‘จับจังหวะตลาด’ ดีจริงไหม…คุ้มค่าแค่ไหน?

6 มกราคม 2566Global ETF

ไฮไลต์

  • นักลงทุนหลายคนพยายาม ‘จับจังหวะตลาด’ เพื่อซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดและทำผลตอบแทนให้ได้สูงที่สุด แต่จากการทดสอบกลับพบว่าผลตอบแทนจากการจับจังหวะได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้แตกต่างจากกลยุทธ์การลงทุนอื่นมาก
  • กลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่ายที่นักลงทุนหลายคนมองข้ามอย่างการลงทุนในตลาดหุ้นทุกวันซื้อขายแรกของปี หรือการลงทุนแบบ DCA ทุกเดือน ก็ทำให้เงินลงทุนเติบโตขึ้นได้อย่างน่าพอใจเช่นกันในระยะยาว
  • นักลงทุน VI ระดับโลกไม่แนะนำให้จับจังหวะตลาด หนึ่งในนั้นคือ Peter Lynch ที่บอกว่านักลงทุนส่วนใหญ่เสียเงินจากการจับจังหวะตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงปรับฐาน มากกว่าการลงทุนในช่วงตลาดปรับฐานจริงๆ เสียอีก

คงจะเป็นเรื่องดีหากคุณรู้อนาคตจนสามารถหาจังหวะซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุด และขายหุ้นที่จุดสูงสุดได้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่พยายามทำ โดยการสังเกตการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น สัญญาณทางเทคนิค รวมถึงข่าวสารต่างๆ กลยุทธ์นี้ถูกเรียกกันทั่วไปในหมู่นักลงทุนว่าการ ‘จับจังหวะตลาด’ หรือ Market Timing

แต่การจับจังหวะตลาดไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ นักลงทุนที่มีฝีมือระดับโลกหลายคนยังไม่สนับสนุนให้จับจังหวะตลาด และมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนได้คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไป ยิ่งกว่านั้น การจับจังหวะตลาดอาจทำให้คุณเสียโอกาสลงทุนที่สามารถพลิกชีวิตไปเลยก็ได้

ในโลกความจริง การพิสูจน์ผลลัพธ์จากการจับจังหวะตลาดทำได้ยาก ในบทความนี้ เราจึงยกตัวอย่างนักลงทุนระยะยาว 5 คนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุน 5 แบบที่แตกต่างกันตลอด 20 ปี เพื่อหาคำตอบว่าผลตอบแทนจากการ ‘จับจังหวะตลาด’ นั้นสูงกว่ากลยุทธ์อื่นๆ มากแค่ไหน

  • นายสมบูรณ์แบบ นักลงทุนผู้จับจังหวะตลาดได้เพอร์เฟกต์สมชื่อ นายสมบูรณ์แบบมีทักษะและโชคราวฟ้าประทาน เขาสามารถซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดได้ทุกปี และทำได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 20 ปี
  • นายเรียบง่าย นักลงทุนผู้ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่สุดแสนจะเรียบง่าย นั่นคือการลงทุนในตลาดหุ้นในวันทำการแรกของปี ตั้งแต่ปี 2545 – 2564
  • นายสม่ำเสมอ ผู้แบ่งเงินลงทุนออกเป็น 12 ก้อนเท่าๆ กัน และนำมาลงทุนทุกต้นเดือน กลยุทธ์ลงทุนเรียกว่า Dollar-cost Averaging (DCA) ซึ่งเขาทำแบบนี้ทุกเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปี
  • นายอับโชค นักลงทุนที่ไม่มีโชคในการลงทุน ทุกครั้งที่เขาตัดสินใจลงทุน เขาจะซื้อหุ้นที่จุดสูงสุดในรอบปีอยู่เสมอ นายอับโชคต้องประสบพบเจอกับความโชคร้ายแบบนี้มานาน 20 ปีเต็ม
  • นายเฝ้ารอ นักลงทุนผู้นำเงินไปพักไว้ในตั๋วเงินคลังอยู่เสมอเพื่อรอโอกาส นายเฝ้ารอเป็นหนึ่งในนักจับจังหวะ แต่กลับทำไม่ได้อย่างนายสมบูรณ์แบบ ทุกครั้งที่ราคาหุ้นตกลงไปแตะจุดต่ำสุด นายเฝ้ารอก็จะรอโอกาสที่ดีกว่าที่ไม่มีวันมาถึงต่อไป ทำให้เขาไม่ได้ลงทุนเลยสักครั้งตั้งแต่ปี 2545 – 2564 เงินลงทุนทั้งหมดของนายเฝ้ารอจึงถูกนำไปลงทุนในตั๋วเงินคลัง

เรากำหนดให้นักลงทุนทั้ง 5 คนนี้ได้รับเงิน 10,000 บาทหรือในสกุลเงินของประเทศนั้นๆ ทุกต้นปี ตั้งแต่ปี 2545 – 2564 และลงทุนหุ้นตามดัชนีอ้างอิง เพื่อจะหาคำตอบว่าสุดท้ายแล้วกลยุทธ์ลงทุนของทั้ง 5 คนนี้ สามารถทำให้เงินลงทุนเติบโตขึ้นเป็นเท่าไรในระยะเวลา 20 ปี

จับจังหวะตลาด

การทดสอบนี้จะช่วยให้แนวทางกับคุณได้ว่า คุณควรจะใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบจับจังหวะตลาดหรือไม่ หรือควรใช้กลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่ายแต่สามารถทำพอร์ตของคุณเติบโตขึ้นได้เช่นเดียวกัน 

ผลลัพธ์ของนักลงทุนทั้ง 5

หลังจากที่นักลงทุนทั้ง 5 คน ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบเดิมติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปี คุณคงจะเดาผู้ชนะได้ไม่ยากว่าใครสามารถทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดจากการลงทุนระยะยาวครั้งนี้ 

แน่นอนว่าผู้ที่ทำผลตอบแทนได้มากที่สุดจากกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 5 กลยุทธ์นี้ก็คือ นายสมบูรณ์แบบ ที่สามารถจับจังหวะตลาดได้อย่างเพอร์เฟกต์ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ผลตอบแทนที่นายสมบูรณ์แบบทำได้จากการจับจังหวะอย่างแม่นยำ สูงกว่าที่นักลงทุนคนอื่นทำได้อยู่มากแค่ไหน?

เราจะพาคุณไปเริ่มดูผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนทั้ง 5 จากการลงทุนหุ้นตามดัชนีอ้างอิงของตลาดหุ้นประเทศต่างๆ (ยกเว้นพอร์ตของนายเฝ้ารอ ที่ ‘รอ’ จับจังหวะจนไม่ได้เริ่มลงทุนหุ้นสักที เงินทั้งหมดจึงถูกนำไปลงทุนในตั๋วเงินคลังของประเทศนั้นๆ แทน) 

ดัชนี SET TRI

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2545 – 2564 มูลค่าพอร์ตลงทุนของทั้ง 5 คน จากการลงทุนในหุ้นตามดัชนี SET TRI จะออกมาดังนี้

นักลงทุนมูลค่าเงินลงทุน (บาท)
นายสมบูรณ์แบบ746,024.93
นายเรียบง่าย666,713.12
นายสม่ำเสมอ606,118.04
นายอับโชค492,684.38
นายเฝ้ารอ236,909.61

คุณจะเห็นว่าจากการลงทุนระยะยาว 20 ปี ทำให้เงินลงทุนจาก 200,000 บาทเติบโตขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งเราอยากให้คุณโฟกัสคือ ผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนทั้ง 5 นี้ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

อย่างที่เราได้บอกไปว่านายสมบูรณ์แบบทำผลตอบแทนได้สูงสุดจากการจับจังหวะตลาดได้อย่างเพอร์เฟกต์ แต่ในความเป็นจริง การจับจังหวะตลาดได้แม่นยำติดต่อกัน 20 ปีเหมือนกลยุทธ์ลงทุนของนายสมบูรณ์แบบเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครจับจังหวะได้อย่างแม่นยำและถูกต้องทุกครั้ง

หากคุณสังเกตมูลค่าพอร์ตของนายเรียบง่ายและนายสม่ำเสมอ จากกลยุทธ์การลงทุนที่ทำได้ง่ายอย่างการ ลงทุนในวันทำการแรกของปี หรือ กลยุทธ์ DCA ที่ถัวเฉลี่ยลงทุนหุ้นทุกเดือน จะเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้ก็อยู่ในระดับน่าพอใจโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก เพียงแค่รักษาวินัยการลงทุนของตัวเองให้ได้เท่านั้น

หรือต่อให้คุณลงทุนที่จุดสูงสุดของทุกปี ผลตอบแทนที่ทำได้ก็ยังดีกว่าการไม่ลงทุนเลย โดยหากเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง นายอับโชค และ นายเฝ้ารอ คุณจะเห็นว่าการรอจับจังหวะตลาดในช่วงที่ดีที่สุดที่ไม่เคยมาถึง จะทำให้คุณเสียโอกาสการทำผลตอบแทนไปอย่างมากมายมหาศาล 

แต่การทดสอบกลยุทธ์การลงทุนกับดัชนีตลาดหุ้นเดียวอาจยังพิสูจน์เรื่องนี้ไม่ได้เต็มที่ ทีมงานจึงได้ทดสอบกลยุทธ์การลงทุนทั้ง 5 แบบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่น นอกเหนือจากดัชนี SET TRI ด้วย 

ดัชนี S&P 500 TRI

รอบนี้ ทีมงานจะพาคุณไปดูผลลัพธ์จากการลงทุนในดัชนี S&P 500 TRI ของสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนทั่วโลกกันบ้าง โดยนักลงทุนทั้ง 5 คนจะได้รับเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐทุกต้นปี

นักลงทุนมูลค่าเงินลงทุน (ดอลลาร์สหรัฐ)
นายสมบูรณ์แบบ960,084.44
นายเรียบง่าย822,310.16
นายสม่ำเสมอ811,476.10
นายอับโชค721,531.89
นายเฝ้ารอ218,097.85

ในโลกแห่งการลงทุน คุณอาจจะสงสัยว่า…หากสามารถจับจังหวะตลาดและซื้อหุ้นในจุดที่ต่ำสุดได้ในทุกปี คงทำให้ผลตอบแทนของคุณแตกต่างไปจากเดิมมาก ซึ่งจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ คุณสามารถดูได้จากพอร์ตลงทุนของนายสมบูรณ์แบบ

จริงอยู่ที่การจับจังหวะตลาดได้แม่นยำสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ แต่มันไม่ใช่จำนวนเงินที่มากมายสักเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของนักลงทุนคนอื่น แม้แต่พอร์ตลงทุนของนายอับโชคที่ลงทุนตรงจุดสูงสุดของตลาดหุ้นทุกครั้ง ก็สามารถทำผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจเช่นกัน

ในบางครั้ง กลยุทธ์การลงทุนที่เรียบง่ายอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับคุณ เพราะนอกจากคุณจะทำตามได้ง่ายแล้ว ยังทำให้คุณไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารตลาดหุ้นทุกวันจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น

และเพื่อพิสูจน์ว่ากลยุทธ์ ‘จับจังหวะตลาด’ อาจไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากกว่ากลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่าย เราจึงได้ทดสอบเพิ่มเติมอีก 3 ดัชนีตลาดหุ้น และได้ผลลัพธ์ออกมาดังนี้ 

พอร์ตทั้ง 5 ลงทุนดัชนี CSI 300 TRI

นักลงทุนมูลค่าเงินลงทุน (หยวน)
นายสมบูรณ์แบบ699,278.91
นายเรียบง่าย600,419.61
นายสม่ำเสมอ570,517.82
นายอับโชค459,591.45
นายเฝ้ารอ251,142.97

การทดสอบโดยลงทุนหุ้นอ้างอินกับดัชนี CSI 300 TRI ของตลาดหุ้นจีน พบว่านายสมบูรณ์แบบทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจากการจับจังหวะตลาด ซึ่งความแตกต่างของผลตอบแทนจะคล้ายคลึงกับการลงทุนในดัชนี SET TRI 

พอร์ตทั้ง 5 ลงทุนดัชนี VNI TRI 

นักลงทุนมูลค่าเงินลงทุน (ดอง)
นายสมบูรณ์แบบ1,243,544.33
นายเรียบง่าย1,041,961.77
นายสม่ำเสมอ990,570.15
นายอับโชค794,927.43
นายเฝ้ารอ439,196.26

การลงทุนในดัชนี VN Index TRI ของตลาดหุ้นเวียดนามที่มีสถานะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จะผันผวนมากกว่าตลาดอื่น แต่ก็แลกมาด้วยศักยภาพการเติบโตของตลาดหุ้นที่สูงกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน 

การจับจังหวะของนายสมบูรณ์แบบทำผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้นมากในตลาดหุ้นเวียดนาม แต่การ ‘จับจังหวะ’ ตลาดหุ้นที่ผันผวนสูงและเหวี่ยงขึ้นลงเร็วก็ยากขึ้นเป็นทวีคูณเหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้คุณเสียโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นไปได้ในที่สุดเหมือนอย่างนายเฝ้ารอ

พอร์ตทั้ง 5 ลงทุนดัชนี TOPIX TRI

นักลงทุนมูลค่าเงินลงทุน (เยน)
นายสมบูรณ์แบบ494,695.21
นายเรียบง่าย423,712.38
นายสม่ำเสมอ419,881.72
นายอับโชค363,910.96
นายเฝ้ารอ208,262.28

สุดท้ายคือการลงทุนในดัชนี TOPIX TRI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น คุณจะเห็นว่านายสมบูรณ์แบบทำผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการจับจังหวะตลาด แต่กลยุทธ์ลงทุนอื่นๆ ก็สามารถทำผลตอบแทนได้ดีเช่นกัน และยังทำจริงได้ง่ายจนแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยลงทุนมาก่อนก็ยังสามารถทำตามได้

จับจังหวะตลาด

ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากตัวเลขการเติบโตของทั้ง 5 พอร์ตในทุกดัชนี พอร์ตของนายเฝ้ารอ ที่รอจับจังหวะตลาด จนไม่ได้ลงทุนสักทีและแช่เงินไว้ที่ตั๋วเงินคลังเฉยๆ ทำผลตอบแทนได้น้อยที่สุดจากการลงทุน 

นั่นเป็นเหตุผลที่บอกได้ว่าเพราะอะไรคุณถึงไม่ควรเฝ้ารอ เพราะในระยะยาว การลงทุนในตลาดหุ้นจะทำให้เงินลงทุนเติบโตได้อย่างชัดเจน และถึงแม้ว่าคุณจะลงทุนที่จุดสูงสุดของตลาดหุ้นในทุกปี ก็ยังทำให้เงินของคุณเติบโตได้มากกว่าการไม่ลงทุนเลย

คำแนะนำจากเซียนหุ้น เหตุผลที่คุณไม่ควร ‘จับจังหวะตลาด’

ผลลัพธ์จากการทดสอบทั้งหมดทำให้คุณเห็นว่า นายสมบูรณ์แบบสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงที่สุด แต่มันเกิดขึ้นจากการจับจังหวะตลาดได้อย่างแม่นยำไร้ที่ติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหากคุณไม่ได้เป็นนักลงทุนมืออาชีพที่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือพร้อมสรรพ

นักลงทุนหลายคนรอจับจังหวะเพื่อหาโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด แต่เมื่อโอกาสมาถึงกลับคิดว่าจะมีโอกาสที่ดียิ่งกว่ามาให้ลงทุนอีก จนสุดท้ายอาจจะไม่ได้เริ่มลงทุนสักทีเหมือนนายเฝ้ารอ จนเสียโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นไปอย่างน่าเสียดาย

แม้แต่ผู้จัดการกองทุนในตำนานอย่าง Peter Lynch ที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 29.2% ติดต่อกัน 13 ปี ยังไม่แนะนำให้จับจังหวะตลาด โดย Lynch เคยพูดถึงการจับจังหวะตลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่เอาไว้ว่า 

จับจังหวะตลาด

หมายความว่า ยิ่งคุณเฝ้ารอหรือพยายามมองหาจังหวะการลงทุนตามที่คิด คุณก็ยิ่งเสียโอกาสการลงทุนไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย เงินลงทุนที่มีโอกาสเติบโตของคุณกลับถูกทิ้งแช่เอาไว้จนไม่ได้ลงทุนไปซะอย่างนั้น

กลับกันหากคุณมีวินัยและลองมองหากลยุทธ์ลงทุนที่ทำตามได้ง่าย เหมือนอย่าง นายเรียบง่ายที่ลงทุนทันทีในวันซื้อขายแรกของปี หรือ นายสม่ำเสมอที่แบ่งเงินและลงทุนแบบ DCA ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้เงินลงทุนเติบโตได้อย่างน่าประทับใจเช่นกันในระยะยาว 

ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่ากลยุทธ์การ ‘จับจังหวะตลาด’ ช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน หลังจากอ่านบทความนี้จบคุณอาจมีกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับชีวิตของคุณและนำมาใช้จริงได้ 

หากคุณมีเป้าหมายว่าจะลงทุนระยะยาว เพียงแค่คุณลงทุนตามหลักการที่ถูกต้องและมีวินัยการลงทุนที่ดี คุณก็จะได้ผลลัพธ์จากการลงทุนที่ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน 


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่การันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน


อ้างอิง

  1. Does Market Timing Work? https://www.schwab.com/learn/story/does-market-timing-work
  2. More Money Has Been Lost Waiting for Corrections Than in Them jitta.co/3jFDNK6
  3. Stop Trying to Time The Market & Do This Instead jitta.co/3WzH38h
  4. Market Timing Fails as a Money Maker https://www.investopedia.com/articles/trading/07/market_timing.asp
  5. ลงทุนก่อน ระหว่าง หรือหลังวิกฤตดีกว่า? https://library.jitta.com/th/blogs/is-now-the-time-to-buy-stocks-th

อ่านเพิ่มเติม

เจาะลึก! ‘ลงทุน Global ETF’ ตามสูตร Ben Graham 

Jitta Wealth เปลี่ยน ETF ใหม่ในนโยบาย Global ETF และ Thematic

2 ทางเลือก ‘ลงทุนหุ้นเวียดนาม’ คว้าโอกาสช่วงหุ้นถูก

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด