Jitta Wealth Journal - มติ Fed ชี้ชะตาตลาดหุ้นทั่วโลก

15 มิถุนายน 2564Jitta WealthJitta Wealth Journal

3 ปัจจัยที่ดัชนี VNI ปิดลบ

Jitta Wealth Journal ฉบับที่ 29 ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2564 มีประเด็นข่าวสาร ที่ทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมจากสถานการณ์การลงทุนทั่วโลก ดังนี้

  • จับตาผลประชุม Fed ดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่
  • ดัชนี VNI ย่อตัว แต่ยังยืนเหนือ 1,300 จุด
  • ผู้นำ G7 เห็นชอบภาษีนิติบุคคลอย่างน้อย 15% ทั่วโลก
  • ธนาคารโลกคาด GDP โลกปี 2564 โต 5.6%
  • สหรัฐฯ อนุมัติ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหนุนผลิต Semiconductor 
  • สหภาพยุโรป (EU) หวังฟื้นภาคการท่องเที่ยวได้ถึง 70% 
  • Didi บริษัทรถเช่าออนไลน์ของจีนเตรียม IPO ใน NYSE ปีนี้
  • BlackRock ได้ใบอนุญาตกองทุนรวมในจีนเป็นรายแรก
  • หอการค้าเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. ดิ่งต่ำสุด

ไปติดตามกันได้เลย


2 ธีมใหม่ของ Jitta Wealth Thematic พร้อมให้คุณลงทุนแล้ววันนี้

Jitta Wealth

ธีมจีโนมิกส์ (Genomics) ธุรกิจที่จะมาพลิกโฉมวงการสุขภาพทั่วโลก ลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ด้วยการวินิจฉัยโรคลึกไปถึง DNA

ลงทุนใน iShares Genomics Immunology and Healthcare ETF อิงผลตอบแทนตาม 2 ดัชนี คือ NYSE Factset Global Genomics และ Immuno Biopharma Index 

ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 42.61% 

ทำความรู้จัก ETF จีโนมิกส์

Jitta Wealth

ธีมพลังงานสะอาดจีน (China Clean Energy) ธุรกิจที่จะมาเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานทั่วโลก ลดการใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว 

ลงทุนใน KraneShares MSCI China Clean Technology Index ETF อิงผลตอบแทนตาม ดัชนี MSCI China IMI Environment 10/40 Index 

ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 127.77%

ทำความรู้จัก ETF พลังงานสะอาดจีน


จับตาผลประชุม Fed ดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่

การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาว่า มติหลังประชุมจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 0-0.25% หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะฟื้นตัว เงินเฟ้อพุ่ง รัฐบาลเตรียมลงทุนครั้งใหญ่ 

สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานภาวะเงินเฟ้อเดือน พ.ค. พุ่งขึ้น 5% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี 10 เดือน เทียบเดือนต่อเดือน ก็ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือน เม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน) ในเดือน พ.ค. พุ่งขึ้น 3.8% สูงสุดในรอบ 29 ปี

นอกจากนี้ Janet Yellen รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากสหรัฐฯ ใช้นโยบายการเงินตึงตัวมานานกว่าทศวรรษ ส่วนแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลยังจำเป็นต้องเดินหน้า

จากสถานการณ์ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด ดูเหมือนนักลงทุนจะไม่สนใจการประชุมนโยบายการเงินของ Fed เพราะสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตอนนี้ ถูกประเมินว่า เป็นขาขึ้น แต่ยังไม่ร้อนแรงจนกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ 

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ชะลอตัวหรือโตช้าเกินไป จนดูเหมือนเป็นภาวะถดถอย นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Goldilocks Economy

เพราะนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า Fed ยังมีกระสุนอื่นๆ เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อเร่งตัว เช่น การลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตร จากปัจจุบันที่ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวอาจจะอยู่ไม่นาน คงไม่มีผลทำให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามที่เคยประกาศไว้ว่า จะคงอัตราเดิมไว้จนถึงปี 2566

แม้ว่า ทุกครั้งที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะเป็นแรงกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นลดลง แต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

เพจ BottomLiner – บทสรุปการลงทุน ได้ฉายภาพความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้น 4 ประเทศย้อนหลัง ได้แก่ S&P 500 (สหรัฐฯ) CSI 300 (จีน) SET (ไทย) และ VNI (เวียดนาม) หลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ย

แน่นอนว่า ดัชนีแต่ละประเทศจะเคลื่อนไหวตอบสนองไม่ต่างกันนัก แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนด้านอื่นๆ ของแต่ละประเทศด้วย

หลังจากวิกฤตซับไพรม์ช่วงปลายปี 2551 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0-0.25% จน Fed มาปรับขึ้นช่วงปลายปี 2558 และขึ้นมาโดยตลอด สูงสุดอยู่ที่ 2.25-2.5% ช่วงปลายปี 2561 ก่อนจะปรับลดลงเหลือเท่าช่วงซับไพรม์ ตอนเกิดวิกฤต Covid-19

แต่ดัชนี S&P 500 ก็ยังทะยานขึ้นได้ แม้จะลดลงไปช่วงสั้นๆ ตอนปลายปี 2558 การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2559-2561 ยังทำให้ดัชนี S&P 500 เป็นขาขึ้นอยู่ พอ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย หรือช่วง Covid-19 ก็ไม่ได้ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นมากนัก

มติการประชุมนโยบายการเงินของ Fed ยังเป็นประเด็นสำคัญ เพียงแต่ว่า การปรับขึ้นหรือลงในแต่ละรอบ ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็ตอบสนองแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

แต่สิ่งที่วัดมาแล้วทางสถิติ คือ การลงทุนในตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ดัชนี S&P 500 มีการพิสูจน์มาแล้วว่า ให้ผลตอบแทนบวก 8-10% ต่อปี


Jitta Wealth

ฟีเจอร์ใหม่บนแอปพลิเคชัน Jitta Wealth

แอปพลิเคชัน เวอร์ชัน 3.6.0 ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ตามคำเรียกร้อง เพื่อให้คุณใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น เปลี่ยนรหัสผ่าน ตั้งชื่อพอร์ตลงทุน และลบพอร์ตลงทุนด้วยตัวเอง

ดูรายละเอียด 


ดัชนี VNI ย่อตัว แต่ยังยืนเหนือ 1,300 จุด

นักลงทุนที่สนใจตลาดหุ้นเวียดนามหลายคน คงเกาะติดความเคลื่อนไหวของดัชนี  VNI เลยว่า ทำนิวไฮใกล้ๆ กันแบบนี้ จะย่อตัวบ้างหรือยัง หรือจะไปทดสอบแนวต้านใหม่ 

หากลองไปดูสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ยืนเหนือ 1,200 จุดมาตั้งแต่ 1 เม.ย. ตลอดระยะเวลา 75 วัน ดัชนีมีวันที่ย่อตัวบ้าง แต่ปิดบวกมากกว่าลบ หากจะโฟกัสแค่ความเคลื่อนไหวของดัชนีเพียงแค่ 2-3 เดือน ก็ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

คำนวณย้อนหลังนานขึ้นอีกนิด ดัชนี VNI ปรับตัวขึ้นมาจากปลายปี 2563 ราวๆ 24% แล้ว จัดว่าเป็นภาวะขาขึ้นที่ปกติ และมีปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจของเวียดนามมาดันให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นได้

Vietnam Value Investor ได้สรุปว่า บางช่วงที่ดัชนี VNI ปิดลบ เป็นความเสี่ยงขาลงที่เกิดขึ้นได้ มีมาตั้งแต่การปรับฐานช่วงต้นปี 2564 สาเหตุที่นักลงทุนควรรู้ ได้แก่

  1. ดัชนีขึ้นมามาก มีแรงขายทำกำไร กลุ่มคนที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นเวียดนาม คือ นักลงทุนรายย่อย หลายคนใช้วิธีการดูกราฟเทคนิค และให้ความสำคัญกับการรักษากำไร
  2. บัญชีมาร์จินจากโบรกเกอร์จำนวนมาก เป็นการให้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ สำหรับสายเทรดเดอร์ระยะสั้น เวียดนามมีบัญชีมาร์จินค่อนข้างเต็ม มี Margin Call อยู่เนืองๆ ดังนั้นจะเกิดแรงเทขายเป็นบางช่วง 
  3. ระบบซื้อขายหุ้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายมหาศาล ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์แจ้งว่า ไม่สามารถยกเลิกและแก้ไขคำสั่งซื้อขายที่ส่งเข้ามาได้ 

ดังนั้นดัชนีปรับฐาน ปิดลบในบางวัน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นักลงทุนอย่างเราๆ เดาทางตลาดผิดมากกว่าถูกอยู่แล้ว สิ่งที่ควรกลับมาทบทวนเสมอ คือ แนวทางการลงทุนของแต่ละคน 

Jitta Wealth ได้พูดถึง 3 Winning Strategy เสมอ ได้แก่ เลือกสินทรัพย์ที่ดี มีโอกาสเติบโต จัดพอร์ตลงทุนกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนอย่างเหมาะสม และลงทุนอย่างสม่ำเสมอ รักษาวินัยการลงทุน 

สำหรับตลาดหุ้นเวียดนามแล้ว ศักยภาพที่ดันการเติบโต คือ ปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจเติบโต ดอกเบี้ยต่ำ ดุลการค้าแข็งแกร่ง นักลงทุนรายย่อยมหาศาล โบรกเกอร์ระดมทุนได้สูง ที่สำคัญคือ กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตดี 

ตลาดหุ้นเวียดนาม เกิด Mass Participation จากนักลงทุนรายย่อย แรงเทขายยังมี แต่ในระยะยาว เทรนด์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing – VI) จากนักลงทุนรายย่อยก็ต้องมา เวลานั้น…เวียดนามจะมีทั้งหุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโต


Jitta Wealth

ผ่าพอร์ต Jitta Ranking เวียดนาม ของผู้บริหาร Pantip โต 101%

คุณอภิศิลป์ (บอย) เริ่มลงทุนมาได้ 3 ปี พอร์ตลงทุนหุ้นเวียดนามผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ โดยเฉพาะช่วงวิกฤต ​Covid-19 คุณบอยมีมุมมองต่อเวียดนามอย่างไร ดัชนีขึ้นลงมีผลต่อการลงทุนหรือไม่ มาลองศึกษาวิธีคิดสไตล์นักลงทุน VI กัน

อ่านต่อ


หุ้นเวียดนาม…ดาวรุ่งพุ่งแรง

วันเสาร์ที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา คุณตราวุทธิ์ได้มีโอกาส Live กับคุณสุทธิชัย หยุ่น เกี่ยวกับศักยภาพของตลาดหุ้นเวียดนาม ที่มีเส้นทางการเติบโตคล้ายคลึงกับตลาดหุ้นไทยในอดีต ศักยภาพของบริษัทเวียดนามตอนนี้ ยังทำนิวไฮได้อีก

ดูวิดีโอย้อนหลัง


สรุปสถานการณ์การลงทุนทั่วโลก

📌 ผู้นำ G7 บรรลุข้อตกลงเก็บภาษีนิติบุคคลอย่างน้อย 15% ทั่วโลก รวมไปถึงข้อตกลงกฎหมายภาษีระหว่างประเทศใหม่และยกเลิกภาษีดิจิทัลทั้งหมด

กลุ่ม G7 ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น เห็นว่าข้อตกลงนี้จะช่วยรัฐบาลลดหนี้สาธารณะที่เกิดจากวิกฤต Covid-19 

โดย Janet Yellen รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ระบุว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการย้ายเข้าไปทำธุรกิจในประเทศที่ภาษีต่ำกว่า และช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว รวมถึงการแข่งขันทางการค้าที่เท่าเทียม

ถึงจะเป็นข้อตกลงที่ผ่านไปด้วยดี แต่นักวิเคราะห์หลายคนกลับมองว่า เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น เพราะรัฐบาลประเทศอื่นๆ ยังสามารถใช้ข้อได้เปรียบภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่า เพื่อดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ไปลงทุนในประเทศของตน

📌 ธนาคารโลกเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกปี 2564 จากเดิมโต 4.1% (มุมมองเดือน ม.ค.) เป็นโต 5.6% ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ  จะขยายตัวมากที่สุดในรอบ 37 ปี ที่ 6.8% ในปี 2564 จากที่คาดการณ์เดิมไว้ที่ 3.5%

ส่วนเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกคาดว่า จะโต 4.4% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2564 มีการดีดตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 80 ปี นับจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา จะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป โดยจะยังได้รับผลกระทบของ Covid-19 อยู่ เนื่องจากปัญหาการเข้าถึงวัคซีน

📌 สภาสหรัฐฯ อนุมัติเงินสนับสนุนอุตสาหกรรม Semiconductor มูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่โรงงานผลิตใหม่ทั้งหมดต้องอยู่ในสหรัฐฯ เท่านั้น

นี่ถือเป็นวาระพิเศษในการรับมือกับบริษัทในจีนที่กำลังเติบโตอย่างเร็วผ่านเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีน บริษัทผลิตชิปและ Semiconductor ส่วนใหญ่มีฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียทั้งนั้น

มติสภาสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing และ Samsung ต่างก็ประกาศว่าสนใจลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานใหม่ ป้อนชิ้นส่วนให้ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 

การขยายกำลังการผลิตในสหรัฐฯ จะมีผลดีต่อหุ้นกลุ่ม Semiconductor และ 5G ในอนาคต

📌 หลายประเทศในสหภาพยุโรป (EU) คาดว่า การท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก หลังจาก EU รับรอง EU Travel Pass ในการเดินทางระหว่าง 27 ประเทศ นับเป็นข่าวดี สำหรับการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทวีปยุโรป

อย่างสเปนที่หวังว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศจะฟื้นตัวกลับมาได้ 70% จากช่วงก่อน Covid-19 ส่วนอิตาลียอดจองโรงแรมและสายการบินเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

📌 Didi Chuxing บริษัทรถเช่าออนไลน์ของจีนเตรียม IPO ใน NYSE ภายในปี 2564 คาดระดมทุน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ Xiaoju Kuaizhi

แต่ประเมินกันว่า มูลค่า IPO อาจโดดสูงสุดถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นดีล IPO ที่มูลค่าสูงสุดในโลกของปี 2564 

Didi Chuxing มีบริษัท Goldman Sachs บริษัท Morgan Stanley และบริษัท JP Morgan เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ดีล IPO ครั้งนี้ 

โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ กองทุน Vision Fund ของ SoftBank ที่ถือหุ้นสัดส่วน 21.5% และสัดส่วนอีก 41% ถือครองโดย Tencent Holdings และ Uber Technologies

📌 BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทแรกให้ทำธุรกิจจัดการลงทุนในจีน ถือเป็นสัญญาณว่า จีนพร้อมเปิดตลาดการเงินสู่ระดับโลก

จีนได้ยกเลิกกฎระเบียบการถือครองหุ้นของต่างชาติในธุรกิจกองทุนรวมและหลักทรัพย์ ปี 2563 ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทจัดการลงทุนอีกมากมาย ได้ยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจในจีน เช่น บริษัท Neuberger Berman บริษัท Schroders และบริษัท Fidelity International 

ตลาดกองทุนรวมในจีน เติบโตถึง 3 เท่าในรอบทศวรรษ อยู่ที่ 60 ล้านล้านหยวน หรือ 8.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

📌 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไทย เดือน พ.ค. ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 จาก 46 เดือน เม.ย. ต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน

สาเหตุมาจากผู้บริโภคเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว พร้อมกับผลกระทบของ Covid-19 รอบ 3 การฉีดวัคซีนที่ช้ากว่ากำหนด และเสถียรภาพทางการเมืองที่มีน้อยลง

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวได้เพียง 2% เนื่องจากผู้บริโภคจะยังระมัดระวังการจับจ่าย และไม่มั่นใจในรายได้อนาคต


ไม่ว่า Fed จะมีมติอะไรออกมา เป็นสิ่งที่นักลงทุนอย่างเราคาดการณ์ได้ยาก พอๆ กับข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะกระทบหรือไม่กระทบพอร์ตลงทุนเลยก็ได้

อยู่ที่ว่า คุณมีมุมมองต่อการลงทุนในช่วงเวลานี้อย่างไร มีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนมากน้อยแค่ไหน 

หากเป็นการลงทุนระยะยาวแล้วนั้น ข่าวสารที่ไหลเวียนเข้ามาตลอดนั้น ไม่น่ากลัวเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก 


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – บทเรียนในช่วงที่หุ้นเวียดนามขาขึ้น

Jitta Wealth Journal – วิธีรับมือดัชนี VNI ทะลุ 1,300 จุด

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด