Jitta Wealth Journal - ดัชนีจีนขาลง...ไปต่อหรือพอแค่นี้

3 สิงหาคม 2564Jitta WealthJitta Wealth Journal

AstraZeneca ชี้ชาตะอนาคตวัคซีน Covid-19

Jitta Wealth Journal ฉบับที่ 36 ประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2564 มีประเด็นความเคลื่อนไหวสถานการณ์การเงินการลงทุนจากทุกมุมโลก ดังนี้

  • ราคาหุ้นจีนขาลง…เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง
  • AstraZeneca จะผลิตวัคซีน Covid-19 ต่อหรือไม่
  • Square ทุ่มทุน 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อฟินเทค Afterpay
  • นักวิเคราะห์มั่นใจตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าลงทุนในระยะยาว
  • สหรัฐฯ จะไม่ล็อกดาวน์ หลังสายพันธุ์เดลตาระบาด
  • Thematic ETF มาแรง มูลค่าสูงถึง 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ไปติดตามกันได้เลย


ราคาหุ้นจีนขาลง…เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง

ทางการจีนยังคงตรวจสอบและควบคุมบริษัทเทคโนโลยี รวมไปถึงหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่มีการแข่งขันสูง หรือมีแนวโน้มที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะมีอำนาจเหนือตลาด ผูกขาดไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจและจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค

จริงๆ แล้ว นักลงทุนรับรู้ข่าวสารมาตลอด หน่วยงานอย่างสำนักงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) มีคำสั่งลงดาบหุ้นเทคโนโลยี โดยเริ่มต้นจาก

  • Alibaba ที่หยุดแผน IPO ของ Ant Group ฟินเทคมูลค่าสูงที่สุดในโลก จากประเด็นที่ Jack Ma วิจารณ์กฎระเบียบของระบบการเงินของจีน
  • Meituan Dianping แอปพลิเคชันดิลิเวอรีอาหาร เบอร์ 1 ของจีน จากประเด็นเรื่องการผูกขาดการใช้งาน และวิจารณ์รัฐบาลจีน
  • Tencent Music แอปพลิเคชันสตรีมมิงเพลง เบอร์ 1 ของจีน จากประเด็นการซื้อกิจการอื่นๆ ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 80% 
  • Didi Chuxing แอปพลิเคชันเรียกรถเบอร์ 1 ของจีน จากประเด็นครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานจีน

ล่าสุดคือธุรกิจกวดวิชา หรือธุรกิจ AST (After School Tutoring) กำลังทรงอิทธิพลมากเกินไป เพราะการแข่งขันทางการศึกษาของจีนฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ค่าเล่าเรียนเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ส่งผลให้หลายครอบครัวไม่อยากมีบุตร

โดยแนวทาง คือ ธุรกิจการศึกษาจะต้องเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ห้ามระดมทุนในตลาดหุ้น บริษัทจีนและนักลงทุนต่างชาติห้ามถือหุ้นในองค์กรด้านการศึกษา

ประเด็นที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมการดำเนินธุรกิจ สร้างความกังวลให้นักลงทุนอย่างมาก จึงมีแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยีจีน ทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นฮ่องกง และตลาดหุ้นจีน ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

บริษัทเทคโนโลยีจีน มูลค่าหายไปเฉลี่ย 40% จากจุดสูงสุด ส่วนหุ้นกลุ่ม  Tech Education บางรายปรับตัวลง 90% จากจุดสูงสุดเช่นเดียวกัน

กระแสความตื่นตระหนกในตลาดหุ้นนี้เอง ทำให้ CSRC ได้จัดประชุมร่วมกับบรรดาผู้บริหารธนาคารรายใหญ่ระดับโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะรัฐบาลจีนเริ่มวิตกกังวลการทุบขายหุ้นเช่นเดียวกัน ทำให้ดัชนีหุ้นดิ่งลงมากในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า 3 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา และบริการสุขภาพ กำลังเป็นเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องจัดการและปฏิรูป เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน

นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า จีนกำลังพยายามปรับปรุงให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และลดการผูกขาด เพื่อให้บริษัทขนาดกลางและเล็กมีอำนาจต่อรองและแข่งขันได้ ก่อนที่ปัญหาจะฝังรากลึกจนเกินแก้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนต้องเดือดร้อน 

และถ้าพิจารณาดูว่า สัดส่วน Digital Economy คิดเป็น 40% ของ GDP จีน มีมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านหยวนในปี 2563 ในด้านตลาดหุ้น บริษัทเทคโนโลยีมีสัดส่วนกว่า 40% ของดัชนี MSCI China Index 

ก็จะเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจีนจะทำลายบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ อย่างไรก็ต้องเติบโตไปด้วยกัน เพียงแต่ต้องเติบโตอยู่ในกรอบที่ทางการจีนมองว่าเหมาะสมเท่านั้น 

ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของจีน เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจโลกในทุกๆ ด้าน และสร้างพลังต่อกรกับชาติผู้นำ ดังนั้น สำหรับจีนแล้ว การออกกฎเกณฑ์มาควบคุมการดำเนินธุรกิจตอนนี้ คือการยอมกินยาขมเพื่อผลดีในระยะยาว

หากคุณมองเห็นการเติบโตอย่างยั่งยืน จังหวะตลาดย่อตัวอาจเป็นโอกาสให้คุณเริ่มลงทุนหุ้นจีนหรือทยอยเพิ่มทุน

แต่ถ้าคุณยังไม่แน่ใจ ก็ลองติดตามสถานการณ์ไปก่อนได้ และทีมงาน Jitta Wealth จะคอยอัปเดตให้คุณไม่ตกข่าวแน่นอน


Jitta Wealth

ใช้ AI ช่วยเลือก ‘หุ้นดีราคาถูก’ มังกร เสริมพอร์ตให้แกร่ง

รายการเศรษฐกิจ Insight จาก TNN ช่อง 16 ได้สรุปคอนเซปต์จัดพอร์ตลงทุนสไตล์ VI ใน ‘Jitta Ranking จีน’ ได้น่าสนใจ ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 16.25% แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตลาดหุ้นจีนทำได้ดีกว่านั้น

ดูวิดีโอย้อนหลัง


AstraZeneca จะผลิตวัคซีน Covid-19 ต่อหรือไม่ 

ผู้พัฒนาวัคซีน Covid-19 แบบ Viral Vector รายแรกของโลกอย่าง AstraZeneca  กำลังพิจารณาอนาคตวัคซีนที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากหลายๆ บริษัท และปัญหาผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือด 

อนาคตวัคซีน Covid-19 ของ AstraZeneca จะมีความชัดเจนภายในปี 2564 โดยบริษัทไม่มีประสบการณ์พัฒนาวัคซีนมาก่อน แต่ยอมกระโดดเข้าร่วมวง ด้วยเงื่อนไขที่ว่า จะไม่แสวงหากำไรจากการพัฒนาวัคซีน

แม้ว่า CEO ของ AstraZeneca เคยบอกว่า บริษัทไม่เสียใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีน Covid-19 เนื่องจากบริษัทได้สร้างความแตกต่างให้กับวงการสาธารณสุขทั่วโลก จากการที่ไม่เคยพัฒนาวัคซีนมาก่อน

ปัจจุบันได้ส่งมอบ 1,000 ล้านโดสทั่วโลก และเตรียมส่งมอบวัคซีนอีกหลายร้อยล้านโดสซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาปัจจุบัน รวมทั้งพูดคุยกับรัฐบาลหลายๆ ประเทศเกี่ยวกับเวชภัณฑ์เพิ่มเติมสำหรับปี 2565

แต่นักวิเคราะห์มองว่า AstraZeneca จะยังคงผลิตและส่งมอบวัคซีนได้ในวงกว้าง เพราะเป็นวัคซีน Covid-19 ที่มีราคาจับต้องได้ ยังมีความต้องการจากประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก แม้ว่าบริษัทอาจจะไม่ทำธุรกิจวัคซีนในอนาคตก็ตาม

AstraZeneca มียอดขายวัคซีนในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากไตรมาสแรกของปี 2564 เป็น 894 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอันดับ 1 ต่างจาก คู่แข่งอย่าง Pfizer ที่ต้นทุนการผลิตวัคซีนยังคงมีผลกระทบต่อกำไรโดยรวม

ด้าน BioNTech ผู้พัฒนาวัคซีนแบบ mRNA ต้าน Covid-19 ร่วมกับ Pfizer เตรียมต่อยอดพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคมาลาเรียด้วยนวัตกรรมเดียวกัน ตั้งเป้าเริ่มการทดลองทางคลินิกภายในปี 2565 

นอกจากนี้ BioNTech ยังวางแผนที่จะเริ่มการทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบวัคซีนวัณโรคในปีหน้า และกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ 9 ชนิดและมะเร็ง โดยจะใช้นวัตกรรม mRNA ทั้งหมด

โรคระบาด Covid-19 ก่อให้เกิดการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก และได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่ามีประสิทธิภาพดีในการป้องกัน Covid-19

การพัฒนาวัคซีน mRNA สำหรับโรคอื่นๆ จะตามมาอย่างแน่นอน สำหรับมาลาเรีย มี Mosquirix วัคซีนมาลาเรียที่ได้รับใบอนุญาตรายแรกและรายเดียวของโลก ได้รับการพัฒนาแบบ Protein-based แต่มีประสิทธิภาพเพียง 30% เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้เวลามานานหลายทศวรรษเพื่อพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียที่แพร่เชื้อสู่คนหลายล้านคนทุกปี และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 400,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทารกและเด็กเล็กในทวีปแอฟริกา

ดังนั้นการทดลองวัคซีนครั้งนี้ BioNTech เลือกสำรวจพื้นที่แอฟริกา รวมทั้งวางแผนการผลิตในทวีปนี้ด้วย 

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า อนาคตวัคซีน Covid-19 ของ AstraZeneca และวัคซีน mRNA ของ BioNTech จะเป็นอย่างไร แต่เราจะเห็นภาพใหญ่ชัดเจนว่า หุ้นบริษัทยา เครื่องมือทางแพทย์ และวัคซีนกำลังเป็นโอกาสลงทุนที่น่าสนใจมากๆ

เพราะผู้คนทั่วโลกยังคงต้องการระบบสาธารณสุขที่ดี ยารักษาโรคคือปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต เราไม่สามารถตัดขาดความต้องการบริการทางการแพทย์ได้เลย ยิ่งสถานการณ์ Covid-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ เพื่อยับยั้งการระบาด

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจบริการสุขภาพ จึงมีศักยภาพเติบโตทั้งในแง่ราคาหุ้นและผลประกอบการในอนาคต หากประสบความสำเร็จในการคิดค้นยาหรือวัคซีน รวมไปถึงเทคโนโลยีรักษาโรคจากการวิเคราะห์ระบบพันธุกรรมมนุษย์อย่างจีโนมิกส์

ล่าสุด Pfizer และ Moderna ได้ตัดสินใจขึ้นราคาวัคซีน Covid-19 ในสัญญาซื้อขายและส่งมอบฉบับล่าสุดที่ทำกับสหภาพยุโรป (EU) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สะท้อนความต้องการวัคซีน mRNA จากทุกมุมโลก

ราคาใหม่ของวัคซีนของ Pfizer จะอยู่ที่ 19.50 ยูโร ประมาณ 762 บาทต่อ 1 โดส นับว่ามีราคาแพงขึ้นถึง 25% ส่วน Moderna จะจำหน่ายในราคา 25.50 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 840 บาทต่อ 1 โดส ปรับสูงขึ้น 10% จากราคาเดิม

นี่คือ 10 บริษัทยาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งกองทุนส่วนบุคคล Thematic ธีมสุขภาพ (Healthcare) และจีโนมิกส์ (Genomics) ของ Jitta Wealth ลงทุนอยู่ด้วย


Jitta Wealth

หุ้น ​Covid-19 ตัวไหนปัง พร้อมชี้เป้า ETF ลงทุนรับดีมานด์ทั่วโลก

เมื่อไวรัสตัวร้ายมาพร้อมกันหลายสายพันธุ์ วัคซีน Covid-19 ประสิทธิภาพดีๆ กำลังเป็นที่ต้องการ มาส่องหุ้นวัคซีนที่ปังกับหุ้นชุดตรวจ Covid-19 ที่น่าสนใจ พร้อมชี้เป้า ETF ที่เป็นโอกาสลงทุนของคุณ

อ่านต่อ


สรุปสถานการณ์การลงทุนทั่วโลก

📌 แอปพลิเคชันจ่ายเงิน Square ของ Twitter ทุ่มทุน 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อบริษัทฟินเทคสัญชาติออสเตรเลีย Afterpay ที่มีจุดเด่น คือ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง วางเป้าครองตลาดระบบชำระเงินดิจิทัลทั่วโลก

ดีลซื้อกิจการระหว่าง Square และ Afterpay จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 โดย Square มีแผนจะรวมแพลตฟอร์ม Afterpay กับแอปพลิเคชันเดิมที่ให้บริการอยู่อย่าง Cash App

จุดเด่นแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ทำให้ Afterpay เข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z และให้บริการในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีมากกว่า 100,000 ร้านค้า และผู้ใช้งาน 16 ล้านคนทั่วโลก

📌 บริษัทหลักทรัพย์และนักวิเคราะห์มั่นใจตลาดหุ้นเวียดนามยังเติบโตได้ในระยะยาว แม้ว่าดัชนี VNI จะคงอยู่ในช่วงขาลงจากจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ 1,420 จุด ประเมินว่า เป็นความผันผวนระยะสั้นเท่านั้น 

ดัชนี VNI เพิ่มขึ้น 28% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กลายเป็นดัชนีตลาดหุ้นที่มีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 2 ของโลก เกิดจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 23-25 ล้านล้านดงในช่วงเวลาทำการ

ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความน่าสนใจ เพราะการลงทุนอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ การลงทุนพันธบัตรที่เข้มงวด และการลงทุนทองคำที่ซบเซา ทำให้นักลงทุนในประเทศหันมาเปิดบัญชีกว่า 621,000 บัญชีในครึ่งปีแรก 

📌 สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ของสหรัฐฯ มั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่กลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ แม้มีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา

นายแพทย์ Anthony Fauci ผู้อำนวยการ NIAID มั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ให้กับประชาชนกลุ่มใหญ่ แม้ว่ายังไม่มากพอที่จะเอาชนะการแพร่ระบาด แต่จะไม่ทำให้สหรัฐฯ ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหมือนกับปีที่แล้ว

ล่าสุดรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ขอให้รัฐบาลท้องถิ่นเสนอเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งเงินดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรจากกองทุนบรรเทาโรคระบาด 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ American Rescue Plan

📌 Global X ผู้ออกกอง ETF (Exchange Traded Fund) บอกว่า Thematic ETF มีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึง 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตแรงจากมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อน Covid-19 ระบาด 

Thematic ETF ที่เรารู้จักคือ ธีมการลงทุน เป็น ETF ที่รวบรวมหุ้นที่เกี่ยวข้องแบ่งตามประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่กำลังเป็นเทรนด์ หรือคาดว่าจะเป็นเมกะเทรนด์ในระยะยาว 

ดังนั้น Thematic ETF จึงเป็นได้ทั้ง Passive Fund ลงทุนให้ผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง หรือ Active Fund ผู้จัดการกองทุนจะปรับพอร์ตบ่อยๆ เพื่อให้ผลตอบแทนโตกว่าดัชนี

แต่อีกมุมหนึ่ง Thematic ETF ยังมีความเสี่ยง เนื่องจากลงทุนรายอุตสาหกรรม แม้ว่าจะลงทุนในหุ้นประเภทเดียวหลายสิบหลายร้อยบริษัทก็ตาม จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาจัดพอร์ตอย่างรอบคอบ


ช่วงนี้ดัชนีตลาดหุ้นจีนและเวียดนามเป็นขาลง แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวสารที่เกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของดัชนี บวกลบประมาณ 10-20% ยังไม่จัดว่าเป็นวิกฤต เป็นความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงที่แต่ละบริษัทกำลังรายงานผลประกอบการ ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวจาก Covid-19 และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ช่วงนี้ 3 ดัชนีอย่าง DJIA Nasdaq และ S&P500 มีทิศทางที่ดี

อย่าลืมว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสเป็นขาขึ้นและขาลงได้ทุกเมื่อ สิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณา คือ มั่นใจในสินทรัพย์และรู้จักสินทรัพย์นั้นดีหรือยัง ถ้าใช่…ไม่มีอะไรต้องกังวล 

แล้วพบกันสัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – Tech Education ห้ามเข้าตลาดหุ้นจีน

Jitta Wealth Journal – บิ๊กเทคจีนจับมือเอาตัวรอด

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด