9 ‘Mindset การลงทุน’ ที่ต้องรู้…ก่อนล้างพอร์ต

2 มีนาคม 2565Global ETFJitta RankingJitta WealthThematic

ไฮไลต์

  • Mindset หรือกรอบความคิด ทรงพลังมากกว่าที่คุณคิด การพัฒนาตัวเอง จึงควรเริ่มมาจากการปรับเปลี่ยน Mindset ของตัวเอง เพื่อผลลัพธ์ที่ต่างออกไป 
  • คุณต้องเปลี่ยนจาก Fixed Mindset ที่เชื่อว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ ไปเป็น Growth Mindset ที่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาได้เสียก่อน 
  • ในโลกการลงทุนก็มีเรื่องพฤติกรรมและ Mindset ของนักลงทุน ที่ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญมากที่มีผลต่อความสำเร็จในการจัดพอร์ตลงทุน 
  • ปฏิกิริยานักลงทุนส่วนใหญ่ สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม เมื่อเผชิญความผันผวนหนักๆ หรือมองไม่เห็นความแน่นอนในโลกการลงทุน
  • คุณไม่สามารถห้ามอารมณ์ หรืออคติของคุณได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือ มี Mindset ที่ดีและถูกต้อง เพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติของการลงทุนได้ดีขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ในตลาดหุ้น คุณจะรู้และรับมือกับมันได้อย่างมีเหตุผลและมีสติ 
  • ในโลกของการลงทุน สามารถแบ่งอคติในการตัดสินใจลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความเข้าใจที่ผิดพลาด (Cognitive Errors) และ ความอคติด้านอารมณ์ (Emotional Biases)
  • Jitta Wealth ได้รวมรวมอคติมาได้ 9 ‘Mindset การลงทุน’ ที่เป็นเหมือนกับดักและสาเหตุที่ทำให้การลงทุนของคุณไม่บรรลุเป้าหมาย และวิธีรับมือปรับ Mindset เพื่อการลงทุนอย่างมีเหตุมีผล 
  • หลักการสำคัญคือ คุณไม่สามารถควบคุมตลาดได้ สิ่งที่คุณควบคุมได้ คือ การลงทุนอย่างมีหลักการและมีเหตุผลทุกครั้งในการซื้อขายสินทรัพย์ เข้าใจถึงพื้นฐานของธุรกิจที่คุณลงทุน จดบันทึกการลงทุน เพื่อการเรียนรู้ เข้าใจความเสี่ยงที่คุณรับได้ และกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนให้ดี 

หากใครเคยอ่านหนังสือฮาวทูหรือหนังสือเพื่อพัฒนาตัวเอง (Self Improvement) คงเคยเห็นประโยคที่ว่า ‘ชีวิตเปลี่ยน เริ่มต้นง่ายๆ จากความคิดของคุณเอง’ กันจนเคยชิน 

คุณคงตั้งคำถามว่า มันใช่หรือเปล่า มันง่ายขนาดนั้นเลยไหม

คำตอบคือ ไม่มีอะไรง่าย…แต่ทุกอย่างเริ่มได้จากความคิดจริงๆ 

Mindset หรือกรอบความคิดนั้นทรงพลังมากกว่าที่คุณคิด อย่างที่สำนวนไทยบอกไว้ว่า ‘จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ ความคิดและจิตใจของคุณคิดอย่างไร ร่างกายหรือการกระทำของคุณก็จะออกมาแบบนั้น 

แล้วคุณจะปรับเปลี่ยน Mindset ได้อย่างไร  

ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจก่อนว่า Mindset ของมนุษย์มี 2 ประเภท คือ Fixed Mindset และ Growth Mindset ตามการศึกษาของ Carol Dweck นักวิจัยจาก Stanford University สหรัฐอเมริกา 

Fixed Mindset คือ ความเชื่อที่ว่า ความสามารถต่างๆ ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว แม้จะพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

Growth Mindset คือ ความเชื่อที่ว่า คุณพัฒนาตัวเองได้ เรียนรู้และฝึกฝนได้ การกระทำที่เปลี่ยนไปจะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 

ก่อนที่คุณจะเปลี่ยน Mindset ให้ดีขึ้นได้ คุณต้องเปลี่ยนจาก Fixed Mindset ไปเป็น Growth Mindset เสียก่อน เปิดใจว่า คุณพัฒนาได้ ความคิดเปลี่ยน การกระทำเปลี่ยน และผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ในโลกการลงทุนก็มีการศึกษาเรื่องพฤติกรรมและ Mindset ของนักลงทุนเช่นกัน ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญมากที่มีผลต่อความสำเร็จในการจัดพอร์ตลงทุน 

ลองจินตนาการว่า เมื่อคุณเปิดพอร์ตลงทุน แล้วพอร์ตติดลบหนักๆ ความคิดและอารมณ์ มันจะถาโถมเข้ามา ‘จะขายหุ้นตัวนั้น หรือจะไปต่อ มันจะหลุดดอยหรือไม่ ต้องรอนานแค่ไหนถึงจะได้กำไรอีกครั้ง’ 

เมื่อวนไปเวียนมา ทันใดนั้น คุณก็เลือกที่จะกดขายขาดทุน ไม่ก็ล้างพอร์ตออกไป นี่คือ ปฏิกิริยานักลงทุนส่วนใหญ่ สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม เมื่อเผชิญความผันผวนหนักๆ หรือมองไม่เห็นความแน่นอนในโลกการลงทุน

คุณไม่สามารถห้ามอารมณ์ หรืออคติของคุณได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือ มี Mindset ที่ดีและถูกต้อง เพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติของการลงทุนได้ดีขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ในตลาดหุ้น คุณจะรู้และรับมือกับมันได้อย่างมีเหตุผลและมีสติ 

บทความนี้ Jitta Wealth จะพาคุณไปทำความเข้าใจกับพฤติกรรมการลงทุน มาร่วมหาคำตอบว่าคุณมีพฤติกรรมเข้าข่ายข้อไหนบ้าง แล้วคุณจะปรับ Mindset ได้อย่างไร เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนที่แท้จริงของคุณ 

อคติในโลกการลงทุน 

การลงทุนควรเริ่มจากเหตุไปหาผล เช่น คุณอยากลงทุนในบริษัทนี้ ต้องไม่ใช่เพราะ ณ เวลานั้น หุ้นให้ผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า อะไรคือ ‘เหตุ’ ที่ทำให้บริษัทนี้มีการเติบโต และการเติบโตนี้จะไปได้นานแค่ไหน การพิจารณาพื้นฐานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้นๆ หามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท จะทำให้คุณได้หุ้นที่ดี ราคาที่เหมาะสม และพอร์ตก็จะไม่ติดดอยให้ต้องรำคาญใจ 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นบริษัทหรือจับจังหวะการขายหลายๆ ครั้ง ล้วนเกิดจากอคติ (Bias) มาบดบังเหตุและผล 

ตัวอย่างของอคติ หรือจะเรียกว่า ความลำเอียงก็ได้ เช่น แม้คุณจะรู้ว่า บริษัทนี้น่าลงทุน มีพื้นฐานของธุรกิจที่ดี อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต แต่ในใจลึกๆ คุณกลับรู้สึก ไม่ชอบบริษัทหรืออุตสาหกรรมนี้ และเลือกที่จะไม่ลงทุน 

ในโลกของการลงทุน นักลงทุนจะมีอคติในด้านต่างๆ เรียกว่า Behavioral Finance Micro (BFMI) หรือพฤติกรรมการลงทุนในระดับบุคคล เป็นอคติในการตัดสินใจลงทุนที่ไม่ยึดตามหลักเหตุผล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความเข้าใจที่ผิดพลาด (Cognitive Errors) และ ความอคติด้านอารมณ์ (Emotional Biases)

ความเข้าใจที่ผิดพลาด (Cognitive Errors) คือ ความเข้าใจผิดในเรื่องของสถิติ กระบวนการในการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นๆ ทำให้นักลงทุนตัดสินใจนอกเหนือไปจากเหตุและผลที่แท้จริง 

ความลำเอียงด้านอารมณ์ (Emotional Biases) เกิดจากทัศนคติและความรู้สึก ซึ่งมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผล

ส่อง 9 Mindset การลงทุน พร้อมวิธีรับมือ 

Mindset การลงทุนก่อนล้างพอร์ต

Jitta Wealth รวมรวมอคติในการลงทุนมาได้ 9 ข้อ ที่เป็นเหมือนกับดักและสาเหตุที่ทำให้การลงทุนของคุณไม่บรรลุเป้าหมาย

มาทำความเข้าใจว่า แต่ละอคติเป็นอย่างไร ต้องปรับ ‘Mindset การลงทุน’ ไปในทิศทางไหน เพื่อจัดการกับอารมณ์และอคติที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  

Mindset ข้อที่ 1 คุณสามารถควบคุมตลาดหุ้นได้ (Illusion of Control Bias) 

เมื่อคุณคิดว่า สามารถควบคุมตลาดหุ้นได้ คุณมักซื้อขายหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ มากกว่าหรือบ่อยกว่าปกติ แน่นอนว่าในบางครั้งการซื้อขายบ่อยๆ นั้นอาจทำกำไรได้ แต่ผลตอบแทนมักจะน้อยกว่านักลงทุนที่เลือกลงทุนระยะยาว และซื้อขายสินทรัพย์ในระดับที่เหมาะสม 

อีกแง่หนึ่งคือ คุณมักเลือกลงทุนในบริษัทที่คุณคิดว่า ควบคุมได้และมีข้อมูลมากกว่า เพราะคุณคิดว่า คุณมีความได้เปรียบทางข้อมูล จนสามารถควบคุมผลลัพธ์ในการลงทุนในบริษัทนั้นๆ ได้ ทำให้คุณทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากเกินไปในกับบริษัทที่คุณคิดว่า ‘รู้จักดี ควบคุมได้’ 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ‘คุณไม่สามารถควบคุมตลาดหุ้นได้’ ดังนั้น วิธีรับมือ คือ

  • ความคิดแบบนี้ เป็นการเข้าข้างตัวเองเกินไป คุณควรทำความเข้าใจกับความเป็นจริงว่า ‘โลกแห่งการลงทุนนั้นซับซ้อน เกินกว่าที่ใครจะควบคุมได้’
  • Mindset การลงทุนที่ดี คือ คุณควบคุมตลาดหุ้นไม่ได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้ คือ การพิจารณาไปตามเหตุและผลในสิ่งที่เกิด พื้นฐานที่ดีของกิจการจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของธุรกิจ 
  • ถามตัวเองก่อนจะลงทุนว่า ‘ทำไมคุณจึงลงทุนในสินทรัพย์นี้ ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง’ และติดตามพอร์ตลงทุนด้วยการจดบันทึกอยู่เสมอ ก็เป็นเรื่องดี 

Mindset ข้อที่ 2 คุณตัดสินใจลงทุนจากเหตุการณ์ในอดีต (Hindsight Bias) 

‘ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้’ เป็นคำเตือนที่คุณเห็นกันบ่อยๆ

หากคุณชอบตัดสินใจลงทุนบนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว โดยไม่ได้วิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นในอนาคต เช่น คุณเลือกซื้อหุ้นบริษัทนี้ หรือกองทุนนี้ เพียงเพราะเห็นผลตอบแทนในอดีตดีล่อตาล่อใจ แต่ลืมมองไปว่า ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตได้หรือไม่ในอนาคต จนสุดท้ายแล้ว คุณก็อาจจะติดดอยได้ง่ายๆ

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คุณกลับไม่มองหาบทเรียน แต่กลับโฟกัสไปที่ว่า ‘รู้งี้ ไม่ทำแบบนี้ดีกว่า รู้งี้ไม่ซื้อตัวนี้ดีกว่า’ หรือแม้กระทั้ง ‘รู้งี้ ซื้อตัวนี้มากกว่าตัวนี้ดีกว่า’ จบด้วยผลขาดทุนและไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเลย ดังนั้น วิธีรับมือ คือ

  • คุณควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณกำลังบิดเบือนความจริงในอนาคต โดยเลือกมองแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอยู่หรือไม่ หากพบเห็นอคติตรงนี้แล้ว คุณต้องยอมรับในความผิดพลาดนั้น เรียนรู้มันเป็นบทเรียน
  • จดบันทึกความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือเหตุผลในการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์นั้น เพื่อเรียนรู้ในอนาคต รวมไปถึงป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำๆ 
  • เข้าใจวัฎจักรการลงทุนที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง คุณอาจจะเผชิญกับสภาวะตลาดที่ไม่ดีในอนาคต แต่ถ้าคุณมีเหตุผลในการเลือกสินทรัพย์เข้าพอร์ตดีพอ สุดท้ายจะผ่านวิกฤตต่างๆไปได้ 
  • ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ คุณต้องพิจารณาไปถึงพื้นฐานของธุรกิจนั้นๆ ให้ดี และมองให้ออกว่า มีโอกาสที่ธุรกิจนี้จะเติบโตในอนาคตหรือไม่ 

Mindset ข้อที่ 3 คุณให้ค่าเงินแต่ละกองไม่เท่ากัน ทั้งที่มันเท่ากัน (Mental Accounting) 

หากคุณมองว่า เงินเดือน 10,000 บาท ได้มาอย่างเหน็ดเหนื่อย จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง แต่เงิน 10,000 บาทที่ได้มาจากการคืนภาษี ได้มาอย่างง่ายดาย จะใช้หมดเมื่อไรก็ได้ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เงินจำนวนเท่ากัน แต่คุณให้ค่าไม่เท่ากัน อคตินี้เรียกได้อีกอย่างว่า ‘บัญชีใจ’ 

ปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากคุณมี Mindset นี้ในการลงทุน เช่น เมื่อได้กำไรในจุดที่พอใจแล้ว คุณเลือกที่จะเอาเงินต้นออกมา แต่ทิ้งกำไรไว้ในพอร์ต แสดงให้เห็นว่า คุณให้ค่าเงินต้นกับกำไรไม่เท่ากัน คุณคิดว่า ถ้าขาดทุนก็ถือว่าเงินต้นยังอยู่ เพราะถอนออกมาแล้ว 

การกระทำแบบนี้ ก็เหมือนกันว่า คุณตัดสินใจที่จะตั้งขอบเขตของกำไร แต่ไม่ได้ตั้งขอบเขตผลขาดทุน เช่น หากในอนาคตหุ้นบริษัทที่ขายเอาเงินต้นออกมา ได้กำไรขึ้นไปอีก คุณก็จะได้ผลกำไรไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกัน หากหุ้นบริษัทนี้ขาดทุน นั้นก็หมายความว่า เงินที่คุณลงทุนเอาไว้ตั้งแต่แรกก่อนเอาเงินต้นออก คุณไม่ได้กำไรอะไรเลย และเสียเวลาไปเฉยๆ หรือคุณอาจจะพูดได้ว่า ‘ขายเอากำไรออกมา รอขาดทุนเพิ่ม’ ก็ได้ 

อีกแง่หนึ่ง คือ นักลงทุนเลือกลงทุนในหลายพอร์ต ตามเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยไม่วิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ของสินทรัพย์ในพอร์ตทั้งหมด เพราะคุณเองก็ให้ค่าเงินลงทุนในแต่ละพอร์ตไม่เท่ากัน มีความเสี่ยงที่รับได้ไม่เท่ากัน ส่งผลให้ภาพรวมทั้งหมดของพอร์ตลงทุนของคุณอาจถูกจัดอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้น วิธีรับมือ คือ 

  • คุณควรมองจำนวนเงินตามจริง ไม่ว่าเงินจำนวนนั้นจะได้มายากหรือง่าย 
  • จะซื้อหรือขายหุ้น ให้มองและพิจารณาจากมูลค่าพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก หากพิจารณาแล้ว ราคายังต่ำกว่ามูลค่าจริง ให้อยู่ถือต่อไป 
  • ในทางกลับกัน หากหุ้นมีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานเกินไป ก็ไม่ควรซื้อ เพราะมีโอกาสที่จะติดดอยได้ และควรมีขอบเขตขาดทุน หรือรู้จัก Cut Loss แม้ยังขาดทุนอยู่ก็ตาม 
  • มองภาพรวมของพอร์ตลงทุนทั้งหมด นำสินทรัพย์ของแต่ละพอร์ตมารวมกันและหาค่า Correlation เพื่อวิเคราะห์สินทรัพย์ในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ภาพรวมของพอร์ตลงทุนมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

Mindset ข้อที่ 4 คุณมองแต่ในกรอบ แต่ไม่มองภาพรวมทั้งหมด (Framing Bias) 

หากคุณตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูกกำหนดและตีกรอบมาให้แล้ว แทนที่จะพิจารณาจากข้อมูลโดยรวมทั้งหมด หรือเลือกที่จะมองข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วตัดสินข้อมูลความจริงทั้งหมด แสดงว่าคุณกำลังมี ‘อคติการวางกรอบ’ อยู่

ยกตัวอย่าง เช่น หากคุณอยากลดน้ำหนักและกำลังเดินไปที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มีโยเกิร์ต 2 ถ้วยวางอยู่ ถ้วยแรก คือ สูตร 20% Fat และถ้วยที่ 2 คือ สูตร 80% Fat Free คุณมักเลือกหยิบ ถ้วยที่ 2 เพราะดูเหมือนว่า ไขมันน้อยกว่าถ้วยแรก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มีไขมันเท่ากัน 

หากเป็นในโลกการลงทุน คุณเลือกพอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะโบรกเกอร์เลือกที่จะนำเสนอข้อที่ดีๆ แทนที่จะพูดถึงข้อเสียหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งผลของอคติเหล่านี้ จะทำให้คุณไม่สามารถประเมินระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้อย่างเหมาะสม และโฟกัสแต่ความผันผวนระยะสั้นๆ ทำให้มีการซื้อขายที่บ่อยเกินไป ดังนั้น วิธีรับมือ คือ 

  • ก่อนลงทุน คุณควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งข้อมูลเชิงลบและเชิงบวก มองข้อมูลทั้ง 2 ด้านอย่างเป็นกลางที่สุด คิดอย่างรอบคอบมากขึ้นในทางเลือกของตัวเอง 
  • ต้องมั่นใจว่า ข้อมูลหรือกรอบความคิดที่คุณเอามาวิเคราะห์นั้น ต้องไม่เกิดจากการถูกจำกัดข้อมูลด้วยวิธีการสื่อสารต่างๆ 

Mindset ข้อที่ 5 คุณมักคิดว่า ‘ไม่ขายไม่ขาดทุนไม่เจ็บปวด’ (Loss-Aversion Bias) 

หลายครั้งที่คุณลงทุนในหุ้น แล้วผลตอบแทนกลับลดลงเรื่อยๆ แทนที่คุณจะหันกลับมามองพื้นฐานของหุ้นบริษัทนั้น เพื่อวิเคราะห์ว่า มีจุดผิดพลาดหรือไม่ หรือว่าพื้นฐานของหุ้นบริษัทนี้มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ตัดสินใจให้ได้ว่า คุณจะขายหรือ Cut Loss เมื่อไร คุณกลับได้ยินเสียงกระซิบในหูอยู่ตลอดว่า ‘ไม่ขาย เท่ากับไม่ขาดทุนนะ’ ทำให้คุณถือหุ้นบริษัทนั้นไปเรื่อยๆ และรอความหวังให้มันขึ้นข้ามวันข้ามคืน 

ดูเหมือนว่า คุณกำลังหลีกเลี่ยงการสูญเสีย เลี่ยงความจริงที่ว่า คุณกำลังขาดทุนอยู่ หรือคุณอาจจะต้องอยู่บนยอดดอยนั้นไปอีกนานเท่าไร โดยไม่มีใครคาดการณ์ได้ 

Mindset นี้นำมาสู่การถือครองสินทรัพย์ที่ขาดทุนนานเกินไป โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานของธุรกิจในความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งเมื่อคุณได้กำไรในหุ้นบริษัทนั้นแล้ว คุณก็รีบขายทำกำไรอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลัวว่า คุณจะขาดทุนและเสียใจในอนาคต ดังนั้น วิธีรับมือ คือ

  • หากคุณหวั่นไหวกับความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้นๆ กังวลทุกครั้งเมื่อตลาดขึ้นๆ ลงๆ หรือกลัวว่าจะผิดพลาดขาดทุนกับการลงทุน ให้คุณกลับมามองที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นและธุรกิจนั้นๆ ที่คุณลงทุนอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงความกลัวและความกังวลที่ไม่มีเหตุผลเกินไป 
  • การลงทุนมีความเสี่ยง มีทั้งกำไรและขาดทุน ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของการลงทุน สิ่งที่คุณควบคุมได้คือ การประเมินความเสี่ยงในการลงทุนนั้น และเลือกความเสี่ยงที่คุณรับได้มากที่สุด รวมทั้งประเมินจุดขาดทุนสูงสุดที่เหมาะสม 

Mindset ข้อที่ 6 คุณมั่นใจว่า ทุกครั้งที่ลงทุน คุณต้องได้กำไรเท่านั้น (Overconfidence Bias) 

ความเชื่อมั่นในตัวเองสูงนั้น หลายครั้งเป็นเรื่องดี แต่อะไรที่มากเกินไปย่อมมีผลเสีย เช่นเดียวกับ หากคุณมั่นใจเกินไปในตลาดหุ้น ทำให้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ การอ่านข่าวสาร การวิเคราะห์ข้อมูลของคุณไม่ค่อยจะเป็นกลางสักเท่าไร เพราะคุณอาจจะเลือกอ่านข่าวหรือข้อมูลที่มีน้ำหนักสอดคล้องกับความเชื่อของตัวเองมากเกินไป 

ยิ่งความคิดที่ว่า คุณสามารถประเมินวิเคราะห์ตลาด มีความรู้ที่แม่นยำพอ สามารถคาดเดาตลาดได้ ทำนายความน่าจะเป็นในตลาดหุ้นได้ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีแค่ปัจจัยที่คุณมองเห็นเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

ความคิดที่ว่า คุณจะทำนายถูกต้อง 100% จึงเป็นความคิดที่ไม่มีทางถูก 100% อย่างแน่นอน เพราะต้องมีคนแพ้และคนชนะ (Zero–sum Game)

ความมั่นใจที่มากเกินไปนี้ อาจนำมาซึ่งการประเมินค่าความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป และวาดฝันไว้ว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงเกินไปด้วย เมื่อเริ่มต้นมาแบบผิดๆ ก็อาจจะส่งผลให้พอร์ตลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น วิธีรับมือ คือ 

  • คุณควรจดบันทึกการซื้อขายทุกครั้ง และประเมินอย่างตรงไปตรงมาว่า การลงทุนในสินทรัพย์ไหนสร้างกำไรหรือขาดทุน และคำนวณผลตอบแทนรวมทั้งหมดย้อนหลังอย่างน้อย 2 ปี
  • การรีวิวพอร์ตลงทุนจะช่วยให้คุณเข้าใจและเรียนรู้ความผิดพลาดในการลงทุนได้อย่างชัดเจน และเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น 
  • มองข้อผิดพลาดเป็นบทเรียน เพื่อพอร์ตลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และคุณเข้าใจหลักการได้มากขึ้น 

Mindset ข้อที่ 7 คุณรู้ดี แต่ทำไม่ได้สักที (Self Control Bias) 

หากคุณมีเป้าหมายชัดเจนว่า คุณอยากจะลงทุนเก็บออมเงินเพื่อเกษียณอายุ แต่ไม่ว่าจะตั้งเป้าหมายนี้เป็น New Year Resolution มากี่ปี ก็ไม่สำเร็จสักที เพราะว่ามีอุปสรรคความต้องการระยะสั้นเข้ามาตลอดเวลา และคุณผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ บังคับตัวเองไม่ได้ หรือขาดวินัยนั่นเอง 

เป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ก็เป็นกัน และสอดคล้องกับทฤษฏี Hyperbolic Discounting คนเราจะยินดีกับของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่ได้รับตอนนี้ มากกว่าการรอคอยของขวัญชิ้นใหญ่ที่จะได้รับในอนาคต เพราะคุณต้องรอและมีความอดทนกับของขวัญชิ้นนั้นมากเกินไป 

Mindset นี้เป็นปัญหาใหญ่ของการลงทุน เป็นสาเหตุให้คุณเก็บเงินได้ไม่เพียงพอกับแผนการลงทุนในอนาคต เพราะคุณขาดวินัย และมันยากเหลือเกินที่จะควบคุมตัวเอง 

เมื่อเงินลงทุนของคุณมีไม่มากพอ แต่อยากเร่งสร้างความมั่นคงในชีวิตเพื่อให้เป็นไปตามแผนให้ได้เร็วที่สุด คุณเองก็จะเริ่มเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากเกินกว่าที่ตัวเองจะรับได้ นำมาสู่การจัดสรรสินทรัพย์ที่ไม่สมดุล และอาจจะไม่มีความอดทนมากพอในการลงทุนระยะยาว ดังนั้น วิธีรับมือ คือ

  • คุณต้องวางแผนการเก็บออมเงิน และมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนเหมาะสมกับตัวเอง
  • คุณต้องมีวินัย โดยเฉพาะการเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การลงทุนระยะยาวเป็นไปตามแผนและบรรลุตามเป้าหมาย 

Mindset ข้อที่ 8 คุณกลัวการเปลี่ยนแปลง (Status Quo Bias) 

หากคุณรักกลัวการเปลี่ยนแปลง รู้สึกสบายใจมากกว่าเมื่อปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม โดยเลือกที่จะไม่สนใจด้วยซ้ำว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะนำมาซึ่งประโยชน์ให้กับคุณ หรือที่เราเรียกว่า ความเอนเอียงต่อสถานการณ์ปัจจุบัน 

ส่วนมากมักเกิดจาก ความกลัวที่จะต้องเผชิญความยุ่งยากในอนาคต หากต้องการเปลี่ยนแปลง 

ยกตัวอย่าง เช่น หากคุณอาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งตั้งแต่เด็ก บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความเคยชิน คุณรู้ทุกซอกทุกมุมของบ้าน หรือเส้นทางระแวกนั้นดี คุณรู้ว่า มีที่อื่นที่ดีกว่า อาจจะปลอดภัยกว่า ใกล้ที่ทำงานมากกว่า แต่คุณก็เลือกที่จะอยู่ที่เดิม เพราะความเคยชิน และกลัวที่จะเหนื่อยปรับตัวในการเปลี่ยนแปลง 

ในโลกของการลงทุน ก็เหมือนโลกอื่นๆ ที่ ‘ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และคุณเองก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลาด้วยเช่นกัน’ 

Mindset นี้จะทำให้คุณกลัวการซื้อขาย และเปลี่ยนแปลงพอร์ตลงทุน ทั้งที่สถานการณ์โดยรอบอาจจะเปลี่ยน พื้นฐานของหุ้นบริษัทที่คุณลงทุนอยู่แย่ลง หากคุณไม่ปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน ดังนั้น วิธีรับมือ คือ

  • คุณต้องหมั่นเพิ่มความรู้ในการลงทุน โดนเฉพาะวิธีการจัดการความเสี่ยงและโอกาสเพิ่มผลตอบแทนในพอร์ตลงทุน 
  • คุณต้องเข้าในธรรมชาติที่ว่า ‘ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่มีอะไรคงทนถาวร’
  • เมื่อเข้าใจแบบนั้นแล้ว ลองมองในโลกของความเป็นจริงง่ายๆ ว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ด้วยจุดประสงค์ คือ ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และทุกคนก็มองหาทางเลือกที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เช่น จากจักรยาน นวัตกรรมที่ทุกคนยกย่องในอดีต ก็เปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ แล้วถ้าคุณยังยืนยันที่จะลงทุนในหุ้นจักรยานอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง คุณคิดว่า มูลค่ามันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง 

Mindset ข้อที่ 9 คุณกลัวความผิดพลาดมากเกินไป (Regret Aversion Bias) 

หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองทุกครั้งที่ตัดสินใจลงทุน คุณกังวลว่า การตัดสินใจของคุณ จะไม่นำความสำเร็จในพอร์ตลงทุนมาให้ คุณกลัวว่า คุณจะไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่คาดหวังเอาไว้ เพราะคุณไม่อยากผิดพลาด ไม่อยากผิดหวัง ไม่อยากเจ็บใจ 

หากคุณเลือกลงทุนในหุ้นบริษัท แล้วดันขาดทุน คุณจะรู้สึกแย่มากที่ตัดสินใจผิดพลาดไป ในขณะเดียวกันถ้าหุ้นบริษัทนี้ทำกำไร แต่คุณไม่ลงทุน คุณก็จะเสียใจอีกว่า คุณไม่ได้ซื้อ คุณไม่ได้กำไร 

Mindset นี้ อาจจะทำให้นักลงทุนพยายามเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ หรือเลือกที่จะถือสินทรัพย์บางประเภทนานเกินไป เพราะพวกเขาลังเลและไม่แน่ใจในความคิดของตัวเอง และกลัวว่าหากตัดสินใจทำอะไรไปแล้วจะผิดพลาดนั้นเอง 

อีกมุมหนึ่ง นักลงทุนบางคนเริ่มกลัวการลงทุนจากการขาดทุนในอดีตของตัวเอง เลิกล้มไปง่ายๆ ไม่มองว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ในวันที่สินทรัพย์บางประเภทปรับราคาลงมา อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนเพิ่ม หากคุณประเมินในความเป็นจริงแล้วว่า ราคานี้ถูกกว่ามูลค่าจริงที่ควรจะเป็น คุณต้องมองว่า นี่คือโอกาสที่คุณจะได้ ‘หุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม’ 

ความกังวลนี้อาจนำมาซึ่งความอดทนที่ต่ำลง คุณไม่สามารถทนถือครองสินทรัพย์ได้ในระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของคุณได้ ดังนั้น วิธีรับมือ คือ

  • คุณควรทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดการสินทรัพย์ (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification)  
  • คุณควรเข้าใจว่า การขาดทุนเกิดขึ้นได้กับทุกคน 
  • ทำความเข้าใจทฤษฏี Modern Portfolio Theory ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นภาพผลตอบแทนรวมของพอร์ตลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาว 

นี่คือ 9 Mindset การลงทุน ที่เป็นอคติ ส่งผลต่อพฤติกรรมการจัดการพอร์ตลงทุน มักเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จในการลงทุนของคุณ 

แล้วมีข้อไหนที่คุณเคยประสบพบเจอบ้างหรือไม่ 

มันเป็นเรื่องยากในการปรับความคิด หรือ Mindset การลงทุน แต่ก็ไม่ยากเกินไป ที่คุณจะลองเปิดใจ เริ่มต้นเปลี่ยนแปลง และทำความเข้าใจเหตุผล ก่อนเริ่มจัดพอร์ตลงทุน 

ตัวช่วยขจัดอคติในการลงทุน 

หากคุณยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่มั่นใจ จะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร ให้กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth เป็นตัวช่วยพิเศษที่จะขจัดอคติ หรือ Bias ของคุณออกไปได้

Jitta Wealth เป็นสตาร์ตอัป WealthTech บริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลด้วย AI (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดจากทั่วโลก และเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automated Investing) โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารความมั่งคั่งด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก และมีระบบรักษาวินัยการลงทุน เพื่อผลตอบแทนทบต้นในระยะยาวตามเป้าหมายของคุณ 

โดยคุณสามารถเลือกจัดพอร์ตลงทุนให้ตรงกับความเสี่ยงและระดับความผันผวนที่คุณรับได้ ตั้งแต่ความเสี่ยงระดับต่ำ (Conservative) ความเสี่ยงระดับปานกลาง (Moderate) และ ความเสี่ยงสูง (Aggressive) โดยมีนโยบายการลงทุน 3 รูปแบบ

ข้อดีของกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealthคือ เราวิเคราะห์คัดเลือกหุ้นและ ETF ที่มีพื้นฐานดี ในราคาที่เหมาะสมด้วย AI ของ Jitta Wealth ซึ่งมาจากการวิเคราะห์งบการเงิน รวมไปถึงรายได้ย้อนหลังของอุตสาหกรรม หรือธุรกิจนั้นๆ แน่นอนว่า ปราศจากอคติ ความลำเอียง และอารมณ์ของมนุษย์ และในแต่ละแผนการลงทุน มีระบบปรับพอร์ตลงทุนอัตโนมัติอยู่เสมอ โดยพิจารณาจากเหตุผลและพื้นฐานของสินทรัพย์เป็นหลัก 

คุณไม่ต้องมานั่งต่อสู้กับอคติต่างๆ ของคุณ ที่ส่งผลต่อการซื้อขายสินทรัพย์ในแต่ละครั้ง และลดความผิดพลาดในการตัดสินใจจากอคตินั้นๆ ด้วย 

คุณสามารถศึกษาแนวทางการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ที่ Line ID: @JittaWealth


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


อ้างอิง 

  1. 5 อคติเชิงพฤติกรรมที่ทำให้การลงทุนไม่ประสบผล https://themomentum.co/5-biases-of-investor-behaviour/
  2. 7 อคติของ “นักลงทุน” สานอีโมที่ทำให้การลงทุนผิดพลาด https://www.moneybuffalo.in.th/stock/อคติของ-นักลงทุน-สายอีโม
  3. ทำความรู้จัก 5 อคติที่จะทำให้นักลงทุนขาดทุน https://www.finnomena.com/z-admin/5-biases/
  4. 10 วิธีพัฒนา Growth Mindset กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ https://www.bypichawee.co/single-post/10-howto-growthmindset
  5. ขายเอาเงินต้น คืนเก็บไว้แต่กำไร…ดีไหม? https://www.investerest.co/investment/mental-accounting/
  6. Why do our decisions depend on how options are presented to us? https://thedecisionlab.com/biases/framing-effect/

อ่านบทความ ‘Mindset การลงทุน’ ที่เกี่ยวข้อง

เคล็ด (ไม่) ลับ ลงทุน Thematic อย่างไร ท่ามกลางความผันผวน

สรุป Live: ปรับ Mindset ฝ่าวิกฤต พิชิตการลงทุน

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด