ทุกเรื่อง ‘ต้องรู้’ ก่อนลงทุนธุรกิจ Cloud Computing

14 มกราคม 2564INVESTING KNOWLEDGE

คุณอาจจะเห็นจากการจัดอันดับกองทุนและ ETF ขึ้นแรงของปี 2563 แล้วว่า WisdomTree Cloud Computing Fund (WCLD) ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่ลงทุนธุรกิจ Cloud Computing ชนะกองทุนอื่นๆ ขาดลอยด้วยผลตอบแทน +119.18% (นับถึงวันที่ 25 ธ.ค.)

เห็นกำไรขนาดนี้ ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ธุรกิจคลาวด์เติบโตจริง หรือแค่เป็นกระแส เดี๋ยวสักพักคนเลิกเห่อ ก็หมดแรงไต่ จะพาเอานักลงทุนติดดอยกันหมดหรือเปล่า

เพราะหลายคนถามมา เราจะพาคุณไปหาคำตอบ โดยทำความรู้จักกับธุรกิจ Cloud Computing ในทุกมิติ และฉายภาพให้เห็นกันชัดๆ ว่า ทำไม Cloud Computing จึงเป็นเมกะเทรนด์ที่จะช่วยให้คุณลงทุนได้ผลตอบแทนดีในระยะยาว

ทำความรู้จัก Cloud Computing

คุณอาจจะยังจำได้ วันหนึ่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา…

คุณกำลังจะส่งอีเมลสำคัญที่นั่งพิมพ์อยู่นาน อ่านทวนแล้วทวนอีก จนแน่ใจแล้วว่าทุกอย่างโอเค จึงกลั้นใจกดส่ง

แต่ Gmail เจ้ากรรมกลับขึ้นหน้าต่างเล็กๆ มาบอกคุณว่า Reconnecting…

คุณลองกดส่งใหม่อีกรอบ แต่ก็ได้ Error แบบเดิม

และระบบยังคง Reconnecting อยู่แบบนั้นเป็นเวลา 45 นาที

เพราะ Google ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มอย่าง YouTube Drive และ Gmail ล่มทั่วโลก ไม่สามารถใช้งานชั่วคราว (1)

มันคือ 45 นาที ที่เหมือนชั่วกัปชั่วกัลป์ คนทั่วโลกทำงานไม่ได้ ไปไม่เป็น…

นี่คืออิทธิพลของการใช้งาน Cloud Computing ที่แทรกซึมอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้คนทั่วโลก

คุณใช้สมาร์ตโฟนถ่ายรูป ระบบปฏิบัติการในโทรศัพท์จะมีแพลตฟอร์มสำรองไฟล์รูปไว้ให้ หากคุณทำโทรศัพท์หาย รูปถ่ายก็สามารถกู้กลับมาได้ ผ่านแพลตฟอร์มที่เก็บไฟล์รูปไว้นั่นเอง

เหมือน Cloud เป็นก้อนเมฆก้อนหนึ่ง ที่คุณเอาข้อมูลต่างๆ เข้าไปเก็บไว้ คุณสามารถค้นหาหรือดึงออกมาใช้เมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวหรือใกล้กับก้อนเมฆนั้น ขอเพียงคุณเข้าอินเทอร์เน็ตได้ คุณก็เข้าถึงข้อมูลในก้อนเมฆนั้นได้แล้ว

ในยุคข้อมูลมหาศาลไหลเวียนอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จนเกิดคำว่า ‘Big Data’ บริษัททั่วโลกจึงเลือกลงทุนระบบคลาวด์ มาจัดการข้อมูลต่างๆ ในองค์กรให้สามารถเรียกมาใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

แต่บทบาทของ Cloud Computing มีมากกว่าแค่การจัดเก็บข้อมูล 

คำจำกัดความของ Cloud Computing คือ เทคโนโลยีที่ให้เช่าหรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ การใช้งานจะมีทั้งการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ที่เกี่ยวข้อง

หมายความว่า แค่ใช้บริการ Cloud Computing องค์กรต่างๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาตั้งให้วุ่นวายอีกต่อไป เพราะ Cloud สามารถจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้ในราคาที่ถูกกว่า แถมคุณยังเพิ่มหรือลดกำลังการประมวลผล และทรัพยากรต่างๆ ได้ตามความจำเป็น (2)

ผู้ให้บริการเทคโนโลยี Cloud Computing สามารถออกรูปแบบบริการได้หลากหลาย คนใช้ก็เลือกใช้ได้ตามความต้องการ ใช้เท่าไร จ่ายเท่านั้น

นี่คือความง่ายและยืดหยุ่นของเทคโนโลยี Cloud Computing เดี๋ยวนี้ บริษัททั้งเล็กและใหญ่ จึงเริ่มลงทุนนำระบบคลาวด์เข้ามาใช้งานในองค์กร เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ในระยะยาว

cloud-02 (1).png

Public Cloud

ระบบคลาวด์ที่ทุกคนสามารถเข้าใช้งานได้ โดยผู้ให้บริการ Cloud Computing จะเป็นคนตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ขึ้นมา แล้วให้ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือองค์กรเข้าไปเช่าใช้บริการ อาจจะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปี

ข้อดีของ Public Cloud คือ ค่าใช้จ่ายไม่สูง ไม่ต้องลงทุนตั้ง Data Center เป็นของตัวเอง แต่ข้อเสียคือ ปัญหาด้านการตรวจสอบภายใน ด้านระบบไอที เพราะอาจจะไม่สามารถเก็บข้อมูลไว้นอกองค์กรได้

Private Cloud

ระบบคลาวด์ส่วนตัว ผู้ใช้งานจะเป็นองค์กร เพราะต้องลงทุนจัดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ขึ้นมาเอง มี Data Center เป็นของตัวเอง เพื่อให้บุคลากรในองค์กรสามารถใช้งานได้เท่านั้น

ข้อดีของ Private Cloud คือ มีความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลสูงมาก แต่ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูง เพราะลงทุนเองทั้งหมด รวมทั้งมีต้นทุนการดูแลระบบคลาวด์ด้วย นอกจากนี้ระบบคลาวด์ส่วนตัวจะไม่สามารถขยายระบบได้ทันท่วงที กรณีมีปริมาณการใช้งานสูง  

Hybrid Cloud

ระบบคลาวด์แบบผสมระหว่าง Public และ Private Cloud เช่น การเก็บข้อมูลภายในองค์กร ใช้ Private Cloud เมื่อต้องการขยายระบบในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูง ก็นำเอา Public Cloud มาช่วยในการประมวลผล 

ข้อดีของ Hybrid Cloud คือ มีความยืดหยุ่นสูง ในการใช้งาน ในทางกลับกัน ก็ยังมีข้อเสีย คือ มีความยุ่งยากในการจัดการ เพราะคุณสมบัติของ Public และ Private Cloud แตกต่างกันมาก ต้องมีวิศวกรมาดูแลระบบคลาวด์อยู่เสมอ ปรับปรุงและทดสอบบ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดความเสถียรอยู่ตลอดเวลา

cloud-03 (1).png

เรายกตัวอย่าง On-premise System มาฉายภาพให้คุณได้เห็นความแตกต่างว่า ทำไมเทคโนโลยี Cloud Computing ถึงมีบทบาทมาก ทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในองค์กร

On-premise System คือระบบที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง โครงสร้างไอทีจะอยู่ในองค์กร นั่นหมายความว่า การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การปรับปรุงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ องค์กรที่เป็นเจ้าของต้องทำด้วยตัวเอง รวมทั้งบริหารทีมงานไอทีและดูแลระบบควบคุมอากาศกับไฟฟ้าเองด้วย ดังนั้นเจ้าของระบบจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบเป็น Fixed Cost ในแต่ละปี

เมื่อเทคโนโลยี Cloud Computing มีบทบาทมากขึ้น มีผู้ให้บริการหลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการของลูกค้าบุคคลและองค์กร จึงสามารถแบ่งบริการของ Cloud Computing ได้ 3 แบบ คือ

Software as a Service (SaaS)

บริการคลาวด์ผ่านการใช้งานบนซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน โดยผู้ให้บริการจะดูแลระบบหลังบ้านให้ทั้งหมด ดังนั้น SaaS จะถูกเรียกใช้งานที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ผู้ใช้งานไม่ต้องลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเอง  

ยกตัวอย่าง SaaS ที่เรารู้จักมักคุ้นกันดี เช่น Google Apps ที่มาในรูปแบบการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านเว็บไซต์ หรือ Web-based Email Service เช่น Hotmail Yahoo Gmail Facebook หรือ Twitter

นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลอย่าง Dropbox หรือ OneDrive ซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้าสัมพันธ์อย่าง Salesforce ZenDesk และ Hubspot รวมไปถึงซอฟต์แวร์สนทนาในองค์กรอย่าง Slack

เอาเข้าจริง SaaS มีผู้ให้บริการมากมายทั่วโลก ตลาดเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเภทบริการ Cloud Computing และมีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย เข้าถึงความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

Platform as a Service (PaaS)

บริการคลาวด์ผ่านการใช้งานแพลตฟอร์ม สำหรับนักพัฒนาระบบ หรือ Developer ที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน ผู้ให้บริการ PaaS ดูแลระบบหลังบ้านให้ ส่วนใหญ่เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้ Developer สามารถนำไปต่อยอดได้เลย 

บริการ PaaS จะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร

ยกตัวอย่าง PaaS เช่น Google App Engine และ Microsoft Azure แพลตฟอร์มที่สามารถนำมาพัฒนาแอปพลิเคชัน อย่างบริการของ Amazon Web Services (AWS) เช่น Elastic Beanstalk ก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน 

นอกจากนี้ยังมี OpenShift Heroku Apache Stratos และ Magento (3)

Infrastructure as a Service (IaaS)

บริการคลาวด์ที่ครอบคลุมเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของไอที ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ที่ผู้ให้บริการจะดูแลให้ โดยที่ผู้ใช้บริการ IaaS ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง ดังนั้น IaaS จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบได้ ขณะที่องค์กรผู้ใช้บริการ IaaS สามารถเลือกใช้ระบบคลาวด์ได้อย่างเหมาะสม และขยายงานตามการเติบโตขององค์กร

ยกตัวอย่าง IaaS เช่น OpenLandscape ผู้ให้บริการ Cloud Server ไทย ถ้าในระดับโลกก็เป็นบริการของ AWS อย่าง EC2 หรือ Google Compute Engine

นอกจากนี้ยังมี ผู้ให้บริการ IaaS รายอื่นๆ เช่น Rackspace และ Digital Ocean

โอกาสของธุรกิจ Cloud Computing

cloud-04 (1).png

บริษัทวิจัย MarketsandMarkets คาดการณ์ว่า ตลาด Cloud Computing ทั่วโลกในปี 2563 จะอยู่ที่ 371,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะโตปีละ 17.5% 

ในปี 2568 มูลค่าตลาด Cloud Computing ทั่วโลกจะกลายเป็น 832,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเติบโตจะเกิดขึ้นในทุกบริการ ไม่ว่าจะเป็น IaaS PaaS และ SaaS รวมทั้งรูปแบบอย่าง Public Private และ Hybrid Cloud (4)

MarketsandMarkets มองว่า ความเป็นดิจิทัลกำลังเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในทุกกลุ่ม หรือที่เรียกกันว่า Digital Business Transformation 

บ้างจำกัดความไว้ว่า ภาคธุรกิจกำลังถูกชะงักงันด้วยการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งก็คือ Digital Disruption 

แน่นอน ธุรกิจต้องปรับตัวและลงทุนเพื่อเอาเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกิจ 

ส่วนคุณในฐานะผู้บริโภคเอง ก็ยังหนีไม่พ้น ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนกัน

ยิ่งมีการแพร่ระบาด Covid-19 ทำให้ทั่วโลกต้องล็อกดาวน์ เป็นตัวเร่งเกิดเทรนด์ใหม่ๆ อย่างการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การประชุมหรือการเรียนออนไลน์ การซื้อของออนไลน์ผ่านระบบ E-commerce การชำระเงินออนไลน์ (E-payment) การใช้ E-wallet และการใช้สื่อบันเทิงออนไลน์ผ่านระบบสตรีมมิง

ทั้งหมดนี้มีเทคโนโลยี Cloud Computing อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น

เรียกได้ว่า เทคโนโลยี Cloud Computing มีบทบาทสำคัญกับทุกกลุ่มผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน ผู้วางระบบไอที ผู้ให้บริการเทเลคอม พนักงานในองค์กร รวมไปถึงการใช้งานทั่วไปส่วนบุคคล

ข้อมูลจาก MarketsandMarkets บอกว่า ภูมิภาคอเมริกาเหนือยังคงเป็นตลาดใหญ่สำหรับปริมาณการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing เนื่องจากมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่พัฒนามาก และผู้ให้บริการระบบคลาวด์ส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาคนั้น 

แต่อีกฟากหนึ่ง คือ ตลาด Cloud Computing ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการรายใหม่ เพราะเป็นตลาดเกิดใหม่ที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและเทคโนโลยี รวมทั้งเทรนด์ Internet of Things จะผลักดันให้องค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหันมาลงทุนใช้งานเทคโนโลยี Cloud Computing มากขึ้น

เติบโตไปกับหุ้น Cloud Computing

คุณสงสัยไหมว่า ผู้นำด้านแพลตฟอร์มการจัดการลูกค้าสัมพันธ์อย่าง Salesforce เห็นอะไรในแพลตฟอร์มแชทสำหรับองค์กรอย่าง Slack ถึงได้ทุ่มเงินซื้อกิจการกว่า 27,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดูเผินๆ ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกันเลย

แต่ถ้ามองว่า ดีลซื้อ Slack จะทำให้ Salesforce ก้าวเข้าไปในสมรภูมิเดียวกับคู่แข่งระดับโลกอย่าง Microsoft ที่ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสารในองค์กรอย่าง Microsoft Teams ที่องค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลกเลือกใช้

เพราะผู้ให้บริการ Cloud Computing มองว่า Covid-19 ทำให้รูปแบบการทำงานในองค์กรเปลี่ยนไป ต่อไปพนักงานจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ดังนั้นแพลตฟอร์มสื่อสารในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสนทนา ประชุม หรือแชร์ไฟล์ จะมีบทบาทมากขึ้น บริษัทหรือองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องซื้อแพลตฟอร์มนี้ เพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ดีลซื้อ Slack ของ Salesforce นั้น จึงไม่ใช่ดีลที่สร้างความประหลาดใจให้เหล่ากูรูในแวดวงไอทีนัก 

Marc Benioff ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Salesforce บอกว่า นี่คือดีลที่เข้าคู่กันได้เหมาะสม เพราะทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะสร้างอนาคตของซอฟต์แวร์องค์กรและเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นดิจิตอลมากขึ้น และทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ (5)

หลังจากดีลนี้สมบูรณ์แล้วนั้น เชื่อว่า Salesforce เองก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มสื่อสารของ Slack ในการให้บริการลูกค้า 63,000 รายทั่วโลกได้ในอนาคต

นี่คือภาพรวมของ Cloud Computing ทั่วโลก ที่เราได้สรุปมาให้คุณได้รู้จักว่า แท้จริงแล้วระบบคลาวด์แฝงอยู่ในทุกพฤติกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน ล้วนพึ่งพาระบบคลาวด์ทั้งนั้น

คุณอาจจะได้เห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์คลาวด์ใหม่ รวมทั้งการซื้อกิจการ Cloud Computing ทั่วโลก ที่สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมนี้ยังไปได้อีกไกล

เพราะเมื่อ Covid-19 หมดไป คุณคงไม่เลิกใช้งาน Zoom ในการประชุมหรือเรียนออนไลน์ และคุณคงยังดูทีวีผ่าน Netflix เหมือนเดิม และอีกหลายๆ แอปพลิเคชันที่ปริมาณการใช้งานก็ไม่ได้ลดลงเลย

ถ้ามูลค่าตลาด Cloud Computing ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า และกำลังเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ระดับโลก คุณอยากจะใช้โอกาสทองนี้ ลงทุนในเทคโนโลยี Cloud Computing หรือไม่

Jitta Wealth นำเสนอกองทุนส่วนบุคคล Thematic ที่ให้คุณเลือกลงทุนใน WCLD เป็นกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นบริษัทที่ให้บริการระบบคลาวด์ทั่วโลก โดยให้ผลตอบแทนของกองทุนใกล้เคียงกับดัชนี BVP Nasdaq Emerging Cloud Index

95% ในพอร์ตกองทุน WCLD ลงทุนในหุ้นผู้ให้บริการคลาวด์ในสหรัฐอเมริกา เช่น Cloudflare Crowdstrike Holdings Blackline Workiva Domo และ Zendesk ที่เหลือเป็นออสเตรเลีย (Atlassian Corporation) แคนาดา (Shopify) และอิสราเอล (Wix.Com) (6)

Jitta Wealth Thematic ให้คุณเลือกลงทุนได้สูงสุด 5 ธีม จาก 12 ธีมที่ได้คัดเลือกมาแล้วว่า เป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว และเป็นตลาดหุ้นอนาคตไกล 

ตามที่เราได้บอกว่า สำหรับธีม Cloud Computing นั่น มีผลตอบแทนสูงสุด นับถึงวันที่ 25 ธ.ค. ดังนั้นคุณสามารถเลือกผสมกับธีมอื่นๆ อย่าง  E-commerce ที่มีผลตอบแทนสูงถึง 116.93% และยังมีธีมธุรกิจเติบโตสูงอื่นๆ เช่น ธีมเกมและ E-sport (+88.4%) ธีม FinTech (+54.55%) และธีมเทคโนโลยีจีน (+50.49%)

คุณสามารถเริ่มต้นลงทุนใน Jitta Wealth Thematic ด้วยเงินลงทุนเพียง 100,000 บาท และเพิ่มเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งละ 10,000 บาทเท่านั้น หากสนใจสร้างผลตอบแทนจากธุรกิจเมกะเทรนด์ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://jittawealth.com/thematic

อ้างอิง

  1. Google outage: YouTube, Docs and Gmail knocked offline https://www.bbc.com/news/technology-55299779
  2. Cloud Computing คือ อะไร เทคโนโลยีสุดล้ำที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโต https://blog.openlandscape.cloud/cloud-computing-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD/
  3. IaaS vs PaaS vs SaaS Enter the Ecommerce Vernacular: What You Need to Know, Examples & More https://www.bigcommerce.com/blog/saas-vs-paas-vs-iaas/
  4. Salesforce Buys Slack For $27.7 Billion https://wersm.com/salesforce-bought-slack-for-27-7-billion/

อ่าน Blog ที่เกี่ยวข้อง

หุ้นเทคโนโลยี New High ยังโตได้อีกแค่ไหน

หุ้น ‘สุขภาพ’ คือธุรกิจอะไร น่าลงทุนแค่ไหน

เมื่อ E-commerce เติบใหญ่ โอกาสลงทุนอยู่ไหนบ้าง?

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด