Jitta Wealth Journal - เทรนด์บาทอ่อน หลัง Fed เตรียมจบ QE

28 กันยายน 2564Jitta WealthJitta Wealth Journal

เมื่อธนาคารดิสรัปตัวเองเป็น Tech Company

Jitta Wealth Journal ฉบับที่ 44 ประจำวันที่ 28 กันยายน 2564 ทีมงานได้สรุปความเคลื่อนไหวจากทุกมุมโลกให้คุณแล้ว ดังนี้

  • QE Tapering กดดันเงินบาทอ่อนค่า
  • แบงก์ดิสรัปตัวเอง…เพื่อความอยู่รอด
  • TikTok ถูกจำกัดเวลาใช้งานในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 
  • Moderna คาด Covid-19 จะจบลงภายใน 1 ปี
  • เวียดนามเลื่อนแผนเปิดเกาะฟู้โกว๊กออกไปอีก
  • ตลาดหุ้นอินเดียจะโตแซงตลาดหุ้นอังกฤษภายในปี 2567
  • Covid-19 ดัน Remote Healthcare เติบโตกระฉูด
  • 4 บริษัทเทคจีนคัดค้านถูกแบนสินค้าขายในสหรัฐฯ

ไปติดตามกันได้เลย


Thematic Optimize พร้อมให้ลงทุนแล้ววันนี้

อยากลงทุนแบบ Thematic แต่ธีมเมกะเทรนด์มีให้เลือกมากมาย…ไม่รู้จะเลือกอะไรดี

#เลือกให้ถูก Thematic Optimize เลือกให้

ครั้งแรกในประเทศไทย AI ช่วยจัดพอร์ตธีมเมกะเทรนด์ให้คุณ
พิสูจน์จากทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังสูงถึง 25%* ต่อปี

เปิดพอร์ต Thematic Optimize

*ผลตอบแทนทบต้นจากการทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 – 31 สิงหาคม 2564


Jitta Wealth

ทำความรู้จักกับ Thematic Optimize

หากคุณอยากรู้ว่า Thematic Optimize จัดพอร์ตลงทุนอย่างไร Jitta Wealth มีหลักการคัดเลือก 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุดอย่างไร มาร่วมรับฟังข้อมูลอย่างละเอียด พร้อมถามคำถามที่คาใจ ได้ที่ Live เปิดตัวนี้

กด ‘Going’ เพื่อรับการแจ้งเตือน


QE Tapering กดดันเงินบาทอ่อนค่า

ตลาดรับรู้สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มาได้ 2-3 เดือนแล้วว่า จะทยอยลดการใช้ ‘นโยบายการเงินผ่อนคลาย’ หรือลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ในที่นี้ คือ ตลาดสินทรัพย์ทางการเงิน

เครื่องมือที่ Fed ใช้มาตลอดตั้งแต่วิกฤต Subprime ปี 2551 คือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสาร MBS (สินเชื่อบ้านในระบบ)

ในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าเป็นห่วง Fed ตัดสินใจลดวงเงิน QE ลงบ้าง เมื่อเกิดวิกฤตอย่าง Covid-19 ในปี 2563 ทาง Fed จึงกลับมาอัดฉีดเม็ดเงิน QE อีกครั้ง 

ในปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างดีจาก Covid-19 จึงเป็นสาเหตุให้ Fed เริ่มออกมาส่งสัญญาณในช่วงที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณาลดวงเงิน QE หรือ QE Tapering ภายในปีนี้

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed หรือ FOMC ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมาระบุไทม์ไลน์เดิมว่า จะลดวงเงิน QE ภายในปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า น่าจะลดจากวงเงินเดิม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ยังตีความสัญญาณจาก Fed อีกว่า อาจจะจบมาตรการ QE ในช่วงกลางปี 2565 รวมทั้งโอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ช่วงในปีหน้าเช่นเดียวกัน จากเดิมที่ 0-0.25% 

ผลจากการประชุมของ Fed คือ เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 4 ปี อยู่ในช่วง 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากที่ช่วงต้นเดือนอยู่ในช่วง 32 บาท

ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 อาจจะอ่อนค่าลงได้อีก หาก Fed ยังคงไทม์ไลน์ในการทำ QE Tapering เพราะจะทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดการเงินประเทศพัฒนาแล้ว ทางสหภาพยุโรปก็เตรียมจะลดวงเงิน QE ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้แนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลตลาดแรงงานจะฟื้นตัวได้ดี มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่ง Fed เองก็กำลังพิจารณาประเด็นเหล่านี้อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย 

หากเป็นไปตามการคาดการณ์เหล่านี้ เงินบาทจึงอ่อนค่า ในทางกลับกันแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นทิศทางแข็งค่า

ในปี 2556 Fed เคยทำ QE Tapering ซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และสวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมไปถึงเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งขึ้น เพราะเม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดการเงินประเทศต้นกำเนิด QE นั่นเอง

เม็ดเงินย่อมไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นฮับตลาดการเงินโลก ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ยิ่งเป็นช่วงตลาดหุ้นกำลังฟื้นตัวจากวิกฤต Covid-19 ทิศทางของดัชนีหลักๆ อย่าง S&P500 Nasdaq และ DJIA ก็มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว บริษัทในตลาดหุ้นจะมีงบการเงินที่ดีและเติบโตจากปี 2563 ตามสถิติแล้ว การลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังฟื้นตัวจากวิกฤต จะทำให้พอร์ตมีผลตอบแทนที่ดีอยู่แล้ว

ยิ่งไทม์ไลน์ QE Tapering มีความชัดเจนมากขึ้น และผลคือ เงินบาทจะอ่อนค่าลงอีก อยู่ที่คุณแล้ว ว่าจะลงทุนต่างประเทศช่วงนี้เลย หรือรอให้มาตรการ QE สิ้นสุดลง แล้วเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก

วิธีการลงทุนต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนที่ยังกังวลทิศทางค่าเงินบาท สามารถแบ่งเงินลงทุนเป็นก้อนๆ แล้วทยอยเติมเข้าพอร์ต เพื่อเปิดโอกาสให้คุณได้เฉลี่ยต้นทุนในสินทรัพย์ที่คุณเลือกไว้

Jitta Wealth เน้นหลักการลงทุนระยะยาว และหมั่นเติมเงินเข้าพอร์ต การจับจังหวะค่าเงินหรือทิศทางตลาดหุ้น แทบจะไม่มีความสำคัญเลย ถ้าดูแนวโน้ม 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ผลตอบแทน S&P500 ชนะค่าเงินบาทอยู่แล้ว 


Jitta Wealth

ส่อง ‘ค่าเงินบาท’ แข็งหรืออ่อน กับแนวโน้มลดวงเงิน QE

‘ค่าเงินบาท’ ช่วงนี้จะเป็นอย่างไร กับมติของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่จะอ่อนหรือแข็งค่า ไม่สำคัญเท่าวิธีรับมือที่ดี และจัดพอร์ตลงทุนต่างประเทศอย่างมีวินัย

อ่านต่อ


จัดพอร์ต ‘หุ้นเมกะแคป’ ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกาะเทรนด์เศรษฐกิจฟื้น

รวบรวม 8 ‘หุ้นเมกะแคป’ ที่เป็นบริษัทระดับโลก หากคุณอยากเป็นเจ้าของบริษัทเหล่านี้ Jitta Wealth มีทางเลือกให้คุณเลือกลงทุนถึง 3 แผนการลงทุน

อ่านต่อ


แบงก์ดิสรัปตัวเอง…เพื่อความอยู่รอด

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ พยายามก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อทำลายศักยภาพเดิมๆ และก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่ต้องต่อสู้กับความคิดแบบดั้งเดิม สู่การผันตัวเองให้เป็นฟินเทค 

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ บริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง Ping An Insurance ที่เปลี่ยนจากบริษัทประกัน เพื่อเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว 

ล่าสุดกลายเป็นบริษัทที่มีพัฒนาการโดดเด่นที่สุดในจีน ถึง 4 ปีติดต่อกัน จากการสำรวจโดย Asiamoney ซึ่งครอบคลุมทั่วตลาดเอเชียแปซิฟิก 

โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 Ping An Insurance มีกำไรในการดำเนินงานที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทแม่เพิ่มขึ้นถึง 10.1% กำไรการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจฟินเทคเพิ่มขึ้น 14.2% 

สะท้อนว่า หากสถาบันการเงินยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องพ่ายแพ้ต่ออิทธิพลของเทคโนโลยี และถูกดิสรัปออกไป ดังนั้นหากต้องการอยู่ในแวดวงการเงินต่อ ต้องดิสรัปตัวเองก่อน

การก้าวเข้าสู่การเป็นฟินเทค รวมไปถึงธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินอื่นๆ WealthTech หรือ InsurTech นับเป็นการปลดแอกตัวเอง สู่การพัฒนาให้เข้ากับโลกดิจิทัลในปัจจุบัน 

และในไทยเอง ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังจะทรานส์ฟอร์มจากธนาคารแบบเดิมๆ จาก SCB สู่ SCBX เพื่อเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว

กลายเป็นอีก 1 ตัวอย่างของการดิสรัปตัวเองก่อนที่จะถูกคัดออกจากสังเวียนธุรกิจการเงิน หลังจากที่เมื่อ 2-3 ปีก่อน ธนาคารพาณิชย์ของไทย พร้อมใจกันลดค่าธรรมเนียมโอนข้ามธนาคารผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์

ผู้บริหาร SCB บอกว่า แนวโน้มของการถูกดิสรัปนั้น เริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อนและจะชัดเจนมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า 

SCBX ถือเป็นปรากฏการณ์ดิสรัปตัวเองครั้งใหญ่ที่อาจสะเทือนวงการธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ การเงินแบบเดิมๆ เริ่มขยับขยายไปไหนต่อไม่ได้ โลกดิจิทัลกำลังเข้ามามีอิทธิพลในทุกธุรกิจ รวมทั้งการถือกำเนิดของสตาร์ตอัปหน้าใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น…เมกะเทรนด์ ‘ฟินเทค’ ทำให้สถาบันการเงินแบบเดิมๆ ทั่วโลก สัมผัสได้ถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น รวมเทรนด์ของ Decentralize Finance (DeFi) ระบบการเงินไร้ตัวกลาง…ที่ไม่ต้องพึ่งพาธนาคารอีกต่อไป

แนวทางของ SCB คือ เปลี่ยนโครงสร้างครั้งสำคัญ เตรียมชื่อหุ้นใหม่ คือ SCBX ย้ายสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมมา (Share Swap) จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ธุรกิจธนาคารจะเป็นเพียงหน่วยธุรกิจใน SCBX เท่านั้น

แล้วจะไปโฟกัสในธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้อิทธิพลของเทคโนโลยี เช่น คริปโทเคอร์เรนซี พัฒนาแอปพลิเคชัน เวนเจอร์แคปสนับสนุนสตาร์ตอัป รวมทั้งให้บริการฟินเทคในสินเชื่อ ประกัน และการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ

นักวิเคราะห์มองว่า การปรับโครงสร้างของ SCB จะผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินเชื่อลีสซิงและบัตรเครดิต แต่ในระยะยาวยังต้องติดตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อของ SCBX ที่อาจส่งผลต่อการแข่งขันในธุรกิจการเงิน เพราะใครมีต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำ นโยบายราคาที่แข่งขันได้ และฐานลูกค้าใหญ่กว่า ย่อมช่วงชิงเค้กก้อนใหญ่ได้

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นการปลดล็อกมูลค่าบริษัทครั้งใหญ่ เพิ่มความยืดหยุ่นของฐานทุน ช่วยขยายอาณาเขตในการทำธุรกิจ สามารถผันเงินทุนสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโต ซึ่งมีผลตอบแทนที่รวดเร็วและคล่องตัวกว่า

ยิ่งเป้าหมายของผู้บริหาร SCB ที่ตั้งอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นระยะยาว (Return on Equity – ROE) เป็น 15% ใน 5 ปีข้างหน้าเป็นไปได้สูงมาก 

จริงๆ แล้วการดิสรัปตัวเองของสถาบันการเงินเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีใครหนีเทรนด์ Digital Disruption ได้ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้ฟินเทคมากขึ้น ธนาคารก็ต้องปรับตัวตาม

ไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษาอย่าง Ping An Insurance หรือ SCB รวมไปถึงการซื้อกิจการ Afterpay ของ ​Square ก่อนหน้านี้ และการปรับตัวของยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น PayPal Mastercard Visa Citi American Express และ JPMorgan Chase สู่โลกดิจิทัลและเมกะเทรนด์ฟินเทค เป็นการยอมดิสรัปตัวเองก่อนทั้งสิ้น

หากคุณยังเชื่อมั่นในการเติบโตในอีก 5-10 ปีของฟินเทค ที่จะถูกขับเคลื่อนโดยคน Gen Y (มิลเลนเนียล) Gen Z และ Gen Alpha การลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงินและสตาร์ตอัปที่เข้าเทรดในตลาดหุ้นแล้ว คือ โอกาสของคุณ

กองทุนส่วนบุคคล Thematic DIY เปิดโอกาสให้คุณได้จัดพอร์ตธีมฟินเทค ที่ลงทุนใน Global X FinTech ETF (FINX) ครอบคลุมกว่า 50 บริษัทในธุรกิจการเงิน ผลตอบแทนรวมย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปีอยู่ที่ 36.7% 77.12% และ 233.29% ตามลำดับ (ณ 24 กันยายน 2564)

คุณสามารถจัดพอร์ต Thematic DIY ได้สูงสุด 5 ธีม เลือกธีมอื่นๆ ที่อยู่ในโลกดิจิทัลระยะยาว พร้อมรับมือกับการถูกดิสรัปอย่าง เช่น อีคอมเมิร์ซ คลาวด์ หุ่นยนต์และ AI หรือเกมและอีสปอร์ตได้ 

เมื่อไม่มีใครหลบหนีเทรนด์ Digital Disruption ได้ ตัวคุณเองยังเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ลองจัดพอร์ตลงทุนรับมือไว้ก่อน…เน้นโอกาสเติบโตระยะยาว แถมได้กระจายความเสี่ยงลงทุนในหลายๆ บริษัทผ่าน ETF ดูน่าสนใจมากขึ้นไหม


Jitta Wealth

‘หุ้นไทยวิ่งไม่ไหว ไปหาผลตอบแทนที่ไหนดี?’

วันศุกร์ที่ผ่านมา คุณตราวุทธิ์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ในรายการ Stock in Trend Special ของ efinanceThai เกี่ยวกับโอกาสลงทุนในต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า และกระจายความเสี่ยง ลงทุนได้ทั่วโลก

ดูวิดีโอย้อนหลัง


สรุปสถานการณ์จากทั่วโลก

📌 TikTok เวอร์ชันจีนอย่าง ‘Douyin’ ประกาศจำกัดเวลาผู้ใช้อายุต่ำกว่า 14 ปี ให้ใช้งานเพียงวันละ 40 นาที เฉพาะช่วงเวลา 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่มเท่านั้น หลังทางการจีนเดินหน้าปราบปรามการติดอินเทอร์เน็ตของเยาวชน ส่งผลกระทบธีมเทคโนโลยีจีนอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานบริหารสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติ (NPPA) หน่วยเฝ้าระวังการเล่นเกม และสื่อออนไลน์ของจีน ออกกฎจำกัดผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิ์เล่นวิดีโอเกมระหว่าง 2 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม ในวันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อป้องกันการติดเกมของวัยรุ่น

📌 CEO ของ Moderna คาดการณ์สถานการณ์ Covid-19 จะจบลงภายใน 1 ปีหลังจากนี้ โดยมองว่า การขยายกำลังการผลิตวัคซีนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้จะมีปริมาณวัคซีนเพียงพอจนถึงกลางปี 2565 เพื่อทุกคนบนโลกจะได้รับการฉีดวัคซีนทั่วถึง 

Moderna พยายามพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้กับทารกและเด็ก ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากธรรมชาติ โดยมี Covid-19 สายพันธุ์เดลตา เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติภายในครึ่งปีหน้า 

แต่ไม่ใช่ว่า โรคอุบัติใหม่นี้จะหมดไปเสียทีเดียว บริษัทวัคซีนทั่วโลกยังต้องวิจัยและพัฒนา เพื่อให้วัคซีนที่ต่อต้านการกลายพันธุ์ได้ดีที่สุด จึงทำให้หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์และจีโนมิกส์ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน

📌 เวียดนามยังมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ เตรียมเลื่อนแผนเปิดเกาะฟู้โกว๊กออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากวัคซีนไม่เพียงพอ ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

โดยขณะนี้ ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเพียง 2.9% เท่านั้น และภาพรวมทั้งเวียดนามฉีดครบเพียง 7.3% อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุดในเอเชีย 

แต่รัฐบาลเวียดนามคาดว่า จะไม่กระทบกับแผนเปิดท่องเที่ยวในเฟสแรกเริ่ม 20 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 3,000-5,000 คน แต่มาตรการยังไม่แน่ชัดว่านักท่องเที่ยวต้องกักตัว 7 วันหรือไม่ ถ้าคุณลงทุน Jitta Ranking เวียดนาม หรือ Thematic DIY ธีมเวียดนามอยู่ มารอลุ้นกันต่อไปว่า เวียดนามจะกลับมาเปิดประเทศอีกเมื่อไหร่

📌 Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นอินเดียจะมีมาร์เก็ตแคปรวมแซงตลาดหุ้นสหราชอาณาจักรภายในปี 2567 เนื่องจากยังมีความแข็งแกร่ง และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ China Evergrande 

ภายในปี 2564 สตาร์ตอัปในอินเดียจะสามารถระดมทุนได้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO (Initial Public Offering)

Goldman Sachs คำนวณว่า จะมีบริษัทเอกชนมากกว่า 150 แห่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเพิ่มมูลค่ามาร์เก็ตแคปอินเดียอีกกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากศักยภาพและความแข็งแกร่งของตลาดหุ้นอินเดีย ทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก และในอนาคตตลาดหุ้นอินเดียอาจเติบโตมากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขึ้นมาเป็นตลาดหุ้นอันดับ 5 ที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปมากที่สุดในโลก

การลงทุนอินเดียผ่าน Thematic ธีมตลาดหุ้นอินเดีย เป็นช่องทางหนึ่งที่คุณจะได้เก็บเกี่ยวการโอกาสเติบโตในประเทศอินเดียได้

📌 อุตสาหกรรม Remote Healthcare คาดว่า จะเติบโตไปถึง 23,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 เนื่องจาก Covid-19 สร้างภาระให้กับโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก 

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้ผู้ป่วยที่ล้นระบบ เตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ รวมไปถึงคนไข้ส่วนใหญ่เริ่มกังวลที่จะต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะเกรงกลัวจะติดเชื้อ Covid-19

ส่งผลให้การบริการสุขภาพทางไกล (Remote Healthcare) เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 95% และมียอดการจองการใช้บริการเพิ่มขึ้น 300% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 

นอกจากนี้นักลงทุนกำลังให้ความสนใจกับการพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มเฮลท์แคร์ และบริการสุขภาพทางไกลกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีขึ้นไปอีก และมีหลากหลายแพลตฟอร์มให้ผู้ป่วยได้เลือกใช้บริการ 

คาดว่า ในอนาคต Remote Healthcare จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจเฮลท์แคร์เติบโตมากขึ้นไปอีก รองรับเมกะเทรนด์สังคมคนสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก 

📌 บริษัทเทคโนโลยีจีนคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) ที่จะจำกัดการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตในจีน ประกอบไปด้วย 4 บริษัทเทคโนโลยีจีนอย่าง Huawei Hytera Hikvision และ Dahua

กฎดังกล่าวได้เสนอว่า จะจำกัดและห้ามใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ผลิตในประเทศที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ รวมไปถึงจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักให้กับบริษัทเทคโนโลยีจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบการสื่อสาร

กฎข้อบังคับดังกล่าวอาจจะขยายไปถึง เทคโนโลยีอื่นๆ จากจีนด้วย ปัจจุบันบริษัทจีนบางแห่งถูกจำกัดไม่ให้รับเงินอุดหนุนบรอดแบนด์และถูกเพิ่มลงในรายชื่อนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจำกัดความสามารถในการรับเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อีกด้วย

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ 4 บริษัทเทคโนโลยีจีนออกมาคัดค้านกฎข้อบังคับดังกล่าว เพราะถ้าหากไม่ได้รับการอนุมัติจาก FCC จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าในสหรัฐฯ ได้ และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ในอนาคต

ถ้าคุณลงทุน Thematic ธีมเทคโนโลยีจีน หรือ Jitta Ranking จีนอยู่ ข่าวเหล่านี้อาจส่งผลกระทบทำให้ราคาผันผวน พอร์ตของคุณอาจจะเหวี่ยงไปมา แต่ถ้าคุณต้องการลงทุนระยะยาวแล้ว โฟกัสไปที่โอกาสการเติบโตของหุ้นจีนหลังการจัดระเบียบของรัฐบาลจีนเสร็จสิ้น คุณจะมองเห็นว่า ยังมีพื้นที่เติบโตได้อีกไกล ขอแค่คุณอดทนผ่านช่วงนี้ไปได้เป็นพอ


นี่คือ ข่าวสารรอบโลกที่ทีมงาน Jitta Wealth ได้สรุปมาให้คุณ สัปดาห์นี้ คือ สัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสที่ 3 แล้ว ลองมองย้อนกลับไป ต้นเดือนที่แล้ว ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนนักลงทุนต่างหวั่นใจ

พอผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ ก็กลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อมติ Fed เริ่มชัดเจนอีกครั้ง ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง จริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น มันอยู่ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้นเอง

ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน อิงกับกฎอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลกมากกว่าพื้นฐานเหมือนสินทรัพย์อื่นๆ ค่าเงินบาทก็เช่นเดียวกัน จะแข็งๆ อ่อนๆ ไปตามปัจจัยเศรษฐกิจและนโยบายการเงินเป็นหลัก

วิธีการรับมือ คือ แบ่งเงินเป็นก้อนๆ และเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พอร์ตได้เฉลี่ยต้นทุน ได้กระจายความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลา และให้เงินทำงานอย่างเป็นระบบ 

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – China Evergrande กระทบพอร์ตหรือไม่?

Jitta Wealth Journal – ถึงเวลายุติสงครามการค้าหรือยัง

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด