO) https://investor.vanguard.com/etf/profile/VWO
  6. มติ ‘Fed’ เป็นไปตามคาด เตรียมลดปริมาณ QE ในปีนี้ ขณะที่ FOMC ส่วนใหญ่มองดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ปลายปีหน้า https://thestandard.co/fed-prepare-to-reduce-qe-volume-this-year/

บทความ Global ETF ที่เกี่ยวข้อง

จัดพอร์ตลงทุน Global ETF เอาชนะ ‘เงินเฟ้อ’ ด้วย Modern Portfolio Theory

Global ETF ทางเลือก ‘ดีต่อใจ’ รับมือ ‘ความผันผวน’

ลงทุน Global ETF ให้เงินงอกเงยได้ 127% ใน 10 ปี


บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด